เสียงกระหึ่มของกลองที่กำลังให้จังหวะเพลงพื้นบ้าน เด็กหนุ่มร่างบางในชุดเสื้อกั๊กปักลวดลาย เสื้อเชิ๊ตสีขาวและกางเกงเข้ารูปถือไม้พลองไทเทเนียมความยาว 6 เมตรในมือเพื่อการทรงตัว เขากำลัง เดินไต่เชือก ที่ระดับความสูง 3.5 เมตร เหนือเวทีไม้
ด้วยท่าเดินที่สง่าผ่าเผย เด็กหนุ่มก้าวช้าๆ ไปบนเส้นเชือก ตามองตรงไปข้างหน้า ก่อนที่จะเริ่มเต้นรำแบบพื้นบ้านบนเชือกที่แกว่ง และย่อเข่ากระโดดสลับขาไปมาตามสไตล์คอสแซค จากนั้นเขาแบ่งพื้นที่ให้แก่สาวน้อยในชุดพื้นบ้านสวมผ้าคลุมศีรษะสีขาว เธอก้าวเดินบนเชือกมาจากเสาอีกฝั่งหนึ่งโดยไม่ก้มมองพื้นเลย และทั้งคู่ก็เต้นรำไปด้วยกัน
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีเชือกนิรภัยป้องกันการตก ไม่มีแม้แต่ตาข่ายรองรับหากก้าวพลาด หลังการเต้นรำจบลงทั้งคู่เดินกลับไปยังเสาตั้งต้น โบกไม้โบกมือให้แก่ผู้ชม (ในจินตนาการ) ที่กำลังปรบมือให้พวกเขา ก่อนที่จะปีนลงมาจากเสา
ทักษะความสามารถของพวกเขาช่างน่าทึ่ง ประกอบกับความกลัวในขณะชมว่าพวกเขาจะหล่นลงมาหรือไม่ การแสดงสั้นๆ นี้ทำเอาผม (Jeffrey Tayler) ถึงกับเหงื่อซึม เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับ Askhabali Gasanov ผู้เป็นทั้งอาจารย์และผู้จัดการของคณะนักไต่เชือก Dagestani Eagles ผมถามคำถามใหญ่ที่คาใจ “ทำไมพวกเขาถึงไม่หวาดกลัวกันเลย ในเมื่อไม่มีตาข่ายรองรับอยู่ด้านล่าง?”
“ไม่มีความกลัวในพจนานุกรมของนักไต่เชือกแห่งดาเกสถาน” Gasanov ตอบ “ไม่เคยมี” เขาปิดแล็ปท็อปที่ใช้เปิดเพลง “วันนี้พอแค่นี้!” สิ้นเสียงตะโกนบรรดานักแสดงก็พากันลงจากเวที
ขณะนี้เราอยู่กันที่โรงอุปรากร Tatam Muradov อันแสนทรุดโทรม ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากทะเลแคสเปียนเพียงไมกี่ช่วงตึก ในเมืองมาคัชคาลา เมืองหลวงอันแสนยับเยินจากสงครามกลางเมืองในรัฐดาเกสถาน ประเทศรัสเซีย
Gasanov ฝึกฝนนักแสดงของเขาภายใต้การอุปถัมภ์โดย Pehlevan Circus Studio ปัจจุบันมีนักแสดงไต่เชือก 13 คนที่มีศักยภาพพอที่จะทำการแสดงได้ และทีมนักแสดงชุดนี้ยังได้รับรางวัลจากการแข่งขันไต่เชือกในดาเกสถานและกรุงมอสโกมาแล้ว (สำหรับคำเชิญให้ไปแสดงในพื้นที่อื่นๆ ของรัสเซียนั้น พวกเขาจำต้องปฏิเสธไปเนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายเดินทาง) ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้นั้นนักแสดงเหล่านี้ต้องฝึกฝนอย่างหนักทุกวันทั้งร่างกายและจิตใจ
*การเต้นรำสไตล์คอสแซคเป็นอย่างไร ชมได้จากวิดีโอนี้
ดินแดนแห่งขุนเขา
บางคนเล่าว่าทักษะการเดินไต่เชือกคือวิธีที่ผู้คนในดาเกสถานใช้ติดต่อกัน (ดาเกสถานมีความหมายว่า ดินแดนแห่งขุนเขา) “อยู่มาวันหนึ่ง” Gasanov อธิบาย “อาลีตะโกนไปยังเพื่อนบ้านที่อยู่ตรงข้ามหุบเขา อาเหม็ด! แวะมาเยี่ยมฉันหน่อยสิ โยนเชือกแล้วเดินไต่มาเลย!”
