ท่องเที่ยวไปยังโลกพระจันทร์ในลาดัก

ท่องเที่ยวไปยังโลกพระจันทร์ใน เลห์ ลาดัก

ณ ผืนดินอันกว้างใหญ่ทางตอนเหนือของอินเดีย ในภูมิภาค ลาดักห์ มีดินแดนที่ขึ้นชื่อว่า “โลกพระจันทร์” (Moonland) จากภูมิประเทศแห้งแล้ง ขรุขระ สถานที่ซึ่งวัฒนธรรมแบบทิเบตดั้งเดิมยังคงพบเห็นได้ แดนมหัศจรรย์แห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางเทือกเขาที่สูงที่สุดในโลก หลังทางการอินเดียเปิดให้ เลห์ ลาดัก เป็นแหล่งท่องเที่ยวในทศวรรษ 1970 ลาดักห์กลายมาเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลกมากมาย รวมไปถึง Yuri Andries ช่างภาพชาวเบลเยียม ที่ต้องการบันทึกความผิดแผกที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้ ในชุดภาพถ่ายที่มีชื่อว่า Moonland

“ลาดักห์รับความตึงเครียดมากมายจากประเทศที่ตั้งอยู่รอบๆ” Andries กล่าว “แต่ในขณะเดียวกันมันคือสถานที่สุดมหัศจรรย์”

ดินแดนที่ซ่อนเร้นอยู่ตรงกลางระหว่างเทือกเขาหิมาลัยและที่ราบสูงการาโครัมนี้ ตั้งอยู่เคียงข้างกับเส้นทางการค้าโบราณ ทั้งยังเป็นชุมทางค้าขายสำคัญของพ่อค้าวาณิชที่เดินทางมาพบปะค้าขายกันบนเส้นทางสายไหม ต่อมาเมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ลาดักห์ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ และเมื่อจีนรุกรานทิเบต ลาดักห์กลายเป็นบ้านหลังใหม่ของผู้อพยพชาวทิเบต จนปัจจุบันได้รับสมญานามว่าเป็น “ทิเบตน้อย” เนื่องจากมีความเป็นทิเบตมากกว่าดินแดนทิเบตเดิมเสียอีก

พระพุทธรูปกลางทะเลทรายของลาดักห์
Meme Lay พระชาวทิเบตโพสท่าถ่ายภาพข้างหน้าต่าง

ด้วยความที่ลาดักห์คือเบ้าหลอมรวมวัฒนธรรมมากมาย Andries จึงเช่ามอเตอร์ไซค์เพื่อตามหาชุมชนของพระชาวทิเบต, ชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ไปจนถึงชุมชนเล็กๆ ของชาวมุสลิมนิกายซุนนี และชาวคริสต์ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ถนนเชื่อมต่อหมู่บ้านยังคงเป็นกรวดหิน ในขณะที่สัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือปั๊มน้ำมันนั้นหาได้ยากมาก

“เมื่อคุณขับเข้าไปในชุมชนของชาวพุทธ พวกเขาจะเชื้อเชิญให้เข้ามาเยี่ยมบ้าน รินชาให้คุณดื่ม บางครั้งอาจเสิร์ฟโมโม่ ชื่อของเกี๊ยวที่เป็นอาหารท้องถิ่นให้ด้วย แม้การสื่อสารจะติดขัดด้วยอุปสรรคทางภาษา แต่คุณสามารถสัมผัสได้ถึงความจริงใจที่แสดงออกมา”

การถ่ายภาพบุคคลที่ขัดแย้งกับฉากหลังของสถานที่ คือธีมในการถ่ายภาพของ Andries “ผมต้องการสดุดีแก่โลกที่พวกเขาอยู่” เขาอธิบาย ทว่าในภาพของความเชื่องช้า และวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม สถานที่แห่งนี้กำลังเผชิญกับปัญหาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการที่พวกเขาพึ่งพาแหล่งน้ำเดียวจากธารน้ำแข็ง อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศคือสิ่งที่น่ากังวล

