เราร้ายกาจเหมือนที่ทำในสังคมโซเชียลไหม?

เราร้ายกาจเหมือนที่ทำใน สังคมโซเชียล ไหม?

“แกต้องถูกตัดคอ ศพที่เน่าเฟะหนอนไชของแกต้องถูกเอาไปเลี้ยงหมูป่า” ผู้ใช้เฟซบุ๊กนิรนามเขียนเช่นนี้ และมีมากกว่านี้อีกที่ลงตีพิมพ์ไม่ได้ เป็นข้อความถึงไคล์ เอดมันด์ ใน สังคมโซเชียล หลังจากนักเทนนิสชาวอังกฤษแพ้ในการแข่งขันปี 2017

หลังจากที่แมรี เบียด ศาสตราจารย์ด้านกรีก-โรมันแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พูดถึงประวัติศาสตร์การกดขี่ของเพศชายต่อเสียงของเพศหญิง เธอได้รับคำขู่ทางทวิตเตอร์เป็นต้นว่า “ฉันจะตัดหัวแกแล้วข่มขืนมันซะ”

ระยะหลังนี้โลกอินเทอร์เน็ตเป็นสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงในพริบตามากเป็นพิเศษ ความก้าวร้าวในโลกโซเชียลมาถึงจุดสูงสุดของความรุนแรงเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนของสหรัฐฯ เสนอให้มี “วันแห่งความสุภาพแห่งชาติ” ขึ้น ข้อเสนอดังกล่าวดึงดูดการตอบสนองอย่างมีวัฒนธรรมอันดี แต่ก็มีทวีตและโพสต์แห่งความคับแค้น ไร้สาระ และหยาบคายด้วย

ความก้าวร้าวในโลกโซเชียลนี้ทำให้เราเห็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีส่วนหนึ่งเป็นอสูรร้ายชอบสู้รบโดยแก่นแท้ไหม…ไม่หรอก

เป็นความจริงที่ว่าอาชญากรรมจากความเกลียดกำลังพุ่งสูงขึ้น ความแตกแยกทางการเมืองมีมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และระดับของคำพูดรุนแรงในที่สาธารณะ โดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ ถึงขั้นหนักหนาสาหัส แต่ก็ไม่ใช่เพราะโซเชียลมีเดียปลดปล่อยด้านโหดร้ายของธรรมชาติมนุษย์ออกมา

 

ในงานวิจัยของผม (อากุสตีน เฟนทัส) ในฐานะที่เป็นนักมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ ผมใช้เวลาหลายปีทำวิจัยและเขียนเกี่ยวกับเรื่องที่เผ่าพันธุ์ของเราในช่วงกว่าสองล้านปีที่ผ่านมา เปลี่ยนจากกลุ่มของสิ่งมีชีวิตจำพวกเอปที่รู้จักใช้แค่ไม้กับหิน ไปสู่ผู้สร้างสรรค์ยานยนต์ จรวด งานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ และระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร

ผมขอเสนอว่าการเพิ่มสูงขึ้นของความก้าวร้าวในโลกออนไลน์เป็นเพราะองค์ประกอบอันร้อนแรงของชุดทักษะทางสังคมที่วิวัฒน์ไปของมนุษย์ การเติบโตอย่างรวดเร็วของโซเชียลมีเดีย และบริบททางเศรษฐกิจและสังคมเฉพาะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นพากันโหมเปลวไฟแห่งความก้าวร้าวและการดูถูกในโลกออนไลน์

เราล้วนเคยได้ยินหลักการการตระหนักถึงการกินว่า “เรากินอะไรก็เป็นอย่างนั้น” แต่พอมาถึงเรื่องพฤติกรรม ก็อาจปรับให้เหมาะสมได้ว่า “เราคบคนแบบไหนก็เป็นคนแบบนั้น” เราจะรับรู้ มีประสบการณ์ และกระทำอย่างไรล้วนถูกหล่อหลอมโดยผู้คนและสิ่งที่รายล้อมตัวเราทุกวัน

ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน สถาบัน ความเชื่อ และบุคคลต้นแบบแหล่งของอิทธิพลเหล่านี้มีเส้นทางมาถึงกระทั่งด้านประสาทวิทยาศาสตร์ของเรา สมองและร่างกายของเราผ่านการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย ดังนั้นกระบวนการที่เรารับรู้โลกตอบสนองและสร้างตำแหน่งแห่งหนกับแบบแผนของผู้คนและสถานที่ที่เราพบเจอ ซึ่งเชื่อมโยงกับเรามากที่สุด

