เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปี 2013 ผู้คนแออัดเกินขนาดที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งในเมืองอัลลาฮาบาดทางตอนเหนือของอินเดีย นำไปสู่เหตุเหยียบกันตายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 36 คน ขณะนั้นเมืองกำลังเป็นเจ้าภาพการชุมนุมทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือ พิธีกุมภ์เมลา (Kumbh Mela) หรือมหากุมภ์เมลาซึ่งจัดขึ้นทุก 12 ปี [หมุนเวียนทุก ๆ 3 ปีไปตามเมืองแสวงบุญสำคัญในศาสนาฮินดู 4 เมือง ได้แก่ อัลลาฮาบาด อุชเชน นาสิก และหริทวาระ] เจ้าหน้าที่ประเมินจำนวนผู้จาริกแสวงบุญในวันนั้นว่ามีจำนวนสูงสุดถึง 30 ล้านคน เหตุเศร้าสลดนี้เป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก แต่ยังมีอีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพิธีกุมภ์เมลาซึ่งยังไม่ได้รับการบอกเล่า
เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ณ ริมฝั่งแม่นํ้าคงคา ห่างจากสถานีรถไฟที่เกิดเหตุราว 6.5 กิโลเมตร วันนั้นเป็นวันอาบนํ้าครั้งใหญ่วันที่สองของเทศกาล แม้ฟ้ายังไม่สาง แต่ก็มีผู้คนรวมตัวกันอยู่ตรงนั้นหลายพันคนแล้ว พวกเขาดูสงบนิ่งและเป็นหนึ่งเดียวกัน ไร้วี่แววของการเบียดเสียดผลักดันใด ๆ เรื่องความโกลาหลแตกตื่นยิ่งไม่ต้องพูดถึง สิ่งเดียวที่สัมผัสได้คือกระแสธารแห่งความมุ่งมั่นระหว่างที่พวกเขาเดินแหวกนํ้าลงไป หย่อนกาย อิ่มเอิบในสายนํ้าเย็นเยียบ ก่อนจะเดินแหวกนํ้ากลับขึ้นมา ผู้คนหลีกทางให้กัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน “รู้สึกยังไงบ้างคะ” ฉันถามชายนุ่งผ้าโธตีที่ชุ่มโชกไปด้วยนํ้าผู้หนึ่ง “รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาเลยครับ” เขาตอบ ขณะผู้มาใหม่สองคน จากนั้นก็เพิ่มเป็นสามและสี่คนลุยลงนํ้าไปแทนที่เขา
ตำรวจนายหนึ่งเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ เขามีหน้าที่คอยต้อนฝูงชน เนื่องจากคาดกันว่าวันนี้จะมีคนมาอาบนํ้าตรงจุดนี้ไม่ตํ่ากว่าเจ็ดล้านคน “ถ้าต่างคนต่างลุยก็คงไม่ได้อาบกันหรอกครับ” เขาบอก “พวกเขาได้กำลังใจจากกันและกัน” ฉันสัมผัสได้ถึงพลังงานบางอย่างที่แผ่ออกมาจากฝูงชน เอมีล ดูร์แคม นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่สิบเก้า นิยามปรากฏการณ์นี้ว่า ความร่าเริงบันเทิงใจหมู่ (collective effervescence) เขาเชื่อว่าสิ่งนี้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพของปัจเจกบุคคล แนวคิดของดูร์แคมจมหายไปท่ามกลางเหตุการณ์รุนแรงแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ บางทีเขาอาจค้นพบความจริงสำคัญบางอย่างก็เป็นได้ เราเข้าใจความเป็นฝูงชนผิดไปหรือไม่