เมื่อ Yuri Andries พบเข้ากับคนเลี้ยงสัตว์กับฝูงแกะ หลังขับรถมาอย่างโดดเดี่ยวหลายชั่วโมง เขาตัดสินใจหยุดทันที “ชายคนนี้อาจไม่ได้พบใครมานานมาก แต่เขามีท่าทางสงบนิ่ง เราตัดสินใจนั่งลงกับพื้นดินเช่นเดียวกับเขา และผมตัดสินใจถ่ายถาพโดยวางตำแหน่งให้เขาอยู่ตรงกลาง”
เจดีย์น้ำแข็งช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับน้ำเพียงพอในช่วงฤดูร้อน

แต่ถึงกระนั้นวิถีชีวิตแบบชาวลาดักห์ก็สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ชนชาติอื่นทั่วโลกได้ เมื่อพูดถึงความยั่งยืน พวกเขาสร้างบ้านจากดินด้วยเทคนิคแบบโบราณที่ช่วยให้ความอบอุ่นในหน้าหนาว การอาศัยอยู่บนที่สูงช่วยผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้มาก ทั้งยังใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักในฟาร์ม แลกกับการใช้แรงงาน

ในระหว่างการเดินทางในลาดักห์ Andries พักอยู่ในโรงเรียนและหมู่บ้านนิเวศวิทยา SECMOL ก่อตั้งขึ้นโดยวิศวกรนาม Sonam Wangchuk ผู้คิดค้น “เจดีย์น้ำแข็ง” นวัตกรรมใหม่ในผลิตแหล่งน้ำให้เพียงพอแก่บรรดาเกษตกร จากการต่อท่อลำน้ำบนภูเขา และปล่อยให้มันพุ่งขึ้นและแข็งตัวจนเป็นรูปทรงเจดีย์ ด้วยรูปทรงนี้ช่วยให้ผิวสัมผัสของน้ำแข็งละลายจากแสงอาทิตย์น้อยกว่า ช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับน้ำเพียงพอ

ที่ลาดักห์ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะพบกับธงมนตร์อยู่เสมอ พวกเขามีความเชื่อว่าสายลมจะช่วยพัดพาคลื่นคำอธิษฐานจากหมู่บ้านอันเงียบสงบให้ขึ้นไปยังสรวงสวรรค์ Andries เล่าว่าตัวเขาได้แรงบันดาลใจมากมายจากดินแดนแห่งนี้ “และภาพถ่ายของผมจะแสดงให้เห็นว่าสวรรค์บนโลกเป็นอย่างไร”

เรื่อง Christine Blau

ภาพถ่าย Yuri Andries

มันยากที่จะหาตรรกะอธิบาย แต่แอพริคอตเติบโตขึ้นได้บนผืนทะเลทรายที่มีภูมิประเทศไม่ต่างจากผิวดวงจันทร์นี้
พื้นที่แยกตัวโดดเดี่ยวใกล้กับหมู่บ้าน Chumathang นี้ คือบ่อน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ
โรงเรียน Druk White Lotus ในหมู่บ้าน Shey ของแคว้นลาดักห์นี้ ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์
ฝูงจามรีกำลังเล็มหญ้าภายใต้เทือกเขาสูงตระหง่าน
สองหนุ่มน้อยกำลังเดินกลับบ้านหลังเสร็จสิ้นการเรียนในโรงเรียนพุทธทิเบต ของหมู่บ้าน Shey
นกกาภูเขาปากแดงบินผ่านเนินทราย
เด็กนักเรียนจากโรงเรียน Lamdon ออกมาศึกษานอกสถานที่ เนื่องในหัวข้อการรักษาประเพณีและวัฒนธรรมของลาดักห์
นักเรียนหญิงจากโรงเรียน Druk White Lotus กำลังนั่งสมาธิ ในลาดักห์ เด็กทุกคนเรียนรู้การทำสมาธิตั้งแค่เล็กๆ
พระหนุ่มจากวัด Karma Dupgyud Choeling เป่าแตรแบบทิเบตที่มีชื่อเรียกว่า dungchen
ทหารอินเดียที่ประจำอยู่ในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งด้านดินแดนระหว่างอินเดีย, ปากีสถาน และจีน
กระบอกมนตร์หรือกงล้อมนตร์แบบชาวทิเบต เชื่อกันว่าเมื่อหมุนจะกระจายศึลและพรไปทั่วบริเวณ
คนงานจากรัฐพิหารในอินเดีย
คู่รักท่ามกลางทัศนียภาพของลาดักห์

 

อ่านเพิ่มเติม

ยลสะพานเชือกชาวอินคาที่ทำจากหญ้าล้วนๆ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.