คัมภีร์พระมาลัยในวาติกัน

คัมภีร์พระมาลัย ในวาติกัน

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสรับมอบ คัมภีร์พระมาลัย ฉบับปริวรรตจากอักษรขอมบาลีเป็นภาษาไทยปัจจุบันจากคณะสงฆ์วัดพระเชตุพน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2477 หรือ 84 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จเยือนนครรัฐวาติกัน และทรงนำคัมภีร์เก่าแก่เล่มหนึ่งไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 (Pius XI, ภาษาอิตาเลียน Pio XI) ประมุของค์ที่ 259 แห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก  คัมภีร์ดังกล่าวเป็นคัมภีร์พระมาลัยซึ่งสันนิษฐานว่าจารในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นภาษาบาลีที่เขียนด้วยอักษรขอม

สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ประมุขแห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกองค์ที่ 259 ภาพถ่าย Alberto Felici (1871-1950) – Politisch Wissenschaftlicher Verlag Berlin, 1932, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=7844007

ถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้แน่นอนว่าทำไมของถวายครั้งกระนั้นจึงเป็นคัมภีร์พระมาลัย  คัมภีร์ดังกล่าวถูกจัดเก็บในพิพิธภัณฑ์แห่งนครรัฐวาติกัน ประเทศอิตาลี

82 ปีถัดจากนั้น หรือ พ.ศ. 2559 คณะผู้แทนจากวาติกัน มงซินญอร์ ดร. วิษณุ ธัญญอนันต์ อดีตนักการทูตแห่งสันตะสำนัก นครรัฐวาติกัน ได้เข้าพบพระเทพวีราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เพื่อแจ้งพระสมณประสงค์จากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ประมุของค์ที่ 266 แห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกว่าจะจัดแสดงคัมภีร์พระมาลัยของถวายเมื่อครั้งนั้น แต่ทางวาติกันไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จะอ่านและแปลคัมภีร์โบราณฉบับดังกล่าวได้ จึงประสงค์ให้มีการปริวรรตคัมภีร์จากอักษรขอมเป็นภาษาไทย

หลังจากนั้นเพียงปีเดียว การปริวรรตดังกล่าวก็เสร็จสิ้นลง  วันที่ 9 มิถุนายน 2560 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงมอบหมายให้พระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เข้ารับมอบคัมภีร์ที่ปริวรรตแล้วเสร็จจากคณะสงฆ์วัดพระเชตุพน  และปีถัดมาได้มีการถวายคัมภีร์พระมาลัยอักษรขอม (บาลี-ไทย) ที่ปริวรรตแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการแด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ณ นครรัฐวาติกันเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ซึ่งถัดจากนี้จะมีการนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ อีก 7 ภาษาต่อไป

คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนเข้าเฝ้าถวายคัมภีร์พระมาลัยแด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ภาพถ่าย คณะทำงานการปริวรรตพระคัมภีร์

พระราชปริยัติมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ประธานกรรมการปริวรรตพระคัมภีร์ กล่าวถึงถึงการเลือกคัมภีร์พระมาลัยเพื่อถวายสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ในครั้งนั้นว่า “เราไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมเป็นคัมภีร์พระมาลัย แต่การสอนในพุทธศาสนามีสองแบบคือธรรมาธิษฐานที่สอนแต่เนื้อหาธรรมะล้วนๆ แต่คัมภีร์พระมาลัยสอนแบบบุคลาธิษฐาน” อันหมายถึงการเล่าเรื่องของพระมาลัยที่เชื่อกันว่าเป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายที่เดินทางไปโปรดสัตว์ในนรกภูมิและเข้าเฝ้าพระศรีอาริยเมตไตรบนสวรรค์ โดยแทรกคำสอนทางพุทธศาสนาเช่นศีลห้า ซึ่งในสมัยโบราณนิยมใช้ “สวดกล่อมหอ” ให้บ่าวสาวก่อนเข้าหอในพิธีแต่งงานเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรม  ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาใช้สวดในงานศพ

 

