เยลโลว์สโตน: ผืนป่าแห่งการพิทักษ์

เยลโลว์สโตน: ผืนป่าแห่งการพิทักษ์

เยลโลว์สโตน: ผืนป่าแห่งการพิทักษ์

มื่อวันที่ 7 สิงหาคม ปี 2015 ณ อุทยานแห่งชาติ เยลโลว์สโตน เจ้าหน้าที่พบศพชายคนหนึ่งในสภาพถูกสัตว์แทะใกล้เส้นทางเดินป่าไม่ไกลจากโรงแรมขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอุทยาน ไม่นานก็มีการระบุตัวผู้ตายว่าชื่อ แลนซ์ ครอสบี วัย 63 ปี จากเมืองบิลลิงส์ รัฐมอนแทนา เขาทำงานเป็นพยาบาลอยู่ที่คลินิกในอุทยาน เช้าวันนั้นเพื่อนร่วมงานแจ้งความว่าเขาหายตัวไป

การสืบสวนเผยว่า หนึ่งวันก่อนหน้านั้น ครอสบีออกไปเดินป่าตามลำพังโดยไม่ได้พกสเปรย์ไล่หมีติดตัวไปด้วย เขาต่อสู้กับแม่หมีกริซลีที่มีลูกสองตัว  หลังจากฆ่าเขาแล้ว  แม่หมีก็กินเนื้อไปบางส่วน และให้ลูกหมีกินด้วย ก่อนจะใช้ดินและใบสนกลบร่างเขาไว้อย่างที่หมีกริซลีทำเมื่อตั้งใจจะกลับมากินเนื้ออีก เมื่อแม่หมีถูกจับตัวได้และมีหลักฐานดีเอ็นเอมัดตัว อย่างแน่นหนาว่าเกี่ยวข้องกับการตายของครอสบี  มันก็ถูกวางยากล่อมประสาทและยาสลบ ก่อนจะถูกฆ่าด้วยเหตุผลว่าหมีกริซลีโตเต็มวัยที่เคยกินเนื้อมนุษย์และซ่อนศพไว้เป็นอันตรายเกินกว่าจะปล่อยให้มีชีวิตอยู่ แม้ว่าการเผชิญหน้าซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตครั้งนั้นจะไม่ใช่ความผิดของมันเลยก็ตาม

เยลโลว์สโตน
หมีกริซลีในอุทยานแห่งชาติแกรนด์ทีทอนตัวนี้ไล่อีกาไปจากซากไบซัน คนงานเคลื่อนย้ายซากนี้ให้ห่างจากถนนเพื่อไม่ให้สัตว์กินซากเข้ามาใกล้นักท่องเที่ยว

เห็นได้ชัดว่า หมีกริซลีเป็นสัตว์ที่อาจเป็นอันตรายได้ แต่อันตรายที่หมีแสดงออกมาควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบด้าน การเสียชีวิตของแลนซ์ ครอสบี เป็นการเสียชีวิตจากหมีครั้งที่เจ็ดในอุทยานในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 144 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้งเยลโลว์สโตน มีผู้เสียชีวิตเพราะจมน้ำ ถูกน้ำร้อนในบ่อน้ำร้อนลวก และฆ่าตัวตาย มากกว่าถูกหมีฆ่า ขณะเดียวกันก็มีผู้เสียชีวิตจำนวนเกือบเท่ากันจากการถูกฟ้าผ่า และสองคนถูกไบซันสังหาร

บทเรียนที่แท้จริงจากการเสียชีวิตของแลนซ์ คอสบี และการตายที่น่าเศร้าสลดไม่แพ้กันของหมีที่ฆ่าเขา เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงสิ่งเราที่หลงลืมกันไปง่ายๆ นั่นคือ อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนเป็นสถานที่ทางธรรมชาติซึ่งถูกจำกัดอย่างไม่สมบูรณ์แบบภายในขอบเขตที่มนุษย์กำหนด สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ทั้งสัตว์ดุร้าย หุบผาชันลึก น้ำตกที่ส่งเสียงครืนครั่น และน้ำร้อนจัด ซึ่งล้วนแล้วแต่สวยงามเมื่อเที่ยวชม แต่ก็ชวนให้หวาดหวั่นเมื่อเข้าไปสัมผัส

เยลโลว์สโตน
การปล่อยหมาป่าคืนสู่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนเริ่มต้นเมื่อปี 1995 ปัจจุบัน หมาป่าอยู่ดีมีสุข แต่นักวิจัยยังเฝ้าสังเกต พวกมันอย่างใกล้ชิด ดัก สมิท นักชีววิทยา กำลังเตรียมสวมปลอกคอส่งสัญญาณวิทยุให้หมาป่าที่ถูกวางยาสลบตัวนี้

