โฉมหน้าที่แปรเปลี่ยนของสตรีซาอุดีอาระเบีย

โฉมหน้าที่แปรเปลี่ยนของสตรีซาอุดีอาระเบีย

เรื่อง ซินเทีย กอร์นีย์
ภาพถ่าย ลินซีย์ แอดดารีโอ

ในห้องนั่งเล่นของครอบครัวที่เธอทิ้งตัวลงบนโซฟาเพื่อรินกาแฟให้เรา นูฟ ฮะซัน กำลังฝึกออกเสียงคำว่า “headhunted” (ถูกซื้อตัว) เป็นครั้งแรก เธอไม่เคยเรียนคำนี้ในชั้นเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียน พอได้ยินฉันพูดก็ขอให้ทวนด้วยความถูกอกถูกใจ “ใช่เลย!” เธออุทาน “ฉันถูกซื้อตัว เคยมีคนยื่นข้อเสนอเรื่องงานให้ฉันมามาก แต่ครั้งนี้แม้แต่เจ้านายยังถึงกับออกปากว่า ‘เราไม่อยากให้เธอไปเลย แต่ข้อเสนอนี้ดีมาก’ เชียวละ”

นูฟอายุ 32 ปี เธอมีผมดกหนาสีน้ำตาล ผิวสีน้ำผึ้ง และดวงตาเรียวแหลมที่ฉายแววร่าเริงเป็นนิจ อพาร์ตเมนต์ที่เธออยู่กับสามีและลูกชายเล็กๆสองคนกินพื้นที่หนึ่งชั้นของอาคารสามชั้นแห่งหนึ่งในย่านแออัดของกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย เมื่อสองปีก่อน ตอนที่ฉันพบเธอครั้งแรก นูฟเป็นผู้จัดการโรงงานแปรรูปอาหาร ดูแลคนงานนับสิบชีวิตในแผนกที่ทดลองใช้พนักงานหญิงล้วน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ระดับชาติเพื่อดึงสตรีซาอุดีอาระเบียเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตอนนี้เธอย้ายมาทำงานในโรงงานผลิตโคมไฟซึ่งเพิ่งชิงตัวเธอมาจากเจ้านายเก่า ที่นี่เธอรับผิดชอบคนงานหญิงจำนวนมากกว่าเดิมถึงสิบเท่า

“คนที่นั่นตั้งฉายาให้ฉันค่ะ” เธอบอก ลูกน้องของเธอทำงานในเขตปลอดบุรุษ แต่พนักงานระดับผู้จัดการของบริษัททั้งชายและหญิงทำงาน “ปะปนกัน” ตามคำของชาวซาอุดีอาระเบีย หมายถึงชายและหญิงที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดหรือการสมรสต้องอยู่ใกล้กันทุกวัน โอภาปราศรัยกันมากกว่าเอ่ยทักทายอย่างเป็นทางการ ร่วมโต๊ะประชุมเดียวกัน หรืออาจยืนใกล้ๆเพื่ออ่านเอกสารฉบับเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีการแบ่งแยกทางเพศอย่างล้ำลึกที่สุดในโลก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนใคร เปราะบาง และกรุ่นด้วยปัญหา ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้หญิงในราชอาณาจักรแห่งนี้ คนหลายรุ่นที่ถูกผลักดันด้วยนโยบายแรงงานใหม่และการสนับสนุนของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ บิน อับดุลอะซีซ ผู้ล่วงลับ กำลังถกเถียงกันถึงความหมายที่แท้จริงของความทันสมัยและความเป็นชาวซาอุดีอาระเบีย ประเด็นเรื่องการปะปนกันนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ผู้หญิงที่นี่จำนวนมากไม่แม้แต่จะพิจารณางานที่ต้องทำเช่นนั้น