คัมภีร์พระมาลัยฉบับปริวรรตสำหรับถวายสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส

คัมภีร์พระมาลัยฉบับปริวรรตนี้บันทึกลงบนสมุดไทยขาวหรือสมุดข่อยสีขาว กว้าง 13 เซนติเมตร ยาว 66 เซนติเมตร แบ่งเนื้อหาเป็น 6 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 เป็นบทสวดอภิธรรม 7 คัมภีร์  ตอนที่ 2-5 เป็นพระมาลัยกลอนสวด และตอนที่ 6 เป็นบทสวดแจงภาษาบาลี ซึ่งบันทึกด้วยอักษรขอมและภาษาไทยโบราณสมัยต้นรัตนโกสินทร์  มีภาพเขียนโบราณประกอบตลอดเล่ม “เหมือน ‘พาวเวอร์พอยต์’ เล่าเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ถ้าผิดศีลข้อที่สามต้องปีนต้นงิ้ว มีนายนิรยบาลใช้หอกแทง อ่านเข้าใจง่าย เห็นภาพพจน์ สมัยก่อนจึงนิยมใช้สอนกันมาก เป็นการสอนป้องและปรามว่าความชั่วเป็นของร้อน”

สมเด็จพระสันตะปาปาทอดพระเนตรคัมภีร์พระมาลัยฉบับปริวรรต ภาพถ่าย คณะทำงานการปริวรรตพระคัมภีร์

สำหรับการ “ปริวรรต” พระราชปริยัติมุนีอธิบายว่า “คัมภีร์ทางพุทธศาสตร์ที่เป็นภาษาบาลีทั้งหมดเขียนด้วยอักษรขอม เพราะภาษาบาลีไม่มีตัวอักษร เหมือนที่ภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศสไม่มีตัวอักษร ต้องใช้อักษรโรมัน  ไทยเรามีทั้งภาษาและอักษรไทย  การจารคัมภีร์ภาษาบาลีจึงต้องจารึกด้วยอักษรขอม หรือจะเขียนด้วยอักษรโรมันก็ได้ ไทยปัจจุบันก็ได้”  คำว่า “ปริวรรต” จึงหมายถึงการถ่ายตัวอักษร จากอักษรขอมเป็นอักษรไทยร่วมสมัย “เช่นคำว่า book ในภาษาอังกฤษ เราถ่ายด้วยคำที่เขียนด้วยอักษรไทยว่า ‘บุ๊ก’ ทุกคนอ่านได้ แต่ถ้าคนที่ไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษจะแปลไม่ออกว่าบุ๊กคืออะไร  เราจึงปริวรรตจากอักษรขอมเป็นอักษรไทยบาลี แล้วแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยปัจจุบัน” โดยคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยฆราวาสผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรขอม ยังได้ทำอธิบายขยายความเป็นเชิงอรรถประกอบด้วย  นอกจากนี้ทางวัดพระเชตุพนยังกำลังจัดทำหนังสือจดหมายเหตุ โดยนำเอาสาระจากคัมภีร์พระมาลัยฉบับ “นครรัฐวาติกัน” มาจัดพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่ต่อไป

นอกเหนือจากคัมภีร์พระมาลัยฉบับดังกล่าวแล้ว พระราชปริยัติมุนีกล่าวว่าระหว่างที่คณะทำงานนำคัมภีร์พระมาลัยฉบับปริวรรตไปถวายนั้น พิพิธภัณฑ์วาติกันส่วนแสดงของจากเอเชียกำลังปิดซ่อม “มงซินญอร์วิษณุเล่าว่ามีของถวายจากเมืองไทยประมาณ 200 กว่าชิ้น ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เชื่อว่าต้องมีคัมภีร์ฉบับอื่นอีกแน่นอน ต้องรอให้ทางพิพิธภัณฑ์ซ่อมแล้วเสร็จ จึงจะสำรวจรายการสิ่งของเหล่านั้นได้”

 

อ่านเพิ่มเติม

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส กับภารกิจปฏิรูปวาติกัน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.