ณ ด้านหนึ่งของที่ราบสูงจอร์จ ในเทือกเขาแอนดีส ประเทศเปรู มี สะพานเชือกชาวอินคา เก่าแก่สะพานหนึ่งทอดตัวเหนือแม่น้ำอาปูริแมค
ทุกๆ ฤดูใบไม้ผลิ บรรดาชนพื้นเมืองจะร่วมมือร่วมใจกันจากคนละฝั่งของแม่น้ำ เพื่อฟั่นเชือกความยาวมากกว่าร้อยฟุต ความหนาพอๆ กับต้นขามนุษย์ สำหรับซ่อมแซมสะพานเก่า โครงสร้างเก่าๆ จะถูกตัดและทิ้งลงไปยังเบื้องล่าง และตลอดสามวันของการการทำงาน, สวดภานา และเฉลิมฉลอง สะพานใหม่จะปรากฏให้ได้ยลโฉมกัน นี่คือเรื่องราวของสะพานเกสวาชาก้า (Q’eswachaka) ที่ถูกสร้างและสร้างซ้ำขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่องมานานกว่า 5 ศตวรรษ
เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ที่สะพานแห่งนี้ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้านที่ตั้งอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำ ในจังหวัด Canas ประเทศเปรู ย้อนกลับไปในอดีตสะพานเชือกลักษณะนี้ถูกสร้างขึ้นมากมายในยุคสมัยของอารยธรรมอินคา เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางในฐานะ “Great Inca Road” สะพานเหล่านี้รวมกันมีความยาวราว 40,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อชุมชนห่างไกล และช่วยให้ทหาร, ผู้ส่งสาร ไปจนถึงประชาชนทั่วไปเดินทางมายังอาณาจักรของจักรพรรดิ
เครือข่ายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ชาวอินคามองว่าจะใช้เชื่อมต่อไปทั่วโลก รายงานจาก José Barreiro ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกละตินอเมริกา จากศูนย์วิจัยและพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน โดย Barreiro เองทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ร่วมนิทรรศการ Inca Road ทั้งยังทำงานวิจัยเกี่ยวกับสะพานเกสวาชาก้า
“สะพานคือการขยายอาณาจักรของแคว้นกุสโก (เมืองหลวงของชาวอินคา) ออกไปทั้งสี่ทิศ และข้ามเทือกเขาแอนดีสที่มีภูมิประเทศอันโหดร้าย” เขากล่าว ในศตวรรษที่ 16 จักรวรรดิสเปนโค่นล้มราชวงศ์อินคา ในระหว่างการล่าอาณานิคม ชาวตะวันตกรู้สึกทึ่งกับเทคโนโลยีการสร้างสะพานของพวกเขา ที่ชนพื้นเมืองสามารถสร้างสะพานขึ้นได้เหนือแม่น้ำที่มีความกว้างมากเกินกว่าที่จะสร้างสะพานไม้แบบปกติ ทว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา สะพานหลายแห่งถูกทำลายไปมาก บางแห่งเสื่อมสภาพ หรือถูกเลิกใช้อย่างถาวร เมื่อเริ่มมีถนนตัดผ่านในศตวรรษที่ 20
ทุกวันนี้สะพานเกสวาชาก้ายังคงเชื่อมต่อกับชุมชนห่างไกลที่พูดภาษาเกซัว 4 ชุมชนได้แก่ Huinchiri, Chaupibanda, Choccayhua และ Ccollana แม้ปัจจุบันสะพานเหล็กที่สร้างขึ้นสำหรับการสัญจรรถยนต์จะเปิดใช้งานแล้วก็ตาม แต่ชนพื้นเมืองบางส่วนยังคงนิยมข้ามสะพานเชือก เพื่อไปมาหาสู่กัน
ในปี 2013 สะพานเกสวาชาก้าได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกโลกที่ไม่มีตัวตน “มองไปที่สะพานคุณจะเห็นวัฒนธรรมที่ยังมีชีวิตอยู่ตรงหน้า ย้อนหลังไปไกลได้ตั้ง 500 ปี” Barreiro กล่าว “เมื่อราชวงศ์อินคาถูกทำลายไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่มีเพียงวัฒนธรรมในระดับรากหญ้า”
การทำงานร่วมกัน คือหัวใจหลักของวัฒนธรรมนี้ เขากล่าว ผู้คนจากหลายชุมชนจะร่วมกันลงแรงสร้างสะพาน แม้ไม่ได้ค่าตอบแทน แต่ทุกคนทราบดีว่าสุดท้ายแล้วทุกหมู่บ้านล้วนได้ประโยชน์จากสะพานนี้ กระบวนการสร้างสะพานถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา
วิธีสร้างสะพานเริ่มต้นด้วยการเก็บหญ้าเส้นยาว จากนั้นฟั่นพวกมันเข้าด้วยกันให้กลายเป็นเชือก และนำเชือกที่ได้มารวมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นเชือกเส้นใหญ่ เพื่อสร้างตัวยืดสะพาน เมื่อได้เส้นสายที่ใช้รับน้ำหนักแล้ว ในขั้นตอนต่อไปบรรดาผู้คนในชุมชนจะร่วมแรงกันติดตั้งมัน เชือกเส้นใหม่จะถูกยึดกับก้อนหินที่มั่นคง จากนั้นชาวบ้านจะเริ่มซ่อมแซมสะพานจากคนละฝั่งของแม่น้ำมาจรดกันที่ตรงกลางและทำพื้นก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ใช่กระบวนการสร้างสะพานที่สืบมาแต่โบราณ แต่คือความถี่ รายงานจาก Barreiro ก่อนหน้านี้ชุมชนบนเทือกเขาแอนดีสเปลี่ยนสะพานเพียงครั้งเดียวทุกๆ สามปี แต่เมื่อเรื่องราวของพวกเขากลายเป็นที่สนใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม ทุกวันนี้พวกเขาเพิ่มความถี่เป็นปีละครั้ง ซึ่งเป็นประโยชน์ด้านความปลอดภัยแก่ผู้คนในหมู่บ้านเอง เมื่อสะพานได้รับการดูแลบ่อยขึ้น และเมื่อสะพานได้รับการสร้างขึ้นใหม่เสร็จเรียบร้อย พวกเขาก็จะร่วมกันเฉลิมฉลองด้วยดนตรี อาหาร และการสวดภาวนา ก่อนที่วาระใหม่จะเวียนมาบรรจบในปีหน้า
เรื่อง Abby Sewell
ภาพถ่าย Jeff Heimsath
อ่านเพิ่มเติม