หลายคนอาจจะเคยเห็นข่าวตามโทรทัศน์หรือสื่อต่างๆ ที่นำเสนอกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งอ้างว่า ตนเป็น ร่างทรง ของเทพต่างๆ และกลายเป็นประเด็นสังคมในเวลาต่อมา เนื่องจากมีทั้งคนที่เชื่อและคนไม่เชื่อ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ความเจริญด้านเทคโนโลยีช่วยให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันง่ายขึ้น ร่างทรงเหล่านี้จึงใช้สื่อโซเชียลต่างๆ แพร่กระจายความเชื่อของตนอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางคำถามสำคัญว่าร่างทรงเหล่านี้อาจเป็นภัยสังคมในโลกออนไลน์และเข้าข่ายเป็นโฆษณาชวนเชื่อหลอกหลวงประชาชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองจริงหรือไม่?
บทความนี้นำเสนอร่างทรงในมุมมองด้านอื่นๆ นอกเหนือจากความศรัทธา รวมถึงศึกษาว่าร่างทรงเกิดขึ้นจากอะไร และยังคงอยู่ในสังคมไทยได้อย่างไร นอกจากนี้ยังศึกษาในมุมมองทางพุทธศาสนา และวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจปรากฏการณ์ร่างทรงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมให้มากยิ่งขึ้น
ร่างทรงกับสังคมไทย
การเข้าทรง เป็นความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ มีรากเหง้าก่อเกิดขึ้นมาพร้อมกับพัฒนาการทางจิตวิญญาณของมนุษย์ สำหรับสังคมไทยการทรงเจ้าเริ่มปรากฏเป็นหลักฐานเมื่อไหร่ไม่ชัดเจน แต่การทรงเจ้าถูกปลูกฝังไปพร้อมกับความเชื่อของไทยโบราณ ซึ่งในสังคมไทยโบราณนั้นมีการนับถือผีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นพลังเหนือธรรมชาติ พลังจากบรรพบุรุษ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ความเชื่อแบบนี้อยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และการทรงเจ้านั้นก็ยังถูกปลูกฝังไปพร้อมกับหลักธรรมคำสอนของศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาฮินดู ที่นับถือเทพเจ้ามากมายจนหล่อหลอมเกิดเป็นวัฒนธรรมร่างทรงขึ้นมา
การทรงเจ้าและร่างทรงนั้นมีมานานแล้ว ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ ๔ บันทึกไว้ว่ามีการลงโทษคนทรงเจ้า เพราะว่าคนเหล่านี้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย รวมถึงปล่อยข่าวลือก่อนเกิดเหตุไฟไหม้อยู่เสมอ เพื่อเป็นการข่มขู่ให้ราษฎรหวาดกลัวไม่กล้าเอาเยี่ยงอย่าง อีกทั้งคนกลุ่มนี้ยังอยู่ในกลุ่มผู้ต้องสงสัยคดีลอบวางเพลิง ดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่อกลัวจะมิสมคำดังว่า ก็คิดอ่านการทุจริตทิ้งไฟประกอบเหตุ”
ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศพัฒนาไปสู่ ยุค 4.0 ทำให้สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น อัตราการแข่งขันในหน้าที่การงานและการศึกษาสูงขึ้น หลายหน่วยงานนำเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์เข้ามาใช้กันมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่กำลังซบเซา ทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งต้องลดต้นทุนการผลิตลง ส่งผลให้เกิดการ “เลิกจ้างงาน” หรือ “ปลดพนักงานออก”
สาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้คนไทยเกิดความวิตกกังวล มีอาการตึงเครียด และในบางรายคิดสั้นฆ่าตัวตาย ไปจนถึงก่อปัญหาอาชญากรรมขึ้น เมื่อหาทางออกไม่ได้ บรรดาผู้ที่ประสบปัญหาจากเศรษฐกิจต้องการที่พึ่งทางใจ และแน่นอนว่าหลายคนส่วนใหญ่เลือกไปพึ่งพาขอความช่วยเหลือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณเป็นอันดับแรก โดยอาจจะไปปรึกษาหมอดูหรือไปหาร่างทรง จากการสำรวจอาชีพหมอดู และอาชีพร่างทรงแล้ว พบว่าจะมีการให้บริการหลักๆ สองประเภทคือ การตรวจดวงชะตา และ การสะเดาะห์เคราะห์
ทว่าบางสำนัก อาชีพร่างทรงยังรับรักษาโรคและแก้ไขปัญหาอื่นๆ แก่ผู้รับบริการ เช่น การแก้ไสยผีเข้า หรือการเรียกเทพเจ้าต่างๆ มาประทับร่างให้ดู และยิ่งในปัจจุบันไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงร่างทรงได้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก และกลุ่มไลน์ที่เป็นแหล่งรวมตัวของสาวกร่างทรงเพื่อพูดคุยกันหรือกระจายข่าวสาร หรือแม้แต่การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ก็สามารถทำได้ผ่านทางเฟซบุ๊คไลฟ์หรือทวิตเตอร์
อะไรที่ทำให้อาชีพร่างทรงประสบความสำเร็จ
สาเหตุหลักที่อาชีพร่างทรงประสบความสำเร็จ คือ การเข้าใจโครงสร้างทางสังคมและเข้าใจถึงปัญหานั้นๆ คุณลักษณะนี้ทำให้ผู้อ้างว่าตนเป็นร่างทรงสามารถทำนายความตึงเครียดในแต่ละสถานการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะได้ เช่น ปัญหาความรักหรือปัญหาครอบครัว ส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคน มักมาพบร่างทรงด้วยอความคิดตัดพ้อน้อยใจในชีวิต โทษตัวเองรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า
เมื่อให้บริการ ร่างทรงจะแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าพวกเขาสามารถรู้เห็นได้อย่างอัศจรรย์ก่อนเป็นอย่างแรก และใช้ไหวพริบพูดในสิ่งที่ลูกค้าปรารถนาจะได้ยิน ประกอบกับการนำเสนอได้สมบทบาท เช่นอ้างว่าองค์เทพมาขอประทับร่าง ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อและยินดีที่จะปฏิบัติตามในสิ่งที่ร่างทรงสั่ง ซึ่งได้แก่การจัดพิธีกรรมเพื่อบรรเทาเคราะห์ร้ายหรือความทุกข์นั้น และแน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายตามมา
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ ความอ่อนแอทางจิตใจของผู้รับบริการเอง ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เลือกแก้ปัญหาด้วยการพึ่งพาร่างทรงมักไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ จึงจำเป็นต้องมองหาที่พึ่ง กลุ่มคนเหล่านี้ถูกร่างทรงชักจูงได้ง่ายมาก ประกอบกับร่างทรงเองเข้าใจถึงปัญหา มีจิตวิทยาในการพูด และแสดงตนให้มีลักษณะน่าเกรงขามเหมือนเทพ และยิ่งจัดสำนักร่างทรงให้มีความศักดิ์สิทธิ์ ดูมีมนต์ขลัง จึงไม่ยากที่จะก่อศรัทธาให้เกิดขึ้นในใจของผู้เข้ามารับบริการ
