ยองเก มิงยูร์ ริมโปเช กับการปฏิบัติธรรมอันเบิกบาน

ยองเก มิงยูร์ ริมโปเช กับการปฏิบัติธรรมอันเบิกบาน

ยองเก มิงยูร์ ริมโปเช ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นธรรมาจารย์ทิเบตรุ่นใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงพุทธธรรมอันเก่าแก่ของทิเบตกับโลกสมัยใหม่ได้เป็นอย่างน่ามหัศจรรย์  ยองเก มิงยูร์ ริมโปเช สนใจวิทยาศาสตร์ จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ และได้พบปะพูดคุยกับศึกษาเล่าเรียนกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำตั้งแต่ยังเป็นเด็ก  ในหนังสือ The Joy of Living: Unlocking the Secret & Science of Happiness (ชีวิตที่เบิกบาน ไขรหัสสู่ศาสตร์แห่งความสุข เขียนร่วมกับ อีริค สแวนสัน แปลโดย พินทุสร ติวุตานนท์) ที่เชื่อมโยงประสาทวิทยากับพุทธธรรมและการปฏิบัติสมาธิเข้าด้วยกัน ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่ปี 2008  ยองเก มิงยูร์ ริมโปเชกล่าวว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการอธิบายพุทธธรรมให้คนตะวันตกเข้าใจ ตามความสนใจของท่าน

ยองเก มิงยูร์ ริมโปเช เกิดเมื่อปี 1975 เป็นที่รู้จักในหมู่นักปฏิบัติธรรมชาวตะวันตกและเอเชีย ได้รับการระบุตัวอย่างเป็นทางการโดยองค์กรรมาปะว่าเป็น ยองเก มิงยูร์ ริมโปเชที่เจ็ด ผู้เป็นเลิศทางกรรมฐานแห่งศตวรรษที่ 17 กลับชาติมาเกิด ภาพ: Tergar

 

ทำไมในหนังสือและคำสอนของท่านจึงมุ่งให้คนรู้จักสภาวะภายในของจิตใจตัวเองเป็นสำคัญ?

การปฏิบัติสมาธิภาวนาคือการพยายามทำความคุ้นเคยกับจิตใจของเราเอง  เรามีคุณภาพพื้นฐานหลายประการ เช่น การมีสติระลึกรู้ (awareness) ความเมตตากรุณา ปัญญา ความสามารถและทักษะต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในตัวเรา  แต่ปัญหาคือเราไม่รู้จักและเห็นคุณค่า เราไม่ตระหนักถึงสิ่งเหล่านั้น  นักวิทยาศาสตร์บอกว่าถ้าเรามีคุณสมบัติในตัวสักสิบอย่าง เก้าในสิบเป็นคุณสมบัติด้านบวก  โดยทั่วไปเรามักเห็นแต่ด้านลบเพียงอย่างเดียว และขยายด้านลบนั้นให้ใหญ่ขึ้น จนมองไม่เห็นสิ่งดีอีกเก้าอย่างในตัวเรา  การปฏิบัติสมาธิภาวนา ในทางหนึ่งเป็นการเป็นการฝึกเพื่อมีสติ แต่อีกทางหนึ่งคือพยายามรู้จักสิ่งที่เราเป็น และสำรวจคุณภาพพื้นฐานต่างๆ ของเราเอง

เมื่อเราเริ่มต้นปฏิบัติสมาธิ  แรกสุดเราจะรู้สึกว่าเห็นความคิดมากมาย และคิดว่าเราคิดมากกว่าที่เคยเป็น แต่ที่จริงมันเป็นสัญญาณที่ดี  เมื่อแม่น้ำขุ่น คุณจะมองไม่เห็นปลาในแม่น้ำ  ถ้าแม่น้ำใสและสงบ คุณจะสามารถมองเห็นปลามากมายในแม่น้ำ  พวกมันมาจากไหนกัน  ที่จริง ก่อนหน้าการปฏิบัติสักหนึ่งเดือน ก็มีปลาอยู่แล้ว แต่เพราะน้ำขุ่น คุณจึงมองไม่เห็น  โดยทั่วไปจิตใจของเราก็ขุ่น มีความคิดมากมาย แต่เรามองไม่เห็นมัน  เรากลายเป็นสิ่งเดียวกับอารมณ์ เป็นสิ่งเดียวกับความเครียด กับความเกลียด กับความรู้สึกไม่มีความสุข  แต่เมื่อคุณฝึกฝนสติระลึกรู้  จิตใจก็เริ่มสงบและใสจนมองเห็นความคิดมากมายได้  แต่ในการที่จะมองเห็นความคิด แรกสุดคุณต้องมองลมหายใจก่อน แล้วจึงเห็นความคิดเหล่านั้น  ความคิดไม่มีความหมายอะไร ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ดีหรือไม่ดี  คุณแค่สนใจมัน มองมัน  ถ้าคุณมองเห็นความคิด คุณจะไม่ถูกควบคุมโดยความคิด

