วัฒนธรรมเบื้องหลังถุงขอบคุณที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในไชน่าทาวน์

ด้วยความสามารถของเหล่านักออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังการใช้ ถุงพลาสติก ในชุมชนชาวจีนจะไม่สูญไป

ตอนที่ฉันยังเด็กและอาศัยอยู่ในมหานครนิวยอร์ก บ้านญาติคนจีนของฉันเกือบทุกหลังจะมีตู้หรือลิ้นชักพิเศษที่เอาไว้เก็บสินค้าล้ำค่าอย่าง “ถุงพลาสติก” เพราะถุงเหล่านี้มีสีแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภในวัฒนธรรมจีน ทั้งยังเป็นการแสดงถึงความรู้สึกซาบซึ้งที่เหล่าคนค้าขายมีต่อลูกค้า โดยส่วนใหญ่พวกเราจะได้รับถุงระหว่างการซื้อของชำหรือของใช้จำเป็นอื่นๆ ตามย่านคนจีนในเขตต่างๆ เช่น แมนฮัตตัน ฟลัชชิง หรือ ควีนส์ นอกจากนี้ ถุงพลาสติกยังเป็นดั่งสิ่งเรียกโชคลาภซึ่งสามารถพกพาได้ ดังนั้นการสะสมถุงฟรีใช้แล้วทิ้งเหล่านี้จึงมีความสำคัญทางวิถีปฏิบัติสำหรับฉันในเรื่อง ความมัธยัสถ์ของครอบครัวคนจีนอเมริกัน และหลักว่าด้วยเรื่องอย่าใช้แล้วทิ้งของผู้อพยพ

เคทลีน เฉา และ วิกกี้ เฮ้อ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Banana คิดค้นกระเป๋า BAESIAN สีเหลืองออกมา เมื่อเร็วๆ นี้ (bae คือคำแสลงแปลว่า ที่รัก รวมเข้ากับคำว่า Asian) เพื่อให้แฟนๆ นิตยสารเห็นถึงความภูมิใจในความเป็นเอเชีย
ภาพถ่ายโดย แอนเดรีย หลัว, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ณ ปัจจุบัน ฉันย้ายมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย รัฐแรกในอเมริกาที่มีกฏห้ามใช้ถุงพลาสติก ซึ่งสองสามปีหลังการบังคับใช้กฎหมาย ฉันก็ยังพบเห็นการใช้ถุงขอบคุณอยู่เรื่อยๆ ในพื้นที่รัฐ แต่กลับเป็นถุงที่มีน้ำหนักกว่าและสารพัดประโยชน์กว่ามาก

แน่นอนว่ายังมีธุรกิจหลายแห่งทั่วโลกที่ใช้วิธีการเดียวกันนี้ ทว่า สำหรับชุมชนบางชุมชนแล้ว ถุงเหล่านี้อาจมีความหมายอันน่าจดจำ เพราะกว่าสิบปีแล้วที่ลวดลายบนถุงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวจีน ถุงขอบคุณเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความประหยัดและการนำกลับมาใช้ใหม่ ขณะที่ถุงพลาสติกกำลังถูกยกเลิกให้ใช้เนื่องจากปัญหาด้านสภาพแวดล้อม นักออกแบบหลายคนกำลังคิดค้นรูปแบบของถุงที่ยังสามารถแสดงออกถึงความสำคัญทางวัฒนธรรม ความประหยัด การแสดงความเป็นมิตร และความต้องการในการเข้ากับผู้อื่น ซึ่งถุงเหล่านี้ยังยึดถือรูปแบบอันสดใสเดิม อย่าง สีแดง สีชมพู รูปหน้ายิ้ม และตัวอักษรจีน ตามองค์ประกอบเดิมของถุง

 

