รถยนต์ไร้คนขับ เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เป็นประโยชน์หรือความเสี่ยง

รถยนต์ไร้คนขับ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ในช่วงทศวรรษ 2020 ผู้ผลิตรถยนต์หลายบริษัทกำลังพัฒนานวัตกรรมนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เราจะสามารถเชื่อมั่นเทคโนโลยีนี้ได้มากแค่ไหน

หนึ่งในการคิดค้นนวัตกรรมของมนุษยชาตินับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือเรื่องของการเดินทาง นับตั้งแต่สัตว์พาหนะ การเทียมเกวียนสัตว์ รถจักรไอน้ำ มาจนถึงเทคโนโลยีรถยนต์ในปัจจุบัน ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไปไม่ได้เสียแล้ว และในปัจจุบันก็ได้มีการพูดถึงการพัฒนา รถยนต์ไร้คนขับ นวัตกรรมล้ำสมัยที่ปรากฏเป็นภาพจินตนาการในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง จนเราคาดหวังว่ารถยนต์ไร้คนขับจะเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกไปไม่ต่างจากโทรศัพท์สมาร์ตโฟน แต่ในช่วงเวลา 3 – 4 ปีที่ผ่านมาก็ได้ปรากฏข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุในการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับขึ้นอยู่บ้าง หลายคนจึงอาจเกิดคำถามว่าเทคโนโลยีนี้จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น หรือเราต้องคอยระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่น ๆ

หลักกิโลเมตรที่หนึ่งในการเดินทางของรถยนต์ไร้คนขับ

คำนิยามสำคัญของนวัตกรรมชนิดนี้คือยานพาหนะใดๆ ก็ตามที่สามารถทำงานได้เองโดยไม่ต้องมีผู้ควบคุมดังที่เราอาจเคยจินตนาการกันไว้ ตามประวัติศาสตร์ปรากฏหลักฐานว่ามีการทดลองรถยนต์ไร้คนขับ มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1920 ในประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งในปี 1977 The Tsukuba Mechanical Engineering Lab in Japan ได้ประดิษฐ์รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองเต็มรูปแบบได้สำเร็จ ทำความเร็วได้ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แต่อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมรถยนต์ไร้คนขับนี้เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเมื่อ Google บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีได้ตัดสินใจพัฒนารถยนต์ไร้คนขับในปี 2009 ด้านเทสลามอเตอร์ บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังก็ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่บริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำอื่น ๆ ก็ประกาศว่าจะพัฒนารถยนต์ไร้คนขับเป็นของตัวเองเช่นเดียวกัน

แผนผังอธิบายการทำงานของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์ไร้คนขับ ขอบคุณภาพจาก www.aaam.org

ระบบการทำงานของนวัตกรรมแห่งอนาคต

รถยนต์ไร้คนขับใช้ระบบปฏิบัติการขับเคลื่อนที่เรียกว่า Automated Driving Systems หรือ ADSs โดยในขณะนี้ มีเทคโนโลยีระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติ Advanced Driver Assistance Systems หรือ ADAS เป็นเครื่องมือควบคุมการขับขี่ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของเครื่องบิน โดยระบบ ADAS มีส่วนประกอบ เช่น ระบบควบคุมการขับขี่อัตโนมัติ ระบบหลีกเลี่ยงการชน ระบบช่วยจอด ระบบคุมการขับขี่ในช่องทางจราจร และบรรดาเซนเซอร์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่รอบรถเพื่อตรวจสอบวัตถุในระยะไกลและใกล้ เป็นต้น โดยองค์กรบริหารความปลอดภัยบนท้องถนนของสหรัฐอเมริกา (National Highway Traffic Safety Administration – NHTSA) ได้แบ่งระดับการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ 6 ระดับ คือ

