รถยนต์ไฟฟ้า นวัตกรรมแห่งวงการยานยนต์

รถยนต์ไฟฟ้า ทิศทางใหม่สำหรับอุตสาหรกรรมยานยนต์เมืองไทย

อุตสาหกรรมรถยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีส่วนสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาเทคโนโลยี สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยและคนไทยเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา ในปัจจุบัน ทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Pass Through) จากรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ไปสู่ รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อตัวอุตสาหกรรมรถยนต์เอง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ

จากรายงานฉบับล่าสุดของ International Energy Agency: IEA (รายงานเรื่อง Global EV outlook 2017) พบว่า ปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2016 ทั่วโลกมีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนน (Stock) จำนวน 2.01 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.52 (%yoy) และมียอดการจดทะเบียนใหม่ (ยอดขาย) จำนวน 7.53 แสนคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.66 (%yoy) ทั้งนี้ประเทศที่มีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าสะสมสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ โดยมีปริมาณอยู่ที่ 6.49, 5.64, 1.51, 1.33 และ 1.12 แสนคันตามลำดับ

ขณะที่สถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันเริ่มมีทิศทางชัดเจนมากขึ้นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมจะพึ่งพารถยนต์ไฮบริด (HEV) เป็นตัวส่งผ่าน ส่วนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการตื่นตัวด้านโครงสร้างพื้นฐานในการประจุไฟฟ้า (Charging Infrastructure) หรือสถานีชาร์จไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) การไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่ทยอยเปิดตัวสถานีชาร์จไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าเป็น 1,000 สถานี ทั้งนี้ แนวทางข้างต้นถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีของไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตรถยนต์ในอนาคต

อ่านต่อหน้า 2

รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่วางขายจริงในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

คลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่

FOMM Concept One 2019

ราคาจำหน่าย 664,000 บาท FOMM Concept One 2019 ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอีกหนึ่งรุ่นที่พร้อมวางจำหน่ายจริง มีจุดเด่นอยู่ที่ตัวถังขนาดเล็กเน้นความคล่องตัว ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ In-wheel ขนาด 5 กิโลวัตต์ จำนวน 2 ตัว ให้แรงบิดรวมสูงสุด 560 นิวตัน-เมตร สามารถชาร์จไฟจนเต็ม (0-100 เปอร์เซ็นต์) ในเวลา 6 ชั่วโมง ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนได้เป็นระยะทางสูงสุด 160 กิโลเมตร

MG ZS EV 2020 ใหม่

ราคาจำหน่าย 1,190,000 บาท MG ZS EV 2020 เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นแรกของเอ็มจี ติดตั้งแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออนความจุ 44.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถขับขี่ได้เป็นระยะทางกว่า 337 กิโลเมตร รองรับระบบการชาร์จด่วนในเวลา 30 นาที ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร สามารถเร่งความเร็วจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในเวลาเพียง 6.2 วินาที (เว็บไซต์ MG Cars ประเศไทย)

แบตเตอรี่ของ MG ZS EV ผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล สามารถวิ่งผ่านน้ำที่มีความสูง 40 เซนติเมตรและระบบจัดการอุณหภูมิอัจฉริยะ สามารถขับขี่ได้เป็นระยะทางมากกว่า 337 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็มแต่ละครั้ง (ตามมาตรฐาน NEDC) ใช้เวลาชาร์จแบบ Normal Charge ในเวลา 6.5 ชั่วโมง และแบบ Quick Charge จนถึงระดับ 80% ในเวลาเพียง 30 นาที นอกจากนี้ MG ZS EV ยังติดตั้งระบบ KERS (Kinetic Energy Recovery System) สามารถชาร์จพลังงานในระหว่างขับขี่กลับเข้าแบตเตอรี่ (Regenerative) เลือกระดับการชาร์จพลังงานกลับได้ 3 ระดับ พร้อมโหมดการขับขี่ 3 รูปแบบ ได้แก่ Eco, Normal และ Sport

Hyundai Ioniq Electric

ราคาจำหน่าย 1,749,000 บาท ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 120 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 295 นิวตัน-เมตร พร้อมแบตเตอรี่ Lithium-Ion Polymer (LiPo) ความจุ 28 กิโลวัตต์ชั่วโมง ให้อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลา 9.9 วินาที (ในโหมด Sport) และ 10.2 วินาที (ในโหมดปกติ) ทำความเร็วสูงสุดได้ 165 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (เว็บไซต์ Hyundai ประเทศไทย)

สามารถเคลื่อนที่ได้เป็นระยะทาง 280 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้งตามมาตรฐาน NEDC ระบบชาร์จไฟของ Ioniq Electric 2018 สามารถชาร์จได้ 3 แบบ ได้แก่ 1. แบบทริคเคิ้ล (เต้าเสียบบ้าน) กำลังไฟ 2.3 กิโลวัตต์ ใช้เวลาชาร์จไฟจนเต็ม 12 ชั่วโมง 2. แบบธรรมดา (Wall Box) กำลังไฟ 6.6 กิโลวัตต์ ใช้เวลาชาร์จจนเต็ม 4 ชั่วโมง 25 นาที และ 3. แบบชาร์จเร็ว (สถานีชาร์จเร็ว) กำลังไฟสูงสุด 100 กิโลวัตต์ ใช้เวลาชาร์จจนถึงระดับ 80% ในเวลา 23 นาที