ในโลกตะวันตกมีความคิดที่แพร่หลายอยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อผู้คนมารวมตัวกันมาก ๆ พวกเขาจะทิ้งอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล รวมทั้งความสามารถในการใช้เหตุผลและการประพฤติตนอย่างถูกทำนองคลองธรรม “ผลการวิจัยของเราชี้ว่า แท้จริงแล้วฝูงชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมครับ” สตีเฟน ไรเคอร์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์สในสหราชอาณาจักร อธิบาย “ฝูงชนช่วยก่อร่างสร้างสำนึกร่วมว่าเราคือใครรวมถึงความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่น ๆ กระทั่งช่วยบ่งบอกถึงสุขภาพอนามัยของเราด้วย”
เพื่อพิสูจน์ความคิดดังกล่าว ไรเคอร์และเพื่อนร่วมงานเดินทางมายังสถานที่ซึ่งมีความสำคัญและเปี่ยมพลังทางจิตวิญญาณสำหรับชาวฮินดูแห่งนี้ นี่คือบริเวณที่สายนํ้าคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ไหลมาบรรจบกับแม่นํ้ายมุนา และแม่นํ้าสายที่สามที่ดำรงอยู่ในตำนานนามว่า สุรัสวดี ตามท้องเรื่อง
ในคัมภีร์โบราณ เมื่อทวยเทพกับเหล่าอสูรต่อสู้แย่งชิงนํ้าทิพย์แห่งชีวิตอมตะ หรือ นํ้าอมฤต ที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทร นํ้าอมฤตส่วนหนึ่งได้กระเด็นตกลงสู่พื้นโลกบริเวณนี้ [รวมทั้งอีกสามเมืองที่กล่าวถึงข้างต้น] ชาวฮินดูที่มาอาบนํ้าในสายนํ้าเหล่านี้เท่ากับได้ชำระล้างบาปของตน และเข้าใกล้สวรรค์มากขึ้นอีกก้าวหนึ่ง
ทุกปีผู้คนหลายล้านคนจาริกแสวงบุญมายังเมืองอัลลาฮาบาดเพื่อประกอบพิธีอาบนํ้าชำระล้างบาปในการชุมนุมที่เรียกว่า เทศกาลเมลา และทุก 12 ปีเมื่อดวงดาวเรียงตัวกันในตำแหน่งซึ่งถือว่าเป็นมงคลฤกษ์พิเศษ การชุมนุมจะยกระดับใหญ่โตขึ้นหลายเท่าตัว แล้วเมืองของกระโจมซึ่งกินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลจะผุดขึ้นเหนือที่ราบนํ้าท่วมถึงริมแม่นํ้าคงคา เพื่อจัด พิธีกุมภ์เมลา หรือพิธีกุมภ์ เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมามีผู้คนเดินทางมาร่วมพิธีนี้ราว 70 ล้านคนในช่วงเวลา 56 วัน เทศกาลเมลาจุดประกายความสงสัยใคร่รู้ของคนนอกเสมอมา โดยเฉพาะขบวนผู้จาริกแสวงบุญที่ดูแปลกตา ประกอบด้วยเหล่าฤๅษีชีไพรนุ่งลมห่มฟ้าส่งเสียงคำราม และทาเนื้อตัวด้วยขี้เถ้า แต่ไรเคอร์และทีมงานพุ่งความสนใจไปที่ศรัทธาชนทั่วไปที่ผสมกลมกลืนไปกับฝูงชนมากกว่า
ห่างจากจุดบรรจบของแม่นํ้าคงคาและยมุนาออกไปราวครึ่งชั่วโมงทางรถยนต์ แต่ยังอยู่ในอาณาบริเวณของพื้นที่จัดพิธีกุมภ์ พิชัมเบย์ นาถ ปัณเดย์ ชายวัย 70 ปี กับพิมลา ภรรยาวัย 65 ปี เชื้อเชิญฉันเข้าไปในกระโจมของพวกเขา สามีภรรยาปัณเดย์เป็น กัลป์วาสี หรือผู้จาริกแสวงบุญที่อยู่ร่วมเทศกาลเมลามาอย่างน้อยหนึ่งเดือนและใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่ายระหว่างพำนักอยู่ที่นี่