กระบวนการนี้มีรากวิวัฒนาการลึกซึ้งและทำให้มนุษย์มีสิ่งที่เราเรียกว่า “ความจริงร่วม” (shared reality) ความเชื่อมโยงระหว่างความคิดและประสบการณ์ทำให้เราแบ่งปันพื้นที่และทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรากลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จ

ง่ายขนาดไหนที่จะดูถูกเหยีดหยามอย่างไร้ตัวตนในโลกโซเชียล ศิลปิน ฆาร์เวีย เฆน เปรียบให้เห็นภาพว่ามันง่ายราวกับใช้เครื่องยิงโบราณเหนี่ยวยิงไข่ ซึ่งในกรณีนี้ไข่สีฟ้าหมายถึงตัวตนเสมือนจริงนิรนามในทวิตเตอร์ จุดประสงค์คือเพื่อแสดงถึง “ความเกลียดชังในยุคอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมของเจ้านกสีน้ำเงิน” เฆนเล่า “ผมกำลังรอเกรียนในทวิตเตอร์วิจารณ์ภาพอยู่ครับ”
ศิลปกรรมโดย ฆาร์เวีย เฆน

แต่ “ใคร” ซึ่งกำหนด “คนที่เราพบ” ในระบบนี้ ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ใครคนนั้นอาจรวมถึงเพื่อนในโลกโซเชียลมากกว่าเพื่อนที่เห็นหน้าค่าตากันจริง ๆ ข้อมูลมากขึ้นที่เรารับจากทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมมีมากกว่าประสบการณ์ทางสังคมที่จับต้องได้ เรายังรับข่าวสารที่มีโฆษณาตลอด 24 ชั่วโมงแทนที่จะเป็นคำสนทนากับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ

เราอาศัยอยู่ในสังคมอันซับซ้อนที่ก่อร่างสร้างขึ้นจากกระบวนการทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมลํ้าและแบ่งแยกในหมู่พวกเราอย่างขนานใหญ่ เพียงการแบ่งแยกอย่างเดียวก็นำไปสู่อคติและจุดบอดทบทวีที่สร้างความแตกแยกให้ผู้คนได้ วิถีที่เรามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ กำลังทวีคูณขึ้นพอ ๆ กับที่เรากำลังแตกแยกหนักขึ้นทุกที

ตามประวัติศาสตร์แล้วเราฟูมฟักความกลมเกลียวด้วยการแสดงความกรุณาและความเห็นอกเห็นใจ และโดยการดูแลความสัมพันธ์เมื่อเราอยู่ด้วยกัน การไม่ระบุตัวตนและการขาดปฏิสัมพันธ์ชนิดเห็นหน้าค่าตากันในโลกโซเชียลหักล้างส่วนสำคัญออกจากสมการของการคบหาสมาคมในหมู่มนุษย์ และเปิดประตูสู่การแสดงความก้าวร้าวที่บ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น การเป็นปฏิปักษ์ โดยเฉพาะกับคนที่เราไม่ต้องเผชิญหน้า เป็นเรื่องง่ายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ถ้าหากไม่มีการสะท้อนกลับสิ่งที่เกิดขึ้น ยิ่งสนับสนุนให้ความก้าวร้าว ความหยาบคาย กระทั่งความคึกคะนอง แผ่ขยายเติบโตทางโลกอินเทอร์เน็ต

มนุษย์ประสบความสำเร็จในแง่วิวัฒนาการเพราะสมองขนาดใหญ่ของเราช่วยเราให้มีสายสัมพันธ์และช่วยเหลือกันด้วยวิธีที่ซับซ้อนและหลากหลายกว่าสัตว์อื่น ความสามารถในการเฝ้ามองความเป็นไปของโลก ในการคิดจินตนาการว่าจะปรับปรุงมันอย่างไร และเปลี่ยนจากความคิดให้กลายเป็นความจริง (หรืออย่างน้อยก็ความพยายาม) เป็นสุดยอดคุณสมบัติของมนุษยชาติ และการแก้ปัญหาก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เรามีทั้งทักษะระงับความก้าวร้าวและส่งเสริมการสอดประสาน