ระดับ บทบาทหน้าที่ของระบบ
0 รถยนต์ที่มนุษย์ต้องควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่การบังคับทิศทาง เบรก สตาร์ตเครื่อง อันเป็นรถยนต์แบบดั้งเดิม
1 ระบบผู้ช่วยคนขับรถ เป็นระดับที่มนุษย์ยังต้องควบคุมรถยนต์ แต่ก็มีระบบการช่วยเหลือคนขับอัตโนมัติบางอย่าง เช่นการแจ้งเตือนให้เปลี่ยนเลน ที่ปรากฏให้เห็นในรถยนต์ทุกวันนี้
2 ระบบอัตโนมัติบางส่วน เป็นระดับที่รถยนต์ทำงานบนเครื่องมือการใช้งานในระบบอัตโนมัติ เช่นการเร่งความเร็วหรือหมุนพวงมาลัยรถ และคนขับสามารถปล่อยมือจากพวงมาลัยได้ระยะเวลาหนึ่ง แต่ผู้ขับยังต้องมีส่วนในการควบคุมและต้องคอยเฝ้าดูสภาพแวดล้อมรอบรถ
3 ระบบอัตโนมัติแบบมีเงื่อนไข เป็นระดับที่คนขับยังจำเป็น โดยไม่ต้องคอยเฝ้าดูสภาพแวดล้อมรอบรถ แต่คนขับยังต้องพร้อมเข้ามาควบคุมรถแทนได้อยู่ตลอด
4 ระบบอัตโนมัติระดับสูง รถยนต์นั้นสามารถใช้งานการขับขี่ทุกอย่างได้เองภายใต้ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และมีตัวเลือกให้คนขับรถเข้ามาควบคุมแทนได้
5

ระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์แบบ เป็นระดับที่รถยนต์สามารถขับขี่ได้ด้วยตัวเองในทุกเงื่อนไข

ประโยชน์ของรถยนต์ไร้คนขับ

ผู้พัฒนารถยนต์ไร้คนขับเชื่อว่าประโยชน์สูงสุดของมันคือลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งมักเกิดจากมนุษย์ อีกทั้งยังสามารถแบ่งเบาภาระในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีอุปสรรคในการขับรถเนื่องจากข้อจำกัดทางร่างกาย และทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนได้ตามกฎจราจร การสัญจรสะดวก การจราจรไม่ติดขัด เพราะรถทุกคันสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นระเบียบด้วยระบบไร้คนขับ ทั้งนี้ยังช่วยให้คนพิการ เช่น คนพิการทางสายตาสามารถใช้รถยนต์ได้ง่ายและปลอดภัยต่อพวกเขา

Eric Schmidt อดีตประธานกรรมการบริหารบริษัท Google ทดลองนั่งรถยนต์ขับเคลื่อนตัวเองของ Google ในสำนักงานใหญ่ที่เมืองเมาน์เทนวิว รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2015 (ภาพถ่ายโดย JUSTIN SULLIVAN, GETTY IMAGES)

อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไร้คนขับ

รถยนต์ไร้คนขับก็เป็นเช่นเดียวกับนวัตกรรมเปลี่ยนโลกอื่นๆ ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย และมีอุปสรรคในการทดสอบและพัฒนามากมาย ดังเช่นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2018 ได้เกิดอุบัติเหตุ รถยนต์ไร้คนขับของผู้ให้บริการรถยนต์ร่วมโดยสาร (Ride Sharing) อย่างอูเบอร์ (Uber) ที่ในอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ พุ่งชนเอเลน เฮิร์ซเบิร์ก สตรีวัย 49 ปี ระหว่างกำลังจูงจักรยานข้ามถนนรัฐแอริโซนา ตอนกลางคืน ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาล แม้ความเห็นจากตำรวจผู้สอบสวนจะกล่าวว่าอุบัติเหตุครั้งนี้อูเบอร์อาจจะไม่มีความผิด เนื่องจากเป็นเวลากลางคืนที่ทัศนวิสัยต่ำมากและผู้เสียชีวิตได้ข้ามถนนในระยะกระชั้นชิด แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้ผู้คนตั้งคำถามว่านวัตกรรมรถยนต์ไร้คนขับนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ และถ้าเกิดขึ้นจริง มันจะมีโอกาสเป็นเทคโนโลยีที่ทำร้ายเรา เช่นเดียวกับความกังวลของผู้ที่หวาดกลัวภัยของหุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์หรือไม่