“คุณเคยป่วยระหว่างอยู่ในเทศกาลไหมคะ” ฉันถาม แม่นํ้าคงคาซึ่งตามข้อมูลการตรวจวัดค่าของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเองพบว่า ปนเปื้อนนํ้าเสียจากท่อระบายนํ้าและของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมมากเสียจนไม่สามารถใช้ดื่มกินหรือลงไปอาบได้ (บรรดากัลป์วาสีทำทั้งสองอย่าง) อีกทั้งระบบการกระจายเสียงส่วนกลางซึ่งมีทั้งเสียงดนตรีการแสดงธรรม และประกาศสำคัญต่าง ๆ วนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ระดับเสียงในกระโจมที่พักของพวกเขาอยู่ในช่วง 76 ถึง 95 เดซิเบล ซึ่งมากพอที่จะทำให้สูญเสียการได้ยินอย่างถาวรหากฟังต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ปัณเดย์ส่ายศีรษะ เขามาร่วมเทศกาลเมลาปีนี้เป็นครั้งที่ 12 แล้ว และทุกครั้งเขาก็กลับบ้านพร้อมสภาพจิตใจที่ดีกว่าตอนเดินทางมาถึงเสมอ ก่อนหน้าที่เทศกาลเมลาเมื่อปี 2011 จะเริ่มขึ้น ศรุติ เตวารี เพื่อนร่วมงานของสตีเฟน ไรเคอร์ จากมหาวิทยาลัยอัลลาฮาบาด ส่งทีมงานภาคสนามออกไปยังชนบทเพื่อสอบถามกัลป์วาสีที่คาดว่าจะไปร่วมเทศกาลจำนวน 416 ตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพร่างกายและจิตใจ พวกเขาถามคำถามชุดเดียวกันกับเพื่อนบ้านของกัลป์วาสีเหล่านั้นจำนวน 127 ตัวอย่าง และหลังเทศกาลเมลาจบไปแล้วหนึ่งเดือน พวกเขาหวนกลับไปอีกครั้งเพื่อถามคำถามชุดเดิมกับทั้งสองกลุ่ม นอกจากนี้ ทีมงานยังสัมภาษณ์บรรดากัลป์วาสีระหว่างเข้าร่วมเทศกาลเพื่อบันทึกประสบการณ์ของพวกเขาไว้ด้วย
กลุ่มตอบแบบสอบถามที่อยู่เฝ้าหมู่บ้านรายงานว่า ไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกได้ระหว่างระยะเวลาการศึกษา ในทางกลับกัน กลุ่มกัลป์วาสีรายงานว่า สุขภาพของพวกเขาดีขึ้นร้อยละ 10 ซึ่งรวมถึงอาการเจ็บปวดและหายใจขัดลดน้อยลง เช่นเดียวกับระดับความวิตกกังวลที่ลดลง และกำลังวังชาดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบเชิงบวกของ “โอสถ” ฝูงชน ยังคงอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน ที่แน่ ๆ คือหลายสัปดาห์ และอาจนานหลายเดือน
เพราะเหตุใดการเป็นส่วนหนึ่งของฝูงชนจึงช่วยให้สุขภาพของเราดีขึ้นได้ นักจิตวิทยาเชื่อว่า ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดผลกระทบดังกล่าวคืออัตลักษณ์ร่วม “คุณจะคิดในฐานะ ‘เรา’ มากกว่าในฐานะ ‘ฉัน’” นิก ฮอปกินส์ เพื่อนร่วมงานของไรเคอร์ อธิบาย ผลที่ต่อเนื่องตามมาคือ การคิดแบบนั้นจะทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับคนอื่น ๆ เปลี่ยนแปลงไป “สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นฐาน จากที่มองหรือเห็นผู้คนเป็น ‘คนอื่น’ มาเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนม” ทำให้เกิดการให้และรับความช่วยเหลือ การแข่งขันกลายเป็นการร่วมมือ และผู้คนจะสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของพวกเขาได้แบบที่ไม่อาจทำได้โดยลำพัง กระบวนการที่ว่านี้กระตุ้นให้เกิดอารมณ์เชิงบวก ซึ่งไม่เพียงทำให้พวกเขาเผชิญหรือต้านทานความยากลำบากได้ดีขึ้น แต่ยังทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นด้วย
