บ้านแสนสุขของผู้ลี้ภัยเซาท์ซูดาน

บ้านแสนสุขของผู้ลี้ภัยเซาท์ซูดาน

เมื่ออาการเจ็บท้องใกล้คลอดเกิดขึ้น Mary Nakany ผู้ลี้ภัยเซาท์ซูดานต้องชั่งน้ำหนักถึงทางเลือกที่เธอมี เธออาจเดินไปยังแผนกสูติกรรมที่ใกล้ที่สุดได้ สถานที่ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์และยาเตรียมพร้อม แต่กว่าจะไปถึงที่นั้นต้องใช้เวลาเดินถึง 45 นาที โดยที่ต้องเดินอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด ซึ่งเสี่ยงมากที่เธอจะทนไม่ไหวและคลอดลูกกลางทาง ดังนั้นทางเลือกอีกทางคือการคลอดลูกที่พื้นบ้านสกปรกของเธอเอง ดูจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

ในวัฒนธรรมของเซาท์ซูดาน ผู้หญิงจะคลอดลูกเงียบๆ ดังนั้นแม้จะเจ็บท้องเพียงใด Mary จึงไม่ได้ส่งเสียงออกมา และเสียงแรกที่ดังโพล่งออกมาหลังความเจ็บปวดยาวนานก็คือเสียงร้องไห้ของเด็กทารกเพศหญิงตัวน้อยในคืนวันนั้น หลังลืมตาดูโลกได้หนึ่งวัน เธอได้ชื่อว่า Monday Kadong

Mary Nakany นั่งกับลูกๆ ของเธอ แต่ละคนเกิดในรัฐต่างๆ กันระหว่างการหลบหนีจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
Mary เดินกลับบ้านพร้อมกับลูกสาวคนใหม่

Mary เล่าว่าหลังคลอดด้วยตัวเองสำเร็จ เธอตัดสายสะดือด้วยมีดพกที่ทื่อจากการใช้งานหนัก และเดินเท้าตรงไปยังแผนกสูติกรรมในค่ายผู้ลี้ภัย Pagirinya ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของยูกันดา ระหว่างที่ย่ำเท้าไปตามถนนลูกรังสีแดง เธอเดินผ่านบ่อน้ำที่ผลิตน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคแก่ผู้คนจำนวน 30,000 คน ย้อนกลับไปสองปีก่อนบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเต็นท์สีขาวสำหรับผู้ลี้ภัยสงครามและภัยพิบัติ ทุกวันนี้ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นอาศัยอยูใน tukuls บ้านแบบดั้งเดิมของชาวเซาท์ซูดานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 ฟุตที่สร้างขึ้นจากอิฐดินและมุงด้วยฟาง เพื่อช่วยให้ค่ายผู้ลี้ภัย Pagirinya ไม่หนาแน่นจนเกินไป

(อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในเซาท์ซูดานได้ ที่นี่)

Monday ลูกสาวคนใหม่ของ Mary นอนอยู่ในห่อผ้าของแผนกสูติกรรม ค่ายผู้ลี้ภัย Pagirinya
บรรดาคุณแม่ชาวเซาท์ซูดานในคลีนิคแม่และเด็กทางตอนเหนือของยูกันดา

ในยูกันดาประเทศเพื่อนบ้านมีผู้ลี้ภัยชาวเซาท์ซูดานมากถึง 2.5 ล้านคน และอีกราว 2 ล้านคนที่ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศบ้านเกิด แต่ไม่สามารถอยู่ในบ้านหลังเดิมของตนเองได้เพราะถูกทำลายจนหมดสิ้นโดยรัฐบาลหรือกลุ่มกบฏ ด้วยวัยเพียง 7 ปี เซาท์ซูดานประเทศเกิดใหม่นี้ขึ้นชื่อเรื่องสงครามและความขัดแย้งมากกว่าความสงบ ย้อนกลับไปในปี 2013 ตอนที่เซาท์ซูดานยังมีอายุแค่ 2 ปี นักการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามเข้าปะทะห้ำหั่นกันจนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง และอีกครั้งในปี 2016 แม้จะมีการเจรจาเพื่อสันติภาพเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญแล้วปัญหาในเซาท์ซูดานกว่าจะแก้ไขและฟื้นตัวได้นั้นต้องใช้เวลาอีกนาน

นั่นทำให้สหประชาชาติคาดการณ์ไว้ว่ากลุ่มประชากรรุ่นแรกๆ ของเซาท์ซูดานส่วนใหญ่แล้วจะเกิดในค่ายผู้ลี้ภัย แค่ในค่าย Pagirinya เพียงแห่งเดียวมีเด็กทารกเกิดใหม่มากถึง 40 คนต่อเดือน และในภาพรวมของผู้ลี้ภัยทั้งหมดนั้นเป็นผู้หญิงและเด็กถึง 85% ในขณะที่ค่าย Pagirinya มีจำนวนผู้หญิงวัยผู้ใหญ่มากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า