และใช่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ “การเดินไต่เชือกเริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 19 โดยเป็นวิธีที่ช่วยให้นักรบเดินทางข้ามหน้าผาได้” รายงานจาก Sergey Manyshev นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จนกระทั่งราวปี 1935 ใครสักคนเปลี่ยนวัฒนธรรมทั่วไปให้กลายมาเป็นการแสดง และต่อมาก็ได้รับความนิยมให้โชว์ในงานแต่งงาน, เทศกาลวันหยุดพิเศษ ไปจนถึงเทศกาลท้องถิ่น จนใครๆ ก็คิดกันว่าการแสดงไต่เชือกมีจุดกำเนิดขึ้นที่นี่ในดาเกสถาน แต่อันที่จริงแล้วมันเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากที่อื่นด้วย
“ผมเดินไต่เชือกมาแล้ว 13 ปี และไม่เคยหล่นเลยสักครั้ง!” Ibragim ลูกชายวัย 24 ปี ของ Gasanov กล่าว ชายหนุ่มผู้นี้มีคางบุ๋ม ดวงตาสีน้ำตาลเข้ม และเพิ่งจะผ่านการเต้นรำบนเส้นเชือกมาหมาดๆ “แล้วคุณกลัวตกไหม?” “ไม่เคยกลัว ไม่อยู่แล้ว!”
“จนถึงตอนนี้” Gasanov แทรกขึ้น “ต้องขอบคุณพระเจ้า นักเรียนของผมไม่เคยตกจากเชือกเลยสักครั้ง เพราะเรามีศรัทธาในพระเจ้า!”
มันยากที่จะเชื่อ ผมจินตนาการถึงตนเองถ้าได้ลองคงตกลงไปกองที่พื้นตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบเชือก และเมื่อผมถามเซ้าซี้มากขึ้น เขาก็ยอมรับว่าเคยมีคู่รักคู่หนึ่งหล่นลงไปที่พื้นเพราะเสียการทรงตัวจากเชือก เคราะห์ดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ
และเขาเล่าว่า “เคยมีครั้งหนึ่งนักไต่เชือกหล่นลงมาจากความสูง 7 เมตร แต่เขาพลิกตัวกลางอากาศและใช้เท้าแตะพื้นอย่างสวยงาม ท่ามกลางเสียงปรบมือจากผู้ชม”
กว่าจะมาเป็นนักไต่เชือก
ท่ามกลางความกล้าหาญ ในวันที่ผมเดินทางไปเยี่ยมคณะ ผมพบกับหนึ่งในนักเรียนของ Gasanov คนหนึ่ง เธอกำลังไม่สบายใจที่ต้องสวมผ้าคลุมศีรษะคล้ายชุดบุรกาในการแสดง ซึ่งบดบังการมองเห็น แน่นนอนว่า Gasanov ทราบดีว่าเธอกังวลใจ ดังนั้นในระหว่างการซ้อมเขาจึงเดินตามเพื่อคอยรับตัวเธอหากตกหล่น แต่ในที่สุดการซ้อมก็สิ้นสุดลงโดยที่ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น
“เพราะกลัวความสูง” Abdulkerim Kurbanov ผู้อำนวยการโรงเรียนศิลปะการละครสัตว์ประจำรัฐกล่าว “สิ่งนี้คืออุปสรรคใหญ่ที่ทำให้นักเรียนที่ต้องการเป็นนักไต่เชือกมีจำนวนจำกัด”
อีกสถานที่หนึ่งของรัฐ มีคนรุ่นใหม่ที่กำลังฝึกฝนทักษะการเดินไต่เชือกเช่นกัน โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยพ่อของ Kurbanov เองเมื่อปี 1969 ในเมือง Dagestanskiye Ogni เมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนอ่าวแคสเปียน ห่างจากเมืองมาคัชคาลาไปทางตอนใต้ร้อยกว่าไมล์ จากรายงานของ Kurbanov ทุกวันนี้รัฐดาเกสถานมีอัตราการเกิดสูงขึ้น นั่นทำให้เขาคาดหวังว่าในอนาคตจำนวนนักเรียนจะเพิ่มขึ้นตาม