การเป็นส่วนหนึ่งของฝูงชน (อย่างน้อยน่าจะหมายถึงฝูงชนที่อยู่ในทำนองคลองธรรม) จึงอาจยังประโยชน์แก่ปัจเจกบุคคลได้ในทำนองเดียวกับที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับที่ลึกซึ้งกว่า เรารู้กันว่า กลไกต้านทานความเครียดอาจถูกกระตุ้นให้ทำงานด้วยปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบภูมิคุ้มกันและระบบไหลเวียนโลหิต
ไรเคอร์แบ่งแยกฝูงชนเชิงกายภาพ (physical crowd) กับฝูงชนเชิงจิตวิทยา (psychological crowd) ออกจากกันอย่างชัดเจน ฝูงชนเชิงกายภาพ เช่น ผู้โดยสารที่เบียด-เสียดกันในรถไฟใต้ดิน ขาดอัตลักษณ์ร่วมกัน แม้ระดับความสัมพันธ์ทางสังคมที่สูงอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับการถูกผู้อื่นรายล้อมทางกายภาพ แต่ก็มีหลายอย่างร่วมกันกับการเป็นส่วนหนึ่งของฝูงชนเชิงจิตวิทยา นั่นคือการมีอัตลักษณ์ร่วม และไม่ใช่แค่ระบบทางร่างกายเท่านั้นที่เปลี่ยนไป
“การเป็นส่วนหนึ่งของฝูงชนสามารถเปลี่ยนมุมมองต่อโลกของคุณได้” มาร์ก เลวีน นักจิตวิทยาเพื่อนร่วมงานอีกคนของไรเคอร์ กล่าวและเสริมว่า “สิ่งนี้อาจเปลี่ยนการรับรู้ของคุณไปเลยครับ” ระหว่างการสัมภาษณ์เก็บข้อมูล บ่อยครั้งที่เหล่ากัลป์วาสีบรรยายเสียงอึกทึกในเทศกาลเมลาว่าไพเราะเสนาะหู “นั่นคือเสียงพระนามของพระเจ้าที่ก้องกังวานอยู่ในหูเรา” ดังเช่นที่คนหนึ่งอธิบาย
การศึกษานี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม นับตั้งแต่พิธีกุมภ์ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2001 เป็นต้นมา มนุษยชาติได้ก้าวข้ามหมุดหมายสำคัญ กล่าวคือ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง แม้ระดับอาชญากรรม มลพิษ และความแออัดในเมืองจะเพิ่มสูงขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์ต่างพูดถึง “ข้อได้เปรียบของการอยู่อาศัยในเมือง” เมื่อพิจารณาในแง่ของสุขภาพ และไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น
เมื่อปี 2007 บทความวิชาการชิ้นหนึ่งเสนอแนวคิดว่าขณะที่ประชากรในเมืองเมืองหนึ่งเพิ่มสูงขึ้นนั้น ระดับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในเมืองนั้นก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย และในอัตราที่เร็วขึ้น โดยส่งผลกระทบเชิงบวกต่อกิจกรรมการสร้างสรรค์หลายอย่าง ตั้งแต่ศิลปะ ความรู้ ไปจนถึงความมั่งคั่ง “ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อเกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น เฉลี่ยราวร้อยละ 10 ถึง 15 เลยเชียวครับ” เดิร์ก เฮลบิง นักสังคมวิทยาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทความดังกล่าว อธิบาย “ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่ามีแรงขับทางสังคมที่ทรงพลังคอยขับเคลื่อนเราให้มุ่งไปสู่การอยู่ร่วมกัน”
เงื่อนไขหรือปัจจัยที่แฝงอยู่ในข้อได้เปรียบของการอยู่อาศัยในเมืองมีอยู่ว่า โครงสร้างพื้นฐานของเมืองนั้นต้องเอื้ออำนวยให้เกิดข้อได้เปรียบนั้นด้วย ความร่าเริงบันเทิงใจหมู่ไม่อาจช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพดีขึ้นได้ หากนํ้าดื่มของพวกเขายังสกปรกปนเปื้อน
ปี 2013 ที่ผ่านมาไม่ปรากฏการระบาดลุกลามของโรคติดต่อร้ายแรงใด ๆ ในเมืองอัลลาฮาบาด “นคร” หรืออาณาบริเวณของพิธีกุมภ์ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 25 ตารางกิโลเมตร พื้นที่พักอาศัยแบ่งออกเป็น 14 เขตแต่ละเขตมีโรงพยาบาล สถานีตำรวจ ถนนหนทาง ร้านขายของชำ ตลอดจนแหล่งจ่ายไฟฟ้าและนํ้าดื่มของตนเอง เจ้าหน้าที่ผู้จัดพิธีกุมภ์วางแผนงานโดยคำนึงถึงการบริหารจัดการฝูงชนเป็นหลักตัวอย่างเช่น เส้นทางออกจากจุดลงอาบนํ้าต่าง ๆ จะกว้างกว่าเส้นทางเข้าราวสองเท่าหน้าที่บริหารจัดการฝูงชนปีนี้ตกเป็นของอโลก ศรมา จเรตำรวจประจำเขตอัลลาฮาบาด ตอนที่เราพบกันในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เขาอธิบายให้ฉันฟังว่า ยุทธศาสตร์พื้นฐานของเขาประกอบด้วยการเคลื่อนย้ายและการแบ่งฝูงชนโดยใช้เส้นทางอ้อมเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพฝูงชนที่สะสมแออัดตามจุดเสี่ยงต่าง ๆ
หนึ่งในจุดเสี่ยงที่ว่าคือสถานีรถไฟหลักของเมือง จึงมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์เมื่อขบวนรถไฟมาถึง “จะมีการรายงานเข้ามาทุกครั้งเมื่อมีฝูงชนจำนวนมากกว่า 500 คน เพราะผมต้องเปิดพื้นที่รองรับไว้ครับ” ศรมาบอกและเสริมว่า “เราระบุจุดเสี่ยงได้ก็จริงครับ แต่ก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไรหรือที่จุดไหน”
ไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะเกิดเหตุเหยียบกันตายที่สถานีรถไฟในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ตอนที่เกิดเหตุนั้น ไรเคอร์เดินทางกลับประเทศไปแล้ว แต่ฉันจำการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งที่เขากับทีมงานขอให้กัลป์วาสีคนหนึ่งบรรยายความรู้สึกตอนอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่สถานีรถไฟ เธอผู้นั้นบอกว่า “ผู้คนคิดว่าพวกเขาแข็งแรงกว่าคุณ พวกเขานึกอยากจะผลักคุณไปไหนก็ได้” จากนั้น พอผู้สัมภาษณ์ขอให้บรรยายความรู้สึกขณะเข้าร่วมเทศกาลเมลา “ผู้คนจะห่วงใยคุณ ปฏิบัติต่อคุณอย่างสุภาพค่ะ ‘คุณแม่มานี่เลย [พวกเขาว่า] เชิญตามสบายเลย’”
