รอยเท้าในดินสีแดงฉานเป็นรอยลึกและสดใหม่ ไตนากี เตเนเตฮาร์ ก้าวลงจากจักรยานเพื่อเข้าไปดูใกล้ๆ “รอยเมื่อเช้านี้” เขาบอกด้วยความมั่นใจของนักแกะรอยมากประสบการณ์ ซึ่งคุ้นเคยกับร่องรอยความเคลื่อนไหวของมนุษย์ในเขตพรมแดนไร้ขื่อแปเหล่านี้
เขากวาดสายตาผ่านกล้องส่องทางไกลไปทั่วเนินเขาลูกระนาดของทุ่งหญ้าสะวันนาที่ถูกไฟเผาผลาญซึ่งทอดตัวไปสู่สันเขาตรงแนวสุดเขตต้นไม้ ที่นี่คือดินแดนที่มีผู้ต่อสู้แย่งชิงมากที่สุดแห่งหนึ่งของบราซิล เห็นได้จากป่าละเมาะโล่งเตียนที่ผุดขึ้นท่ามกลางผืนป่าเก่าแก่ และบ้านไร่ของเอกชนที่รุกล้ำแนวเขตของดินแดนชนพื้นเมือง รอยยางรถยนต์บ่งบอกเรื่องราวอันเป็นลางร้ายอย่างเด่นชัด
“พวกลักลอบตัดไม้” ไตนากีบอก เขาหมายถึงศัตรู
ไตนากีซึ่งใช้ชื่อภาษาโปรตุเกสว่า ลาเอร์ซิว โซซา ซิลวา กูวาจาจารา หันหน้าไปหาเพื่อนๆอีกสี่คนในเผ่ากูวาจาจารา ขณะที่พวกเขาก้าวลงจากรถมอเตอร์ไซค์บุโรทั่ง สายตรวจเหล่านี้คือกลุ่มคนที่รวมตัวเฉพาะกิจ และติดอาวุธเหมือนๆกัน ได้แก่ ปืนยาวยิงได้ทีละนัด ปืนสั้นประดิษฐ์เอง และพร้าสองสามเล่ม
“ตามพวกมันไปเลยดีไหม” ไตนากีถาม
ที่ผ่านมา พวกเขาเผารถกระบะของพวกบุกรุกป่า ยึดอาวุธและเลื่อยยนต์ และกดดันให้ออกจากพื้นที่ ไตนากี วัย 33 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวหน้าหน่วยลาดตระเวน ถูกขู่เอาชีวิตมาแล้วหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนบางคนใช้ชื่อปลอมเพื่อปกปิดตัวตน เพราะเจ้าหน้าที่สามคนถูกสังหารภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือนเมื่อปี 2016
พวกเขาคือกองกำลังอาสาสมัครพื้นเมืองที่รวมตัวกันเอง มีสมาชิกหนึ่งร้อยคน และเรียกตัวเองว่า ผู้พิทักษ์ป่า กลุ่มของไตนากีและกลุ่มอื่นๆจัดตั้งขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ เพื่อตอบโต้การรุกรานจากพวกลักลอบตัดไม้ที่นับวันมีแต่จะรุนแรงขึ้น คนเหล่านั้นทำลายผืนป่าที่ได้รับการปกป้องในรัฐมารันเยาทางตะวันออกของลุ่มน้ำแอมะซอน ซึ่งรวมถึงดินแดนชนพื้นเมืองอารารีบอยาขนาด 4,150 ตารางกิโลเมตร สัตว์ป่าที่หล่อเลี้ยงวัฒนธรรมการล่าสัตว์ของชาวกูวาจาจารามาตลอดหลายชั่วอายุคนก็กำลังสูญหายไปไม่ต่างจากผืนป่า เช่นเดียวกับทะเลสาบซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารกำลังเหือดแห้งเพราะการตัดไม้ทำลายป่า
ชาวกูวาจาจาราใช้กลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดอันชาญฉลาด นับตั้งแต่การเผชิญหน้าอันนองเลือดครั้งแรกกับคนนอกเมื่อหลายร้อยปีก่อน ชนพื้นเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่รู้จักวิถีของโลกภายนอกเป็นอย่างดี หลายคนเคยอาศัยอยู่ในโลกที่ว่านั้นมาแล้ว ทว่าสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือชะตากรรมของอีกชนเผ่าหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันในเขตสงวนอารารีบอยา นั่นคือเผ่าอาวา