ทว่ายังมีร่างทรงอีกประเภทที่มักสำแดงเดชแสดงปาฏิหาริย์ ทั้งการวิ่งลุยไฟ หรือการใช้เหล็กแหลมทิ่มแทงตามร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่ทำ ความสำเร็จของร่างทรงเหล่านี้อาศัยเพียงความใจกล้าและวินัยหมั่นฝึกฝน ยกตัวอย่างเช่น การเดินลุยไฟนั้น หลักการง่ายๆ คือระหว่างลุยไฟจะต้องวิ่งให้เร็ว ห้ามยืนอยู่เฉยๆ หรือการแทงเหล็กแหลมสามง่ามเข้าท้อง เพียงกะระยะให้เหล็กแหลมตรงกลาง แทงเข้าไปบริเวณซิปกางเกง ส่วนเหล็กแหลมด้านข้างซ้ายขวาจะอยู่ที่บริเวณเอว จากนั้นก็เล่นละครแกล้งทำเป็นล้มกลิ้งล้มหงายก็เพียงพอ
เมื่อผู้รับบริการปฏิบัติตามสิ่งที่ร่างทรงบอก พวกเขาจะรู้สึกวิตกกังวลน้อยลง รู้สึกดีขึ้นเอง ตลอดจนพบว่าปัญหาที่มีได้ถูกบรรเทาลงไปโดยไม่สามารถพิสูจน์ได้ ลูกค้าเหล่านี้จึงเกิดความเชื่อและศรัทธาในร่างทรงแบบสนิทใจ ต่อมาพวกเขาอาจจะสมัครใจเป็นร่างทรงเสียเอง หรือบอกคนอื่นต่อๆ ไปให้เข้ามาเป็นศิษย์ในสำนักเพื่อถ่ายทอดความเชื่อนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผนวกกับเศรษฐกิจที่ซบเซา ผู้คนที่มีรายได้น้อยลงจึงเลือกพึ่งร่างทรงมากกว่าที่จะไปพบจิตแพทย์ เพราะว่าการไปพบร่างทรงนั้นจะมีการเก็บค่าครูในราคาไม่สูง หรือบางแห่งก็ไม่มีการเก็บค่าครูเลย แต่ในทางกลับกันการพบจิตแพทย์นั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ร่างทรงเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธหรือ?
สังคมไทยเป็นสังคมพุทธศาสนา คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและยึดตามหลักธรรมคำสอนที่ไม่เชื่อเรื่องผีสางเทวดา และไม่ยอมรับความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ ศาสนาพุทธเชื่อเรื่องความมีเหตุมีผล ซึ่งคล้ายคลึงกับหลักวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันองค์ความรู้พัฒนาไปอย่างมาก จนสามารถพิสูจน์บางความเชื่อได้แล้วว่าไม่เป็นความจริง เช่น ความเชื่อโบราณที่ว่าฟ้าแลบฟ้าร้องเกิดจากนางเมขลาล่อแก้ว โดยมีรามสูรย์ขว้างขวานเข้าใส่ แต่จริงๆ แล้วฟ้าแลบฟ้าร้องเกิดจากประจุลบในเมฆก้อนหนึ่งวิ่งเข้าหาประจุบวกของเมฆอีกก้อน
ท่าน ว.วชิรเมธี เคยกล่าวไว้ว่าพุทธศาสนาเป็นไปในทิศทางเดียวกับวิทยาศาสตร์ เริ่มจากเจ้าชายสิทธัตถะได้สังเกตเห็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ เกิด เเก่ เจ็บ ตาย เเล้วเกิดคำถามต่อมาว่าทำไม เช่นเดียวกับไอเเซค นิวตัน ที่เห็นลูกแอปเปิลหล่น เเล้วตั้งคำถามว่าทำไมแอปเปิลจึงไม่ลอยสู่ท้องฟ้า เเต่กลับหล่นลงสู่พื้นดินเสมอ ทั้งวิทยาศาสตร์เเละศาสนาพุทธมีจุดร่วมตรงที่ใช้ทักษะทางปัญญาต่างๆ มาอธิบายสิ่งรอบตัว จึงทำให้รู้เห็นความจริงต่างๆ ในธรรมชาติได้มากขึ้น แต่ต่างกันตรงที่พุทธศาสนาจะนำความจริงเหล่านี้มาใช้เป็นหลักธรรมในการดับทุกข์