BYD E6 2019

ราคาจำหน่าย 1,890,000 บาท BYD E6 2019 เป็นรถเอ็มพีวีขนาด 5 ที่นั่ง ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ AC Synchronous Motor ให้กำลังสูงสุด 134 แรงม้า (HP) แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร พร้อมแบตเตอรี่ Lithium Ion Phosphate ความจุ 80 กิโลวัตต์ สามารถขับเคลื่อนได้เป็นระยะทาง 400 กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 149 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถรุ่นนี้สามารถใช้ระบบไฟแบบเฟสเดียว ขนาด 7 กิโลวัตต์ ชาร์จประจุไฟจนเต็มใช้เวลาประมาณ 11.5 ชั่วโมง และที่ชาร์จแบบ 40 กิโลวัตต์ ที่ใช้ระบบไฟแบบ 3 เฟส ด้วยแรงดันไฟ 380-400 โวลต์ ย่นระยะเวลาชาร์จลงเหลือประมาณ 1.5 ชั่วโมงเท่านั้น มาพร้อมระยะเวลารับประกันแบตเตอรี่ 5 ปี หรือ 500,000 กิโลเมตร (เว็บไซต์ BYD Car)

NISSAN Leaf

ราคาจำหน่าย 1,990,000 บาท ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 320 นิวตัน-เมตร ทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในเวลา 7.9 วินาที รองรับการขับขี่เป็นระยะทาง 311 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้งตามมาตรฐาน NEDC ติดตั้งแบตเตอรี่แบบ Lithium-Ion ความจุ 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถชาร์จด้วยกำลังไฟขนาด 3.6 กิโลวัตต์ได้ในเวลา 12 ชั่วโมง และกำลังไฟขนาด 6.6 กิโลวัตต์ในเวลา 6 ชั่วโมง รองรับการชาร์จด่วนจนถึงระดับร้อยละ 80 ได้ในเวลา 40 นาที (เว็บไซต์ Nissan Thailand)

อ่านต่อหน้า 3

KIA Soul EV

ราคา 2,297,000 บาท ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ 3 เฟด แม่เหล็กถาวร ควบคุมแรงบิดโดยตรง(แรงดัน ไฟฟ้า 375 โวลท์) แบบ แบตเตอร์รี่ ลิเทียม-ไอออนโพลิเมอร์ สามารถทำแรงม้าได้ถึง 111 แรงม้า (81.4 กิโลวัตต์ )ที่ 2,730-8,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 285 นิวตันเมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 145 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและให้อัตราเร่งทันใจที่ 11.2 วินาที สะดวกสบายด้วยชุดชาร์จไฟกระแสสลับที่สามารถชาร์จไฟได้ทุกที่ทุกเวลาโดยสามารถทำระยะทางได้ไกลถึง 250 กิโลเมตรต่อการชาร์จเพียงหนึ่งครั้ง โดยให้ความเร็วสูงสุด 145 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลือง 142 วัตต์ชั่วโมงต่อกิโลเมตร (เว็บไซต์ KIA ประเทศไทย)

Audi e-tron 55 quattro

ราคาจำหน่าย 5,099,000 บาท Audi ค่ายรถยนต์หรูค่ายแรกที่หันมาลงตลาดกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนจำนวน 2 ตัว ให้กำลังสูงสุด 360 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 561 นิวตัน-เมตร อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรในเวลา 6.6 วินาที พร้อมบูสต์โหมดที่เพิ่มกำลังสูงสุดเป็น 408 แรงม้า และแรงบิด 664 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติแบบ Single Gear สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงให้เหลือเพียง 5.7 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่แบตเตอรี่เป็นแบบลิเธียม-ไอออน ขนาด 95 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถขับขี่ได้เป็นระยะทางประมาณ 417 กิโลเมตร (ตามมาตรฐาน WLTP) ต่อการชาร์จเต็มแต่ละครั้ง (เว็บไต์ Audi Thailand)

รถยนต์ EV ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นได้อย่างไร

รถยนต์ EV ให้สมรรถนะที่เหนือชั้นกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ด้วยอัตราเร่งที่เปี่ยมล้น จุดศูนย์ถ่วงต่ำ เพื่อการยึดเกาะถนน เงียบแบบไร้เสียงเครื่องยนต์รบกวน ทำให้ประสบการณ์เดิมๆ ที่เราต้องเติมน้ำมัน ตรวจเช็คของเหลว เสียงดังจากเครื่องยนต์ กลิ่นจากท่อไอเสีย จะหมดไป รถยนต์ EV จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของวิวัฒนาการอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะทำให้ชีวิตของเราทุกคนเปลี่ยนไปอย่างแท้จริง พร้อมขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยังกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ด้วยนโยบายจากภาครัฐที่สนับสนุนรถยนต์พลังงานสะอาด ลดการสร้างมลพิษ พร้อมเสริมสร้างเศรษฐกิจสู่โลกสีเขียวแห่งอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน มีการส่งเสริมการลงทุนให้แก่ผู้ผลิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จให้ครอบคลุม พร้อมให้ความรู้เรื่องการติดตั้งอุปกรณ์การชาร์จไฟภายในบ้าน ในขณะเดียวกันบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างตอบรับร่วมกันพัฒนาแบตเตอรี่และเทคโนโลยีสำหรับผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันประเทศไทยมี CHARGING STATION จำนวน 356 แห่ง และมีแผนจะขยายจำนวนให้มากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ


รถยนต์ไร้คนขับ เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เป็นประโยชน์หรือความเสี่ยง

ประธานบริษัท Google Eric Schmidt ทดลองนั่งรถยนต์ขับเคลื่อนตัวเองของ Google ในสำนักงานใหญ่ที่เมืองเมาน์เทนวิว รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2015
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.