ชนเผ่าผู้ไม่สังคมโลก

ชนเผ่าผู้ไม่สังคมโลก

ไม่น่าเชื่อว่าในโลกที่ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกันได้จากคนละมุมโลกด้วยอินเตอร์เน็ตจะยังมีสังคมที่ไม่เปิดรับโลกภายนอก และยังคงใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติแบบชนเผ่าเฉกเช่นบรรพบุรุษเมื่อหลายร้อยปีก่อน

รายงานจาก Survival International ซึ่งทำการสำรวจไว้ในปี 2013 ระบุว่าบนโลกของเราน่าจะยังคงหลงเหลือชนเผ่าที่ไม่ติดต่อกับโลกภายนอกเลยประมาณ 100 ชนเผ่า โดยจำนวนนั้นแตกต่างกันไปตามสถานที่ เช่น ในบราซิลอ้างว่ามีชนเผ่าที่ไม่ติดต่อกับโลกภายนอกอาศัยอยู่ในป่าแอมะซอนราว 77 ชนเผ่า ด้านเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกระบุมี 84 ชนเผ่า อย่างไรก็ตามจำนวนในปัจจุบันอาจเหลือน้อยกว่า 100 ชนเผ่าแล้ว และเป็นการยากที่จะระบุจำนวนตัวเลขที่แน่นอน

จากแผนที่โดย Wiki Commons นี้พื้นที่สีดำแสดงให้เห็นจุดที่บรรดาชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วพวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง เช่นในป่าลึกของแอมะซอน ในผืนป่าของคองโก หรือบนเกาะนิวกินี รวมถึงยังมีอีกสองชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะอันดามันของอินเดีย

จุดสีดำในแผนที่คือบริเวณที่ชนเผ่าที่ไม่ติดต่อกับโลกภายนอกอาศัยอยู่
ภาพแผนที่โดย Wiki Commons

เหตุใดพวกเขาจึงปิดกั้นตัวเองอย่างโดดเดี่ยว? เหตุผลเหล่านี้แตกต่างกันไปตามชนเผ่า แต่เชื่อกันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาหลบหนีเอาชีวิตรอดจากความทารุณโหดร้ายเมื่อในอดีต Robert S. Walker นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิสซูรีชี้ว่า “ความกลัว” คือแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องการติดต่อโลกภายนอก ซึ่งยิ่งพวกเขาตัดขาดจากโลกภายนอกนานวันเข้าจะยิ่งส่งผลต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายทำให้พวกเขาไม่อาจต้านทานเชื้อโรคหรือโรคระบาดใหม่ๆ ได้ และนั่นทำให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า เราควรติดต่อพวกเขาหรือไม่? เสียงแตกออกเป็นสองทาง ในด้านของนักวิจัยแล้วการติดต่อสื่อสารเพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาพวกเขานั้นมีความสำคัญ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเนื่องจากในทางทฤษฎีแล้วชนเผ่าที่ตัดขาดจากโลกภายนอกไม่อาจมีชีวิตที่ยืนยาวได้ อย่างไรก็ตามด้านกลุ่มองค์กรที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิของชนเผ่าไม่เห็นด้วย และในประวัติศาสตร์เองหลายครั้งหลายคราวที่กลุ่มประชากรใดๆ ที่เปิดรับการมาถึงของกลุ่มใหม่ๆ ก็มักจะเกิดการระบาดของโรคตามมา

และเหล่านี้คือตัวอย่างของบรรดาชนเผ่าผู้ไม่สังคมโลกในปัจุบัน

 

เซนติเนลลีส (Sentinelese)

ชนเผ่าเซนติเนลถูกถ่ายภาพจากระยะไกล
ภาพถ่ายโดย Survival International

พวกเขาได้ชื่อว่าเป็นชนเผ่าที่แยกตัวอย่างโดดเดี่ยวที่สุดในโลก ทั้งยังเชื่อกันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นมนุษย์กลุ่มแรกๆ ที่เดินทางออกจากแอฟริกามายังหมู่เกาะในอินเดีย ชนเผ่าเซนติเนลลีสอาศัยอยู่บนเกาะเซนติเนลเหนือ ส่วนหนึ่งของหมู่เกาะอันดามันและเกาะนิโคลบาร์ซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวเบงกอล รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามผู้คนเข้าไปวุ่นวายกับเกาะแห่งนี้ไม่ใช่เพียงเพราะต้องการปกป้องพวกเขาจากโรคระบาดเท่านั้น แต่ยังเป็นการปกป้องผู้คนทั่วไปจากลูกธนูอีกด้วย เนื่องจากชนเผ่านี้ไม่ต้อนรับใครทั้งสิ้นที่เข้ามาใกล้พื้นที่ของพวกเขา

เชื่อกันว่าพวกเขาเป็นนักล่าสัตว์ที่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตรกรรม แต่พวกเขาสามารถนำเหล็กจากซากเรืออับปางมาทำอาวุธได้ ชนเผ่าเซนติเนลลีสมีภาษาเป็นของตนเองแต่ด้วยความที่แยกตัวโดดเดี่ยวมานานทำให้ภาษาของพวกเขาไม่เชื่อมโยงกับใคร และกลายเป็นหนึ่งในภาษาที่ลึกลับที่สุดในโลก ปัจจุบันเชื่อว่าประชากรของชนเผ่าบนเกาะน่าจะมีราว 250 คน

 

จารวา (Jarawas)

