โฮลี: เทศกาลแห่งสีสันแดนภารตะ

โฮลี: เทศกาลแห่งสีสันแดนภารตะ

ภาพละอองฝุ่นหลากสีสันกระจายทั่วผืนฟ้า มีวัดฮินดูเป็นฉากหลัง มีผู้คนตัวเปื้อนสีเรือนพันเป็นฉากหน้า ดูช่างสวยงามปนน่าอัศจรรย์ต่อผู้พบเห็น บรรยากาศที่ผู้คนออกมาเล่นสาดผงสีใส่กันอย่างสนุกสนานนี้เกิดขึ้นทุกปีในเทศกาลโฮลี (Holi หรือ “โหลี”) หรือเทศกาลแห่งสีสันที่ฉลองกันทั่วประเทศอินเดียและยังมีการเฉลิมฉลองในที่อื่น เช่น ประเทศที่มีชุมชนชาวอินเดียขนาดใหญ่อย่าง สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา แม้แต่ประเทศเล็กๆ อย่างมอริเชียสด้วย

ตามปฏิทินวิกรมสัมวัตซึ่งเป็นปฏิทินทางจันทรคติและสุริยคติของศาสนาฮินดู วันโฮลีจะตกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคมของแต่ละปีตามปฏิทินสากล  ตามการคำนวณปฏิทินแบบศาสนาฮินดูนั้น วันโฮลีจะเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวงสุดท้ายของฤดูหนาว  เทศกาลโฮลีจึงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าฤดูหนาวที่หนาวเหน็บกำลังจะสิ้นสุดลง และวสันตฤดู ซึ่งเป็นฤดูกาลแห่งการเพาะปลูกกำลังเริ่มต้นขึ้น  บางตำราก็ว่าเป็น ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งสอดคล้องกับการละเล่นสาดสีใส่กัน อันเป็นสัญลักษณ์ของดอกไม้นานาพันธุ์ที่เริ่มผลิบานสร้างความสดใส

ผงสีวางขายในเมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ก่อนถึงเทศกาลโฮลี ในอดีตนิยมใช้ผงสีที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ เปลือกและรากไม้ ปัจจุบัน ผงสีส่วนใหญ่เป็นสารสังเคราะห์ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังและดวงตา

แม้ไม่มีใครล่วงรู้ชัดว่าการเล่นโฮลีเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่มีการกล่าวถึงเทศกาลโฮลีตั้งแต่ศตวรรษที่สี่ ในคัมภีร์ปุราณะ ซึ่งเป็นตำรารวบรวมความรู้ของชาวฮินดูโบราณเกี่ยวกับการกำเนิดเทพเจ้า ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และดำเนินเรื่องด้วยเทพสามองค์ คือพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ศาสนาฮินดูมีแก่นสำคัญประการหนึ่งที่มักปรากฏในตำนานต่างๆ นั่นคือ “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” เช่นในมหากาพย์รามายณะก็มีพระรามเป็นตัวแทนของความดีกับยักษ์ทศกัณฐ์เป็นตัวแทนแห่งความชั่ว และบทสรุปก็มักจะลงเอยตรงที่คนชั่วถูกคนดีสังหาร หรือถูกเทพเจ้า (ซึ่งก็เป็นตัวแทนของความดีอีกเช่นกัน) ลงโทษ  ความเชื่อนี้สะท้อนออกมาในงานเทศกาลต่างๆ เช่นโฮลีด้วย

ในคืนวันก่อนวันที่เล่นสาดสีกันนั้น ชาวอินเดียจะจัดพิธีกรรมชื่อว่า “โฮลิกาดาฮัน” (Holika Dahan หรือ “โหลิกาทหนะ”) แปลตรงๆ ได้ว่าพิธีเผานางโฮลิกา (หรือนางโหลิกา) ซึ่งเอกตา ราย ชาวฮินดูวรรณะพราหมณ์ผู้เคร่งครัดเล่าให้ฉันฟังว่า “เทศกาลโฮลีเป็นเทศกาลที่ระลึกถึงการที่ความดีชนะความชั่ว ในวันก่อนวันสาดสี ชาวอินเดียจะเตรียมสุมกองไฟในบริเวณใกล้ๆ วัดฮินดูเพื่อจำลองการเผานางโฮลิกา ซึ่งเป็นปีศาจร้ายในตำนานที่ถูกเพลิงเผาตายเพราะคิดร้ายกับผู้อื่น  ชาวฮินดูบางกลุ่มจะสวดภาวนารอบกองไฟ  บางคนอาจจะทำทีว่าปัดฝุ่นผงจากตัวลงเข้ากองไฟเพื่อให้ไฟเผา เปรียบได้กับการเอาสิ่งไม่ดีและพลังงานลบต่างๆ ออกจากร่างกายของเราค่ะ”