เวลาไปเที่ยวเยลโลว์สโตน เราจะมองดูหมีซึ่งอยู่ข้างถนนจากบนรถ เรายืนชมแม่น้ำสายยิ่งใหญ่จากจุดชมวิว  เดินไปตามทางเดินไม้ที่ทอดไปท่ามกลางแอ่งกีย์เซอร์ เรายังคงปลอดภัยและตัวแห้งสนิท แต่ถ้าเดินออกจากถนนไปแค่ 200 เมตรลงไปในร่องธารที่ปกคลุมด้วยป่าหรือทุ่งเซจบรัช คุณควรพกสเปรย์ไล่หมีอย่างที่แลนซ์ ครอสบีไม่ได้ตระเตรียมไว้ติดตัวไปด้วย นี่คือความขัดแย้งในตัวของเยลโลว์สโตนและอุทยานแห่งชาติส่วนใหญ่ที่เราจัดตั้งขึ้นเพิ่มเติมหลังจากนั้น กล่าวคือ พงไพรถูกตีกรอบ ธรรมชาติตกอยู่ภายใต้การจัดการ ขณะที่สัตว์ป่าก็ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของมนุษย์ เป็นความขัดแย้งในตัวของธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่งด้วยน้ำมือมนุษย์

สิ่งที่ทำให้เรื่องซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกคือคำว่า “เยลโลว์สโตน” ซึ่งไม่เพียงหมายถึงอุทยานแห่งหนึ่ง แต่ยังเป็นที่มาของชื่อเรียกระบบนิเวศอันยิ่งใหญ่ นั่นคือแดนธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดและรุ่มรวยที่สุด ประกอบด้วยภูมิประเทศและสัตว์ป่าซึ่งส่วนใหญ่ยังคงความพิสุทธิ์ ในรัฐตอนล่าง 48 รัฐของสหรัฐฯ ระบบนิเวศเกรตเทอร์เยลโลว์สโตนเป็นภูมิประเทศกว้างใหญ่ซึ่งครอบคลุมอุทยานแห่งชาติแกรนด์ทีทอน บางส่วนของป่าแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตลอดจนที่ดินของรัฐและเอกชนอื่นๆ รวมเนื้อที่ประมาณ 56 ล้านไร่

เยลโลว์สโตน
ลารี แอนเดอร์สัน ขี่ม้าไปตามทิวเขาเหนือไร่แอนเดอร์สันทางตอนเหนือของเยลโลว์สโตน เพื่อป้องกันสัตว์นักล่าโดยต้อนให้ปศุสัตว์อยู่รวมกันเป็นฝูงและแสดงให้เห็นว่ามีมนุษย์อยู่ในที่ดิน

อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนตั้งอยู่บนสิ่งที่นักธรณีวิทยาเรียกว่า ที่ราบสูงเยลโลว์สโตน โดยมีระดับสูงเฉลี่ย 2,400 เมตร ที่ราบสูงแห่งนี้ปกคลุมด้วยป่าสนลอดจ์โพลและทุ่งหญ้าสูงที่ประกอบด้วยพืชตระกูลหญ้าและเซจ ทั้งยังมีเครือข่ายถนนที่ทอดตัวเป็นลูกคลื่นไปบนพื้นดิน ดูเยือกเย็นและสงบนิ่ง แต่อย่าได้หลงเชื่อเชียวละ

ความสูงของที่ราบสูงเยลโลว์สโตนมีเหตุผลทางธรณีวิทยาอันน่าทึ่งรองรับ  ลึกลงไปใต้พื้นดินเป็นจุดร้อนภูเขาไฟขนาดใหญ่  ลักษณะเป็นโพรงขนาดยักษ์ในเนื้อโลกและเปลือกโลกซึ่งมีหินหนืดไหลขึ้นมา แล้วถ่ายเทความร้อนไปหลอมเหลวหินต่อไป  ก่อให้เกิดเขตความร้อนขนาดมหึมา  บนที่ราบสูงเยลโลว์สโตน  นักธรณีวิทยาพบหลักฐานว่ามีแคลดีราหรือแอ่งภูเขาไฟขนาดใหญ่สามแห่ง  ซึ่งเป็นร่องรอยจากการระเบิดขนาดมโหฬารสามครั้งในช่วง 2.1 ล้านปีก่อน  การระเบิดเหล่านั้นและ แรงภูเขาไฟที่ให้พลังงานแก่การระเบิด ทำให้จุดร้อนของเยลโลว์สโตนได้รับการระบุว่าเป็น “มหาภูเขาไฟ” (supervolcano)  ตามปกติแล้ว  ภูเขาไฟธรรมดาจะก่อตัวขึ้นตามขอบแผ่นเปลือกโลก  แต่มหาภูเขาไฟจะปะทุผ่านแผ่นเปลือกโลกขึ้นมาโดยตรง และเยลโลว์สโตนซึ่งส่งความร้อนให้การระเบิดที่ผิดปกติน่าจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนมหาภูเขาไฟใต้ทวีปใดๆบนโลก

เรื่อง เดวิด ควาเมน
ภาพถ่าย ไมเคิล นิโคลส์, เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์,
ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์, เอริกา ลาร์เซน, โจ รีส

 

อ่านเพิ่มเติม

อุทยานแห่งชาติเมื่อครั้งวันวาน

Recommend