เทคนิคการถ่ายภาพ 5 ข้อต่อไปนี้จะช่วยให้ภาพถ่ายพิพิธภัณฑ์ของคุณพัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่ง
เอาเลนส์ไปหนึ่งอัน หรืออาจจะสอง
ก่อนจะคว้ากล้องทุกตัวและเลนส์ทุกอันที่คุณมี คิดให้ดีก่อนว่าอุปกรณ์ที่คุณต้องการจะแบกไปจริงๆมีมากแค่ไหน พยายามพกเลนส์ไปแค่อันเดียว รวมทั้งเป็นเลนส์ขนาดเล็กอย่าง 35 มม. หรือ 24-70 มม. ไม่จำเป็นต้องใช้เลนส์ขนาดใหญ่เทอะทะอย่าง 300 มม. ตรวจสอบข้อจำกัดในการถ่ายภาพของพิพิธภัณฑ์แห่งนั้นก่อน พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มีนโยบายห้ามใช้แฟลชเวลาถ่ายภาพงานศิลปะ คุณคงไม่อยากถูกเชิญให้ออกไปเพราะต้องการถ่ายภาพงานศิลปะให้สว่างขึ้นด้วยแฟลช
มองหาผู้คน
คอยดูว่าผู้มาเยี่ยมชมมีปฏิกิริยาหรือมองดูงานศิลปะอย่างไร ใครๆก็ถ่ายภาพจิตรกรรมอันเลื่องชื่อบนผนังได้ ลองมองหาองค์ประกอบภาพที่น่าสนใจกว่านั้น โดยการโฟกัสไปที่ผู้คน ภาพถ่ายจะมีชีวิตของมันเอง คุณไม่มีทางรู้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จะน่าสนใจหรือน่าขบขันแค่ไหน
ถ่ายภาพสถาปัตยกรรมของพิพิธภัณฑ์
บางครั้งอาคารที่จัดแสดงงานศิลปะอาจเป็นงานศิลปะที่น่าสนใจเองก็ได้ ก่อนจะก้าวเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ให้ศึกษาการออกแบบของอาคารนั้น หาทัศนมิติ (perspective) ที่น่าสนใจ และพยายามเก็บภาพลักษณะเฉพาะของสิ่งก่อสร้าง ซึ่งอาจจะต้องถ่ายจากมุมต่ำบนพื้นดินหรือถ่ายจากฝั่งตรงข้ามถนน พยายามถ่ายภาพสถานที่ทั้งหมดจนกระทั่งได้ภาพที่คุณพอใจ
คอยดูแสง
นิทรรศการศิลปะมักมีการจัดแสงสวยงามสมบูรณ์แบบเสมอ คุณควรให้ความสนใจไม่ว่าจะเป็นหน้าต่างบานใหญ่ที่มีแสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามา หรือโคมไฟเหนือศีรษะที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดหาให้เอง คอยดูว่าแสงส่องลงมายังงานศิลปะอย่างไร แล้วเปิดหน้ากล้องให้พอเหมาะ
อย่าถ่ายภาพงานศิลปะ
แน่นอนว่าทุกคนไปพิพิธภัณฑ์เพื่อหาแรงบันดาลใจหรือตื่นตาตื่นใจกับงานศิลปะอันน่าทึ่ง แต่อย่าถ่ายภาพแค่งานจิตรกรรมหรือประติมากรรม ลองหาอะไรที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นในห้องจัดแสดงและเพิ่มสิ่งนั้นเข้ามาในเฟรมภาพ คุณหาภาพถ่ายโมนาลิซาจากกูเกิลเอาก็ได้ ดังนั้นจงสร้างสรรค์อะไรที่เป็นของคุณเอง
เรื่อง แมตต์ อดัมส์
อ่านเพิ่มเติม
ช่างภาพเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กับสุดยอด “เทคนิคถ่ายภาพ” ต้นไม้ให้ ว้าว!