นานเป็นพัน ๆ ปี นับไม่ถ้วนหนที่ผู้คนรวมกันลงโทษและทำให้การกระทำก้าวร้าวต่อต้านสังคม เช่น การรังแก ข่มเหง ต้องเป็นเรื่องน่าอาย ในโลกโซเชียลที่พวกเกรียนทั้งอยู่ไกลและไม่อาจระบุตัวตนได้ และความท้าทายของคนที่ตั้งใจดีที่สุดก็อาจเปลี่ยนสู่คำด่าทอได้ กระนั้นการเผชิญหน้ากับการรังแกด้วยการกระทำที่เป็นการตอบโต้ร่วมกันอย่างมีเหตุผล แทนที่จะเป็นการลุยเดี่ยวตามอารมณ์นั้น อาจมีประสิทธิภาพในการหยุดความก้าวร้าวได้

ลองดูผลกระทบของขบวนการเคลื่อนไหว #MeToo, Time’s Up และ Black Lives Matter ดูแรงกดดันจากสาธารณะต่อบรรษัทสื่อในการเฝ้าระวัง “ข่าวปลอม” และคำพูดแห่งความเกลียดชัง ล้วนเป็นตัวอย่างชั้นเลิศของการที่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากสังคมออนไลน์ในการถนอมเลี้ยงด้านดีและแทรกแซงสิ่งที่เป็นด้านลบ

หลังจากเหตุการณ์กราดยิงหมู่ในโรงเรียนมัธยมมาร์เจอรีสโตนแมนดักลาสที่พาร์กแลนด์ ฟลอริดา นักเรียนที่เป็นนักกิจกรรมเรียกร้องให้พวกเกรียนปิดทวิตเตอร์และหยุดการกระทำ ขบวนนีโอนาซีถูกกวาดล้าง และเว็บไซต์ของกลุ่มขวาทางเลือกต้องปลิวไป ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากคนเป็นพัน ๆ ลุกขึ้นยืนและบอกว่า “ไม่ทนอีกแล้ว”

มันดูเหมือนว่าโลกจะก้าวร้าวขึ้นทุกที แต่ไม่ใช่เพราะเราก้าวร้าวโดยธรรมชาติ แต่เพราะเราไม่เคยลุกขึ้นมาร่วมกันเพื่อจัดการงานทางสังคมที่ยุ่งยากซึ่งโลกร่วมสมัยของเราต้องการต่างหาก นั่นแปลว่าการลุกขึ้นมาต่อต้านการรังแก การข่มเหง และการข่มขู่ก้าวร้าว แล้วฟูมฟักทัศนคติและการกระทำอันเป็นมิตรต่อสังคม ทั้งส่วนตัวและในโลกโซเชียล เราต้องทำทั้งสองอย่างนั้น

เรื่อง อากุสตีน เฟนทัส

 

ถล่มกันด้วยวาจาในโลกโซเชียล

ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันดูถูกเหยีดหยามกันทางอินเตอร์เน็ตอย่างไรและทำไม ปี 2017 ศูนย์วิจัยพิวแจกแจงว่า จากการศึกษาคนราว 4,000 คน สี่ใน 10 คนบอกว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำ โดยการเมืองเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดที่กระตุ้นการข่มขู่ หนึ่งในสามของคนที่เคยถูกคุกคามยอมรับว่าเป็นเพราะความเชื่อทางการเมือง ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันมีจำนวนเท่าๆ กัน กว่าครึ่งของคนที่เคยถูกข่มขู่ไม่ทราบว่าผู้กระทำผิดเป็นใคร ในขณะที่เก้าในสิบบอกว่าการไม่ทราบว่าใครเป็นใครในโลกออนไลน์ช่วยปกปิดพฤติกรรมเกรี้ยวกราดและล่วงละเมิด ในหมู่ผู้ใหญ่ที่ตอบแแบสอบถามน้อยกว่าหนึ่งในสามเล็กน้อยบอกว่าตนเองโต้ตอบหรือทำอะไรบางอย่าง เมื่อพบว่ามีผู้ถูกคุกคามทางออนไลน์ และมากกว่าหนึ่งในสามเล็กน้อยที่บอกว่าไม่ทำอะไรเลย – นีนา สตรอคลิก

 

อ่านเพิ่มเติม

บริการเช่าลุงในญี่ปุ่น เมื่อขาดใครสักคนรับฟัง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.