นาค มาจากไหน ต้นกำเนิดตำนานนาค บรรพบุรุษแห่งลุ่มน้ำโขง

นาค ความผูกพันในหลากมิติของชนลุ่มน้ำโขง

“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหญิงสาวนามนางส้า อาศัยอยู่ริมแม่น้ำแถบภูเขาเลาซัน วันหนึ่งนางไปหาปลาที่แม่น้ำโขง มีขอนไม้ใหญ่ลอยมาถูกตัวนาง ทำให้บังเกิดความรู้สึกประหลาด ต่อมาไม่นานนางส้าก็ตั้งครรภ์คลอดบุตรชายออกมา 10 คน

แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งขอนไม้ดังกล่าวกลับกลายเป็นนาคผุดขึ้นเหนือน้ำ ร้องถามนางส้าว่า ‘ลูกข้อยอยู่ที่ไหน’ นางส้าตกใจรีบพาบุตรของตนวิ่งหนี ทว่าบุตรคนสุดท้องหนีไม่ทัน นาคจึงเลื้อยเข้ามาเลียเด็กคนนั้นแล้วหายลงแม่น้ำโขงไป

เมื่อเด็กชายทั้ง 10 คนเติบโตเป็นหนุ่ม นางส้าก็สู่ขอบุตรสาวของเพื่อนบ้านให้เป็นภรรยา ส่วนบุตรคนสุดท้องนั้นแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า และต่อมาตระกูลนี้ก็มีบุตรหลานแพร่หลายไปเป็นชนชาติไต” (ไทยสิบสองปันนา, 2498) นิทานปรัมปราว่าด้วยต้นกำเนิดของชนชาติไท หรือไต กลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายตัวอาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ตะวันออกของเมียนมา ไปจนถึงมณฑลยูนนานของจีน และในเวียดนาม

แผนที่แสดงภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่กระจายตัวอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขอบคุณภาพจาก วิกิพีเดีย

นิทานเรื่องนี้เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายร้อยตำนานความเชื่อที่ถ่ายทอดความผูกพันระหว่างมนุษย์กับงู ในอารยธรรมอียิปต์โบราณเชื่อกันว่าโลกคือไข่ยักษ์ของงูตัวหนึ่ง สอดคล้องกับความเชื่อของชาวอินเดียที่ว่าโลกอยู่บนหลังเต่า และเต่าเองก็อยู่บนตัวงูอีกที ด้านชาวมายานั้นเคารพนับถืองูมากจนถึงกับสร้างวิหารบูชางู และเชื่อว่าสายรุ้งที่พาดผ่านบนท้องฟ้าเกิดจากเทพงู ต่างกันกับความเชื่อของชาวตะวันตก งูกลับกลายจากเทพที่น่าเคารพไปเป็นอสรพิษมากกิเลส เมื่ออดัมและเอวาถูกปีศาจที่แปลงกายเป็นงูยุยงให้กินแอปเปิลจนถูกขับไล่ออกจากสรวงสวรรค์

ในขณะที่ชาวกรีกเองถือว่างูคือสัญลักษณ์ของความเจริญและการกำเนิดใหม่ จากการที่มันลอกคราบตามธรรมชาติ นอกจากนั้นงูยังถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ทางการแพทย์อีกด้วย โดยปรากฏเป็นภาพของงูเลื้อยพันไม้คทาของเอสคูลาปิอุส ผู้เป็นบุตรของเทพเจ้าอพอลโลกับนางไม้โคโรนิส ทว่าบางตำนานก็กล่าวว่า ลักษณะของงูพันไม้เท้าน่าจะมาจากการที่แพทย์ในสมัยก่อนใช้ไม้พันดึงเอาพยาธิออกมาจากผิวหนังของผู้ป่วยมากกว่า

แล้วนาคมาจากไหน?

แม้ “นาค” จะไม่มีตัวตนอยู่จริงในทางชีววิทยา ทว่าในบริบททางวัฒนธรรมแล้ว นาคมีทั้งกายและจิตวิญญาณ และยังเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม วรรณกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ตลอดจนสถาปัตยกรรมของผู้คนลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีความหมายที่ไม่ได้อิงความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งตายตัว หากประกอบไปด้วยความหลากหลายซึ่งสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคที่ผูกพันกับงู หรือนาคมาเป็นเวลานาน

นาคคือบรรพบุรุษเก่าแก่ของผู้คนลุ่มน้ำโขง

หากพิจารณาจากวัฒนธรรมโดยไม่ได้อิงเขตแดนของประเทศแล้ว จะพบว่าวัฒนธรรมของชาวอีสานและชาวลาวนั้นได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรล้านช้างในอดีต จากการศึกษาของ บังอร ปิยะพันธุ์ ในเรื่อง “ประวัติศาสตร์ของชุมชนลาวในหัวเมืองชั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น” บ่งชี้ว่า ในอดีตการย้ายถิ่นฐานของชาวลาวเข้ามาในเขตแดนไทยปัจจุบันนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในฐานะเชลยศึก เกิดเป็นการตั้งถิ่นฐานของชนกลุ่มใหม่ คือบรรพบุรุษของคนอีสานปัจจุบันที่สืบวัฒนธรรมมาจากชาวล้านช้าง