แม้ผู้หญิงบางคน อาจ พิจารณาตำแหน่งงานดังกล่าว ทว่าสุดท้ายก็ถูกพ่อแม่ สามี หรือญาติๆที่เป็นห่วง สั่งห้ามว่า ไม่ได้ ผู้หญิงดีๆไม่ทำกันหรอก แน่ละว่าผู้หญิงที่คิดตรงกันข้ามและร่วมงานกับผู้ชายได้อย่างไม่ขัดเขินก็มี เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โครงการทุนเล่าเรียนหลวงส่งหญิงซาอุดีอาระเบียหลายหมื่นคนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ตอนนี้พวกเธอกลับมาแล้ว และหลายคนก็อยากเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใจจะขาด

กฎเกณฑ์ยืดยาวชนิด “ประเทศเดียวในโลก” ของซาอุดีอาระเบียเป็นที่คุ้นหูคนทั่วโลก สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นพาดหัวข่าวที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนนอกผู้ไม่เห็นด้วยได้อย่างดี นี่คือประเทศเดียวในโลกที่ห้ามผู้หญิงขับรถ ประเทศเดียวในโลกที่กำหนดให้พลเมืองหญิงวัยผู้ใหญ่ทุกคนต้องใช้ชีวิตภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ปกครองชายซึ่งได้รับการยอมรับตามกฎหมาย ได้แก่ บิดา สามี หรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัว พวกเธอต้องได้รับความยินยอมอย่างเป็นทางการจากผู้ปกครองจึงสามารถทำหนังสือเดินทาง ดำเนินการทางกฎหมายบางอย่าง หรือเดินทางไปต่างประเทศได้ และนี่คือประเทศสุดท้ายในโลกนอกเหนือจากนครรัฐวาติกันที่ยอมให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อหกเดือนก่อนหน้านี้เอง และนั่นหมายถึงผู้หญิงที่อยู่ห่างจากหน่วยเลือกตั้งเกินระยะเดินถึงต้องให้ผู้ชายขับรถพาไป

ในซาอุดีอาระเบีย ร้านอาหารทุกแห่งที่ให้บริการลูกค้าทั้งชายและหญิงจะกันพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับ “คนโสด” ซึ่งหมายถึงผู้ชาย และอีกส่วนหนึ่งสำหรับ “ครอบครัว” หมายถึงผู้หญิงกับเด็กและผู้ชายที่มาด้วยซึ่งเป็นญาติสนิท ชายหญิงที่มิได้ผูกพันกันทางสายเลือดหรือการแต่งงานอาจทำทีนั่งด้วยกันได้ แต่ก็เสี่ยงจะถูกตำรวจศาสนาไล่ออกจากร้าน กฎหมายและระเบียบทางสังคมห้ามพวกเขานั่งด้วยกัน ในศูนย์อาหารตามห้างสรรพสินค้ามีฉากกั้นแบ่งแยกเพศซึ่งใช้เป็นป้ายแสดงรายการอาหารไปในตัวคั่นเคาน์เตอร์สั่งอาหารของแต่ละร้าน

กำแพงล่องหนยังขวางกั้น ขณะที่นโยบายใหม่ๆดึงดูดผู้หญิงเข้ามาทำงานขายสินค้าบางชนิด ป้าย “เฉพาะครอบครัว” ที่ห้างสรรพสินค้าในกรุงริยาดแห่งนี้ห้ามลูกค้าหนุ่มที่มาตามลำพังเข้าร้าน ประเทศนี้มีกฎระเบียบกำหนดไว้อย่างละเอียดลออว่าผลิตภัณฑ์ใดใช้พนักงานขายเพศใด เช่น พนักงานขายหญิงห้ามขายผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกายผู้ชาย และมีเพียงพนักงานขายหญิงเท่านั้นที่ขายชุดชั้นในสตรีได้