เหมือนคุณมองเห็นแม่น้ำ ก็แปลว่าคุณออกมาจากแม่น้ำแล้ว  ถ้าคุณตกลงไปในแม่น้ำและถูกพัดพาไป คุณจะมองไม่เห็นแม่น้ำ  ส่วนใหญ่เรามักอยู่ในแม่น้ำ กลายเป็นสิ่งเดียวกับความคิดและอารมณ์  เราจึงมองไม่เห็นมัน   ตอนนี้เมื่อคุณมองดูความคิด มันก็เหมือนมองดูลมหายใจเข้าออกที่มาแล้วก็ไป มาแล้วไป ความคิดก็มาแล้วไปเหมือนกัน  คุณไม่จำเป็นต้องหยุดควมคิด เหมือนที่คุณดูลมหายใจแล้วไม่ได้หยุดหายใจ

ตอนฉันเป็นเด็ก ฉันเป็นโรคตื่นตระหนก (panic) ตอนแรกสุดฉันไม่ได้ฝึกปฏิบัติกับความตื่นตระหนก เพราะความตื่นตระหนกจะขยายใหญ่ขึ้น  ฉันฝึกปฏิบัติกับความโกรธก่อน สำหรับฉัน ความโกรธไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่เหมือนกับอาการตื่นตระหนก  ฉันเฝ้ามองลมหายใจและเฝ้ามองความโกรธ และฉันเห็นว่าความโกรธขึ้นมาจากท้องแล้วแผ่ออกไป ความรู้สึก ภาพต่างๆ และเสียงก็ตามมา  ความโกรธกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย คือความรู้สึก ภาพ เสียง และความเชื่อด้วย  โดยทั่วไปเราเห็นความโกรธเป็นชิ้นเดียว แข็งแกร่ง เหมือนเป็นก้อนหินที่กลิ้งทับคุณ  แต่เมื่อคุณมองไปที่ความโกรธ  ความโกรธก็แตกเป็นเสี่ยงๆ  มันเหมือนครีมโกนหนวดที่ดูเป็นก้อนๆ แต่ข้างในเต็มไปด้วยฟอง มันว่างเปล่า

คุณมองเห็นแม่น้ำ ก็แปลว่าคุณออกมาจากแม่น้ำแล้ว  ถ้าคุณตกลงไปในแม่น้ำและถูกพัดพาไป คุณจะมองไม่เห็นแม่น้ำ  ส่วนใหญ่เรามักอยู่ในแม่น้ำ กลายเป็นสิ่งเดียวกับความคิดและอารมณ์

จากนั้นคุณค่อยกลับไปฝึกมองความตื่นตระหนก แต่มันยาก เมื่อความตื่นตระหนกขยายใหญ่ขึ้น ก็หยุดเสีย  เปลี่ยนความสนใจไปที่ลมหายใจ หรือฟังเสียง หรือมองดูสิ่งอื่น  คุณควรเปลี่ยนเทคนิคการปฏิบัติสมาธิ ไม่ใช่แค่ฝึกดูลมหายใจ  เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคุณจะเบื่อ อึดอัด และปวดหัวได้

คุณต้องปฏิบัติทุกวัน วันละนิด  ถ้าหากปฏิบัติมากๆ ทีเดียว ก็จะเลิกทำภายในหนึ่งหรือสองเดือน  การปฏิบัติธรรมก็เหมือนการออกกำลังกาย  ทำไปวันละนิด แล้วจะได้รับผลมากมายในที่สุด  คุณควรมีวิธีปฏิบัติสมาธิภาวนาสักสองสามวิธี ด้วยลมหายใจ เสียง สิ่งของ ความรู้สึกทางกาย ความรู้สึก ความคิด  เมื่อใดที่คุณเกิดติดขัดขึ้นมา คุณก็เปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง  เทคนิคเหล่านี้ช่วยส่งเสริมกันและกัน

