ท่วงทำนองของงาน คาร์นิวัล ที่แจ็กเมลเรียบง่ายกว่าการเฉลิมฉลองในถิ่นอื่น ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ดนตรีและการเต้น เมแร็ง อย่างที่เรียกขานกันในชาติที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสแห่งนี้ ตั้งแต่บรรดาเด็กชายที่ทาเนื้อตัวด้วยเขม่าสีดำ ไปจนถึงเสียงของ รารา หรือจังหวะแบบวูดูที่ถือเป็นแกนหลักของการเฉลิมฉลอง คาร์นิวัล ในเฮติ ไปจนถึงบรรดานักดนตรีที่ตีกลองหรือเป่าทรัมเป็ตทำจากโลหะรีไซเคิลและแตรไม้ไผ่ ซึ่งทุกจังหวะเล่าเรื่องราวของตัวเองพอ ๆ กับที่พาให้เรานึกอยากเต้นระบำ
เรื่อง แจกเกอลีน ชาร์ลส์
ภาพถ่าย ชาร์ลส์ เฟรเช
สำหรับบางคน ฤดูกาลคาร์นิวัลโดยเฉพาะงานมาร์ดิกราส์ในนิวออร์ลีนส์ หมายถึงการเผยเนื้อหนังมังสาจนเกินพอดี งานปาร์ตี้สนุกสุดเหวี่ยงมีทั้งการดื่มกินและคาวโลกีย์ แต่ในหลายพื้นที่แถบแคริบเบียน คาร์นิวัลหรือที่รู้จักกันในชื่อ “คาร์นาวัล” ในบราซิล เป็นมากกว่าความสำราญเละเทะดึงดูดนักท่องเที่ยวทว่าเป็นพื้นที่แห่งศิลปะ กระบอกเสียงสาธารณะ การแสดงออกอย่างไม่ขวยเขินของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความเป็นตัวของตัวเอง โดยลูกหลานชาวแอฟริกันผู้ถูกจับเป็นทาส เมื่อถูกห้ามจากการบูชาเทพเจ้าของตนเองหรือห้ามเข้าร่วมงานเต้นรำสวมหน้ากากของเจ้านายชาวฝรั่งเศสและอังกฤษที่จัดก่อนเทศกาลมหาพรตในศตวรรษที่สิบแปด ทาสทั้งหลายก็หลอมรวมประเพณีของแอฟริกันกับวิถีชาวบ้านเข้ากับพิธีกรรมของเจ้าอาณานิคมเพื่อสร้างเทศกาลฉลองของตน
ทุกวันนี้ งานเฉลิมฉลองอย่างวันสมโภชพระวรกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า วันกษัตริย์สามองค์ และวันแห่งผู้วายชนม์ มีรูปแบบแตกต่างกันในหมู่ชาวแอฟริกันพลัดถิ่น และอาจจัดในช่วงเวลาแตกต่างกันในรอบปี ทว่าเทศกาลเหล่านั้นล้วนมีองค์ประกอบร่วมอย่างเดียวกัน นั่นคือตัวละครที่แต่งตัวดิบเถื่อนเฉิดฉันผสมผสานกับคริสต์ศาสนา ความเชื่อแบบชาวบ้านและมุมมองอย่างชนพื้นเมืองในพิธีกรรมของขบถผู้เปี่ยมพลังชีวิต เบื้องหลังหน้ากากที่ถูกประดิดประดอยเพื่อพรางอัตลักษณ์ ผู้ร่วมฉลองได้บอกเล่าเรื่องราว ปลดปล่อยความคับแค้นใจ และในที่อย่างเฮติ ความปั่นป่วนจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมก็ขับเน้นกับฉากหลังของพิธีแห่แหน
“นี่คือขบถหรือการขัดขืนทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง” เฮนรี นาวาร์โร เดลกาโด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยไรเยอร์สัน ผู้สำรวจบทบาทของแฟชั่นในงานคาร์นิวัล กล่าวและเสริมว่า “นี่เป็นโอกาสสำหรับพวกเขาที่จะอวดอัตลักษณ์ของตนเองอยากที่นึกอยากทำ”
ตัวละครที่เป็นศูนย์กลางของงานคาร์นิวัลหลายๆ งานคือ ไดอะโบล ปีศาจจอมเจ้าเล่ห์ ในสาธารณรัฐโดมินิกัน ปีศาจตนนี้อาจเป็นนักมายากลที่เดินกะโผลกกะเผลกพร้อมกับแส้ ในตรินิแดด อาจเป็นปีศาจสีฟ้าที่ถูกล้อเลียนและถูกต่อยตีในฐานะสัญลักษณ์ของความทารุณของการค้าทาส และที่ปานามามักมาในคราบนายทาสผู้ใช้แส้หวดสู้กับทาสชาวแอฟริกันที่หลบหนี แน่นอนว่าปีศาจตนนี้ย่อมเป็นตัวร้ายตามบริบทของนิกายโรมันคาทอลิกหรือยุโรป แต่ระหว่างงานคาร์นิวัล มันเป็นวิญญาณดื้อรั้นที่ช่วยสร้างสมดุลให้โลกและเขย่าสิ่งต่างๆ ให้เข้าที่
ไม่มีงานคาร์นิวัลใดจะสมบูรณ์ได้ หากปราศจากการเต้นรำหน้ากากที่ยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างทาสกับเจ้าอาณานิคม หรือในบางกรณีก็ล้อเลียนผู้กดขี่เหล่านั้น
การเต้นระบำจำนวนมากต้องอาศัยการฝึกฝน เอมี โกรโล ภัณฑารักษ์แผนกลาตินอเมริกาและแคริบเบียน
แห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านนานาชาติที่แซนตาเฟ นิวเม็กซิโก กล่าว “สำหรับพวกเขาตัวละครต่าง ๆ ล้วนมีธาตุอันศักดิ์สิทธิ์” ไม่ว่าจะเป็นตัวสัตว์จากโคลอมเบียหรือการเต้นกาพัค นีโกรที่แสดงถึงทาสชาวเปรูเชื้อสายแอฟริกัน งานคาร์นิวัลเป็นมากกว่าการเฉลิมฉลองที่อลหม่าน หากเป็นสัญลักษณ์ของประวัติศาสตร์และมรดกที่รวมเราเป็นหนึ่งในฐานะคนผิวสีไม่ว่าเราจะพูดภาษาไหนหรือมาจากถิ่นใด
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: สายธารแห่งศรัทธาชนในพิธีกุมภ์เมลา