โดยปกติแล้ว ผู้หญิงซาอุดิอาระเบีย พวกเธอถูกบังคับให้แต่งงาน และถูกคาดหวังว่าจะอยู่ในโอวาท ปรนนิบัติรับใช้สามี และมอบลูกหลานสุขภาพแข็งแรงให้มากมาย ซึ่งสังคมซาอุฯ เอง ขึ้นชื่อว่าปฏิบัติต่อผู้หญิงราวกับพลเมืองชั้นสอง
ชื่อของ “ซาอุดิอาระเบีย” ปรากฏบนหาดหัวข่าวบ่อยครั้งจากกฎเกณฑ์ยืดยาวที่ครอบงำการใช้ชีวิตในทุกแง่มุม ตลอดจนสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากสายตาคนนอก นี่คือประเทศที่ผู้หญิงต้องแต่งกายปิดหน้าปิดตาด้วย “อะบายา” ชุดคลุมสีดำตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าที่ถูกล้อเลียนอย่างขบขันว่าทำให้สตรีประเทศนี้กลายเป็นอีกาไปเสียหมด ที่นี่มีร้านค้าให้บริการเฉพาะเพศชายหรือเพศหญิง และบุคคลต่างเพศไม่มีสิทธิเดินเข้าไปเลือกดูสินค้า ทว่าหากเป็นร้านค้าที่ให้บริการทั้งลูกค้าชายหญิง พื้นที่ในร้านก็จะถูกกั้นเป็นสัดส่วนชัดเจน ส่วนหนึ่งคือพื้นที่สำหรับ “คนโสด” ซึ่งคือผู้ชาย และอีกส่วนคือพื้นที่สำหรับ “ครอบครัว”
แล้วถ้าผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานอยากจะใช้บริการต้องทำอย่างไร? คำตอบคือพวกเธอจะนั่งในส่วนครอบครัวแทน เพราะที่ซาอุฯ หญิงสาวไม่สามารถไปไหนมาไหนคนเดียว หรือตัดสินใจอะไรโดยปราศจากการอนุญาตจาก “ผู้พิทักษ์ชาย” แม้แต่เรื่องง่ายๆ แค่การออกไปซื้อของ ที่นี่คือประเทศเดียวบนโลกที่กำหนดกฎหมายการคุ้มครองโดยผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิง วัยรุ่น หญิงโสด คุณแม่ลูกสาม หรือหญิงชรา พวกเธอล้วนมีผู้คุ้มครองเป็นคนในครอบครัวตั้งแต่ สามี พ่อ ลูกชาย ไปจนถึงสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ และหากพวกเธอถูกตำรวจศาสนาจับได้ว่าละเมิดกฎนี้ไปไหนมาไหนเพียงตัวคนเดียว หรือนั่งเคียงข้างกับชายอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว พวกเธอจะถูกจำคุก
ไปดูกีฬา, ทำงานในพื้นที่ของผู้หญิง, ออกกำลังกาย, สมัครเป็นทหาร ตลอดจนเข้าถึงการศึกษา สมัครงาน และเข้ารับการรักษาพยาบาล เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้หญิงซาอุดิอาระเบียสามารถทำได้ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้ว สิทธิของพวกเธอยังห่างไกลอยู่มาก
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบที่ง่ายที่สุดคือ เพราะที่นี่ซาอุดิอาระเบีย ข้อกำหนดหยุมหยิมที่ชวนอึดอัดในสายตาคนนอก และคนในเองนี้คาบเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี แรงกดดันและค่านิยมในสังคม การยึดมั่นเคร่งครัดในศาสนา ไปจนถึงวัฒนธรรมของชาวซาอุฯ ที่ให้ความสำคัญกับการวางตัวอย่างเหมาะสม และเกียรติยศของผู้หญิง คำว่าเกียรติยศในที่นี้หมายความถึงหญิงผู้นั้นทั้งที่ยังไม่แต่งงาน หรือแต่งงานแล้วจะต้องปฏิบัติตัวให้อยู่ในทำนองคลองธรรม ไม่สร้างความมัวหมอง หรือชื่อเสียงที่น่าอับอายมายังครอบครัว
แต่หากถามคนเฒ่าคนแก่ พวกเขาจะบอกว่าที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียเคร่งศาสนาก็จริง แต่ในอดีตการไม่คลุมหน้าเมื่อออกจากบ้านไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ อีกทั้งการนั่งหรือใกล้ชิดกับผู้ชายที่ไม่ใช่คู่สมรส หรือสมาชิกครอบครัวก็ไม่เป็นปัญหา ตราบใดที่ผู้หญิงคนนั้นๆ ไม่ได้ทำตัวให้เสียหาย ความเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มต้นในทศวรรษ 1980 เมื่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มอิสลามแบบอนุรักษ์นิยมขยายตัวไปทั่วตะวันออกกลาง ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียกลายมาเป็นรัฐอิสลามที่แสนเข้มงวด ตำรวจศาสนาเดินตรวจตราในทุกพื้นที่ โรงเรียนต้องปรับปรุงหลักสูตรการสอน ดนตรีตะวันตกถูกสั่งห้าม ฯลฯ