ใน “ลัฏฐมารโฮลี” หรือเทศกาลแห่งไม้และสีสัน หนุ่มๆ จากนันทคามพากันมาหาสาวๆ ที่บรสนา ก่อนถูกสาดสีใส่และตีด้วยไม้ หรือ “ลัฏฐ” หากหนุ่มคนใดถูกสาวจับได้ จะต้องสวมใส่เสื้อผ้าผู้หญิงและเต้นรำในที่สาธารณะ

เมื่อคืนแห่งพิธีเผานางโฮลิกาผ่านพ้นไป วันรุ่งขึ้นเป็นวันเล่นสาดสีเรียกว่า “วันธุลันดี” (Dhulandi หรือ “ธุลันฐี”) ตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ชาวอินเดียจะตื่นแต่เช้ามาสวดมนต์ในวัดฮินดูและถวายผงสีชนิดต่างๆ แก่เทพฮินดูที่ตนนับถือ ส่วนใหญ่เป็นพระวิษณุหรือพระกฤษณะกับพระนางราธา ซึ่งล้วนเป็นเทพที่เกี่ยวข้องกับตำนานโฮลี  จากนั้นจึงกลับบ้านมาขอพรจากบุพการี  หนุมันต์ ภารทวาช ครูสอนโยคะผู้ศึกษาศาสตร์ของโยคะและปรัชญาฮินดู  บอกว่า  “ชาวอินเดียอาจฉลองเทศกาลโฮลีแตกต่างกันไป  สำหรับผมจะตื่นเช้าไปวัดเพื่อสวดมนต์และบูชาเทพเจ้า จากนั้นจะกลับมาขอพรพ่อแม่ โดยใช้ผงสีแตะที่หัวแม่เท้าของท่านและขอพร แล้วค่อยเปลี่ยนเสื้อเป็นชุดใหม่สีขาว ออกไปเล่นสาดสีกับครอบครัวและเพื่อนฝูงครับ”

 

ในวันเอกทศี หรือวันขึ้น 11 ค่ำ ก่อนโฮลีจะเริ่มต้น ที่วัดบังเกพิหารีที่เมืองวฤนดาวัน มีการเฉลิมฉลองเทศกาลโฮลีด้วยดอกไม้ ซึ่งแตกต่างจากการใช้สีหรือน้ำสีสาดใส่กัน เรียกว่า “ผูโลวาลีโฮลี” ผู้เป็นอาสาสมัครจะโปรยกลีบดอกไม้ลงมาจากระเบียงชั้นบน

ทำไมต้องสาดสีกัน? เรื่องมีอยู่ว่ากาลครั้งหนึ่งพระกฤษณะซึ่งเป็นชายหนุ่มที่มีผิวสีดำแอบหลงรักราธา สาวเลี้ยงโคผู้มี ผิวกายขาวผ่อง แต่พระกฤษณะเสียใจที่ตนมีผิวกายคล้ำ จึงไปตัดพ้อกับมารดาว่าธรรมชาติไม่ยุติธรรมที่สร้างให้เขาต่างจากราธา  มารดาจึงแกล้งบอกให้พระกฤษณะนำสีไปป้ายหน้านางราธาให้มีผิวสีเหมือนกับตน และพระกฤษณะก็กระทำตามนั้น เป็นการลบภาพความแตกต่างระหว่างกัน  คนฮินดูยกย่องให้ความรักระหว่างพระกฤษณะกับนางราธาเป็นความรักอันจริงใจและบริสุทธิ์ และเชื่อว่าการบูชาพระกฤษณะกับพระนางราธาคู่กันจะทำให้ความรักสมหวัง

