คลื่นนักท่องเที่ยวมาแล้ว

คลื่นนักท่องเที่ยวมาแล้ว

เรื่อง ซินเทีย กอร์นีย์
ภาพถ่าย เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์

เช้าตรู่วันจันทร์ พระอาทิตย์เพิ่งพ้นขอบฟ้า คิวบาปรากฏแก่สายตาเราเป็นครั้งแรก ตัวเกาะมีความยาวจากปลายด้านหนึ่งจรดปลายอีกด้านหนึ่งเกือบ 1,300 กิโลเมตร ขอบฟ้าเปล่งประกายระยิบระยับอยู่ครู่หนึ่ง จากนั้นจึงกลายเป็นแนวสันเขาตัดกับท้องฟ้าสีชมพู และปิดท้ายด้วยหลังคาบ้านเรือน

ดาดฟ้าเรือชั้นบนสุดคลาคล่ำไปด้วยทีมงานโทรทัศน์ พวกเราที่เหลือยืนเบียดเสียดกันพิงราวบนดาดฟ้าชั้นถัดลงมา บางคนแจกจ่ายธงชาติคิวบาและธงชาติสหรัฐฯผืนเล็กๆ ตอนนี้เราเห็นมาเลกอง (Malecón) หรือแนวกำแพง กันคลื่นและทางเดินที่เป็นเหมือนเฉลียงหน้าบ้านสาธารณะให้ใครก็ได้มาเดินสูดอากาศบริสุทธิ์หรือผ่อนคลายจากครัวเรือนที่แออัด ช่วงเย็นๆที่อากาศอบอุ่น ชาวคิวบามักมาเที่ยวเล่นกันที่มาเลกอง แต่ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เพราะเพียงเก้าโมงเช้า แต่ดูเหมือนผู้คนมารวมตัวกัน พร้อมกับโบกธงของตนเอง บ้างโบกไม้โบกมือ ส่งเสียงเชียร์ด้วยความยินดี

ขณะเราออกจากไมแอมีเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ ไม่มีใครรู้ว่าจะพบเจออะไรบ้าง  มีคนคาดว่า  เรือสำราญของสหรัฐฯซึ่งจะเข้าเทียบท่าที่คิวบาเป็นลำแรกในรอบเกือบสี่สิบปีอาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านคัสโตร [ทั้งฟิเดล คัสโตร อดีตประธานาธิบดีผู้พี่ และราอุล คัสโตร ผู้น้อง ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน]  หลังรัฐบาลของประธานาธิบดีบารักโอบามาประกาศเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2014 ว่าจะมีการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูต  และแม้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อคิวบาของสหรัฐฯ ยังบังคับใช้อยู่ก็ตาม

ขณะนี้ เมื่อเราเข้าสู่สถานีผู้โดยสารในท่าเรือของกรุงฮาวานา การเฉลิมฉลองก็จัดอย่างครึกครื้นมากเสียจนพนักงานประจำบูทแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับฉันต้องตะโกนคุยกันด้วยภาษาสเปนผ่านกระจกหน้าต่าง

ฉัน: “ในนี้เสียงดังอย่างนี้เสมอหรือคะ” พนักงานแลกเปลี่ยนเงิน: “อะไรนะคะ” ฉัน: “กลอง ดนตรี นักเต้นรำ พวกเขาต้อนรับเรืออย่างนี้เสมอหรือคะ” พนักงานแลกเปลี่ยนเงิน: “อะไรนะคะ” เธอยื่นปากกาให้ แล้วฉันก็เขียนลงบนด้านหลังใบเสร็จรับเงินว่า “นี่จัดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อชาวอเมริกันหรือเปล่า” เธอพยักหน้า ยิ้มแหยๆ พลางกลอกตาชุดนักเต้นรำหญิงประกอบด้วยรองเท้าส้นสูง ชุดว่ายน้ำลายธงชาติคิวบา และมีดาวสีเงินดวงใหญ่ประดับผม เราเห็นนักเต้นรำสองคนยิ้มกว้างและโพสท่าอิงแอบกับผู้โดยสารชายสวมกางเกงขาสั้นที่เพิ่งขึ้นจากเรือ พนักงานแลกเปลี่ยนเงิน ทำหน้าบอกไม่ถูกแวบหนึ่ง ฉันคิดว่าเป็นความรู้สึกรังเกียจ แล้วเธอก็ก้มหน้านับเงินเปโซต่อไป

ชาวคิวบาซึ่งเบียดเสียดอยู่รอบท่าเรือ ขณะเรือ อาโดเนีย เข้าเทียบท่าในฮาวานา ส่งเสียงเชียร์ด้วยความยินดีราวกับนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันเป็นนักร้องเพลงร็อกชื่อดัง

