สลาลมเที่ยงคืน

สลาลมเที่ยงคืน

เรื่อง เจเรมี เบอร์ลิน
ภาพถ่าย ออสการ์ เอนันเดอร

ะทำอย่างไรให้ภูเขาเปล่งแสงเรืองรอง  หิมะทอประกายกลางแสงไฟหลากสีสัน แล้วเล่นสกียามค่ำคืนสู่ยอดสูงละลานตาในอีกระดับ

อย่างแรกที่คุณต้องทำคือ  เสาะหาที่ลาดชันซึ่งยังคงความเป็นธรรมชาติบนผาสูงในผืนป่าอันห่างไกลของรัฐบริติชโคลัมเบียและอะแลสกา จากนั้นก็หาวิธีขนเครื่องไม้เครื่องมือหนัก 5,000 กิโลกรัม ได้แก่ หลอดไฟขนาด 4,000 วัตต์ใหญ่เท่าเครื่องซักผ้า พร้อมเครื่องปั่นไฟเพื่อจ่ายไฟฟ้า นั่งร้าน สายไฟและเคเบิล  ขึ้นไปบนยอดเขาสูงกว่า 2,000 เมตร จากนั้นใช้เวลาอีกหลายเดือนไปกับการคำนวณกำลังไฟฟ้าและความกว้างของลำแสงไฟ   รวมถึงน้ำหนักสิ่งของ ปริมาณเชื้อเพลิงที่ต้องใช้  ระยะทาง และลักษณะภูมิประเทศ  อีกทั้งจ้างช่างคุมไฟและช่างเทคนิคฝีมือดี  แล้วเกณฑ์นักกีฬาระดับหัวแถวมาสักกลุ่ม  จับสวมชุดติดหลอดไฟและใส่แบตเตอรี่ไว้ในกระเป๋า คาดแผงหลอดไฟแอลอีดีไว้บนหลัง  เปิดกล้อง แล้วหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี

ช่วงที่เครื่องปั่นไฟไม่ได้ทำงานในบริติชโคลัมเบีย เอนานเดอร์จับภาพเส้นทางของนักสกี เป๊ป ฟูจา โดยใช้เทคนิคเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานาน

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่นิก แวกกอนเนอร์และหุ้นส่วนจากสวีตกราสส์โปรดักชันส์ทำในฤดูใบไม้ผลิปี 2014 เมื่องานถ่ายโฆษณาทำให้พวกเขามีเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อสร้างฝันที่รอมานานให้เป็นจริง  นั่นคือถ่ายทำการเล่นสกียามค่ำคืนบนภูเขาลูกมหึมา   พวกเขาพร้อมแล้วที่จะทำความฝันให้เป็นจริงโดยได้ช่างภาพสกีชาวสวีเดน ออสการ์ เอนานเดอร์ เป็นมือถ่ายภาพนิ่งระหว่างการถ่ายทำ

“ผมไม่ได้พูดเกินไปหรอกถ้าจะบอกว่างานนี้กดดันสุดๆ” แวกกอนเนอร์บอก  “หลายสิ่งหลายอย่างอาจเกิดผิดพลาดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ”

แล้วเรื่องผิดพลาดบางเรื่องก็เกิดขึ้นจริง ๆ  หลังถ่ายทำในอะแลสกาไปได้ 11 วัน  ทุกอย่างเตรียมพร้อมแล้ว แต่สายพ่วงที่สำคัญช่วงหนึ่งกลับหายไป แวกกอนเนอร์ต้องเกลี้ยกล่อมนักบินเฮลิคอปเตอร์ให้บินไกลถึง 30 กิโลเมตรใต้ท้องฟ้าที่มืดลงเรื่อย ๆ เพื่อเอาสายพ่วงม้วนใหม่มาให้  เขาเล่าว่า “บางครั้งผมถึงกับเอามือกุมขมับ แล้วพูดว่า ‘ตายละจบเห่แน่ๆ นี่เราโง่ถึงขั้นคิดว่าจะทำเรื่องนี้ได้เลยเหรอนี่’”

อีริก ฮจอร์ลิฟสัน แกะแถบกาวไนลอนสำหรับช่วยปีนเขาออกจากสกีก่อนการถ่ายทำในบริติชโคลัมเบีย

เอนานเดอร์เองก็มีเรื่องท้าทาย  เรื่องหนึ่งคือเขาใช้แฟลชไม่ได้ เพราะแสงแฟลชแค่เพียงเสี้ยววินาทีก็รบกวนการถ่ายทำวิดีโอแล้ว จึงเป็นเรื่องยากที่จะได้ภาพคมชัด เขาบอกว่า “อุปสรรคใหญ่ที่สุดของผมคือ ต้องเลิกคิดเรื่องการถ่ายภาพโดยใช้แสงตอนกลางวันไปเลย  แล้วพุ่งความสนใจไปที่การถ่ายภาพตอนกลางคืนแทน”

แล้วความฝันก็กลายเป็นความจริงในที่สุด แวกกอนเนอร์ทิ้งท้ายว่า  “โครงการนี้เป็นสัญลักษณ์ของการกล้าคิดและกล้าทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเป็นได้ เราอยากให้คนเห็นโลกในมุมมองใหม่ๆ ครับ”

Recommend