ขณะนี้เด็กๆ นักฟุตบอลทีม หมูป่า อะคาเดมีจำนวน 12 คน และโค้ชเอกได้รับความช่วยเหลือออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนเป็นที่เรียบร้อย และอยู่ในความดูแลของแพทย์แล้ว ซึ่งพวกเขายังคงต้องพักฟื้นร่างกายอยู่ในห้องปลอดเชื้อเพื่อดูอาการ และความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่อาจติดมาจากถ้ำสักระยะหนึ่ง ก่อนที่แพทย์จะอนุญาตให้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
คลิปวิดีโอจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์เผยให้เห็นว่า ผู้ประสบภัยทั้ง 13 คนปลอดภัย และแข็งแรงดี บ้างชูสองนิ้ว บ้างชูนิ้วสัญลักษณ์ไอเลิฟยู บ้างโบกไม้โบกมือทักทายกล้อง ท่ามกลางกำลังใจที่ท่วมท้นจากผู้คนทั่วโลกซึ่งส่งมาให้พวกเขา อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญที่ผู้คนอยากรู้เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์คือ เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยเหลือ 13 ชีวิตหมูป่าออกมาด้วยวิธีใด?
ในด้านหนึ่ง ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากการแถลงของศูนย์อำนวยการร่วมเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม อาจไม่ได้ให้รายละเอียดในเรื่องนี้อย่างชัดเจนมากนัก ส่วนหนึ่งอาจมาจากการให้เกียรติแก่ทีมช่วยเหลือนานาชาติ และอีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของการปกป้องสิทธิของผู้ได้รับการช่วยเหลือ
ในอีกด้านหนึ่งบนโลกออนไลน์ คลิปวิดีโอบางส่วนของปฏิบัติการกู้ภัยได้รับการเผยแพร่ออกมา แสดงภาพช่วงหนึ่งที่ผู้ประสบภัยนอนอยู่ในเปลหาม และได้รับการห่อหุ้มร่างกายด้วยผ้าห่มฟอยล์เพื่อให้ความอบอุ่นอีกชั้นหนึ่ง
ด้านนายกรัฐมนตรีประยุทธ จันทร์โอชาให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เด็กๆ ได้รับยาคลายความกังวล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการกู้ภัย ขณะที่รายงานของสำนักข่าว AFP ให้รายละเอียดเพิ่มเติมจากการสัมภาษณ์อดีตหน่วยซีลผู้มีส่วนร่วมในปฎิบัติการครั้งนี้ นาวาโท ไชยนันท์ พีระณรงค์ ว่า ผู้ประสบภัยอยู่ในสภาพที่ “สลึมสลือ หรือแทบไม่ได้สติระหว่างการช่วยออกมาจากถ้ำ”
“บางคนหลับ บางคนยังขยับนิ้วได้ แต่ทุกคนยังคงหายใจ” ตามคำบอกเล่าของนาวาโท ไชยนันท์ พีระณรงค์ “หน้าที่หลักของเราคือการพาพวกเขาออกมา” พร้อมเสริมว่าในระหว่างการกู้ภัยมีเจ้าหน้าที่แพทย์คอยดูอาการเด็กๆ อย่างใกล้ชิด
เว็บไซต์ VOX จำลองภาพกราฟิกปฏิบัติการกู้ภัยในบางช่วงที่ต้องลุยน้ำออกมาให้ได้ชมกัน โดยเป็นผลงานของ Javier Zarracina ซึ่งจากภาพช่วยให้เราพอเห็นภาพคร่าวๆ ของการกู้ภัยที่เกิดขึ้นได้ ในขณะที่สำนักข่าว BBC ระบุว่า รายละเอียดของปฏิบัติการยังไม่เป็นที่เปิดเผยชัดเจน แต่เชื่อว่ามีบางช่วงของถ้ำที่นักดำน้ำต้องประกบโอบอุ้มเด็กออกมาด้วย และบางช่วงที่น้ำตื้นพอจะเดินได้จึงใช้เปลสนามในการพาตัวเด็กออกมา โดยที่พวกเขาสวมใส่หน้ากากออกซิเจนตลอดทาง
ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับบทสนทนาระหว่างนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกับทีมช่วยเหลือจากออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงนายแพทย์ริชาร์ด แฮร์ริส ที่ระบุว่า การดำน้ำช่วงท้ายๆ ของถ้ำเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งทัศนวิสัยที่เป็นศูนย์ เต็มไปด้วยโคลนเลน ทีมช่วยเหลือนานาชาติและหน่วยซีลของไทยต้องค่อยๆ คลำทางผ่านซอกหินไปตามเชือกนำทางพร้อมกับประคับประคองเด็กไปด้วย
แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภารกิจแสนยากและท้าทายนี้ต้องผ่านการหารือ ซักซ้อม ประเมินความเสี่ยง และแผนป้องกันเหตุไม่คาดฝัน (contingency plan) ร่วมกันระหว่างทีมช่วยเหลือนานาชาติและฝ่ายไทย โดยมีเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน คือช่วยทั้ง 13 ชีวิตออกมาให้ได้อย่างปลอดภัยและด้วยความเสี่ยงน้อยที่สุด
การช่วยเหลือและลำเลียงผู้ประสบภัยทั้งหมดออกมาด้วยวิธีดังกล่าวเป็นที่เข้าใจได้ เพราะการดำน้ำในถ้ำภายใต้สถานการณ์ท้าทายและยากลำบากเช่นนั้นเป็นเรื่องยากแม้แต่กับผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สูง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้ผู้ประสบภัยดำน้ำออกมาจากถ้ำที่ทั้งมืดมิดและคับแคบได้โดยไม่ตื่นกลัว ยังไม่รวมถึงอาการหวาดวิตกจากการสวมหน้ากากออกซิเจนเป็นครั้งแรก ซึ่งต้องอาศัยความคุ้นชินกว่าจะสามารถใช้งานได้คล่อง
ประสบการณ์จากการช่วยเหลือในครั้งนี้น่าจะเป็นองค์ความรู้ใหม่และเป็นกรณีศึกษาที่จะช่วยในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในลักษณะคล้ายคลึงกันในอนาคตได้เป็นอย่างดี
ขณะนี้ปฏิบัติการเหลือเพียงขั้นตอนสุดท้าย คือการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจเพื่อส่งผู้ประสบภัยกลับสู่ครอบครัว ซึ่งเชื่อกันว่ารายละเอียดของการเอาชีวิตรอดในถ้ำ รวมไปถึงความรู้สึกของผู้ประสบภัยจะได้รับการเปิดเผยในภายหลัง เมื่อพวกเขามีสภาพร่างกายและจิตใจพร้อมที่จะบอกเล่าเหตุการณ์และความรู้สึกให้ชาวโลกฟัง
อ่านเพิ่มเติม
แหล่งข้อมูล
Thai boys didn’t swim out of the cave; they were rescued on stretchers
Thai Boys Were Reportedly Sedated and in a Semi-Conscious State During Rescue
Watch: New footage shows Thai boy being carried out of cave on stretcher