ในที่สุดแล้วการมีสติระลึกรู้ก็เป็นเหมือนท้องฟ้า  ความคิด อารมณ์ เป็นเหมือนเมฆ  ความรู้สึกหดหู่ เศร้าซึม ไม่มีความสุข หรือตื่นตระหนก เป็นเมฆ  เมฆมาแล้วก็ไป  มาแล้วไป  มันไม่รบกวนความว่าง ต่อให้ท้องฟ้ามีเมฆเต็มไปหมดก็ตาม  ท้องฟ้าไม่ได้เปลี่ยนด้วยก้อนเมฆ ต่อให้มีมลภาวะ แก่นของท้องฟ้าก็ไม่เปลี่ยนแปลง  การมีสติระลึกรู้อยู่ที่นั่นเสมอ  เมื่อคุณระลึกรู้  ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรืออารมณ์แบบใด  ความคิดจะดีหรือเลว ปล่อยให้มันผ่านมาและผ่านไป

ภาพ: Tergar

 

สำหรับคนที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมมาก่อนเลย ท่านจะแนะนำให้ปฏิบัติสมาธิอย่างไรเป็นอันดับแรกสุด?

ถ้าไม่เคยปฏิบัติสมาธิมาก่อนเลย ให้ฝึกรับรู้ถึงความซาบซึ้งใจและความสำนึกคุณ (appreciation and gratitude)  เขียนถึงสิ่งที่คุณซาบซึ้งเกี่ยวกับชีวิตรอบตัวคุณ เกี่ยวกับโลก วันละห้าอย่าง ถึงแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก เราก็ยังมีชีวิตอยู่ ช่างเป็นสิ่งประเสริฐและมหัศจรรย์  หรือแม้แต่การล้างจาน ก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน  เขียนถึงสิ่งที่คุณซาบซึ้งวันละห้าข้อ เมื่อผ่านไปหนึ่งเดือน คุณจะมีความสุขมากกว่าแต่ก่อน และจะมองเห็นสิ่งดีๆอีกมากมาย

ถ้าคุณมีนาฬิกา และคุณสมบัติของนาฬิกาคือการบอกเวลา  ถ้าคุณมีนาฬิกาและไม่รู้จักนาฬิกาของตัวเอง นาฬิกาไม่อาจบอกเวลากับคุณได้และไม่มีประโยชน์  แต่ถ้าคุณรู้จัก นาฬิกาก็บอกเวลาได้  ก็เหมือนอย่างนั้น [เรามี] คุณสมบัติที่ดีทั้งหมดอยู่ในตัวเรา แต่เราไม่เห็นมัน  เมื่อใดที่คุณมองเห็น คุณจะคิดว่าได้คุณสมบัตินั้นมาใหม่ หรือพัฒนาคุณสมบัติใหม่ขึ้นมา แต่ที่จริงมันอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว และเรามองไม่เห็น  เรามีสิ่งดีมากมายในตัวและกลายเป็นของธรรมดา ส่วนคุณสมบัติด้านลบกลายเป็นสิ่งพิเศษ ก็เหมือนกับข่าวร้ายในโทรทัศน์  ทำไม เมื่อมีข่าวร้ายขึ้นมา คนจะดูทีวี แต่ถ้าทีวีเสนอแต่ข่าวดีๆ คนก็บอกว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอนอยู่แล้ว  ข่าวดีกลายเป็นเรื่องธรรมดา  ข่าวร้ายเป็นเรื่องหายาก ผู้คนจึงสนใจ

คุณสมบัติที่ดีทั้งหมดอยู่ในตัวเรา แต่เราไม่เห็นมัน  เมื่อใดที่คุณมองเห็น คุณจะคิดว่าได้คุณสมบัตินั้นมาใหม่ หรือพัฒนาคุณสมบัติใหม่ขึ้นมา แต่ที่จริงมันอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว

 

ในเมืองไทยมีการปฏิบัติธรรมหลากหลายรูปแบบ ท่านคิดว่าเราควรการเลือกเทคนิคการฝึกสมาธิสำหรับเราแต่ละคนอย่างไร?

