ก้าวย่างจากเงื้อมเงา

ก้าวย่างจากเงื้อมเงา

เรื่อง ริชาร์ด คอนนิฟฟ์
ภาพถ่าย สตีฟ วินเทอร์

เรากำลังนั่งรอเสือดาวอยู่ในความมืดข้างเส้นทางเดินป่าตามแนวตะเข็บอุทยานแห่งชาติสัญชัยคานธีในประเทศอินเดีย อันเป็นพื้นที่ป่าขนาด 104 ตารางกิโลเมตรใจกลางมหานครมุมไบ อพาร์ตเมนต์สูงหลายชั้นปลูกเรียงรายอยู่ฝั่งตรงข้ามอุทยานนี่เอง ขณะนี้เป็นเวลา 22.00 น. เสียงล้างจานและเสียงกล่อมเด็กเข้านอนดังลอดหน้าต่างที่เปิดอยู่ เสียงหัวเราะของเด็กวัยรุ่น เสียงเร่งเครื่องมอเตอร์ไซค์ และเสียงผู้คน 21 ล้านคนจ้อกแจ้กจอแจราวกับเครื่องจักรขนาดมโหฬารณ ที่ใดที่หนึ่งในป่ารอบตัวเรา เสือดาวกำลังเงี่ยหูฟังอยู่เช่นกัน

ภายในอุทยานและบริเวณโดยรอบมีเสือดาวอาศัยอยู่ประมาณ 35 ตัว โดยเฉลี่ยแล้ว แต่ละตัวมีอาณาเขตราวสี่ตารางกิโลเมตร ทั้งๆที่เสือดาวสามารถออกหากินเป็นระยะทางวันละ 15 กิโลเมตร เสือดาวที่นี่ยังถูกล้อมรอบด้วยชุมชนเมืองที่แออัดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยมีประชากรหนาแน่นถึงราว 30,000 คนต่อตารางกิโลเมตร กระนั้นเสือดาวก็ยังใช้ชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุข  อาหารส่วนหนึ่งของพวกมันคือกวางดาวและสัตว์ป่าอื่นๆภายในเขตอุทยานแต่เสือดาวหลายตัวยังหากินไปตามแนวชายขอบที่ไม่ได้ล้อมรั้วแยกธรรมชาติจากอารยธรรม  ขณะที่เมืองกำลังหลับใหล พวกมันก็แอบย่องไปตามตรอกซอกซอยด้านล่าง เที่ยวลักกินสุนัข แมว หมู หนู ไก่ และแพะ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ติดสอยห้อยตามอารยธรรมของมนุษย์ เสือดาวกินคนด้วย แต่ก็เกิดขึ้นนานๆครั้ง

กล้องถ่ายภาพสัตว์ป่าซึ่งติดตั้งไว้ที่เขตอนุรักษ์ธรรมชาติซีเดอร์เบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ บันทึกภาพลูกเสือดาวชนิดย่อยแอฟริกาใต้ที่กำลังจ้องเขม็ง

ช่วงสายๆของวันเสาร์วันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม ในแถบชนบทของเมืองชุนนาร์ ห่างจากมุมไบไปทางทิศตะวันออก 150 กิโลเมตร รถยนต์สังกัดหน่วยงานรัฐบาลแล่นเข้ามาจอดที่บ้านไร่หลังเล็กแต่ดูมีฐานะ บรรยากาศคุกรุ่นด้วยความโกรธเกรี้ยว แต่ทุกคนยังควบคุมอารมณ์ไว้ได้ บนระเบียงใหญ่หน้าบ้านซึ่งล้อมรอบด้วยกำแพงคอนกรีตสูงระดับเอวและมุงหลังคาด้วยแผ่นโลหะ คนกลุ่มหนึ่งรอคอยชายจากกรมป่าไม้ผู้นี้

หกวันก่อนหน้านั้น ในคืนวันอาทิตย์ เวลาประมาณ 22.30 น. ไส มัณฑลิก วัย 2 ขวบ คุกเข่าอยู่บนม้านั่งยาวตรงระเบียงนี้ พลางไถรถบัสของเล่นไปบนสันกำแพง ย่านั่งพักผ่อนอยู่บนโซฟาข้างๆเขา เวลาเดียวกันนั้นเอง ในพงหญ้าสูงห่างออกไป 20 หรือ 30 เมตร เสือดาวสังเกตเห็นอะไรบางอย่างเข้า นั่นคือศีรษะที่ขยับไปมา ขนาดพอๆกับลิงบอนเน็ตที่เป็นเหยื่อตามธรรมชาติของมัน มันเริ่มย่องเข้าหา ถ้าเด็กน้อยโชคดี เขาคงไม่ทันได้เห็นเสือดาวคาบตัวเขาข้ามกำแพงผ่านทุ่งไป ย่ากรีดร้องลั่น สมาชิกที่เหลือของครอบครัวพากันวิ่งฝ่าความมืดตามไป แต่ก็สายเสียแล้ว

ขณะนี้ความโศกเศร้าพอจะบรรเทาเบาบางลงไปบ้าง พวกผู้หญิงนั่งเงียบๆกันอยู่บนพื้นตรงปลายระเบียง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนั่งอยู่ตรงกลางระเบียง ส่วนที่ปลายระเบียงอีกด้าน พ่อของเด็กน้อยนั่งอยู่ตรงจุดที่ลูกชายถูกคาบไป เจ้าหน้าที่ป่าไม้แนะนำตัวเองและอธิบายว่า  เขาไม่ได้หมายความว่าเงินชดเชยประมาณ 12,300 ดอลลาร์สหรัฐจะทดแทนความสูญเสียได้ แต่เป็นการรับทราบของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเสือดาว

ครอบครัวมัณฑลิกมีข้อเรียกร้องสองสามข้อ เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าเขาจะพยายามช่วย เป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนี้ ห่างออกไปหกกิโลเมตร เขายังต้องแวะบ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งเกิดเรื่องราวทำนองเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุเสือดาวกัดคนขึ้นมาสักครั้งแล้ว ก็มักเกิดขึ้นซ้ำเป็นระลอก ความตายของไส มัณฑลิก เป็นการโจมตีครั้งที่สามในแถบชุนนาร์ภายในเวลากว่าสองสัปดาห์เท่านั้น และเป็นการเสียชีวิตรายที่สอง

น่าฉงนที่ส่วนใหญ่แล้วเสือดาวกับมนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แม้แต่ในมุมไบ แล้วทำไมจึงเกิดการโจมตีขั้นร้ายแรงหลายครั้งในพื้นที่เช่นชุนนาร์ เช้าวันนั้นหลังจากการมอบเงินชดเชยที่บ้านมัณฑลิก วิทยา อเตรยะ นักชีววิทยาของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า นั่งอยู่ข้างไร่อ้อยในเมืองอะโกเลซึ่งอยู่ใกล้เคียง บนหน้าจอแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ของเธอจุดสีฟ้าซึ่งสว่างขึ้นมาจนลายพร้อยบนแผนที่ของชุมชนนี้   แสดงถึงสถานที่ที่เธอพบเสือดาวระหว่างการศึกษาเป็นระยะเวลาห้าปีที่นี่โดยใช้กล้องถ่ายภาพสัตว์ป่าที่ซ่อนไว้และปลอกคอวิทยุ  สรุปก็คือ เธอพบเสือดาวทุกหนแห่ง เสือตัวเต็มวัย 11 ตัวเดินท่องไปตอนกลางคืนในเมืองอะโกเลและบริเวณรอบๆ อันเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีป่า  ไม่มีกวางหรือเหยื่อตามธรรมชาติขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ และมีคน 20,000 คนสัญจรไปมาในตอนกลางวัน

บนเนินเขาที่มองลงไปเห็นเมืองมุมไบ แอ่งน้ำที่มนุษย์ขุดขึ้นดึงดูดเสือดาวตัวหนึ่งจากที่ประมาณกันไว้ 35 ตัวซึ่งอาศัยอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติสัญชัยคานธีและบริเวณโดยรอบ

เพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเสือดาวจึงผิดเพี้ยนไป อเตรยะจึงวิเคราะห์การโจมตีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในแถบชุนนาร์ระหว่างปี 2001 ถึง 2003 จากสิ่งที่ตอนแรกดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ คือกรมป่าไม้ดักจับเสือดาวกว่าหนึ่งร้อยตัวจากพื้นที่ปัญหาในชุนนาร์ ส่วนใหญ่ดำเนินการหลังเกิดการโจมตีปศุสัตว์ ต่อมาเสือดาวเหล่านั้นจึงได้รับการปล่อยเข้าป่าห่างจากจุดที่จับมาโดยเฉลี่ย 30 กิโลเมตร อันเป็นวิธีเดียวกับที่ทั่วโลกใช้จัดการสัตว์ นักล่าซึ่งสร้างปัญหา แต่หลังจากการย้ายที่ใหม่ อเตรยะและทีมงานกลับพบว่า การโจมตีมนุษย์ในชุนนาร์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 325 และอัตราการโจมตีถึงขั้นเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

“นี่เป็นกรณีตัวอย่างของการมีจิตผิดปกติในสัตว์วงศ์แมวค่ะ” อเตรยะกล่าว ความผิดปกตินี้เกิดจากความบอบช้ำทางจิตใจจากการถูกจับขังกรง ถูกมนุษย์ควบคุม และถูกปล่อยตัวในภูมิประเทศที่ไม่คุ้นเคยและเป็นอาณาเขตที่มีเสือดาวตัวอื่นครอบครองอยู่แล้ว อเตรยะและผู้ร่วมวิจัยอธิบายว่า  การที่จู่ๆก็เกิดการโจมตีขึ้นหลายครั้งไม่ได้เป็นผลจากความดุร้ายที่เสือดาวมีมาแต่กำเนิด แต่ “การจับไปปล่อยที่ใหม่ชักนำให้มันโจมตีมนุษย์”

ผู้จัดการป่าประจำกรมป่าไม้เข้าใจประเด็นเมื่ออเตรยะนำเสนองานวิจัยเป็นครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อน อุทยานแห่งชาติสัญชัยคานธีในมุมไบไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของอุทยานเป็นสถานที่นำเสือดาวมาปล่อยอีกต่อไป (เช่นเดียวกับที่ชุนนาร์อุทยานเองก็กำลังประสบปัญหาการโจมตีของเสือดาว)  สื่อในเมืองหันมาสนใจแนวคิดที่ว่า การจับเสือดาวไปปล่อยที่ใหม่อันตรายกว่าตัวเสือดาวเองเสียอีก  เริ่มมีการจัดอบรมให้ตระหนักถึงแนวคิดที่สำคัญกว่า นั่นคือการพบเห็นตัวเสือดาวในละแวกบ้านไม่ได้เป็น “ความขัดแย้ง”  แต่การจับเสือดาวไปไว้ที่อื่นซึ่งเป็นวิธีแรกที่ชาวเมืองมักเรียกร้องกลับทำให้ระบบสังคมของเสือดาวเสียไป  และเปิดอาณาเขตให้เสือดาวตัวใหม่ที่อาจมีประสบการณ์น้อยกว่าในเรื่อง “การปรับตัวเข้าหากัน”  ประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือ เสือดาวในมุมไบ อะโกเล และพื้นที่อื่นๆไม่ใช่ “ผู้บุกรุก” แต่เป็นผู้อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ต่างหาก

Recommend