ในอีเมลที่ส่งมาจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ส ไรเคอร์เขียนว่า สาเหตุที่เป็นไปได้ประการหนึ่งของเหตุเหยียบกันตายครั้งนั้นคือ อาจเป็นเพราะเหล่าผู้จาริกแสวงบุญไม่ได้อยู่ในรูปของฝูงชนเชิงจิตวิทยาอีกต่อไป ส่วนคนที่อยู่รอบ ๆ ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมที่ใหญ่กว่าอีกต่อไป แต่กลายเป็นผู้แข่งขันแย่งชิงที่นั่งบนรถไฟเพื่อมุ่งหน้ากลับบ้าน
นักจิตวิทยาไม่ได้ปฏิเสธว่า สิ่งเลวร้ายอาจเกิดขึ้นได้ในฝูงชน ถ้าเป้าหมายของฝูงชนมุ่งไปสู่การทำลายล้าง นั่นย่อมเป็นเป้าหมายที่มีโอกาสกลายเป็นจริงในที่สุด กระนั้น พวกเขาก็แย้งว่า ความร่าเริงบันเทิงใจหมู่อาจเป็นแรงขับทรงพลังที่ทำให้เกิดหรือนำไปสู่สิ่งดี ๆ ได้ และนั่นคือสิ่งที่เรามองข้ามมาตลอด ตอนที่ฉันพบกับเลวีนครั้งแรกเมื่อปี 2009 เขาเพิ่งสรุปผลการวิเคราะห์คลิปจากโทรทัศน์วงจรปิดที่บันทึกเหตุทะเลาวิวาทจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามสถานที่สาธารณะในเขตเมืองของอังกฤษ เลวีนสรุปว่าผู้เห็นเหตุการณ์มีบทบาทชี้นำว่าการเผชิญหน้าจะกลายเป็นความรุนแรงหรือไม่
พูดอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อมีแนวโน้มที่อาจเกิดความรุนแรง ฝูงชนสามารถส่งอิทธิพลให้เกิดความสงบขึ้นได้ นี่เป็นการค้นพบที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ว่าด้วยความเพิกเฉยของผู้เห็นเหตุการณ์ (bystander effect) ซึ่งระบุว่า คนจำนวนหนึ่งจะสละความรับผิดชอบส่วนบุคคลของตนขณะอยู่ในฝูงชน โดยยืนดูเฉย ๆ ขณะเหตุร้ายเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ที่ผ่านมา ไรเคอร์และทีมงานทำการศึกษาฝูงชนทางศาสนา แฟนกีฬาฟุตบอลขบวนพาเหรดทางการเมือง และผู้ชมเทศกาลดนตรี
“การประพฤติตนตามความเชื่อของคุณเมื่ออยู่ในหมู่กัลป์วาสีจะมีรูปแบบแตกต่างจากเมื่ออยู่ในหมู่ผู้ชมคอนเสิร์ตดนตรีร็อก แต่กระบวนการพื้นฐานเป็นสิ่งเดียวกันครับ” ไรเคอร์อธิบาย
“พิธีกุมภ์ประสบความสำเร็จเพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีรองรับผสมกับการร่วมแรงร่วมใจทางจิตวิทยาครับ” ไรเคอร์บอก แต่ในสังคมอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้ากว่านี้ พลังแห่งการร่วมแรงร่วมใจมักถูกละเลย และเราอาจกำลังชดใช้กรรมนั้นกันอยู่ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ อายุขัยเฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้นตลอด 50 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่เร็วเท่าอัตราการเพิ่มขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ผลที่ตามมาคืออายุขัยเฉลี่ยของชาวอเมริกันตกลงจากที่เคยติดอันดับโลก