สิ่งสำคัญที่สุดอันเป็นแก่นของการปฏิบัติสมาธิก็คือการมีสติระลึกรู้  สติระลึกรู้หมายถึงการรู้ รู้ว่าคุณกำลังคิด รู้สึก เห็น ได้ยิน นั่นเป็นสิ่งสำคัญของการปฏิบัติธรรม  ลมหายใจช่วยให้เราระลึกรู้  การรับรู้ทางร่างกาย ร่างกายช่วยให้เราระลึกรู้  ความรู้สึกก็ช่วยให้เราระลึกรู้  ไม่ว่าส่วนใดของร่างกายก็ช่วยให้มีสติระลึกรู้ได้  สิ่งสำคัญคือการมีสติระลึกรู้ จะเป็นอะไรก็ไม่สำคัญ  ในที่สุดแล้ว คุณก็สามารถใช้ทุกอย่างเกื้อกูลการปฏิบัติสมาธิได้ตราบเท่าที่คุณมีสติระลึกรู้  คุณต้องมีสติระลึกรู้ก่อนเป็นอันดับแรก

เหตุสำคัญของความทุกข์คือความอยาก (craving) การยึดติด (attachment) และการผลักไส (aversion)  เมื่อคุณตื่นตระหนก คุณมองดูความตื่นตระหนก ไม่ผลักไสมัน หรือหยุดความตื่นตระหนกนั้น  ถ้าคุณพยายามจะหยุดมัน ความตื่นตระหนกจะใหญ่ขึ้น  เหมือนกับถ้าคุณบอกว่าจะไม่คิดถึงต้มยำกุ้ง คุณจะคิดถึงมันมากขึ้น  คุณจึงไม่จำเป็นต้องห้ามความคิดของคุณ มันเป็นไปไม่ได้ แต่คุณก็ไม่ต้องติดตามมัน  การเผลอตามความคิดไปก็แปลว่าคุณไม่ได้ระลึกรู้  คุณหายเข้าไปกับความคิดนั้น คุณอยู่ในแม่น้ำ

มีสองวิธีที่จะปฏิบัติสมาธิ  อย่างแรกคือการปฏิบัติสมาธิตามรูปแบบ (formal meditation) คุณนั่งลงบนเบาะ หลังตรง ปิดมือถือ ไม่รับโทรศัพท์ ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่สื่อสาร ใช้เวลาทั้งหมดอุทิศกับการปฏิบัติ ซึ่งทุกวันคุณควรให้เวลากับการปฏิบัติธรรมแบบนี้ อาจจะห้านาทีหรือหนึ่งชั่วโมง ลองดูว่าจะทำได้มากแค่ไหน  แต่ตอนแรกอย่าปฏิบัตินานเกินไป เพราะคุณอาจทำได้ไม่ต่อเนื่อง คุณจะรู้สึกเบื่อและเลิกทำ  ดังนั้นการปฏิบัติสมาธิเพียงเล็กน้อยทุกๆ วันจะมีประโยชน์ในที่สุด  คุณจำเป็นต้องสร้างนิสัยใหม่ ซึ่งใช้เวลาหนึ่งเดือน  หลังจากหนึ่งเดือนก็จะง่ายขึ้น  ในสัปดาห์แรกยังง่ายอยู่ พอสัปดาห์ที่สองก็เริ่มเว้น วันนี้ฉันจะดูทีวี พรุ่งนี้ค่อยปฏิบัติ อย่าปล่อยให้เป็นเช่นนั้น จงปฏิบัติต่อไป เพราะมันแค่ห้านาทีเท่านั้น  พอสัปดาห์ที่สามก็จะดีขึ้น  ถ้าทำถึงสัปดาห์ที่สี่ก็ดีมาก  หลังจากนั้นก็จะง่ายขึ้น

การปฏิบัติสมาธิแบบทำเล่นๆ คุณทำได้ทุกที่ ในออฟฟิศขณะที่คุณทำงาน  คุณอาจดูลมหายใจสักสองสามครั้ง แล้วค่อยกลับไปทำงานอีก