ในค่ายผู้ลี้ภัย Pagirinya บ้านเรือนของผู้ลี้ภัยถูกปลูกขึ้นเองด้วยวัสดุท้องถิ่น แทนที่เต็นท์นอนที่เห็นกันจนชินตา
กลุ่มเมฆก่อตัวหลังบ้านพักของผู้ลี้ภัยทางตอนเหนือของยูกันดา

ความดิ้นรนในการมีชีวิตรอดต่อไปของบรรดาผู้ลี้ภัยเหล่านี้สามารมองเห็นได้จากจำนวน tukuls ที่พวกเขาสร้างขึ้น ตัวอย่างเช่น Grace Ondoa ผู้เล่าว่าเธอเก็บฟืนไปขายที่ตลาดนานถึง 18 เดือนกว่าจะอดออมเงินพอใช้สร้างบ้านได้ แต่บ้านที่ได้ก็ยังใหญ่ไม่พอสำหรับลูก 3 คน และหลานกำพร้าอีก 9 คน “สามีทิ้งฉันไป” เธอกล่าว “เพราะเขาเห็นว่ามีเด็กมากเกินไป เขาไม่อยากมาลำบากด้วย”

ถัดไปไม่กี่หลังคือ tukuls ของ Sharon Kide ผู้ที่สามีออกจากหมู่บ้านไปทำงานที่อื่น เธอต้องปันรายจ่าย 5% ของค่าอาหารทั้งปีเพื่อให้ได้มีบ้านอยู่ มันเป็นบ้านของเธอและลูกชายลูกสาวอีกอย่างละคนที่เธอกระเตงหนีออกมาจากหมู่บ้านเดิม เมื่อถูกทหารบุกเข้าทำลาย

ปกติแล้วตามบทบาททางสังคมของเซาท์ซูดาน การสร้างบ้านเป็นหน้าที่ของผู้ชาย แต่ทุกวันนี้มันเป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องทำ รายงานจาก Andrea Cullinan ผู้ประสานงานความรุนแรงทางเพศจากกองทุนสหประชาชาติในเซาท์ซูดาน “มันกลายมาเป็นโอกาสที่ผู้หญิงได้แสดงความสามารถ” เธอกล่าว พร้อมอธิบายว่าชีวิตที่ขาดความช่วยเหลือจากผู้ชายก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป “บางครั้งมันก็เป็นเรื่องดีนะคะ เพราะทำให้ผู้หญิงได้ตัดสินใจอะไรๆ ในชีวิตได้เอง”

(ชะตากรรมของเด็กๆ ผู้ลี้ภัยในยุโรป กำลังน่าเป็นห่วง เมื่อพวกเขาต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยตนเอง)

บ้านที่มีม่านสีม่วงเป็นเอกลักษณ์
บ้านที่คลุมด้วยฟางฝีมือของผู้ลี้ภัยชาวเซาท์ซูดาน
ลวดลายดอกไม้ช่วยเติมเต็มภูมิทัศน์ที่แห้งแล้งทางตอนเหนือของยูกันดา

และนั่นคือเรื่องจริงสำหรับ Mary หลังกลับจากแผนกสูติกรรมเมื่อได้รับยาแก้ปวดและล้างเนื้อล้างตัวลูกน้อยเรียบร้อย เธอจุดไฟภายในบ้านเพื่อทำอาหาร ควันหนาทึบเกิดขึ้นตามมาในพื้นที่แคบๆ ของบ้าน แม้ว่าจะมีช่องหน้าต่างสามเหลี่ยมเล็กๆ ก็ตาม “ฉันสร้างบ้านหลังนี้มากับมือโดยไม่มีใครช่วย” เธอกล่าว

Mary เล่าให้ฟังว่าเธอขุดดินและผสมมันเข้ากับน้ำและหญ้าเพื่อตากให้เป็นอิฐ จากนั้นเธอตัดเอาหญ้ามาไว้สำหรับการมุงหลังคา และก่ออิฐทีละก้อนด้วยตนเอง เพียงแต่ว่าเชือกที่ใช้รัดผนังกับหลังคานั้นต้องซื้อหา นอกจากนั้น Mary ยังขายเมล็ดข้าวบางส่วนที่เธอได้รับมาจากการปันส่วนแก่ผู้ลี้ภัย นั่นทำให้ตลอดเดือนที่เธอใช้ชีวิตอย่างพอเพียงนั้นช่วยให้เธอมีรายได้ราว 5,000 ชิลลิงยูกันดา หรือราว 1.35 เหรียญสหรัฐฯ ประกอบกับการขนน้ำจากบ่อน้ำไปยังตลาดช่วยเพิ่มรายได้ให้เธออีกวันละ 500 ชิลลิงยูกันดา ซึ่งภายในสามเดือนมันช่วยให้เธอมีเงินพอสำหรับการสร้างบ้าน

Emaleda หญิงชาวเซาท์ซูดานนั่งพักผ่อนบนเสื่อกับลูกของเธอ
บรรยากาศของสนามเด็กเล่นในค่ายผู้ลี้ภัย

