มรดกสีครามของโอบามา

มรดกสีครามของโอบามา

มรดกสีครามของ โอบามา

ราว 160 กิโลมตรทางตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวบอสตัน วาฬแกลบครีบดำซึ่งมีสถานะใกล้สูญพันธุ์หกตัวผุดขึ้น  มาเหนือน้ำเป็นระลอก ลำท้องเรียวขาวสะท้อนวาวอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ  แต่ละครั้งที่พุ่งเสยขึ้นมาสูงสุด พวกมันจะอ้าปากขนาดมหึมาเพื่อกรองกินโคพีพอดขนาดเล็กจิ๋ว  ถัดจากกราบซ้ายของเรือวิจัยชื่อ แพลนบี ฝูงปลาเฮร์ริงกำลังไล่กิน ครัสเตเชียนชนิดเดียวกันนี้จนผิวน้ำแตกกระจาย  ขณะเดียวกัน บนสันหินใต้ทะเลลึกลงไปเบื้องล่าง 15 เมตร นักวิทยาศาสตร์จากเรือดังกล่าวก็กำลังเฝ้าดูปลาพอลล็อก ปลาค้อด และปลาคันเนอร์ กินอาหารอยู่ท่ามกลางสายริบบิ้นเส้นยาวของสาหร่าย  เคลป์สีทอง

คอร์เตสแบงก์ มหาสมุทรแปซิฟิก: ปลาชีพเฮดแคลิฟอร์เนียและปลาอื่นๆ แหวกว่ายในป่าสาหร่ายเคลป์และสาหร่ายหินปูนเหนือคอร์เตสแบงก์ ภูเขาใต้ทะเลที่เสียดแทงขึ้นจากพื้นทะเลกว่า 1.5 กิโลเมตรผลักดันน้ำลึกที่อุดมไปด้วยสารอาหาร ขึ้นสู่ผิวน้ำ ก่อเกิดเป็นโอเอซิสอันอุดมสมบูรณ์

แคชเชสเลดจ์ (Cashes Ledge) เป็นภูเขาใต้ทะเลที่สูงที่สุดในอ่าวเมน และเป็นแหล่งอาหารเคลื่อนที่อันน่าทึ่ง คลื่นใต้น้ำที่เคลื่อนปะทะแนวสันเขาแกรนิตและยอดแบนราบจะลากพาคลื่นจากชั้นผิวน้ำอันอบอุ่นที่อุดมด้วยแพลงก์ตอนลงไปยังท้องน้ำลึก  กระแสน้ำที่พัดลงสู่เบื้องล่างนี้เปิดโอกาสให้เหล่าปลาที่หากินตามหน้าดินที่อาศัยอยู่ตามพื้นทะเลหากินกันอย่างคึกคักพอๆกับปลาที่หากินอยู่ช่วงน้ำลึกระดับปานกลาง วาฬ ปลาเฮร์ริง และนกที่ผิวน้ำ  กระแสน้ำขึ้นน้ำลงและภูมิประเทศที่นี่ทำงานสอดประสานกันเพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งร่องรอยแห่งความอุดมสมบูรณ์  ซึ่งเคยเป็นนิยามของอ่าวเมนจวบกระทั่งการประมงทำให้เหือดหายไป

“หากว่ากันตามจริงแล้วแคชเชสเลดจ์คือเครื่องจักรย้อนเวลากลับไปสู่ชายฝั่งนิวอิงแลนด์เมื่อ 400 ปีก่อน” จอน  วิตแมน นักนิเวศวิทยาทางทะเลผู้ศึกษาพื้นที่อุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งนี้มานานกว่า 30 ปี   บอก  ขณะที่ซิลเวีย เอิร์ล นักสมุทรศาสตร์ และนักสำรวจประจำของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก เรียกแคชเชสเลดจ์ว่า “เยลโลว์สโตนแห่งแอตแลนติกเหนือ” และถือเป็นสมบัติแห่งชาติที่ควรค่าแก่การพิทักษ์ไว้  แม้เราจะไม่สามารถขับรถไปเยี่ยมชมได้ก็ตาม

หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ ทะเลแคริบเบียน: เต่ามะเฟืองละจากหาดที่มันขึ้นมาวางไข่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แซนดีพอยต์บนเกาะเซนต์ครอย ห่างจากเกาะบัก 35 กิโลเมตร พื้นที่คุ้มครองช่วยให้จำนวนลูกเต่ามะเฟืองและเต่าพันธุ์อื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่มหาสมุทรได้รับความเสียหายจากการทำประมงเกินขนาด  มลภาวะ และผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เอิร์ลเป็นส่วนหนึ่งของทีมนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและนักอนุรักษ์ที่พยายามกันบางส่วนของพื้นที่บริสุทธิ์แห่งท้ายๆ ในน่านน้ำอเมริกันให้เป็นเขตสงวน  ไล่จากแคชเชสในนิวอิงแลนด์ ป่าปะการังน้ำเย็นทางตะวันตกของหมู่เกาะอะลูเชียนในอะแลสกา ไปจนถึงภูเขาใต้ทะเลคอร์เตสและภูเขาใต้ทะเลแทนเนอร์นอกชายฝั่งแซนดีเอโก กลุ่มนักรณรงค์เคลื่อนไหวเหล่านี้มองเห็นภาพของเขตอนุรักษ์ทางทะเลของสหรัฐฯที่ร้อยต่อกันเป็นสายไปเชื่อมโยงกับเครือข่ายระดับโลก ซึ่งจะมีขนาดใหญ่พอจนสามารถกอบกู้และฟื้นฟูมหาสมุทรต่างๆกลับคืนมาได้

ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทีโอดอร์ รูสเวลต์ เป็นต้นมา สหรัฐฯได้กำหนดพื้นที่ทางทะเลให้เป็นเขตสงวนแล้วมากกว่า 1,200 แห่ง รวมเป็นพื้นที่หนึ่งส่วนสี่ของน่านน้ำสหรัฐฯ  แต่โรบิน คันดิส เครก ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางสมุทรศาสตร์ บอกว่า เขตสงวนทางทะเลต่างๆไม่อาจช่วยหยุดยั้งการลดลงอย่างรวดเร็วของสิ่งมีชีวิตทางทะเลได้  เนื่องจากในน่านน้ำสงวนส่วนใหญ่ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลอย่างน้อยก็ยังมีการอนุญาตให้ทำการประมง  หรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลได้ในระดับหนึ่ง “เราสนใจที่จะสงวนรักษาทรัพยากรทางทะเลของเราไว้มากกว่า หรือสนใจที่ตักตวงประโยชน์จากทะเลมากกว่ากัน” เครกตั้งคำถาม “เรายังตอบคำถามนี้ให้ชัดเจนไม่ได้เลย”

หมู่เกาะมิดเวย์: “สำหรับคนที่มีภาระหน้าที่รัดตัวและต้องสวมชุดสูทผูกเนกไทตลอดเวลา การได้ออกไปว่ายน้ำกลางมหาสมุทรจะต้องเป็นการพักผ่อนที่สุดยอดมาก” ช่างภาพ ไบรอัน สเกอร์รี บอก เขาหวังว่าผลงานภาพถ่ายประธานาธิบดี บารัก โอบามา ขณะดำน้ำรูปนี้ของเขาจะช่วยดึงดูดให้ผู้คนหันมาสนใจการอนุรักษ์มหาสมุทร

เมื่อปลายฤดูร้อนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามา พยายามให้คำตอบที่ชัดเจนเด็ดขาดในพื้นที่สองแห่งด้วยกัน โดยอาศัยอำนาจของเขาภายใต้รัฐบัญญัติว่าด้วยการอนุรักษ์มรดกโบราณของชาติ  ซึ่งอนุญาตให้ประธานาธิบดีประกาศให้พื้นที่สาธารณะที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นเขตอนุรักษ์ได้ อันดับแรก  เขาประกาศขยายพื้นที่อนุสรณ์สถานทางทะเลปาปาฮาเนาโมกูอาเกียทางตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่เกาะฮาวายเพิ่มขึ้นสี่เท่า หรือคิดเป็นพื้นที่มากกว่า 1.5 ล้านตารางกิโลเมตร ภายในเขตอนุสรณ์แห่งนี้จะอนุญาตให้ทำประมงเพื่อนันทนาการหรือเพื่อยังชีพเท่านั้นที่นี่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์อย่างวาฬสีน้ำเงินและแมวน้ำมังก์   เหล่าสัตว์นักล่าอันดับสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร เช่น ทูน่า และฉลาม รวมทั้งแนวปะการังที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดและอยู่ทางเหนือสุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะรอดจากภาวะโลกร้อน

สามสัปดาห์ต่อมา โอมาบายังจัดตั้งอนุสรณ์สถานทางทะเลแห่งแรกขึ้นนอกชายฝั่งแถบอีสต์โคสต์ของสหรัฐฯ ซึ่งก็คือนอร์ทอีสต์แคนยอนแอนด์ซีเมานต์ (Northeast Canyons and Seamounts) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 12,725 ตารางกิโลเมตร และอยู่ห่างจากเคปค้อดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 210 กิโลเมตร ก่อนหน้านี้ กลุ่มนักอนุรักษ์เสนอให้จัดตั้งอนุสรณ์ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่านี้มาก รวมทั้งอ้างเหตุผลข้อโต้แย้งอย่างหนักแน่นว่า แคชเชสเลดจ์ควรได้รับการคุ้มครองด้วยเช่นกัน แต่อุตสาหกรรมประมงต่อต้านข้อเสนอของกลุ่มนักอนุรักษ์ในทั้งสองกรณี  หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีแล้ว  โฆษกจากแวดวงอุตสาหกรรมประมงบางคนออกมากล่าวทำนองว่า  แม้แต่พื้นที่ซึ่งโอบามาประกาศจัดตั้งเป็นอนุสรณ์สถานไว้แล้วก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้  แม้ไม่เคยปรากฏว่ามีประธานาธิบดีคนใดเพิกถอนการประกาศจัดตั้งพื้นที่อนุสรณ์สถานมาก่อน แต่ก็เห็นได้ชัดว่าการต่อสู้เพื่อพิทักษ์รักษาพื้นที่ที่มีความสำคัญในมหาสมุทรและตัวมหาสมุทรโดยรวมได้ย่างเข้าสู่ขั้นเร่งด่วนแล้ว

เรื่อง ซินเทีย บาร์เนตต์
ภาพถ่าย ไบรอัน สเกอร์รี

Recommend