ในแง่หนึ่ง สิ่งสำคัญทุกสิ่งเกี่ยวกับเรือสำราญเที่ยวแรกจากไมแอมีมายังคิวบาซึ่งทุกสิ่งล้วนเป็น ประวัติศาสตร์ นี้ พอจะเข้าใจได้จากภาพที่เห็นและความคาดหวังถึงสิ่งที่จะตามมา เรือสำราญไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในคิวบา โรงแรมลอยน้ำขนาดมหึมาภายใต้ธงชาติอื่นมาเยี่ยมเยือนคิวบาหลายทศวรรษแล้ว และอันที่จริง การท่องเที่ยวก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคิวบา หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง คณะรัฐมนตรีคิวบาได้อนุมัติโครงการสร้างรีสอร์ตใหม่ๆริมชายหาดซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวแคนาดาและชาวยุโรป

ความย้อนแย้งของการท่องเที่ยวชัดเจนและน่าพิศวงอย่างยิ่งในคิวบาปัจจุบัน หากพักเรื่องข้อโต้แย้งทางการเมืองที่ว่า เราควรจะโทษมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯหรือพรรคคอมมิวนิสต์คิวบากันแน่ไว้สักครู่ คำโฆษณาเชิญชวนที่แพร่หลายประการหนึ่งในแผ่นพับการท่องเที่ยวที่พุ่งเป้าไปยังชาวอเมริกันมีอยู่ว่า ทั่วทั้งเกาะปราศจากสิ่งของสมัยใหม่ การค้าขายแบบที่คุ้นเคย และความเป็นอเมริกัน มีเกล โกยูลา สถาปนิกในกรุงฮาวานา บอกฉันว่า “ชาวอเมริกันที่วางแผนมาเที่ยวคิวบาร้อยละ 99 พูดเหมือนกันว่า ‘อยากเห็นฮาวานาอย่างที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบัน’ ”

“การท่องเที่ยวเป็นดาบสองคมครับ” มีเกล โกยูลา สถาปนิกชาวคิวบา บอก เขาคิดว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ช่วยกลั่นกรองธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไปออกไปจากคิวบา “ผู้มาเที่ยวที่นี่ตอนนี้ต้องการเรียนรู้” เขาเสริม “แต่ผมรู้ว่านั่นกำลังเปลี่ยนไป เมื่อใครๆก็มากันได้ ผมกลัวอย่างนั้นครับ”

โกยูลาไม่ได้ต่อต้านการท่องเที่ยว สำหรับเขาดูเหมือนว่าการต้อนรับชาวอเมริกันเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างชัดเจนของเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในทะเลแคริบเบียนแห่งนี้ อันตรายจากการเป็นที่ชื่นชอบและหลงใหลของนักท่องเที่ยวนั้นชัดแจ้งสำหรับเขา และอันที่จริง ขณะเรือ อาโดเนีย แล่นไปรอบๆคิวบา นักวิชาการและเจ้าหน้าที่หลายสิบคนกำลังเข้าร่วมการประชุม ในบรรดาเรื่องที่นำเสนอมีคลิปวิดีโอจากสารคดีเรื่อง ลาก่อนบาร์เซโลนา (Bye Bye Barcelona) ซึ่งยกกรณีนักท่องเที่ยวยกโขยงไปตามถนนสายต่างๆ ทำให้เมืองนี้ของสเปนแทบอยู่อาศัยไม่ได้สำหรับชาวเมือง คนท้องถิ่นผู้โกรธเกรี้ยวคนหนึ่งถึงกับบ่นว่า “อย่างกับสวนสนุก”

สำหรับเกาะขนาดมหึมาที่เต็มไปด้วยชายหาด ห่างจากสหรัฐฯ 145 กิโลเมตร นี่ไม่ใช่การเปรียบเทียบที่เกินจริง เรือบางลำซึ่งปัจจุบันล่องอยู่ในทะเลแคริบเบียนสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่าเรือ อาโดเนีย หกเท่า บริษัทคาร์นิวัลคอร์ปอเรชัน ซึ่งเป็นเจ้าของเรือลำนี้มีแผนงานอื่นๆในคิวบา เช่นเดียวกับบริษัทท่องเที่ยวของสหรัฐฯทุกบริษัทที่สนใจแถบทะเลแคริบเบียน

ในที่สุดจะมีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันอย่างน้อยปีละสามล้านคนมาเยือนคิวบา นั่นคือจำนวนที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์  คิวบามีประชากร 11 ล้านคน และจำนวนไม่น้อยยังคง แก้ปัญหา ชีวิตเพื่อให้มีนมผงเพียงพอสำหรับเลี้ยงลูกมีห้องน้ำที่ใช้งานได้ มีระเบียงบ้านที่ไม่พังทลายลงมา ทำอย่างไรจึงจะนำชาวอเมริกันทั้งหมดนั้นมาช่วยทำให้ชีวิตของชาวคิวบาดีขึ้นได้จริง

Recommend