ฟลามิงโก : “บ็อบ” ทูตสันถวไมตรีเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ฟลามิงโก : “บ็อบ” ทูตสันถวไมตรีเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ฟลามิงโก : “บ็อบ” ทูตสันถวไมตรีเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ

บ็อบกินไข่ปลาคาเวียร์เป็นอาหารเช้า เล่นน้ำในสระน้ำเค็มส่วนตัว และนวดเท้าที่ชายหาดทุกสองสัปดาห์ อาจดูเหมือนชีวิตช่างเลิศหรู แต่ขอบอกว่าคู่ควรแล้ว เพราะบ็อบใช้เวลาส่วนใหญ่มีปฏิสัมพันธ์กับเหล่าเด็กนักเรียนบนเกาะคูราเซาอันเป็นถิ่นกำเนิด โดยทำหน้าที่เป็นทูตปฏิบัติภารกิจเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ  ฟังมาถึงตรงนี้ต้องขอบอกก่อนว่า บ็อบน่ะเป็นนก ฟลามิงโก !

สัตวแพทย์หญิงโอเดตเทอ ดุสต์ รับบ็อบมาดูแลรักษาเมื่อปี 2016 หลังจากมันบินชนหน้าต่างโรงแรม แล้วสมองกระทบกระเทือนจากการถูกกระแทก ระหว่างฟื้นฟูสุขภาพที่มูลนิธิเพื่อสัตว์และการศึกษาในแคริบเบียน ซึ่งเป็นศูนย์รักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่แสวงกำไร ดุสต์ค้นพบว่า บ็อบเคยถูกเลี้ยงจนเชื่องมาก่อนแล้ว มันดูผ่อนคลายมากเมื่ออยู่กับคน และเป็นโรคอุ้งเท้าอักเสบ ซึ่งเป็นโรคเท้าชนิดเรื้อรังที่พบได้ทั่วไปในหมู่นกในสถานเพาะเลี้ยง ซึ่งคงจะทำให้มันสูญเสียความสามารถในการล่าอาหารในธรรมชาติไป

เพราะสาเหตุข้างต้น ดุสต์จึงตัดสินใจเลี้ยงมันไว้เป็นสัตว์เพื่อการศึกษาที่ศูนย์รักษาพันธุ์สัตว์ป่าของเธอร่วมกับสัตว์อื่นๆอีกราว 90 ตัว บ็อบอาศัยอยู่ที่บ้านของเธอกับสัตว์อื่นๆ เช่น เหยี่ยวคาราคาราถิ่นเหนือ ลาตัวหนึ่ง สุนัขและแมวฝูงใหญ่ และนกกระทุงจอมเกเรคู่หนึ่งที่พยายามหลบหนีตลอดเวลาจนกระทั่งพวกมันตายไป

ฟลามิงโก
ฟลามิงโกบ็อบสยายปีกหลังขึ้นมาจากน้ำ เมื่อปี 2016 มันบินชนหน้าต่างโรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะคูราเซา ทำให้สมองกระทบกระเทือนและบาดเจ็บที่ปีกซ้าย อาการบาดเจ็บเหล่านี้ทำให้มันกลับคืนสู่ธรรมชาติไม่ได้ ปัจจุบันบ็อบอาศัยอยู่กับ ผู้ที่ช่วยชีวิตมันไว้ นั่นคือ สัตวแพทย์หญิงโอเดตเทอ ดุสต์
ฟลามิงโก
ช่างภาพ ยัสเปอร์ ดุสต์ ลูกพี่ลูกน้องของโอเดตเทอ เล่นน้ำกับบ็อบในทะเลแคริบเบียน

เมื่อดุสต์เริ่มพาเจ้านก ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชื่อ ไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนและชุมชนต่างๆ บนเกาะแห่งนั้นในทะเลแคริบเบียนสัปดาห์ละครั้งตามโครงการของมูลนิธิ เจ้านกฟลามิงโกกลายเป็นดาราดังในชั่วข้ามคืน ทำให้ต้องไปปรากฏตัวตามสื่อต่างๆ พอมีคนถามชื่อของมันระหว่างการสัมภาษณ์ทางวิทยุครั้งหนึ่ง ดุสต์พูดโพล่งไปว่า “บ็อบ” แล้วผู้คนก็เรียกชื่อนี้กันมาเรื่อยจนติดปาก

ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นนกที่สง่างามแบบนี้ในระยะประชิดมาก่อน แถมเป็นมิตรสุดๆขนาดนี้ด้วยยิ่งไม่เคยเห็น

ดุสต์กล่าวอย่างจริงจังว่า “ฉันพาบ็อบมาด้วยเพื่อให้ผู้คนนึกถึงธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อม เพื่อจะบอกให้รู้ว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อยสามารถส่งผลกระทบต่อธรรมชาติรอบตัวเราได้ใหญ่หลวงเพียงใด”

ยกตัวอย่างเช่น การเลือกใช้ถ้วยที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้แทนขวดพลาสติก ไม่ใช้ลูกโป่งในงานเลี้ยงวันเกิด หรือเก็บขยะตามชายหาด

“เธอใช้บ็อบเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ใหญ่กว่าน่ะครับ” ยัสเปอร์ ดุสต์ ช่างภาพที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ และเป็นลูกพี่ลูกน้องของโอเดตเทอ กล่าว เขาติดตามบันทึกการผจญภัยของเจ้านกมาสามปีแล้ว “โดยตัวเองเพียงลำพัง มันอาจเป็นแค่นกฟลามิงโกตัวหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีบ็อบ เธอก็คงไม่มีสัตว์สัญลักษณ์ที่จะส่งให้เธอมุ่งมั่นทำงานเพื่อให้การศึกษา”