เด็กๆ ชนเผ่าจารวาภาพถ่ายจากศูนย์วิจัยมานุษยวิทยาในอินเดีย

อีกหนึ่งชนเผ่าที่แยกตัวอย่างโดดเดี่ยวในอินเดีย และอาศัยอยู่บนเกาะทางฝั่งตะวันตกและกลางของหมู่เกาะอันดามันเช่นกัน ชนเผ่าจารวาดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์หาของป่า และสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นเองโดยเป็นกระท่อมแบบง่ายๆ ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาลอินเดียมีแผนที่จะช่วยชนเผ่าจารวาให้ออกมาติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก แต่แผนดังกล่าวถูกเลื่อนออกไป จนกระทั่งในปี 1998 เป็นครั้งแรกที่สมาชิกจากชนเผ่านี้ได้ติดต่อกับผู้คน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือวิถีชีวิตของพวกเขากลายมาเป็นส่วนหนึ่ของการท่องเที่ยว และตามมาด้วยการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียในบริเวณรอบๆ ที่เพิ่มขึ้น

แม้รัฐบาลอินเดียจะกำหนดเขตพื้นที่สงวนสำหรับชาวจารวา แต่ถนนและผู้คนที่เข้ามาอาศัยอยู่กันมากขึ้นส่งผลให้พื้นที่อาศัยตามธรรมชาติของพวกเขามีขนาดเล็กลง สร้างความกังวลถึงอนาคตของชนเผ่าเหล่านี้ ซึ่งประมาณจำนวนประชากรในปัจจุบันอยู่ที่ราว 400 คน

 

Vale do Javari

บริเวณหุบเขา Javari ในบราซิลซึ่งมีขนาดเทียบเท่ากับประเทศออสเตรียนี้เป็นบ้านของบรรดาชนเผ่ากว่า 20 ชนเผ่า เชื่อกันว่ามีจำนวนประชากรรวม 3,000 คน และในจำนวนนี้มี 2,000 คนที่เป็นชนเผ่าผู้ไม่ติตด่อกับโลกภายนอก ข้อมูลของพวกเขามีเพียงน้อยนิด แต่หลักฐานจากร่องรอยของการเพาะปลูกและล่าสัตว์ นอกจากนั้นยังมีเครื่องมือโลหะที่เชื่อกันว่าได้มาจากการแลกเปลี่ยนระหว่างชนเผ่าอีกด้วย

ในช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1980 รัฐบาลบราซิลพยายามติดต่อกับบรรดาชนเผ่าเหล่านี้ แต่น่าเศร้าที่ความพยายามของรัฐบาลทำให้ชนเผ่าหนึ่งต้องสูญเสียประชากรไปมากถึงสามในห้าจากจำนวนหมู่บ้านทั้งหมดเพราะโรคระบาด ต่อมาพื้นที่ดักล่าวจึงถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนเพื่อปกป้องชนพื้นเมืองเหล่านี้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันสถานะของพวกเขายังคงน่าเป็นห่วงจากการถูกคุกคามโดยธุรกิจเหมืองแร่และพวกลักลอบตัดไม้

 

นิวกินี (New Guinea)

ผู้สูงอายุในชนเผ่าดานีและมัมมี่ของบรรพบุรุษ
ภาพถ่ายโดย Shutterstock

ผืนป่าและหุบเขาบนเกาะนิวกินียังคงเป็นบ้านของชนเผ่าจำนวนหนึ่ง และรัฐบาลอินโดนีเซียเองก็พยายามอย่างเต็มที่ในการปกป้องชนพื้นเมืองเหล่านี้ไว้ อย่างไรก็ตามยังคงมีชนเผ่าหนึ่งที่ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกแต่ยังคงวัฒนธรรมและขบนธรรมเนียมของตนไว้อย่างเหนียวแน่น พวกเขาคือชนเผ่าดานี (Dani) ชนเผ่านักล่าสัตว์ที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์คือการเจาะและเพ้นท์ตามร่างกาย และตัดนิ้วของตนเมื่อคนที่รักเสียชีวิต รวมไปถึงการทำมัมมี่ร่างของบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้วอีกด้วย

 

Mbuti

ภาพถ่ายของชนเผ่า Mubti เมื่อครั้งนักสำรวจชาวยุโรปไปพบเข้า
ภาพถ่ายโดย Osa Johnson

หลายชนเผ่าในป่าดิบของคองโกเปิดรับการติดต่อจากโลกภายนอกในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา ทว่ายังคงมีชนเผ่าบางส่วนที่ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมโดยไม่ติดต่อกับใคร คือชนเผ่า Mbuti หรือที่เรียกกันว่าคนแคระ เนื่องจากพวกเขามักมีความสูงเพียง 5 ฟุตเท่านั้น Mbuti เป็นนักล่าสัตว์และหาของป่า พวกเขาเก็บรวบรวมทุกสิ่งที่หาได้ ทั้งยังแลกเปลี่ยนสิ่งของกับชนเผ่าอื่นๆ แต่ที่น่าทึ่งก็คือองค์ความรู้ที่พวกเขามีเกี่ยวกับป่าฝนและพืชสมุนไพร ซึ่งบ่งบอกว่าชนเผ่านี้เข้าใจระบบนิเวศที่พวกเขาอาศัยอยู่เป็นอย่างดี ปัจจุบันพวกเขากำลังเผชิญกับผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายพื้นที่ป่าและการสร้างเหมือง รวมไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยทหารคองโก

 

อ่านเพิ่มเติม

วิถีชีวิตของชนเผ่าที่เปลี่ยนไปเพราะเขื่อน

 

แหล่งข้อมูล

Are There Any Uncontacted Civilizations Left In The World?

Uncontacted tribes: What do we know about the world’s 100 hidden communities?

More than 100 tribes across the world still live in total isolation from society

Where Are The Last Uncontacted Tribes On Earth, And Why Haven’t We Made Contact?

ชนเผ่า Sentinelese ที่ปฏิเสธโลกภายนอก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.