หญิงสาวชาวโรฮิงญาบางคนในค่ายผู้อพยพทางตอนใต้ของบังกลาเทศยังคงทำกิจวัตรเดิมๆ ที่พวกเธอคุ้นเคย นั่นคือการนำผงแป้งสีเหลืองของ ทานาคา มาใช้ชโลมใบหน้า
ในบางประเทศผงจากต้นทานาคานี้อาจเป็นยารักษาโรค แต่สำหรับหญิงชาวเมียนมา และหญิงชาวโรฮิงญาแล้วทานาคาคือเครื่องสำอางในชีวิตประจำวันที่ช่วยปกป้องผิวหน้าของพวกเธอจากแสงแดดและการเกิดสิว ผงสีเหลืองเหล่านี้ถูกสกัดมาจากเปลือกของต้นทานาคา ไม้เนื้อแข็งที่เติบโตทั่วไปในเขตแห้งแล้ง ทางตอนกลางของเมียนมา คนขายจะตัดเปลือกไม้เป็นท่อนๆ และส่งมาขายให้กับบรรดาผู้ลี้ภัย พวกเธอจะนำเปลือกไม้เหล่านี้ไปฝนหรือบดกับหินขัดที่มีชื่อเรียกว่า “kyauk pyin” จากนั้นก็จะได้ผงสีเหลืองของทานาคา เมื่อใช้งานก็แค่ผสมน้ำ และทาในจุดที่ต้องการ
เมื่อผู้หญิงชาวโรฮิงญาเหล่านี้พอกใบหน้าด้วยทานาคา สิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ และถูกรักษาเอาไว้เพื่อย้ำเตือนว่าพวกเขาเป็นใคร มาจากที่ใด
(อ่านเรื่องราวของ ชาวโรฮิงญา หนึ่งในชาติพันธุ์ที่ถูกจองล้างจองผลาญมากที่สุดได้ ที่นี่ )
ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีชาวโรฮิงญามากมายที่ต้องอพยพหนีออกจากเมียนมา เพราะความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างพวกเขาชาวมุสลิม กับชาวพุทธในรัฐยะไข่ ส่งผลให้เกิดการประหัตประหาร เผาที่อยู่อาศัย ด้านสหประชาชาติประมาณจำนวนชาวโรฮิงญาที่ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยขณะนี้มีจำนวนมากกว่า 800,000 คนแล้วที่อพยพมาอาศัยอยู่ในค่ายพักของบังกลาเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงความตายจากการไล่ล่าของกองกำลังทหารเมียนมา
ทั้งนี้ทานาคาเป็นไม้มีกลิ่นหอม และมีคุณสมบัติเย็น ปัจจุบันนอกจากเป็นสินค้ายอดนิยมของคนเมียนมาแล้ว ยังเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวมักซื้อติดไม้ติดมือไปลองกันอีกด้วย
เรื่อง Heather Brady
ภาพถ่าย Clodagh Kilcoyne
อ่านเพิ่มเติม