และหากจะถามต่อไปว่าแล้วชาวล้านช้างมาจากที่ใด? ตามตำนานอุรังคธาตุที่บอกเล่าที่มาของการก่อร่างสร้างเมืองในอดีต และบอกเล่าที่มาของพระธาตุพนมเล่าว่า นาคคือชื่อเรียกของกลุ่มชนพื้นเมืองเดิมที่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณทะเลสาบหนองแส หรือทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ที่ตั้งอยู่ในมณฑลยูนนาน ก่อนที่จะอพยพลงมาตามแนวแม่น้ำโขง ฉะนั้นนาคจึงมีความหมายถึงบรรพบุรุษ และชาวลาวเองจึงนิยมนับถือนาค เพราะเชื่อกันว่าตนสืบเชื้อสายมาจากนาค สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการขุดค้นพบกลองมโหระทึกตั้งแต่แถบใต้แม่น้ำแยงซีเกียงลงมา รวมไปถึงในมณฑลยูนนานด้วยเช่นกัน กลองมโหระทึกคือวัฒนธรรมที่แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบ่งชี้ว่าในอดีตมีการอพยพแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันในภูมิภาคนี้ ในขณะเดียวกันงานวิจัยใหม่ๆ ก็ออกมาระบุว่าหรือแท้จริงแล้วมโหระทึกอาจจะไม่ใช่กลอง แต่เป็นเครื่องมือในการประกอบพิธีกรรมต่างหาก

ตัวอย่างของกลองมโหระทึก
ขอบคุณภาพจาก travel-mookdahan.webiz.co.th

นาคคือศาสนาและลัทธิบูชา

นาคในความหมายนี้ระบุว่า ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงนี้ล้วนนับถือและบูชานาคกันมาก่อน เช่นเดียวกับศาสนาแบบดั้งเดิมที่มีการนับถือผี จนกระทั่งเมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่มาจากอินเดีย ในที่สุดชนพื้นเมืองเหล่านี้ก็หันมานับถือศาสนาพุทธแทน โดยที่ยังไม่ทิ้งความเชื่อเดิม ดังนั้นนาคจึงถูกผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาไปด้วย ดังที่ปรากฏผ่านนิทาน หรือสถาปัตยกรรมตามวัดวาอาราม

แนวคิดที่ว่าชาวอินเดียเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำศาสนามาเผยแพร่ด้วยนี้มีหลักฐานมากมาย แต่ในประเด็นนาคนั้นถูกเล่าผ่านนิทานเก่าแก่ ที่มีหลักฐานปรากฏเป็นศิลาจารึกภาษาสันสกฤต พบในอาณาจักรจามปาซึ่งปัจจุบันคือเวียดนาม ในนิทานซึ่งเรียกผู้คนในภูมิภาคนี้ว่านาคเล่าว่า พราหมณ์โกณฑินยะจากอินเดียได้พุ่งหอกไปยังดินแดนดังกล่าวเพื่อสร้างราชธานี และได้สมรสกับธิดาของพระยานาค สืบเชื้อวงศ์กันต่อมา สอดคล้องกับนิทานของอาณาจักรฟูนันที่บอกเล่าว่า พราหมณ์โกณฑิยะเผชิญหน้ากับราชินีชนพื้นเมืองที่ไม่ใส่เสื้อผ้า ตัวเขาจึงแผลงศรไปทะลุเรือของนาง ทำให้นางตกใจกลัวและยอมสวามิภักดิ์เป็นภรรยา สะท้อนว่าในอดีตชนพื้นเมืองเหล่านี้เป็นพวกป่าเถื่อนมาก่อน แต่เมื่อได้รับอารยธรรมและศาสนาจากอินเดียก็มีความเจริญขึ้น

จากพุทธประวัติ พญามุจลินทนาคราชช่วยปกป้องเจ้าชายสิทธัตถะจากแดดลมและฝน
ขอบคุณภาพจาก Apiwut Thirachotikul, Pinterest

ตัวอย่างดังกล่าวยังปรากฏในตำนานอุรังคธาตุที่เล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงดินแดนอีสานปัจจุบัน พระองค์ก็พบกับบรรดานาคที่มีอิทธิฤทธิ์ควบคุมพื้นที่อยู่และไม่ยอมอ่อนน้อมนมัสการ พระองค์จึงแสดงปาฏิหาริย์ปราบนาค จนในที่สุดนาคก็มีศรัทธาต่อพุทธศาสนา และทูลขอรอยพระบาทประทับไว้ที่นี่เพื่อสักการะบูชา แสดงถึงการปะทะกันในอดีตระหว่างศาสนาพุทธกับลัทธิบูชานาคที่มีมาแต่ก่อน แต่แล้วในที่สุดชนพื้นเมืองลุ่มแม่น้ำโขงก็เปลี่ยนใจมานับถือศาสนาใหม่ ในขณะที่นาคก็ถูกเปลี่ยนให้มาเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาแทน

นาคคือน้ำและผู้ให้กำเนิดเมือง

ในมิตินี้นาคคือพลังธรรมชาติที่มีอำนาจในการบันดาลน้ำและปกปักรักษาผืนแผ่นดิน นักวิชาการเชื่อกันว่าเหตุที่งูกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของดินและน้ำก็เพราะจากการที่พวกมันสามารถใช้ชีวิตได้ทั้งในน้ำและบนบก ความเชื่อนี้สะท้อนผ่านวัฒนธรรมการบูชาบั้งไฟที่มีขึ้นเพื่อขอให้นาคช่วยสร้างสายฝนให้แก่มนุษย์ และชาวอีสานยังเชื่อว่านาคคือผู้คุ้มครองแม่น้ำโขง สายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขาอีกด้วย

แม้แต่ตำนานการกำเนิดอาณาจักรล้านช้างเองก็เชื่อกันว่า เมืองแห่งนี้เกิดขึ้นจากนาคที่ขุดคุ้ยควักแผ่นดินและให้สายน้ำจนบังเกิดเป็นเมืองแห่งลุ่มแม่โขงขึ้น ซึ่งการถือกำเนิดของอาณาจักรเพราะนาคนี้ยังพบในตำนานอื่นๆ เช่น ตำนานการกำเนิดเมืองสุวรรณโคมคำ ในอาณาจักรล้านนา ที่เล่าขานว่าในอดีตมีพญานาคสองตัวอาศัยอยู่ที่ทิศเหนือ และทิศใต้ของหนองน้ำ เมื่อมีสัตว์ใดตกลงไปยังฝั่งตนก็จะแบ่งปันอาหารให้กันเสมอ อยู่มาวันหนึ่งพญานาคทิศใต้เข้าใจผิดว่าตนได้ส่วนแบ่งน้อยกว่าจึงสู้รบกัน ทว่าพญานาคทิศใต้สู้ไม่ได้จึงหนีออกไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่นั้นมาสายน้ำก็ไหลไปตามทางที่พญานาคขุดควักหนีไป ด้านพญานาคทิศเหนือเองรู้สึกไม่ปลอดภัยในที่อยู่เดิมจึงหนีไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บังเกิดเป็นสายน้ำใหม่ ต่อมาป่าไม้ สรรพสัตว์มากมายก็เข้ามาอาศัยอยู่

ประเพณีบุญบั้งไฟที่จังหวัดยโสธร
ขอบคุณภาพจาก http://yasothon.mnre.go.th

เมื่อพิจารณาให้ดี การศึกษาตำนาน หรือนิทานปรัมปราเหล่านี้จึงไม่ได้ไร้แก่นสารไปเสียทีเดียว หากฉายภาพของการอพยพเคลื่อนถิ่นฐาน หรือการต่อสู้ระหว่างวัฒนธรรมในอดีตที่ถูกนำเสนอผ่านสัญลักษณ์คือ “นาค” และในทางกลับกันนาคแห่งลุ่มแม่น้ำโขงก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเทพราแห่งอียิปต์ หรือเทพซุสของกรีก ในฐานะสัญลักษณ์ที่ร้อยรัดผู้คนไว้ด้วยกัน

Bronisław Malinowski นักมานุษยวิทยาชาวโปแลนด์ วิเคราะห์สัญลักษณ์ในวัฒนธรรมต่างๆ ว่ามีขึ้นเพื่อช่วยให้มนุษย์สามารถทำงานร่วมกันในสังคมได้ สัญลักษณ์จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดธรรมเนียม ประเพณี ในขณะเดียวกันการวิเคราะห์ตำนานความเชื่อในวัฒนธรรมนั้นๆ ยังช่วยบอกได้ว่าสังคมกลุ่มดังกล่าวมีจุดกำเนิดอย่างไร มีกฎระเบียบ หรือแนวคิดเช่นใด เนื่องจากจินตนาการเหล่านี้ได้ผนวกโลกแห่งความคิดและโลกแห่งความจริงเข้าด้วยกันไปแล้ว ฉะนั้นเรื่องราวของงูที่คาบเกี่ยวกับเรามาช้านานแต่ครั้งบรรพบุรุษก็จะยังคงโลดแล่นไปอีกนาน ในความหมายที่หลากหลายต่างกันไปในแต่ละสังคม

แหล่งข้อมูล

SNAKES IN POPULAR CULTURE

งู ในความเชื่อ และความรู้สึกของคนโลกตะวันออก

มโหระทึก ไม่ใช่เครื่องดนตรี

นาคาคติ อีสานลุ่มน้ำโขง : ชีวิตทางวัฒนธรรมจากพิธีกรรมร่วมสมัย โดย พิเชฐ สายพันธ์

นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ตามรอยพญานาค โดย อุดม เชยกีวงศ์

ร่องรอยนาคา โดย อ. บูรพา ผดุงไทย


อ่านเพิ่มเติม อสรพิษผู้งามสง่า ชมภาพงูสวยๆ

Red bamboo snake (Oreocryptophis porphyraceus laticincta) คอลเลกชั่นส่วนตัว
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.