ชมนวัตกรรมอุโมงค์ส่งน้ำโบราณในอิหร่าน ที่ยังคงถูกใช้งานในปัจจุบัน

เรื่อง เรเชล บราวน์

มองจากด้านบนพื้นผิวทะเลทรายอันแห้งแล้งล้วนไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่หารู้ไม่ว่าลึกลงไปใต้ผืนดินอีก 100 ฟุต มี อุโมงค์ส่งน้ำโบราณ ที่นำพาความชุ่มชื้น และหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านในอิหร่านไว้

ระบบชลประทานใต้ดินนี้มีชื่อเรียกว่า “คานัต” (Qanats) นับเป็นความสำเร็จทางวิศวกรรมที่น่าอัศจรรย์ในยุคโบราณ ซึ่งถึงจะมีอายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี แต่คานัตยังคงถูกใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน

อุโมงค์น้ำเหล่านี้จะทอดยาวจากแหล่งต้นน้ำในหุบเขา หรือแม้แต่ทะเลสาบในถ้ำลึก ด้วยพื้นผิวที่ลาดเอียงในองศาที่พอเหมาะ เพื่อให้น้ำสามารถไหลลงไปยังสถานที่ที่ต้องการในปลายอุโมงค์ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังไม่ให้องศาของความลาดเอียงนั้นมากเกินไป มิฉะนั้นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงอาจไหลบ่าแรงเกินไปจนทำลายอุโมงค์ได้

ตลอดเส้นทางของอุโมงค์ บนพื้นดินจะมีหลุมตั้งอยู่เป็นระยะๆ หลุมเหล่านี้ช่วยให้อากาศภายในถ่ายเทแก่บรรดาคนงานที่ทำหน้าที่ขุดอุโมงค์ด้วยมือในอดีต นอกจากนั้นในตอนที่อุโมงค์ถูกขุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลุมเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นบ่อน้ำให้แก่ชาวบ้านอีกด้วย

กระบวนการสร้างอุโมงค์คานัตนี้เป็นงานที่หนักหนาเอาการ อย่างไรก็ตามผลตอบแทนที่ได้รับนั้นคุ้มค่า เทคโนโลยีโบราณนี้ช่วยหล่อเลี้ยงต้นไม้ในทะเลทรายที่แห้งผากให้เบ่งบานมาแล้ว รวมทั้งยังเป็นที่นิยมอย่างมากในภูมิภาคตั้งแต่เส้นทางสายไหม ยาวไปจนถึงหลายประเทศในตะวันออกกลาง หรือแม้กระทั่งในสเปน และโมร็อกโกก็มีการค้นพบคานัตเช่นเดียวกัน

Gholamreza Nabipour ชายชาวอิหร่านวัย 102 ปี เป็นหนึ่งในคนขุดอุโมงค์ไม่กี่คนที่ยังคงมีชีวิตอยู่ หรือที่เรียกกันว่า “มิรับ” (Mirab) ตัวเขาพยายามถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ไปยังชาวอิหร่านรุ่นใหม่ ซึ่งในจำนวนนั้นก็รวมถึงลูกชายของเขาเองด้วย ผู้ใช้คานัตในการลำเลียงน้ำมายังฟาร์มถั่วพิสตาชิโอของเขา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกสมัยใหม่

ในช่วงค.ศ. 1960 – 1970 การจัดสรรปันส่วนที่ดินส่งผลให้คานัตหลายแห่งถูกทิ้งร้าง และไม่ได้รับการดูแล ประกอบกับวิถีชีวิตของเกษตกรยุคใหม่ คานัตจึงไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นอีกต่อไป

ในปี 2016 ที่ผ่านมา ทางยูเนสโกได้ประกาศให้คานัต ภูมิปัญญาของชาวเปอร์เซียโบราณนี้มีความสำคัญในฐานะมรดกโลก “คานัตเหล่านี้เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตตัวผม และบรรพบรุษของผม” Nabipour กล่าว “มันเป็นหน้าที่ของผมที่จะอนุรักษ์มันไว้ตราบสิ้นลมหายใจ”

อ่านเพิ่มเติม : ชีวิตหลังไอซิสสุรา นารี และปัญญา:การสังสรรค์ของชาวกรีกโบราณ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.