 “คนรุ่นใหม่” เข้ารับช่วงต่อ

เมื่อคำนึงถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ ดีไซเนอร์แบรนดอน ลี่ จึงสร้างสรรค์ให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ ของถุง “เราออกแบบให้ถุงมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเอื้อต่อการใส่ของหลากหลายชนิดและขนาดตั้งแต่ ผ้าที่จะนำไปซัก ไปจนถึงสัมภาระต่างๆ ซึ่งดูจะเข้ากับวิถีแบบเอเชียที่ต้องใช้ทุกอย่างให้คุ้มค่าแม้กระทั่ง ถุงพลาสติกเองก็ตาม” เขาอธิบาย

กว่าสิบปีแล้ว ที่ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแรกที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกได้สำเร็จ ศิลปินนาม ลอเรน ดิโชชชิโอ เริ่มสะสมถุงที่เธอเจอรอบเมืองและนำการปักเย็บมาประยุกต์ใช้กับลวดลายบนถุง
ภาพถ่ายโดย แอนเดรีย หลัว, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

สินค้าแบรนด์ Black Bean Grocery ที่ออกแบบบนแนวทางการดำรงชีวิตแบบแคลิฟอร์เนียเสนอสินค้ากระเป๋านำกลับมาใช้ใหม่สีชมพูทรงสี่เหลี่ยม ลายการ์ตูน “Happy bean” และคำอวยพร ที่รวมอักษรจีนคำว่า“ความสุข” และ “โชคดี” เข้าด้วยกัน “คุณจะได้ถือโชคลาภไปไหนมาไหนด้วยได้” ลี่ กล่าว และมันถึงเวลาที่รุ่นของเขาจะเข้ามารับช่วงต่อความสัมพันธ์ที่ชุมชนชาวจีนอเมริกันมีต่อถุง

เคทลีน เฉา และ วิกกี้ เฮ้อ ร่วมกันก่อตั้งนิตยสาร Banana ในย่านไชน่าทาวน์ มหานครนิวยอร์ก เมื่อห้าปีที่แล้วขณะที่ทำงานด้วยกันอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น พวกเขาออกแบบถุงลาย BAESIAN สีเหลืองออกมา (bae แสลงที่แปลว่า ที่รัก รวมเข้ากับคำว่า Asian) สื่อให้เห็นถึงการหล่อหลอมตัวตนสองตัวตนระหว่างตะวันออกและตะวันตกในอเมริกา เพื่อให้แฟนๆ นิตยสารเห็นถึงความภูมิใจในความเป็นเอเชีย

“แม้แบบของถุงจะสื่อความเป็นจีนหรือเอเชียออกมาอย่างชัดเจนในสายตาคนเอเชียด้วยกัน แต่เราออกแบบเพื่อให้มันร่วมสมัยและเข้ากับนักอ่านยุคมิลเลนเนียลส์ที่ซื้อนิตยสารของเรามากขึ้น” เฉา กล่าว “ตัวอักษรที่นำมาใช้ใหม่ก็ทำให้ฉันคิดถึงตอนเด็กๆ ที่ไปซื้ออาหารจีนในไชน่าทาวน์ ซึ่งฉันชอบมากเพราะสามารถสื่อถึอวัฒนธรรมของเราได้”

ดิโชชชิโอ หวังว่าถุงที่เธอออกแบบจะยังคงสื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมการใช้ให้คุ้มค่าของผู้อพยพ
ภาพถ่ายโดย แอนเดรีย หลัว, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

 

ถุงในฐานะเรื่องราวทางวัฒนธรรม

แม้สำหรับตัวฉันเอง ถุงเหล่านี้ไม่ใช่แค่สิ่งที่น่าคิดถึงและเป็นแค่ชิ้นส่วนของความทรงจำในวัยเด็ก แต่ยังสามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่สวยงามและสื่อถึงตัวตนของเราได้

ซึ่งในชุดภาพชื่อ “China Town Pretty” ของ แอนเดรีย หลัว ได้แสดงให้เห็นถึงความนิยมของการใช้ถุงในไชน่าทาวน์ อย่างการใช้ถุงแดงคู่กับกระเป๋าเงินสะพายข้างสีชมพู และภาพชายสวมชุดกีฬาถือถุงแดง ส่วนบริษัทอื่นที่ไม่ใช่เอเชียก็มีการเอาไปใช้ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกดีใจกึ่งเสียใจ เพราะถึงแม้จะเป็นที่นิยมแต่สารที่สื่อออกมาจากถุงนั้นผิดเพี้ยนไป