ส่วนการปฏิบัติสมาธิแบบทำเล่นๆ (informal meditation) คุณทำได้ทุกที่ ในออฟฟิศขณะที่คุณทำงาน  คุณอาจดูลมหายใจสักสองสามครั้ง แล้วค่อยกลับไปทำงานอีก และดูลมหายใจอีกครั้งสักหนึ่งหรือสองลมหายใจ ในรถไฟ รถยนต์ ขณะรับประทานอาหาร ทักทายคนอื่น ก็ตามดูลมหายใจได้  ถ้าหากคุณลืม ก็แค่กลับมาตามลมหายใจอีกครั้ง ลืมอีก ก็กลับมาอีก  ทำสั้นๆ แต่หลายๆ ครั้ง  ทำสั้นๆ หมายถึงหายใจสักครั้งหรือสองครั้ง  เหมือนหยดน้ำในภาชนะใบใหญ่  หยดแรก หยดที่สอง แล้วในที่สุด ภาชนะก็มีน้ำเต็ม การปฏิบัติธรรมก็เป็นเช่นนั้น  ทำสั้นๆ แต่บ่อยๆ จะเพิ่มคุณประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม

ภาพ: Tergar

 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราปฏิบัติแล้วถูกทาง

สัญญาณของการปฏิบัติสมาธิถูกทางคือคุณจะใจดีขึ้น เมตตากรุณามากขึ้น อารมณ์ด้านลบลดลง จิตใจที่คิดถึงแต่ตัวเอง หรือคิดร้ายจะลดลง และจะมีสันติสุขมากขึ้น  แต่มีบางอย่างที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม อย่างแรกคือการพยายามหยุดอารมณ์และความคิด มันเป็นไปไม่ได้  การปิดกั้นเช่นนั้นเป็นความผิดพลาด อย่างที่สองคือ คนจำนวนมากคิดว่าการปฏิบัติธรรมคือการนั่งลงและพยายามจะมีสันติสุข  อย่ามองหาความรู้สึกพิเศษใดๆ ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น  การพยายามหยุดยั้งความคิดเป็นการผลักไส ความพยายามมองหาสภาวะพิเศษทางจิตเป็นความอยาก  เพียงแต่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติด้วยการระลึกรู้  ถ้าเป็นอย่างนั้น จะไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคสำหรับการปฏิบัติสมาธิ

 

ทำไมการปฏิบัติภาวนาถึงความเมตตากรุณาจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับท่าน

แรกสุด การปฏิบัติสมาธิแบบที่เราเรียกว่า “สมถะ” อย่างที่เราให้ความสนใจกับลมหายใจและพยายามเชื่อมกับความระลึกรู้ เป็นการปฏิบัติธรรมที่ทำให้ใจยืดหยุ่นและทำงานได้  ขั้นที่สองคือการปฏิบัติสมาธิถึงความเมตตากรุณา  เหมือนที่เราชาร์จแบตเตอรีโทรศัพท์แล้ว เรารู้ว่าจะใช้โทรศัพท์อย่างไรก็ด้วยการปฏิบัติสมาธิเมตตาภาวนา เราจะใช้จิตของเราในทิศทางที่ถูกและเกิดประโยชน์มากขึ้น ต่อคนอื่นในสังคมและทุกคน

ยองเก มิงยูร์ ริมโปเช ถือเป็นพระทิเบตอายุน้อยที่สุดที่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติแบบ “ปลีกวิเวก” คนเดียวเป็นเวลาสามปี ขณะอายุ 13 ปี และอายุ 27 ปี ท่านเป็น 1 ใน 8 ผู้ปฏิบัติธรรมที่เข้าร่วมการทดลองทางประสาทวิทยาที่ห้องปฏิบัติการไวส์แมน วิสคอนซิน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมองระหว่างปฏิบัติสมาธิ

 

การปฏิบัติธรรมในระดับบุคคลจะขยายประโยชน์สู่สังคมวงกว้างและโลกที่กำลังประสบปัญหามากมายได้อย่างไร

เรากำลังอยู่ในศตวรรษที่ 21 ปัญหาส่วนมากมาจากความคิดของเรา เป็นสิ่งที่ฉันเรียกว่า “จิตลิง” (monkey mind – จิตที่ซุกซนวุ่นวายเหมือนลิง)  เราทุกคนต่างก็มีลิงบ้าที่ควบคุมพฤติกรรมของเรา ทำให้เกิดสงคราม ความไม่ลงรอย และปัญหามากมาย และคนจำนวนมากไม่มีความสุข หดหู่ ตื่นตระหนก สูญเสียคุณค่าในตนเอง  วัตถุไม่อาจช่วยได้ ต่อให้คุณมีเงินมากเพียงใด คุณจะมีความสุขเพียงชั่วครู่ แล้วก็กลับมาสู่ความทุกข์อีก  ต่อให้คุณถูกล็อตเตอรีได้เงิน 80-90 เหรียญสหรัฐฯ คุณก็มีความสุขอยู่เพียงสองปี หลังจากนั้นก็จะกลับมาสู่จุดเดิม  ชื่อเสียง อำนาจ ไม่ได้เปลี่ยนพื้นฐานของจิตใจเรา  สิ่งที่เปลี่ยนคือการปฏิบัติสมาธิต่างหาก  สิ่งสำคัญก็คือเมื่อคุณรู้ว่าจะทำงานกับจิตใจของตนเองอย่างไร ก็จะช่วยเปลี่ยนนิสัย พฤติกรรม และความสัมพันธ์ได้ และโลกก็จะดีกว่าที่เป็นอยู่