ระเบียบปฏิบัติสารพัด รวมถึงผังอาคารต่างๆ ล้วนกำหนดมาเพื่อแยกหญิงชายออกจากกัน เมื่อปี 2011 ครั้งที่กษัตริย์อับดุลลอฮ์ทรงประกาศว่าจะแต่งตั้งสตรีเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาในพระองค์ หรือชูรอ เสียงฮือฮาก็ดังขึ้นทั่วประเทศ มีทั้งเสียงขุ่นเคืองจากกลุ่มอนุรักษนิยม และเสียงโห่ร้องยินดีของผู้สนับสนุนสิทธิสตรี รวมไปถึงคำถามจริงจังอย่างเช่นจะจัดที่นั่งให้ผู้หญิงอย่างไรจึงเหมาะสม พวกเธอควรมีห้องแยกต่างหากที่ติดตั้งจอภาพไว้สำหรับสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานหรือไม่ โรงเรียนเกือบทุกแห่งในซาอุดีอาระเบียแยกตามเพศ เช่นเดียวกับสถาบันอุดมศึกษา และวีดิทัศน์คือสื่อกลางที่สถานศึกษาบางแห่งใช้ในการเรียนการสอนวิชาที่สอนโดยอาจารย์ต่างเพศ

การกำหนดให้ผู้หญิงทุกคนต้องใช้ชีวิตภายใต้การกำกับดูแลของผู้ชายที่ได้รับมอบหมายสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้ผู้หญิงเช่นกัน ตามหลักการแล้ว ผู้หญิงสามารถทำงาน รับบริการทางการแพทย์ หรือสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง แต่ในซาอุดีอาระเบีย กฎหมายของรัฐมักเป็นรองขนบประเพณี การตีความพันธกิจทางศาสนาของแต่ละบุคคล หรือความกลัวผลกระทบจากครอบครัวฝ่ายหญิง (เช่น นายจ้างบางรายไม่จ้างงานผู้หญิง หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครองของเธอ) และผู้หญิงหลายคนยังบอกด้วยว่า มีผู้ชายที่ถือโอกาสใช้อำนาจปกครองในการลงโทษ ควบคุม และบงการชีวิตพวกเธอ

ฉันรู้จักทนายความหญิงวัย 30 ปีคนหนึ่งชื่อ อัลเญาฮะเราะห์ ฟัลลาตะห์ เธอเป็นทนายความหญิงในประเทศที่เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่เคยได้เรียนหนังสือจนกระทั่งต้นทศวรรษ 1960 ประเทศที่นักศึกษาหญิงได้รับอนุญาตให้เรียนกฎหมายเป็นครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงยังเพิ่งได้รับอนุญาตให้ว่าความในฐานะทนาย แทนที่จะเป็นเพียงที่ปรึกษาทางกฎหมายเมื่อสามปีที่แล้วนี่เอง ตอนนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศกว่าครึ่งเป็นผู้หญิง คราวที่กษัตริย์อับดุลลอฮ์ทรงริเริ่มโครงการทุนเล่าเรียนหลวงส่งเยาวชนไปศึกษาต่อในต่างประเทศเมื่อปี 2005 มีผู้หญิงได้รับทุนด้วย และเมื่อปี 2014 หญิงซาอุดีอาระเบียกว่า 35,000 คนก็สมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรีและโทของต่างประเทศ โดยกว่าครึ่งอยู่ในสหรัฐฯ

ปัจจุบัน ฟัลลาตะห์ได้ว่าความในศาล ทว่านั่นไม่ได้สื่อถึงความเท่าเทียมทางอาชีพระหว่างชายหญิง แต่อย่างใด เพราะผู้หญิงซาอุดีอาระเบียผู้มีการศึกษาสูงยังคงพร่ำบ่นเรื่องที่ต้องทำงานต่ำกว่าความรู้ความสามารถและความขุ่นข้องในสังคมที่เพิ่งยอมให้ผู้หญิงทำงานระดับสูงอยู่ไม่ขาดปาก “สิ่งที่เราทำในช่วงสิบปีเร็วกว่าสิ่งที่ผู้หญิงในสหรัฐฯทำในรอบหนึ่งร้อยปีเสียอีก” นัยละฮ์ ฮัฏฏอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการระดับชาติชื่อบะละดีย์ ซึ่งแปลว่า ประเทศของฉัน บอก “เรากำลังวิ่งเร็วมากเพื่อจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เอามากๆ ฉันว่าเราควรชะลอความเร็วลงบ้างเพื่อให้คนยอมรับค่ะ”

Recommend