ถุงพลาสติกเหล่านี้เป็นดั่งความหลังอันน่าคิดถึงในชุมชนเอเชียอเมริกัน ทั้งตัวการออกแบบและในฐานะสัญลักษณ์ของการใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่า และเพื่อจะคงไว้ซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรมของผู้อพยพ เหล่านักออกแบบมากมาย ตัวอย่างเช่น Baggu จึงมุ่งคิดค้นถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ภาพถ่ายโดย แอนเดรีย หลัว, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ในช่วงแรก ฉันต่อต้านความคิดที่ว่าถุงพลาสติกราคาถูกเหล่านี้เป็นเครื่องประดับแบบเอเชียที่ต้องมีใช้ตามกระแสนิยมเนื่องจากมันเป็นสิ่งหายากในช่วงทศวรรษที่ 1970 และมีการเอาไปปรับใช้กับสินค้าหลายประเภทตั้งแต่เสื้อยืดไปจนถึงลูกบาส ซึ่งขัดจากความตั้งใจเดิมในการออกแบบถุงออกมาใช้ในการส่งอาหารเพราะต้องการดึงดูดคนผิวขาวและตอบโต้การเหยียดเชื้อชาติในอเมริกา ด้วยการหยิบยืมตัวการ์ตูนหน้ายิ้มของเขามาใช้กับสีตามประเพณีและข้อความในวัฒนธรรมจีน

ในบทความเล่าเรื่องผ่านภาพชื่อ “ถุงแดงแห่งไชนาทาวน์” ของ New York Times เองก็แสดงให้เห็นถึงการใช้สีเป็นสื่อซึ่งช่างภาพ เจมส์ โพรชนิค กล่าวถึงถุงเหล่านี้ไว้ว่าเป็น “โคมไฟจีนที่เต็มไปด้วยแสงแห่งความหวังและความอุดมสมบูรณ์”ในขณะที่ชุมชนอื่นๆ มีถุงหลากหลายสีแต่ไม่ได้สื่อถึงสิ่งใดเลย ซึ่งต่างกับถุงของไชนาทาวน์ เพราะถุงแดงคือสิ่งที่สืบทอดต่อกันมาและแสดงตัวตนของคนในไชน่าทาวน์ท่ามกลางพื้นฐานสังคมที่แตกต่างในอเมริกา แม้เขาเองจะเห็นมันเป็นสิ่งทำลายสิ่งแวดล้อมก็ตาม แต่เขาก็ยอมรับว่าเราสามารถค้นพบความสวยงามในสิ่งของธรรมดาๆ เหล่านี้ในฐานะสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ถุงขอบคุณสีชมพูลายดอกไม้เป็นที่นิยมอย่างมากที่ไชน่าทาวน์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของแบรนด์ Baggu ภาพถ่ายโดย แอนเดรีย หลัว, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ในปี 2015 สมาชิกสภาเมืองนิวยอร์ก มาร์การเร็ต ชิน ผู้รับผิดชอบเขตการปกครองที่ 1 แมนแฮดตันตอนล่างซึ่งเป็นที่ตั้งของไชน่าทาวน์ สนับสนุนให้เพิ่มภาษีถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้งลงไปในใบเสร็จ “มีประชาชนจากหลายๆ วัฒนธรรมเลยที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้” เธอกล่าว แต่ด้วยจำนวนผู้เห็นด้วยที่มีไม่พอจะทำให้เกิดกฎหมายการออกภาษีได้ ทางรัฐจึงออกกฎหมายให้ผู้ค้าขายมานำเอาถุงกลับไปรีไซเคิลใหม่ เพราะจำนวนการใช้ถุงที่มีมากถึง 10 พันล้านถุงต่อปี ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณรัฐในการกำจัดขยะพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้งกว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพื่อที่จะลดผลกระทบทางสภาพแวดล้อมแต่ยังให้การเคารพต่อความสำคัญทางวัฒนธรรมของถุงขอบคุณ เหล่านักออกแบบจึงเริ่มคิดค้นตัวเลือกที่รักษาสิ่งแวดล้อมกว่านี้