นอกจากนี้พุทธศาสนายังสอนให้บุคคลยึดหลักการปฏิบัติด้วยตนเองมากกว่าพึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ไม่ใช่เชื้อเชิญให้เทพต่างๆ ลงมาประทับเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา หากใช้หลักธรรม อริยสัจสี่ ในการวิเคราะห์สาเหตุแห่งทุกข์ ตลอดจนคิดหาวิธีดับทุกข์ด้วยตนเองอย่างเป็นเหตุเป็นผลต่างหาก
ร่างทรงในมุมมองจิตวิทยา
พฤติกรรมผีเข้าทรงในมุมมองทางสุขภาพจิตถือว่าบุคคลนั้นๆ มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง แต่ยังไม่ถือว่าวิกลจริต จัดเป็น อาการฮิสทีเรียประเภท ดิสโซซิเอดีฟ (Dissociative) ซึ่งมีการระบุจากเว็บไซต์ชมรมนักสะกดจิตแห่งประเทศไทยว่า อาการทางประสาทชนิดนี้เป็นบุคลิกภาพชนิดหนึ่งของคนที่มีความเครียดและความกดดันสูงมาก ในขณะเดียวกันก็โหยหาความรักและเรียกร้องความสนใจ ดังนั้นจิตจึงสั่งการให้เปลี่ยนบุคลิกของตัวเองจากคนปกติธรรมดาคนหนึ่งไปเป็นอีกคนหนึ่ง หรือมีความเชื่อว่ามีผีหรือเทพเข้ามาสิงสู่ร่างกาย จากนั้นพวกเขาจะแสดงอารมณ์ ท่าทาง และการพูดเกินจริง เพื่อสะกดจิตตัวเองให้เชื่อในสิ่งที่ทำ พร้อมโน้มน้าวให้คนอื่นๆ เชื่อตามด้วย ซึ่งบางครั้งผู้เข้ารับบริการที่มีจิตใจอ่อนแอ อาจเกิดภาวะถูกสะกดจิตเป็นรายบุคคลหรือเป็นหมู่ได้ ดังกรณีฟังสวดภาณยักษ์ ซึ่งใช้พิธีกรรมและเสียงช่วยเร้าอารมณ์ อาการเหล่านี้มีขึ้นเพื่อคลายความทุกข์หรือความเครียดของบุคคลนั้นๆ เอง เรียกได้ว่าเป็นกลไกทำงานของจิตเพื่อช่วยให้ชีวิตยังคงดำเนินต่อไป
ทั้งนี้ผู้ป่วยทางจิตควรพิจารณาตนเองอย่างมีเหตุมีผลว่าทำไมตนถึงป่วยหรือมีความทุกข์มาจากสาเหตุใด รวมทั้งควรพยายามคิดไตร่ตรองหาวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เข้ามา หรือปรึกษาคนใกล้ตัวที่เชื่อถือได้ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการไปปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อรับการบำบัดตลอดจนการรักษาอย่างถูกต้อง
การทรงเจ้าเข้าผีได้หยั่งลึกลงในพื้นฐานประเพณี ความเชื่อ เเละศาสนาของคนไทยมาตั้งเเต่โบราณกาลจนก่อกำเนิดเป็นวัฒนธรรมร่างทรงดังที่เราเห็นในปัจจุบัน ทว่าในโลกปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับความเชื่อเรื่องร่างทรงอย่างสิ้นเชิง เมื่อเป็นเช่นนี้การทรงเจ้า เเละบรรดาร่างทรงเหล่านี้จะยังสามารถอยู่คู่กับสังคมไทยไปได้อีกนานเเค่ไหน?…นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ
เรื่อง พีรชัช โตสัมพันธ์มงคล
แหล่งข้อมูล
งานวิทยานิพนธ์ กระบวนการเข้าสู่การเป็นร่างทรง : กรณีศึกษาร่างทรง ในเขต อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ของ รตพร ปัทมเจริญ พ.ศ. 2543
ทรงเจ้า-ข่าวลือ : เรื่องต้องห้ามในคดีไฟไหม้สมัยรัชกาลที่ ๕
หลักธรรมคำสอนของท่าน ว วชิรเมธี เรื่อง หลักธรรมพุทธศาสนา กับวิทยาศาสตร์
อ่านเพิ่มเติม