“แต่ก่อนผงสี หรือ ‘กุลาล’ ทำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติเท่านั้นครับ” หนุมันต์กล่าว “อาศรมที่ผมเคยไปศึกษาด้านโยคะปลูกต้นเทซู (ทองกวาว) ซึ่งดอกจะบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม สักหนึ่งสัปดาห์ก่อนเทศกาลโฮลี คนจะเริ่มเก็บดอกเทซูมาทำสีสำหรับใช้เล่นโฮลีกัน โดยนำไปแช่น้ำข้ามคืนแล้ว ต้ม จะได้กลิ่นหอมและน้ำสีส้มเหลือง  ยังมีสีที่ทำจาก “เมฮันดี” (หรือเฮนนา) ซึ่งให้สีเขียว และสีที่ทำจากไม้แก่นจันทน์ที่ให้สีแดง รวมทั้งขมิ้นที่ให้สีเหลืองด้วยครับ” กูรูหนุ่มให้ความรู้ต่ออย่างภูมิใจว่า “สีเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะมีกลิ่นหอมนะครับ ยังมีคุณสมบัติเป็นยาอายุรเวทด้วย คนถึงนิยมเอามาใช้ในเทศกาลโฮลี  เพราะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูอย่างช่วงโฮลีที่คนมักจะไม่สบายเป็นหวัดกัน”

 

การสาดสีในเทศกาลโฮลีมักถูกโยงกับการสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์อยู่บ่อยๆ ด้วยลักษณะที่ใกล้เคียงกัน  คนไม่น้อยเข้าใจว่าไทยรับเทศกาลสงกรานต์มาจากเทศกาลโฮลีของอินเดีย  แต่อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยให้ความเห็นไว้ว่าสงกรานต์ของไทยกับโฮลีของอินเดียเกิดขึ้นคนละช่วงเวลา และมีที่มาจากคติความเชื่อที่ต่างกัน จึงไม่น่าจะเกี่ยวกันทางประวัติศาสตร์  วัตถุประสงค์ของเทศกาลโฮลีคือการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนฤดูกาล เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเกษตรกรรมแบบโบราณที่คนเตรียมการเพาะปลูกในฤดูใหม่ ขณะที่วันสงกรานต์ของไทยไม่เพียงมีเรื่องของฤดูกาล แต่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนศักราชหรือการขึ้นปีใหม่ด้วย

ใบหน้าและเนื้อตัวของนักบวชฮินดูหรือสาธุที่วัดพระศิวะในเมืองนันทคาม เปรอะเปื้อนด้วยสีที่แห้งกรัง

 “รู้ไหมครับว่าเทศกาลโฮลีนี้เป็นเทศกาลแห่งความเสมอภาค ทุกคนจะวางอัตตาลง เป็นวันที่ทุกคนเป็นพวกเดียวกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา เพราะพอถูกสีสาดก็ดูหน้าตาเหมือนกันไปหมด” หนุมันต์ กูรูโยคะ เคยพูดเอาไว้  และฉันถามต่อว่าจริงไหมที่วันนี้เป็นโอกาสในการคืนดีด้วยและเขาทำอย่างไร  เขาว่า “ถ้าทะเลาะกับใคร วันโฮลีนี้ก็ไปหาเขาแล้วพูดว่า ‘บุรา นะ มาโน โฮลี แฮ’ แปลว่า ‘อย่าเซ็งเลย วันนี้วันดีมาฉลองโฮลีกันเถอะ’ แค่นี้ แล้วก็สาดสีสักที เพื่อนฝูงที่มีเรื่องกันก็กลับมากอดคืนดีกันได้แล้วครับ”

บางทีเทศกาลโฮลีอาจจะเป็นช่วงเวลาหนึ่งในรอบปีที่เปิดโอกาสให้สังคมอินเดียซึ่งเต็มไปด้วยแรงกดดันเรื่องชนชั้น วรรณะ ศาสนา ชาติกำเนิด ได้คลายความตึงเครียดลงบ้าง เพราะแม้แต่ตำนานที่มาของการสาดสีโฮลีเองก็วางอยู่บนพื้นฐานความคิดเดียวกันนี้

เรื่อง  ปัทมน ปัญจวีณิน

ภาพถ่าย  เจเรมี ฮอร์เนอร์

 

อ่านเพิ่มเติม

นี่ไม่ใช่ภาพตัดต่อ แต่คือสะพานต้นไม้จริงที่ปลูกในอินเดีย

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.