ชีวิตแขวนบนเส้นด้าย

ชีวิตแขวนบนเส้นด้าย

นับถอยหลังหนึ่งสัปดาห์ – กำหนดแนวสายตา

หลังจากปีนเสาหินปูนคู่หนึ่งซึ่งตั้งขนานกันในเทือกเขาของสวิตเซอร์แลนด์อยู่นานหลายปี ช่างภาพ ทอมัส อุลริก และนักปีนเขา สเตฟาน ซีกริสต์ นึกอยากเดินระหว่างยอดเสาหินสองต้นนี้ ปัจจัยสามอย่างที่มีผลต่อการเดินไต่เชือกคือ จุดโฟกัส การทรงตัว และระดับความสูง เนื่องจากเชือกถูกขึงข้ามยอดเสาหิน ซีกริสต์จะไม่มีจุดให้โฟกัสสายตาเพื่อรักษาการทรงตัว “ถ้าคุณมองตรงไป จะไม่เห็นอะไรเลย นอกจากอากาศครับ” ซีกริสต์บอก เพื่อแก้ปัญหานี้ พวกเขาจึงวางเป้สีสันสดใสไว้บนยอดเสาหิน

 

นับถอยหลังหนึ่งวัน – การเตรียมสัมภาระที่จำเป็น

กระเช้าไฟฟ้านำซีกริสต์กับอุลริกขึ้นไปบนภูเขาชิลทอร์นครึ่งทางก่อนถึงถึงเสาหิน พวกเขาปีนขึ้นสู่ทั้งสองยอดและตอกสมอยึดเพื่อขึงเชือกระหว่างยอดเสาหิน สมอยึดต้องมั่นคงอย่างยิ่งเพื่อสร้างแรงดึงสูงที่ทำให้สามารถเดินบนเชือกได้ พวกเขายังจำเป็นต้องใช้:
• สายรัดหนึ่งเส้นสำหรับปีนขึ้นและอีกหนึ่งเส้นสำหรับเดินข้าม
• ชอล์กเพื่อช่วยให้มือแห้ง
• แว่นกันแดดและครีมกันแดด
• รองเท้าไม่จำเป็น เพราะเท้าเปล่าทำให้รู้สึกถึงเชือกได้ดีที่สุด

บางครั้งคุณหกล้มและต้องลุกขึ้นอีกครั้ง แต่เมื่อคุณเดินข้ามได้แล้ว คุณจะทำมันได้อีกสามหรือสี่ครั้ง — สเตฟาน ซีกริสต์

 

นับถอยหลัง 0 ชั่วโมง – พร้อมออกเดินทาง
ฝนจะทำให้เชือกใยสังเคราะห์ลื่น แต่ในเช้านี้ของเดือนกันยายนมีเพียงหมอกบางเบา อุลริกปีนสันเขาที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อเก็บภาพ และซีกริสต์ฝึกก้าวเท้าเพื่ออบอุ่นร่างกายและเพื่อให้รู้สึกถึงแรงดึงของเชือก การเดินก้าวแรกเสี่ยงที่สุด เพราะการตกลงมาเร็วเกินไปจะทำให้คุณเข้าใกล้หน้าผาหินอย่างอันตรายยิ่ง “หลังจากเดินได้สามก้าว คุณต้องรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เช่นนั้นประสาทของคุณจะเขม็งเกลียว” ซีกริสต์บอก “ถ้าสำเร็จสักครั้งหนึ่ง ต่อจากนั้นก็ค่อนข้างง่ายครับ”

เรื่อง นีนา สตรอคลิก

ภาพถ่าย ทอมัส อุลริก

 

อ่านเพิ่มเติม

วัฒนธรรมเดินไต่เชือกกลับมาอีกครั้ง ณ หุบเขาในรัสเซีย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.