ทำไมการมีตำรวจหญิงจึงเป็นเรื่องสำคัญ?

ทำไมการมี ตำรวจหญิง จึงเป็นเรื่องสำคัญ?

“ยกเลิกการจัดสรรอัตราในการรับสมัครและสอบคัดเลือกข้าราชการตำรวจและบุคคลภายนอก (หญิง) เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ” ประโยคจากเอกสารอย่างเป็นทางการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ดับฝันของผู้หญิงเป็นพันๆ คน ในการเข้ามาทำงานยังสายอาชีพนี้

นั่นหมายความว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงจะมีเพียงแค่ 10 รุ่นเท่านั้น หลังเปิดรับสมัครเป็นครั้งแรกในปี 2552 ท่ามกลางคำถามมากมายจากทั้งสื่อและองค์กรเพื่อความเท่าเทียมทางสังคม ว่าอะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังข้อกำหนดใหม่นี้?

(ใครคือผู้หญิงที่มีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์?)

ข้ามทวีปไปยังประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Bheki Cele ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกมาประกาศว่าต้องการรับสมัครตำรวจหญิงเพิ่ม เพื่อรับมือกับคดีข่มขืน เนื่องจากเจ้าหน้าที่หญิงมีความเหมาะสมมากกว่าที่จะจัดการคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่มีเหยื่อเป็นเด็กและผู้หญิง สอดคล้องกับความเห็นของน.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมระบุว่า ตำรวจหญิง โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนคือกลไกสำคัญที่ช่วยคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดสิทธิ “ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิง ให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สอบสวน แต่ทำไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับยกเลิกนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง” เธอตั้งคำถาม

แผนภูมิเปรียบเทียบสัดส่วนของตำรวจชายและหญิงในสหรัฐอเมริกา
ขอบคุณภาพจาก datausa.io

ในสหรัฐอเมริกา สัดส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงปัจจุบันอยู่ที่ราว 13.3% เพิ่มขึ้นจากเดิม 3% ในทศวรรษ 1970 (ข้อมูลอัพเดทล่าสุดจากปี 2016) และคาดกันว่าน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสัดส่วนความหลากหลายของจำนวนผู้หญิงในแต่ละหน่วยงานยังคงถือว่าน้อย ท่ามกลางข้อจำกัดด้านเพศสภาพและอคติทางเพศ เหตุใดผู้เชี่ยวชาญบางท่านจึงออกมาชี้แนะว่าการมีผู้หญิงในองค์กรคือสิ่งที่ดี? หนึ่งในข้อที่เห็นเด่นชัดที่สุดเลยก็คือ ผู้หญิงมีความสามารถในการสื่อสารที่ช่วยลดความผันผวนของสถานการณ์ และช่วยยับยั้งความรุนแรงให้เบาบางลง

ในงานวิจัยตลอด 40 ปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะแสดงความก้าวร้าวและลุกขึ้นมาจับอาวุธน้อยกว่าผู้ชาย นอกจากนั้นพวกเธอยังมีความสามารถในการคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียด โดยไม่ใช้กำลังได้ดีกว่าผู้ชายอีกด้วย รายงานจาก National Center for Women and Policing มีประชาชนเพียง 5% เท่านั้นที่ร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

งานวิจัยในปี 1974 ที่ได้รับการสนับสนุนโดย กรมตำรวจสหรัฐฯ ทดลองให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชายและหญิงเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน (ความรุนแรง, คนเมา, คนที่กำลังโกรธเกรี้ยว) พบว่าผู้หญิงสามารถจัดการกับสถานการณ์ได้ดีกว่า งานวิจัยในปี 1997 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงมีแรงจูงใจ และความรับผิดชอบในการแก้ไขคดีความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงด้วยกันมากกว่าตำรวจชาย อีกทั้งเหยื่อยังสบายใจ และเปิดใจที่จะเล่ารายละเอียดกับตำรวจหญิงมากกว่าอีกด้วย และรายงานจาก The Atlantic ให้ข้อมูลว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังบังคับหรือใช้อาวุธน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ชาย ดังนั้นพวกเธอจึงตกเป็นจำเลยในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องร้องกลับน้อยกว่าด้วย ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐไปได้มาก

สวีเดนคือประเทศที่มีตำรวจหญิงมากที่สุดในโลก สัดส่วนอยู่ที่ 30% รองลงมาคือสหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์
ขอบคุณภาพจาก imgs.aftonbladet-cdn.se

ด้านคุณเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (We Move) กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การกีดกันผู้หญิงที่จะเข้ามาทำงานเป็นตำรวจสร้างความกังวลว่าอาจนำไปสู่การกีดกันทางเพศในองค์กรอื่นๆ ตามมา พร้อมระบุว่าข้อกำหนดเช่นนี้ขัดแย้งกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ที่หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม  และยังฝากคำถามไปถึงผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ซึ่งถือว่าเป็นคนที่มีความคิดสมัยใหม่คนหนึ่ง ทั้งยังเคยทำงานวิจัยตำรวจในอาเซียน ดังนั้นจึงน่าจะเข้าใจว่ากลุ่มประเทศอาเซียนโปรโมตตำรวจผู้หญิงขนาดไหน

(สัญชาตญาณความเป็นแม่มีแค่ในผู้หญิงหรือ?)

ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ที่ญี่ปุ่นมีรายงานข่าวว่ามหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์โตเกียวจงใจกดคะแนนสอบของผู้เข้าสมัครที่เป็นผู้หญิงตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อคงสัดส่วนนักศึกษาแพทย์หญิงเอาไว้ไม่ให้เกิน 30% จากการสอบสวนพบหลักฐานว่า มหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวจะหักคะแนนเด็กนักเรียนหญิงที่เข้าสอบถึง 20% และนำคะแนนนี้ไปเพิ่มให้เด็กนักเรียนชายแทน ด้านแหล่งข่าวอื่นๆ เสริมว่า ที่มหาวิทยาลัยทำเช่นนี้เพราะมีทัศนคติว่าอาชีพแพทย์ของผู้หญิงนั้นมีอายุสั้นกว่าผู้ชาย หากพวกเธอแต่งงานมีลูก เรื่องราวจบลงเมื่อกรรมการผู้จัดการของมหาวิทยาลัยออกมายอมรับผิดทั้งหมด กล่าวขอโทษ และให้สัญญาว่าจะชดเชยความเสียหายให้

ดูเหมือนว่าอคติทางเพศเป็นที่พบเจอในทุกชนชาติ ต่างกันที่ใครจะกล้ายอมรับอย่างตรงไปตรงมา…จนถึงตอนนี้เชื่อว่าผู้หญิงหลายคนยังคงรอคอยคำตอบที่ชัดเจนว่าเหตุใดพวกเธอจึงไม่มีโอกาสเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง?

 

อ่านเพิ่มเติม

ชีวิตจะเป็นอย่างไรหากเกิดเป็นเด็กผู้หญิงในฉนวนกาซา

 

แหล่งข้อมูล

STUDIES SHOW FEMALE POLICE OFFICERS BENEFIT TO SERVICES

Why We Need More Women Working in Law Enforcement

Why Women Are Needed in Law Enforcement

ยกเลิกรับสมัคร “นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง”

ปิดตำนาน นายร้อยหญิง 10 รุ่น ไขเหตุผล ทำไม สตช. ให้รับแต่ชาย!

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.