แต่ถึงอย่างนั้น บรรดาผู้พัฒนารถยนต์ไร้คนขับนี้ยังยืนยันว่า ข้อดีของมันคือความปลอดภัย และส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุน้อยกว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ควบคุมโดยมนุษย์ เพราะยานพาหนะเหล่านี้ถูกออกแบบให้ขับตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด อีกทั้งความแม่นยำของบรรดาเซนเซอร์ในรถจะส่งผลให้มันหยุดรถทันทีเมื่อมีความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เพียงแต่เรายังต้องเฝ้ารอให้ระบบพัฒนาเสร็จอย่างสมูบรณ์แบบเสียก่อน อย่างไรก็ตาม เราคงต้องตระหนักถึงความจริงข้อหนึ่งว่าต่อให้รถยนต์ไร้คนขับจะออกแบบมาดีแค่ไหน ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุได้ 100%

รถยนต์ไร้คนขับ Nuvo จอดอยู่ที่หน้าร้าน Fry’s supermarket ซึ่งเป็นรถใช้สำหรับส่งสินค้าของบริษัท Kroger ในมลรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ขอบคุณภาพจาก https://www.forbes.com/sites/lanabandoim/2018/12/19/kroger-is-using-unmanned-autonomous-vehicles-to-deliver-groceries-in-arizona/#132d16bc2f57

จุดหมายที่ใกล้จะถึง

ไม่ว่าเราจะชอบมัน หรือวิตกกังวลไปกับรถยนต์ไร้คนขับ แต่ดูเหมือนว่านวัตกรรมนี้เตรียมพร้อมที่จะเข้ามาในชีวิตของเราแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลกอย่าง General Motors และบริษัทผลิตรถยนต์หลายแห่งทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างประกาศว่าจะพัฒนารถยนต์แบบไร้คนขับโดยสมบูรณ์และพร้อมวางตลาดในช่วงปี 2020 – 2021 โดยในขณะนี้ได้มีบริษัทที่ให้บริการรถยนต์ร่วมโดยสาร (Ride Sharing) บางบริษัท เริ่มทดลองการให้บริการด้วยรถยนต์ไร้คนขับแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างอาลีบาบาได้เริ่มพัฒนารถหุ่นยนต์ไร้คนขับ ชื่อว่า G Plus เพื่อส่งของให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อของทางอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับ Kroger ร้านค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มเปิดตัวรถยนต์ไร้คนขับสำหรับใช้ขนส่งของไปยังบ้านลูกค้าเมื่อราวปลายปี 2018 ที่มลรัฐแอริโซนา มลรัฐที่สามารถออกใบอนุญาตทดสอบรถยนต์ไร้คนขับบนถนนจริงได้แล้ว

ดูเหมือนว่าการเดินทางบนเส้นทางรถยนต์ไร้คนขับของเหล่านักประดิษฐ์กำลังมุ่งไปสู่จุดหมายอย่างแน่นอน แต่ทว่างานหนักหนาที่ยังรอพวกเขาอยู่คือจะทำให้สังคมยอมรับและไว้วางใจให้มันเป็นผู้ช่วยในชีวิตของเราได้อย่างไร เมื่อถึงเวลานั้น รถยนต์ไร้คนขับอาจกลายมาเป็นเป็นนวัตกรรมที่พลิกโฉมโลกมนุษย์ของเราไปได้อย่างสิ้นเชิง

แหล่งข้อมูล

ทำไมจึงเป็นการยาก ที่จะสร้างรถยนต์ไร้คนขับจริง ๆ บนท้องถนน

ทำความรู้จัก Self-Driving Car ฉบับเบื้องต้น

รถยนต์ไร้คนขับของ UBER ชนคนเสียชีวิตในรัฐแอริโซนาระหว่างทดสอบระบบ

Are Self-Driving Cars Safe?

Autopilot แบบ 4.0 ไร้คนขับ เทคโนโลยียานยนต์ที่กำลังมาแรง

AUTOMATED DRIVING SYSTEMS 2.0

Automated Driving Systems (ADS) – An Introduction to Technology and Vehicle Connectivity – Part 3

The (Long) Road to Self-Driving Cars


อ่านเพิ่มเติม : ส่องอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้า มาแน่ในอีกไม่กี่ปี

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.