ชาวซาอุดิอาระเบียเชื่อว่า ความดีและความชั่วในสังคมสามารถจัดการได้ด้วยการแยกชายและหญิงออกจากกัน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เพศชายเปี่ยมด้วยตัณหา ส่วนสตรีนั้นเย้ายวน มุสลิมที่ดีจึงต้องระมัดระวังอันตรายจากความใกล้ชิดระหว่างสองเพศ
ทว่าปัจจุบันหลายๆ สิ่งในซาอุดิอาระเบียกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน ปี 2017 หญิงสาวทั่วซาอุดิอาระเบียโอบกอดกันรับข่าวดี เมื่อพวกเธอได้รับอนุญาตให้สามารถขับรถยนต์ได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้การจะเดินทางไปไหนมาไหน ผู้หญิงจำเป็นต้องพึ่งพิงผู้พิทักษ์ชายให้ขับรถไปส่งอยู่ตลอด ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ปี 2030 โดยเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พระโอรสพระองค์โตของกษัตริย์ซัลมาน ผู้ปกครองซาอุดิอาระเบียคนปัจจุบัน เป้าหมายของวิสัยทัศน์ 2030 มีขึ้นเพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจด้านอื่นๆ ให้มีความหลากหลายและสมดุลมากขึ้น หลังที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียพึ่งพาการส่งออกน้ำมันมาตลอด และขณะนี้ตระหนักแล้วว่าน้ำมันกำลังจะหมดไป
ชาวมุสลิมใช้คำว่า “เอาเราะห์” หมายถึงส่วนพึงสงวนของร่างกายที่ต้องถูกปิดบังเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ แต่ละสังคมมีเอาเราะห์ของตนเอง ที่ซาอุฯ เอาเราะห์ครอบคลุมตั้งแต่เรือนผมถึงน่อง แขน และบางครั้งยังรวมถึงใบหน้าด้วย
ในความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกเหนือจากจะอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้แล้ว ยังลดความเข้มข้นของการใช้กฎหมายบังคับศาสนาลงด้วย หนึ่งในนั้นคือการแต่งกาย ทุกวันนี้หญิงชาวซาอุฯ ไม่จำเป็นต้องสวมอะบายาสีดำเพียงอย่างเดียว และตำรวจศาสนาก็ไม่ได้ออกมาเดินตรวจตราคุมเข้มตามท้องถนนแล้ว
อันที่จริงความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดหลายปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปในปี 2001 ผู้หญิงชาวซาอุดิอาระเบียมีบัตรประชาชนเป็นครั้งแรก ปี 2005 รัฐออกกฎหมายการบังคับแต่งงานถือว่าผิด แต่ปัจจุบันยังคงพบเห็นได้ในสังคม และในปี 2012 คือปีแรกที่ซาอุดิอาระเบียส่งนักกีฬาหญิงลงเข้าแข่งขันวิ่ง 800 เมตร ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยที่นักกีฬาหญิงคนนั้นยังคงสวมผ้าคลุม ปี 2013 รัฐอนุญาตให้ผู้หญิงขี่รถจักรยานยนต์ได้ แต่ไม่ใช่ในที่สาธารณะ ปี 2015 พวกเธอมีสิทธิเลือกตั้ง และสามารถลงสมัครเป็นผู้แทนทางการเมืองได้ครั้งแรก ข้ามมาในปี 2018 ในที่สุดพวกเธอก็มีที่นั่งในสนามกีฬา และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2019 หรือไม่กี่วันที่ผ่านมา กฎหมายใหม่บังคับใช้ให้สามีที่ต้องการหย่าภรรยาต้องแจ้งข่าวให้พวกเธอทราบ เพื่อปกป้องสิทธิในการสมรสแก่ผู้หญิง
Cynthia Gorney นักเขียนสารคดีเกี่ยวกับซาอุดิอาระเบียในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกเปิดเผยว่า สิ่งที่ทำให้ชายซาอุฯ ทราบว่าสตรีคลุมผ้าสีดำคนไหนคือภรรยาของตนคือรองเท้ากับกระเป๋าถือ
แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า ซาอุดิอาระเบียจะไปไม่ได้ไกลกว่านี้หากยังคงไม่เปลี่ยนแปลง “กฎหมายการคุ้มครองโดยผู้ชาย” ที่ครอบงำผู้หญิงทุกชนชั้นตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกวันนี้ในมหาวิทยาลัยมีสัดส่วนของนักศึกษาหญิงมากกว่านักศึกษาชายก็จริง แต่อัตราว่างงานในผู้หญิงสูงมาก แม้จะผ่านการสัมภาษณ์ แต่หากครอบครัวไม่อนุญาตให้ออกไปทำงานนอกบ้าน พวกเธอก็ไม่มีสิทธิ ในขณะเดียวกันฝั่งนายจ้าง การมีพนักงานหญิงภายในองค์กรคือความยุ่งยาก เพราะที่ทำงานต้องถูกแบ่งแยกสัดส่วนชัดเจน อีกทั้งข้อกำหนดที่ห้ามชายหญิงที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวอยู่ใกล้ชิดกัน กลับกลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน
อาจฟังดูแปลก แต่ที่ซาอุฯ ถ้าหญิงผู้นั้นไม่มีญาติผู้ชายแล้วจริงๆ ลูกชายของเธอกลายเป็นผู้พิทักษ์แทน ภาพที่เห็นจึงเป็นคุณแม่วัยสี่สิบขออนุญาตลูกชายวัยรุ่นเมื่อจะออกไปข้างนอก และแน่นอนเธอไปคนเดียวไม่ได้
แล้วทำไมพวกเธอไม่ออกนอกประเทศไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า? ที่ซาอุดิอาระเบียแม้แต่การที่ผู้หญิงจะถือพาสปอร์ตออกไปเที่ยวต่างประเทศก็ยังคงต้องขออนุญาต กฎเกณฑ์เหล่านี้พาลกีดกันบรรดาหญิงชาวซาอุฯ ที่มีความรู้ความสามารถในการออกไปศึกษาต่อยังต่างประเทศด้วย เมื่อชีวิตที่มีอยู่ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เอง อันที่จริงทุกวันนี้กฎหมายดังกล่าวถูกผ่อนปรนให้หญิงสาวสามารถสมัครเข้าทำงาน เข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือเข้ารับบริการแพทย์ได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้พิทักษ์ชายแล้ว ทว่ากฎหมายก็ยังคงเป็นรองขนบธรรมเนียมประเพณีอยู่ร่ำไป ข้อกำหนดนี้ตอกย้ำให้ผู้ชายยิ่งมีอำนาจในการปกครอง และในทางเลวร้ายที่สุด ไม่ใช่แค่ควบคุม และบงการชีวิตของหญิงสาวในบ้าน แต่อาจลงเอยด้วยการทำร้ายร่างกาย
กรณีของนางสาวราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน สาวชาวซาอุดิอาระเบียที่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยกักตัว Phil Robertson ผู้อำนวยการหน่วยงาน Human Rights Watch ภูมิภาคเอเชียออกมาแสดงความกังวลว่าหากแอล-เคนูน ถูกส่งตัวกลับไปยังครอบครัวของเธอ เป็นไปได้ว่าไม่ใช่แค่การถูกทำร้ายร่างกาย แต่อาจเกิด “การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติยศ” ขึ้นได้ นี่คือวิธีการยุติปัญหาในหลายวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ไม่ใช่แค่ซาอุดิอาระเบีย หากรวมถึงปากีสถาน อินเดีย และในประเทศอื่นๆ ผู้ตายมักเป็นหญิงสาวที่ไม่ได้ปฏิบัติตามจารีตประเพณี เช่น ปฏิเสธการแต่งงาน หรือมีความรักโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยผู้สังหารก็คือสมาชิกครอบครัวของหญิงสาวคนนั้นๆ เอง เพื่อรักษาเกียรติของครอบครัวไว้ หลังเชื่อว่าพวกเธอได้สร้างความเสื่อมเสียที่ไม่อาจอภัยได้มาให้ สอดคล้องกับรายงานความรุนแรงในครอบครัวจากตัวของแอล-เคนูเองที่ระบุว่า เธอเคยถูกครอบครัวขังไว้ในบ้านนานถึง 6 เดือน และถูกกล้อนผมจนสั้น ส่งผลให้เธอหวาดกลัวว่าหากกลับบ้านในครั้งนี้ เธอออาจถูกครอบครัวสังหารได้
คำว่า “ดะยูษ” หมายถึงผู้ชายที่ไม่เด็ดขาดพอจะควบคุมภรรยาหรือญาติผู้หญิงที่ตนมีหน้าที่ต้องปกป้องเกียรติยศไว้ คำนี้คือการประจาน และถือว่ารุนแรงมาก หากเรียกชายผู้นั้นว่าคนขี้ขลาดเขายังโกรธน้อยกว่าเรียกว่าดะยูษ