เขากำกับดูแลผู้ฝึกสอนจำนวน 16 คนต่อนักเรียน 180 คน เด็กนักเรียนเหล่านี้มักเป็นตัวแทนขึ้นเวทีของรัฐและของท้องถิ่น เพื่อโชว์การแสดง และล่าสุดช่อง NTV เครือข่ายโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดของรัสเซียก็เพิ่งจะถ่ายทำสารคดีการเรียนการสอนในโรงเรียนของ Kurbanov ไป
ในระหว่างการฝึกสอน Albert Farkhatov หนึ่งในผู้ฝึกสอนบอกกับผมว่า การสอนให้เด็กๆ ทราบว่าควรตกอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ อาสาสมัครวัย 6 ขวบนาม Adam Zengiev สาธิตวิธีการตกด้วยการเก็บคางเข้าชิดกับอก สองมือประคองหลังศีรษะป้องกันการกระแทก จากนั้นก็สาธิตวิธีการม้วนตัวลงมาแตะพื้น “ดูให้ดี” Farkhatov ชี้ “เขาลงน้ำหนักที่ปลายเท้า ไม่ใช่ส้นเท้า เพราะหากใช้ส้นเท้ารับแรงกระแทก มันจะสะเทือนไปถึงไตเลย”
เด็กนักเรียนเหล่านี้มักวอร์มอัพร่างกายด้วยการยืดเหยียดตัวและยิมนาสติก สำหรับการเดินไต่เชือกพวกเขาจะเริ่มต้นด้วยความสูง 1.5 เมตร ตามมาด้วย 2.7 เมตร และฝึกทักษะต่างๆ บนเชือกที่ความสูง 3 เมตรในที่สุด โดยมีเชือกนิรภัยคล้องรอบเอว ซึ่งหากอยากรู้ว่าเด็กคนนั้นตกจากเชือกบ่อยแค่ไหน สามารถดูได้จากรอยเชือกรัด
Esli Rajabova วัย 13 ปี เล่าว่า เธอเดินตัวสั่นด้วยความกลัวตกเชือกอยู่เป็นเดือนกว่าจะผ่านมันมาได้ ทุกวันนี้เธอกลายเป็นหนึ่งในนักเรียนผู้เชี่ยวชาญ และไม่กลัวตกอีกต่อไปแล้ว
ผมเฝ้ามองบรรดานักไต่เชือกรุ่นเยาวน์สวมเชือกนิรภัย, ปีนขึ้นไปบนเสา ก่อนที่จะเริ่มทำกิจวัตรของพวกเขา บางคนทรงตัวบนเชือกโดยมีแท่งไม้ช่วยสร้างความสมดุล ในจำนวนนี้มีเด็กสาวคนหนึ่งวางขวดน้ำที่มีน้ำอยู่ครึ่งหนึ่งลงบนผ้าคลุมศีรษะของเธอ เธอก้าวเดินบนเชือกด้วยความมั่นใจ และขวดน้ำยังคงตั้งนิ่งอยู่อย่างนั้น
หลังสิ้นสุดการซ้อม ผมพูดคุยกับเด็กๆ เพื่อถามว่าอะไรคือแรงจูงใจให้พวกเขามาที่นี่? พวกเขาเล่าว่าได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับโรงเรียนศิลปะการละครสัตว์ และรู้สึกสนใจจึงสมัครมา
“หนูรักการแสดงต่อหน้าฝูงชน” Anna Khanoun กล่าว “หนูอยากแสดงให้ทุกคนเห็นว่าทำอะไรได้บ้าง สิ่งสำคัญก็คือหนูตั้งเป้าหมายไว้ และพยายามทำมันให้ได้” ด้าน Diana Kerimova วัย 14 ปี กล่าวเสริมว่า “การบรรลุเป้าหมายในชีวิตให้ได้คือสิ่งที่ดีมาก!” สถานการณ์ในรัฐดาเกสถานช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวมุสลิมหลายกลุ่มพยายามนำแนวคิดอนุรักษ์นิยมมาใช้ นั่นคือการกีดกันบทบาทของผู้หญิงออกจากสังคม แต่สำหรับหญิงสาวเหล่านี้ผู้สวมใส่ชุดตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของเดกาสถานในขณะวาดลวดลายบนเส้นเชือก ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครคัดค้านความต้องการของพวกเธอ
ด้าน Farkhatov ผู้ฝึกสอนเล่าว่า ตัวเขาสนใจในศิลปะการแสดงเพราะเติบโตมากับการไต่เชือกในสวนหลังบ้าน “พี่ชายผม น้องสาวผม หรือเพื่อนบ้านล้วนเดินไต่เชือกกันทั้งนั้น”
เด็กๆ ฟังแล้วก็ยิ้ม พร้อมขอให้ถ่ายภาพของพวกเขาด้วยโทรศัพท์ไอโฟนของผม ผมจะปฏิเสธได้อย่างไร ดูพวกเขาภูมิใจกับสิ่งที่ทำมากจริงๆ
เรื่อง Jeffrey Tayler
ภาพ Jeremie Jung
อ่านเพิ่มเติม