ชนเผ่าอาวาซึ่งถูกล้อมกรอบให้อยู่ในผืนป่าที่หดเล็กลงเรื่อยๆ เป็นเผ่าที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ ตลอดทั่วทั้ง ลุ่มน้ำแอมะซอน ภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพของชนเผ่าที่แยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวและไม่เคยติดต่อข้องแวะกับโลกภายนอก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 ถึง 100 กลุ่มในโลก รวมประชากรทั้งหมดแล้วอาจมีอยู่ราว 5,000 คน กำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ กลุ่มคนเหล่านี้เป็นตัวแทนของชนเผ่าที่ตัดขาดจากโลกภายนอกส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ในโลก ชนเผ่าตัดขาดจากโลกภายนอกที่เหลือนอกเขตแอมะซอน อาศัยอยู่ในป่าแคระชาโกในปารากวัย บนหมู่เกาะอันดามันในมหาสมุทรอินเดีย และทางตะวันตกของนิวกินี จำนวนของพวกเขาอาจดูเล็กน้อยก็จริง แต่องค์กรรณรงค์เพื่อสิทธิชนพื้นเมืองบอกว่า เดิมพันที่มีค่ามากกว่านั้นคือการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมซึ่งสาบสูญไปจากพื้นที่ส่วนอื่นๆของโลกแล้ว
ย้อนกลับไปในผืนป่า ขณะที่ผู้พิทักษ์ป่าในกลุ่มของไตนากีจับกลุ่มหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป ร่างสวมหมวกกันน็อกร่างหนึ่งก็โผล่ออกจากกระท่อมที่อยู่ใกล้กัน ติดเครื่องรถมอเตอร์ไซค์วิบาก แล้วบิดคันเร่งผ่านไป
“ออลเฮย์โร!” พวกผู้ชายตะโกน สายสืบ!
ผู้พิทักษ์ป่ายังต้องต่อสู้กับเครือข่ายคนที่แฝงตัวเข้ามาปะปนในหมู่พวกเขาอีกด้วย สายสืบเหล่านี้จะคอยสอดส่องกลุ่มลาดตระเวนและรีบส่งข่าวให้คนที่จ่ายค่าจ้าง ซึ่งจะเตือนทีมตัดไม้ในพื้นที่ให้รู้ผ่านวิทยุสื่อสาร
“เราต้องรีบไปจากที่นี่แล้ว!” ไตนากีสั่ง “หมอนั่นต้องคาบข่าวเรื่องพวกเราไปบอกแน่ๆ!”
ผู้พิทักษ์ป่าจะต้องจู่โจมพวกลักลอบตัดไม้แบบไม่ทันให้รู้ตัว ไม่เช่นนั้นพวกเขาอาจลงเอยด้วยการถูกซุ่มโจมตีเสียเอง แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางเองยังเคยถูกลอบโจมตีจากกลุ่มตัดไม้ติดอาวุธมาแล้ว
ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐบาลที่ดูแลชนพื้นเมืองคือมูลนิธิชนพื้นเมืองแห่งชาติ หรือฟูไน (Fundação Nacional do Índio: FUNAI) ถูกตัดงบประมาณก้อนใหญ่ที่เคยได้รับ ทำให้การปกป้องชนเผ่าที่อยู่โดดเดี่ยวฃเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น นักการเมืองในรัฐสภาที่หนุนการทำธุรกิจผลักดันให้ยกเลิกดินแดนชนพื้นเมืองที่ได้รับการคุ้มครองทั่วแถบแอมะซอน ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่มากประสบการณ์หลายคนของฟูไนก็ถูกเลิกจ้าง และสถานีภาคสนามหลายแห่งปิดตัวลง
เสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือของชาวกูวาจาจารา นำไปสู่ปฏิบัติการจู่โจมโรงเลื่อยลับๆในเมืองที่อยู่รายรอบเป็นครั้งคราวโดยหน่วยงานภาครัฐ เช่นเดียวกับกำลังตำรวจที่บุกเข้าป่าเพื่อขับไล่พวกลักลอบตัดไม้ แต่โดยมากแล้วเหล่าผู้พิทักษ์ป่ามักต้องต่อสู้โดยลำพัง ถ้าไม่ถูกทิ้งให้เฝ้าจับตาดูรถขนไม้ขนสมบัติของชาติออกไป ก็ต้องเข้าไปขัดขวางพวกตัดไม้แบบตามมีตามเกิด
เรื่อง สกอตต์ วอลเลซ
ภาพถ่าย ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์
อ่านเพิ่มเติม