ย้อนกลับไปในปี 2016 เกิดคดีสังหารเพื่อรักษาเกียรติยศที่โด่งดังไปทั่วโลกในปากีสถาน ผู้ตายคือ กานดีล บาลอช หญิงสาวคนรุ่นใหม่ที่ได้รับคำชื่นชมว่ากล้าที่จะแสดงออกและวิจารณ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยม เธอถูกพี่ชายของเธอรัดคอจนตาย ฆาตกรระบุทำไปเพราะไม่ชอบที่เธอทำให้ครอบครัวเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุจูงใจให้เกิดการฆาตกรรมมีผลมาจากการที่เธอโพสต์รูปเซลฟี่กับนักเทศน์ชื่อดัง มุสติ กาวี พร้อมข้อความว่า “ดื่มน้ำอัดลมและสูบบุหรี่ด้วยกันในช่วงรอมฎอน” และในปีเดียวกันหญิงชาวปากีสถานวัย 22 ปีที่กำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สองก็ถูกฆ่าปาดคอโดยครอบครัวของเธอเอง หลังแต่งงานกับชายที่ทางบ้านไม่เห็นด้วย รายงานจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนปากีสถาน เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา มีหญิงสาวถูกสังหารเพื่อรักษาเกียรติยศมากถึง 1,100 คน
(“A Girl in the River: The Price of Forgiveness” คือภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราว “การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติยศ” ในปากีสถาน ผู้กำกับติดตามชีวิตของเด็กสาววัย 18 ปีรายหนึ่ง ซึ่งถูกยิงโดยญาติๆ ก่อนพวกเขาจะนำร่างเธอโยนลงสู่แม่น้ำ แต่เด็กสาวกลับรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์ แล้วนำเรื่องที่เกิดกับตัวเองมาถ่ายทอดเป็นภาพยนต์ให้โลกได้รับรู้)
อนาคตของซาอุดิอาระเบียจะขับเคลื่อนไปอย่างไร? หากนโยบายของรัฐยังคงพ่ายแพ้ขนบธรรมเนียม และกฎหมายอิสลาม ย้อนกลับไปในปี 2000 ซาอุฯ ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ข้ามเวลามาปัจจุบันกฎหมายการคุ้มครองโดยผู้ชายยังคงศักดิ์สิทธิ์ไม่เปลี่ยนแปลง ความหวังของรัฐบาลและวิสัยทัศน์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานที่วาดฝันให้ผู้หญิงซาอุฯ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดแรงงาน ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคต่างๆ คงเกิดขึ้นได้ยาก หากสิทธิพื้นฐานในชีวิตของพวกเธอเองยังคงถูกกำหนดโดยผู้ชาย มิรวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องเสียไป เมื่อเวลาส่วนหนึ่งของชีวิตผู้ชายซาอุฯ ต้องหมดไปในฐานะ “ผู้พิทักษ์” และที่น่าเศร้าคือหลายคนไม่มองว่านี่เป็นปัญหาเสียด้วยซ้ำ
เทียบสัดส่วนการเข้าถึงโอกาสในการทำงาน ผู้ชายชาวซาอุดิอาระเบียที่อายุมากกว่า 15 ปี ราว 60% มีงานทำ ส่วนในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 15 ปี ราว 54% ล้วนเป็นแม่บ้าน มีสัดส่วนที่ได้ทำงานเพียง 12% เท่านั้น ข้อมูลจากการสำรวจปี 2015
(ชีวิตของผู้หญิงซาอุฯ ภายใต้เงาของผู้พิทักษ์ชายเป็นอย่างไร ชมได้จากอนิเมชั่นของ Human Rights Watch)
อ่านเพิ่มเติม
แหล่งข้อมูล
สารคดี “โฉมหน้าที่แปรเปลี่ยนของสตรีซาอุดิอาระเบีย” เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาษาไทย ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2016
The real reason Saudi Arabia lifted its ban on women driving: economic necessity
Saudi Arabia: Why weren’t women allowed to drive?
Saudi Arabian women can now drive — here are the biggest changes they’ve seen in just over a year
Six things women in Saudi Arabia still can’t do
Women and Saudi Arabia’s Male Guardianship System