สงครามกลางเมืองซูดานเริ่มต้นขึ้นในทศวรรษ 1950  ความขัดแย้งลุกลามบานปลายจนในที่สุดต้องมีการประกาศแยกตัวของเซาท์ซูดาน ในปี 2011 กรุงจูบา เมืองหลวงใหม่แห่งเซาท์ซูดาน กลายมาเป็นหมุดหมายสำคัญของ Mary และสามี รวมไปถึงชาวซูดานคนอื่นๆ ที่คาดหวังว่าชีวิตในประเทศใหม่จะมีอนาคตที่สดใสกว่าเก่า

ปัจจุบันลูกชาววัย 5 ขวบของเธอเกิดในกระท่อมชานเมืองที่สร้างขึ้นจากสามี ทั้งหลังคาและผนังถูกสร้างจากฟาง “มันไม่ได้เป็นแบบที่คิด…ไม่เลยสักนิด” เธอกล่าว เคราะห์ดีด้วยเงินลงทุนจากสามีที่เป็นทหาร ช่วยให้เธอมีรายได้จากการปลูกหัวหอมและมะเขือเทศเลี้ยงลูกได้บ้าง ซึ่ง Mary มักฝันกลางวันถึงอะไรๆ ที่ดีกว่านี้ ธุรกิจที่เธออยากมี โรงเรียนสำหรับลูกๆ ไปจนถึงรายได้ที่เธออยากแบ่งให้พ่อกับแม่ทุกเดือน

ในปี 2013 เสียงปืนกระชากเธอให้ตื่นขึ้นกลางดึก การปะทะกันระหว่างทหารจากสองฝั่งการเมืองส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในกรุงจูบาหลายร้อยคน “ทุกวันนี้มีแต่ฝันร้าย” Mary กล่าว ครอบครัวนี้ต้องหนีเอาชีวิตรอดจากเมืองหลวงเข้าไปอาศัยยังภูมิภาคหุบเขาทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และที่นั่นเองที่เธอให้กำเนิดลูกสาวคนเล็ก

ต่อมาในปี 2016 ความรุนแรงแพร่กระจายขยายตัวทั่วเซาท์ซูดาน ทหารบุกมาถึงหมู่บ้านและทำลาย tukul ของเธอ ความวุ่นวายทำให้เธอพลัดหลงกับสามี Mary วิ่งหนีไปพร้อมกับลูกสองคน และอีกเก้าวันต่อมาเธอก็เดินทางถึงค่ายผู้ลี้ภัย Pagirinya ที่นั่นเธอได้พบกับสามีอีกครั้ง แต่เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่เธอจะได้ยินข่าวว่าเขาถูกฆ่าตายในเวลาต่อมา

หญิงสาวคนหนึ่งกำลังทำผมให้เพื่อนภายในพื้นที่ป้กป้องพลเรือน ในเซาท์ซูดาน ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ใช่คนท้องที่ พวกเธอพลัดถิ่นมาจากแหล่งต่างๆ ในประเทศ
ลูกสาวตัวน้อยของ Mary มีชื่อว่า Monday ภาพถ่ายจากแผนกสูติกรรมในค่ายผู้ลี้ภัย

ไม่กี่ชั่วโมงหลังสองแม่ลูกกลับมาถึง tukul ท้องฟ้าก็เริ่มมืด ลมกรรโชกแรงพัดเข้าหาตัวบ้าน ลูกทั้งสองของ Mary กรีดร้องด้วยความสนุกขณะวิ่งหนีพายุเข้าบ้าน พวกเขามาถึงที่ร่มก่อนที่พายุฝนจะมาพอดี อาหารเสร็จแล้วและควันจากเตาก็เริ่มจางลง เธอใช้ช้อนไม้ที่แกะสลักด้วยตนเองป้อนข้าวให้แก่เด็กๆ

ที่บนหลังคาแมงมุมเล็กๆ ตัวหนึ่งห้อยลงมา “มองดูบ้านหลังนี้มันทำให้ฉันคิดอะไรได้หลายอย่าง” Mary กล่าว “ฉันคิดไปถึงว่าสามีสร้างบ้านหลังแรกได้ยังไง แล้วฉันสร้างหลังนี้เองได้ยังไง”

แม้ชีวิตจะไม่ได้เป็นไปตามที่ตั้งใจ แต่ภาพของครอบครัวที่เบียดเสียดกันอยู่ในพื้นที่แคบๆ ท่ามกลางพายุฝนฟ้ากระหน่ำก็พอพิสูจน์ได้ว่า เรือนที่เธอปลูกหลังนี้ไม่ใช่แค่ที่ซุกหัวนอนไว้กันลมกันฝน แต่เป็นมากกว่านั้น เพราะมันคือ “บ้าน”

เรื่อง Denise Hruby

ภาพถ่าย Hannah Reyes Morales

เด็กผู้หญิงกำลังมองวิวนอกหน้าต่างจากภายในบ้านของเธอ

 

อ่านเพิ่มเติม

สิ่งที่ผู้ลี้ภัยนำติดตัวไปด้วย

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.