กว่าสิบปีแล้ว ที่ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแรกที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกได้สำเร็จ ศิลปินนาม ลอเรน ดิโชชชิโอ เริ่มสะสมถุงที่เธอเจอรอบเมืองและนำการปักเย็บมาประยุกต์ใช้กับลวดลายบนถุง เช่น การนำแบบของถุงแดงก็นำมาเย็บบนผ้าไหมแก้วสีชมพู ซึ่งเธอต้องการออกแบบให้เห็นถึงคุณสมบัติที่ทำลายสิ่งแวดล้อมของมันและความนิยมที่มันมีในสังคมวงกว้าง ซึ่งต่อมา ดิโชชชิโอ ได้ผลิตออกมาให้ซื้อกันตามร้านและออนไลน์ทั่วประเทศ

ถุงขอบคุณนำกลับมาใช้ใหม่ได้ที่ออกแบบโดยดิโชชชิโอ ผลิตในซานฟรานซิสโก
ภาพถ่ายโดย แอนเดรีย หลัว, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

นอกจากประโยชน์ของถุงและความชอบใจที่ลูกค้าแสดงออกมา ดิโชชชิโอ ยังหวังอีกว่าถุงของเธอจะยังคงสื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมการใช้ให้คุ้มค่าของผู้อพยพ

ในปี 2007 เอมิลี่ ซูกิฮาระ ผู้ก่อตั้ง Baggu ตัดสินใจทำถุงที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยมีแรงบันดาลใจจากถุงพลาสติกแบบเดิมๆ โดยเปลี่ยนเป็นทรงสี่เหลี่ยมที่ราคาไม่แพงและทน ด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถหาซื้อได้ในตลาดสมัยนั้นและคุณแม่ของเธอเองก็เป็นคนที่รักสิ่งแวดล้อมมากเสียด้วย

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บริษัทได้ขายถุงที่ออกแบบให้นำไปใช้ใหม่ได้เป็นจำนวนหลายล้านชิ้น ซูกิฮาระบอกว่าถ้าใช้ถุง Baggu แทนถุงพลาสติกเป็นเวลาแค่หนึ่งปีก็สามารถทดแทนถุงได้ไป 300 ถึง 700 ถุง ซึ่งจะออกแบบต่างไปตามที่ตั้งของร้าน และยังเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในอันดับสินค้าขายดีของบริษัทมาโดยตลอด

เมื่อไหร่ก็ตามที่ ดิโชชชิโอ แนะนำสินค้าของเธอ เธอมักได้รับอาการงุนงงกลับมาจากลูกค้าก่อนที่เสียงหัวเราะและการพยักหน้าจะตามมา
ภาพถ่ายโดย แอนเดรีย หลัว, เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ทุกวันนี้ อัตราการผลิตถุงพลาสติกทั่วโลกอยู่ที่ 1 ล้านล้านถุงต่อปี และเป็นที่รู้กันถึงผลกระทบร้ายแรงที่มันมีต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลให้เกิดการห้ามใช้ถุงพลาสติกและการถกเถียงกันในหลายๆ พื้นที่ เพราะถุงพลาสติกเป็นมากกว่าแค่สิ่งไว้ใส่ของ แต่เป็นอีกหนึ่งร่อยรอยทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชุมชนหนึ่ง การผลิตถุงที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการกำจัดปริมาณพลาสติกและรักษาไว้ซึ่งเรื่องราวทางวัฒนธรรม

 


อ่านเพิ่มเติม

โลกของ Aquaman กำลังจมขยะพลาสติก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.