ฟลามิงโก
การตกแต่งในเทศกาลคริสต์มาสเมื่อปี 2016 ที่สถานีโทรทัศน์ซีบีเอในวิลเลมสตัด เมืองหลวงของคูราเซา กลายเป็นฉากหลังอย่างดี เมื่อบ็อบเหยาะย่างผ่านอย่างกระฉับกระเฉง ก่อนออกรายการช่วงเช้าในฐานะแขกรับเชิญ บ็อบตระเวนออกงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมความสำคัญของการคุ้มครองธรรมชาติ

ฟลามิงโก

ยัสเปอร์ ดุสต์ เริ่มมีความคิดที่จะบันทึกภาพของบ็อบไว้ ตอนที่เจ้านกเดินลอยชายเข้าไปในห้องนอนของเขาที่บ้านของโอเดตเทอในรุ่งเช้าวันหนึ่ง “มันเดินไปทั่วอย่างกับราชาเลยครับ” ยัสเปอร์เล่า “เราเห็นเรื่องราวน่าหดหู่มาเยอะแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นโอกาสดีมากที่จะแสดงให้เห็นด้านบวกกันบ้าง”

เวลาอยู่บ้าน บ็อบรับหน้าที่ช่วยเหลือดูแลนกฟลามิงโกพักฟื้นตัวอื่นๆด้วยเป็นประจำ โอเดตเทอบอกว่าการมีมันอยู่ด้วยช่วยให้นกฟลามิงโกที่เพิ่งมาถึงใหม่ๆสงบลงได้ บ็อบอาศัยอยู่ในห้องหนึ่งในบ้านของโอเดตเทอที่เรียกกันว่า “ห้องนก” โดยใช้พื้นที่ร่วมกับนกฟลามิงโกที่พักพิงอยู่อย่างถาวรคู่หนึ่ง คือจอร์จกับทอมัส

นกจำนวนมากที่โอเดตเทอช่วยเหลือถูกสายเบ็ดรัดพัน ซึ่งเป็นภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่เธอจะเน้นถึงในการบรรยายควบคู่กับหัวข้อขยะพลาสติก แนวปะการังเสื่อมโทรม และการสูญเสียป่าชายเลนให้กับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว

การระบุผลลัพธ์ของโครงการเพื่อการศึกษาใดๆเป็นเรื่องทำได้ยาก แต่โอเดตเทอบอกว่าพวกนักเรียนจดจำเรื่องที่เธอสอนได้ ตอนที่นกฟลามิงโกเพศเมียตัวหนึ่งตายเมื่อไม่นานมานี้เพราะถูกสายเบ็ดพัน โอเดตเทอนำสายเบ็ดนั้นไปให้เด็กๆ ที่โรงเรียนดูด้วย เธอบอกพวกเขาว่า “มันเป็นนกฟลามิงโกที่สวยงามพอๆกับบ็อบ ตัวใหญ่ ทรงพลัง และแข็งแรงพอๆกัน  เพราะใครบางคนทิ้งสายเบ็ดไว้ในทะเล มันจึงตาย” หลายสัปดาห์ต่อมา พวกคุณครูบอกเธอว่าเด็กๆยังพูดคุยเรื่องนี้กันอยู่

ฟลามิงโก
บ็อบลงเล่นน้ำตอนกลางคืนในสระน้ำเค็มหลังบ้านของดุสต์ มันเป็นหนึ่งในสัตว์ราว 90 ตัวที่ศูนย์รักษาพันธุ์สัตว์ป่าในที่ดินของเธอ ราวครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นผู้พำนักถาวร นกฟลามิงโกมาลงเอยกันที่นี่เป็นประจำ หลังได้รับบาดเจ็บจากสายเบ็ดหรือสุนัขจรจัด
ฟลามิงโก
ดุสต์ม่อยหลับในสระน้ำใกล้ๆกับส่วนหนึ่งของสรรพสัตว์ที่เธอช่วยชีวิตไว้ นอกจากบริหารดูแลศูนย์กู้ภัยกับทำหน้าที่สัตวแพทย์ เธอยังเป็นแม่ ประธานคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์ในท้องถิ่นที่มีชื่อว่า คาร์มาบี และเป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขาโรครับจากสัตว์ หรือโรคที่อาจแพร่ระบาดจากสัตว์มาสู่คน ด้วยมุมมองในแง่ดี เธอจะย้ำเตือนเด็กๆว่า เรื่องเล็กน้อยอย่างการงดใช้ลูกโป่งในงานเลี้ยงวันเกิด ช่วยลดขยะที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ได้

โอเดตเทอประเมินว่า บ็อบน่าจะอายุ 15 ปีแล้ว เท่าที่มีการบันทึกไว้ นกฟลามิงโกอาจมีอายุถึง 50 ปีในธรรมชาติ และมีแนวโน้มจะอายุยืนกว่านั้นในสถานเพาะเลี้ยง ดังนั้น ยัสเปอร์จึงเชื่อว่า เขายังตามบันทึกภาพเพื่อนซี้ต่างเผ่าพันธุ์คู่นี้ได้อีกนานหลายปี

เรื่อง คริสติน เดลลามอเร

ภาพถ่าย ยัสเปอร์ ดุสต์

*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2563


สารคดีแนะนำ

เพชรพระอุมา : สุดยอดวรรณกรรมแห่งการผจญภัยในผืนป่าลึกลับระดับตำนาน

Recommend