จนปัจจุบันนี้อยู่ในอันดับไล่เลี่ยกับชิลีและโปแลนด์ คำอธิบายที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งตามข้อสังเกตของลิซา เบิร์กแมน นักวิทยาการระบาดทางสังคม ก็คือชาวอเมริกันกลายเป็นคนโดดเดี่ยว ตัดขาดจากสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นบทเรียนในเรื่องนี้คือ จงรักเพื่อนบ้านของท่าน เพราะเพื่อนบ้านของท่านจะช่วยเกื้อหนุนให้ท่านประสบกับความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังเช่นที่วศิษฏ์ นารายณ์ มิศรากัลป์วาสีซึ่งเป็นคุณครูเกษียณวัย 69 ปี อธิบายให้ฉันฟัง
แต่อุปสรรคมีอยู่ว่า การเข้าร่วมฝูงชนเชิงจิตวิทยานั้นไม่ได้ง่ายดังใจนึก ขณะทอดสายตามองแม่นํ้าสีนํ้าตาลไหลเชี่ยว และยิ่งรู้ว่ามีเชื้อโรคร้ายอย่างแบคทีเรียโคลิฟอร์มจากอุจจาระปะปนอยู่ ฉันไม่อาจโน้มน้าวให้ตัวเองเชื่อได้เลยว่า กำลังมองดูนํ้าทิพย์แห่งชีวิตอมตะ นั่นหมายความว่าคุณต้องมีอัตลักษณ์แบบหนึ่งมาตั้งแต่เกิดจึงจะสามารถรู้สึกร่วมได้กระนั้นหรือ คำตอบคือไม่จำเป็น การเปลี่ยนความเชื่อเกิดขึ้นได้
ลึกเข้าไปใน “นคร” กุมภ์ที่ผุดขึ้นในชั่วข้ามคืน ฉันพบกับคีตา อหุชา ผู้บอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนความเชื่อของเธอให้ฉันฟัง คีตาผู้เคยใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในสหรัฐฯ บอกว่า เธอ “เป็นคนระแวงสงสัยในเรื่องความเชื่อทางศาสนามาตั้งแต่เกิด และประพฤติตนนอกลู่นอกทางทุกรูปแบบ” จนกระทั่งได้ฟังนักบวชฮินดูรูปหนึ่งแสดงธรรมที่เมืองแดลลัส รัฐเทกซัส เมื่อปี 2007 “ท่านพูดเรื่องความไม่จีรังยั่งยืนของความสัมพันธ์ในโลกวัตถุค่ะ” เธอเล่า “เรื่องนี้กระทบใจฉันอย่างแรง” เธอกลายเป็นศิษย์ของนักบวชรูปนั้น แล้วชีวิตของเธอก็กลับมีความหมายขึ้นมา
“ในคัมภีร์ภควัทคีตาเขียนไว้ว่า หมู่มิตรสหายผู้ไม่เชื่อในการแสวงหาสัจธรรมอันเป็นนิรันดร์คือมิตรสหายที่ไร้ค่า” คีตาบอกฉัน เธอพยายามบรรยายความรู้สึกขณะอยู่ท่ามกลางฝูงชนซึ่งล้วนกำลังแสวงหาสิ่งเดียวกันกับเธอ สุดท้ายเธอเลือกใช้คำว่า “ตัวลอย”
แต่เราสามารถรู้สึกหรือสัมผัสกับพลังอัศจรรย์แห่งความร่าเริงบันเทิงใจหมู่โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนความเชื่อเสมอไป ดังเช่นประสบการณ์ที่เกิดกับชายคนหนึ่งในเทศกาลเมลาเมื่อปี 1896 เขาบันทึกไว้ว่า “ช่างน่าอัศจรรย์ใจเหลือเกินที่พลังแห่งศรัทธาเช่นนั้นสามารถผลักดันฝูงชน ทั้งคนเฒ่าคนแก่ คนอ่อนแอ คนหนุ่มสาว และคนป่วยไข้ ให้หลั่งไหลมาร่วมงานระลอกแล้วระลอกเล่า โดยปราศจากความลังเลหรือโอดครวญต่อการเดินทางอันเหลือเชื่อเช่นนั้น ทั้งยังอดทนแบกรับความยากเข็ญที่ตามมาโดยไม่ปริปากบ่นแม้สักคำ” ชายผู้นี้คือชาวอเมริกันนามว่า มาร์ก ทเวน
เรื่อง ลอรา สปินนีย์
ภาพ อเล็กซ์ เว็บบ์
อ่านเพิ่มเติม