 

ชื่อเสียง อำนาจ ไม่ได้เปลี่ยนพื้นฐานของจิตใจเรา  สิ่งที่เปลี่ยนคือการปฏิบัติสมาธิต่างหาก  สิ่งสำคัญก็คือเมื่อคุณรู้ว่าจะทำงานกับจิตใจของตนเองอย่างไร ก็จะช่วยเปลี่ยนนิสัย พฤติกรรม และความสัมพันธ์ได้ และโลกก็จะดีกว่าที่เป็นอยู่

 

ทำไมท่านจึงเลือกใช้ศัพท์ธรรมดาในการสอนพระธรรมอันเก่าแก่จากสายทิเบต

ในทิเบตเรามีการสอนหลากหลายแบบ  การสอนให้ผู้คงแก่เรียน สอนภิกษุและภิกษุณี สอนคนที่มีครอบครัว การสอนผู้สูงอายุ และการสอนจากประสบการณ์ (experiential practice)  ฉันสอนด้วยประสบการณ์และจากชีวิตประจำวัน ไม่ต้องใช้คำศัพท์ยากแบบผู้คงแก่เรียนหรือทฤษฎี

 

ท่านทิ้งทุกอย่างและออกธุดงค์โดยไม่นำสิ่งใดติดตัวไปและไม่บอกใครเลยนานเป็นเวลา 4 ปี ทำไมการออกธุดงค์จึงสำคัญ และในขณะที่ท่านกำลังจะตายระหว่างการธุดงค์ ท่านพบอะไร

บางครั้งเรายึดติดและมีความอยาก ดังนั้นถ้าเราเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและไปยังที่ห่างไกล มันจะช่วยให้เราปล่อยวางความยึดติด นั่นเป็นการปฏิบัติอย่างหนึ่ง

ตอนนั้นฉันอาหารเป็นพิษ ท้องเสียและอาเจียนต่อกันนาน 4-5 วัน ท้ายที่สุดร่างกายเป็นอัมพาต ขยับไม่ได้ ความรู้สึกทั้งหมดหายไป  ฉันจึงปฏิบัติสมาธิมีสติระลึกรู้ และสติก็ชัดเจนกระจ่างขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้นฉันจึงอยู่ในสมาธิระลึกรู้ราวสองสามชั่วโมงแล้วจึงกลับมา [เป็นปกติ] ได้  ฉันจึงเชื่อในการมีสติระลึกรู้  ในพุทธศาสนาทิเบตเรามีการปฏิบัติเพื่อเตรียมตัวตาย  แก่นของการปฏิบัติเพื่อเตรียมตัวขณะกำลังจะตายนั้นคือการตั้งมั่นในสติระลึกรู้  ถ้าหากคุณตั้งมั่นเช่นนั้นได้ สติที่ระลึกรู้จะคงอยู่ ซึ่งฉันประสบมาในขณะที่ความรู้สึกทั้งหมดกำลังเลือนลางไป

 

ได้ยินมาว่าท่านทะไลลามะฝึกปฏิบัติการเข้าสู่ความตายทุกคืนก่อนนอน ท่านทำเช่นนั้นด้วยไหมคะ

(พยักหน้า) พระทิเบตบางรูปฝึกฝนการเข้าสู่ความตายขณะกำลังจะนอน

……………………………………….

สัมภาษณ์โดย นิรมล มูนจินดา, โกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ และ ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก

ขอขอบคุณ คุณวรนุช ชูเรืองสุข สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา James และ Eva Chan แห่ง Tergar Asia และ Tergar Hongkong

 

อ่านเพิ่มเติม

๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.