เล่าเรื่องเหล้า กับวัฒนธรรมเมรัย

“หวาก” หรือนํ้าตาลเมาเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พื้นบ้านของภาคใต้ ใช้เปลือกไม้ต้นเคี่ยมแต่งรส ดื่มกันทั่วไปแถบคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งเป็นแหล่งต้นตาลโตนดมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ


เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือกำเนิดพร้อมอารยธรรมมนุษย์ เป็นทั้งวิทยาศาสตร์ ของมึนเมา และของขวัญจากพระเจ้า

เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย บัณฑิต โชติสุวรรณ

“ความยิ่งใหญ่จากสิ่งเล็กๆ” ผมรำพึงขณะจรดปลายลวดโลหะบนผิวจานเพาะเชื้ออย่างแผ่วเบา ก่อนใช้ “ลูป” หรือปลายลวดกลม เขี่ยจุดขาวครีมคล้ายขี้ฟันเล็กๆขึ้นมาจุดหนึ่ง จากนั้นบรรจงปาดปลายลวดลงบนจานเพาะเชื้ออีกใบที่รองพื้นด้วยวุ้นเรียบใส ซึ่งประกอบขึ้นจากเจลาติน นํ้าจากมันฝรั่งต้ม สารอาหารและวิตามินอีกหลายชนิด ถ้าไม่ผิดพลาดอะไร อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า กลุ่มจุดสีขาวขุ่นนี้จะขยายเผ่าพันธุ์บนดินแดนใหม่ ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะ

ผมกำลังเรียนและฝึกเพาะขยายพันธุ์ยีสต์ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และไม่มีทางใดที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์จะรับรู้ถึงการมีอยู่ของมัน ยีสต์ที่ผมกำลังขยายพันธุ์คือ Saccharomyces cerevisiae หรือยีสต์ที่ใช้ในการหมักซึ่งดำรงชีวิตด้วยการกินนํ้าตาลเป็นแหล่งพลังงาน ทว่าพวกมันคงไม่รู้ตัวว่า การดำรงชีวิตของมันได้สร้างผลิตผลอันยิ่งใหญ่ อันเป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่มที่แพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก นั่นคือแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอารยธรรมเก่าแก่พอๆ กับกสิกรรมและการเพาะปลูก สุราเป็นผลผลิตจากกระบวนการหมัก (fermentation) นํ้าตาลหรือแป้งซึ่งพบในธัญพืชหรือผลไม้ โดยใช้ยีสต์หรือราแปรสภาพนํ้าตาลหรือแป้งเป็นเอทานอลรวมทั้งสารเคมีอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ วัตถุดิบ รวมทั้งเชื้อยีสต์หรือราในท้องถิ่น จึงส่งผลให้สุราในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน

นักวิทยาศาสตร์กำลังเพาะขยายพันธุ์ยีสต์บนจานเพาะเชื้อ และเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงยีสต์ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เป็นหัวใจของการผลิตสุรา บริโภคนํ้าตาลเป็นแหล่งพลังงานและผลิตเอทานอลกับคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ยีสต์พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ แต่จะมีบางสายพันธุ์เท่านั้นที่ผลิตสุราได้ดี

“อาจเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับยีสต์ชนิดนี้ครับ ถ้าภูมิภาคเหนือขึ้นไปกลับไม่ค่อยเปรี้ยว สาเกของญี่ปุ่นจึงนุ่ม และรสชาติเปรี้ยวน้อยกว่า” ผศ.ดร. เจริญ เจริญชัย อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตธัญบุรี บอก

การผลิต “สุราแช่” หรือหมักจากธัญพืชโดยตรงทำได้ง่ายก็จริง ทว่ามีข้อจำกัดเพราะไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เนื่องจากมักบูดหรือเสียอันเป็นผลจากแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์อื่นๆในธรรมชาติ มนุษย์จึงนำสุราแช่ไปกลั่นเพื่อแยกนํ้าและแอลกอฮอล์ออกจากกัน จนได้สุราที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้นและเก็บรักษาได้นานกว่า

ไม่มีบันทึกว่าผู้คนแถบอุษาคเนย์เรียนรู้การกลั่นได้อย่างไร แต่ในบันทึกเก่าแก่ถึงสุรา “อะวาโมริ” ซึ่งเป็นสุรากลั่นท้องถิ่นของเกาะโอะกินะวะ และเป็นสุรากลั่นชนิดแรกของประเทศญี่ปุ่น ระบุว่าการผลิตอะวาโมริได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการกลั่นมาจากสยาม รวมทั้งได้อิทธิพลการผลิตจากอินโดนีเซีย จีน และเกาหลีมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่สิบห้า อะวาโมริใช้ข้าวเมล็ดยาว นำเข้าจากประเทศไทยเป็นวัตถุดิบ ต่างจากสาเกที่ใช้ข้าวเมล็ดป้อม (ข้าวจาปอนนิกา) ที่นิยมบริโภคในญี่ปุ่น

(อ่านต่อหน้า 2)

ริมถนนสายหลัก ก่อนเข้าสู่ตัวอำเภอเรณูนคร มีโอ่งใหญ่ใบหนึ่งเคลือบสีทองสูงเสมอตัวคน มีลำไม้ไผ่สองลำปักปลายโผล่ยื่นออกจากปากโอ่ง โอ่งทองใบเขื่องนี้เป็นอนุสาวรีย์ขนาดยักษ์สัญลักษณ์แทน “อุ” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำท้องถิ่น และสร้างชื่อให้อำเภอเล็กๆ ริมแม่นํ้าโขงในจังหวัดนครพนมแห่งนี้

ไม่ไกลจากตัวอำเภอและนาข้าวเขียวขจี ที่โรงเรือนขนาดไร่กว่าๆ วัฒนาและฤทธิ์ดา บัวสาย สองพี่น้องวัยเกิน 60 กำลังมะรุมมะตุ้มจัดเรียงไหอุ เอกสาร เก้าอี้พลาสติก และสมุนไพรอบแห้งหลากชนิด รวมทั้งใบประกาศนียบัตร ภาพถ่าย ถ้วยรางวัล ฯลฯ บนโต๊ะปูผ้าเพื่อเตรียมรับแขกจากทางราชการที่จะมาดูงานในวันพรุ่ง

ทั้งสองเป็นทายาทของยายทองแย้ม บัวสาย หญิงชราเจ้าของใบหน้าชื่นมื่น อันเป็นโลโก้หราอยู่บนฉลากปิดปากไหอุ ผู้เป็นทายาทสูตรอุรุ่นที่สอง อุเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดแช่ (หรือหมัก) ทำจากข้าวเหนียวเป็นหลัก นำมาหุงสุกพร้อมกับแกลบ จากนั้นผึ่งลมให้เย็นแล้วคลุกเคล้ากับผงเชื้อแป้ง นำไปหมักไว้ในภาชนะปิดประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วอัดลงในไห โบกปูนทับปิดปากไห สามารถเก็บไว้ได้ระยะหนึ่ง วิธีดื่มคือกะเทาะปูนออก เติมนํ้าหรือเครื่องดื่มอื่นๆ แล้วใช้ปากดูดจากหลอดไม้ไผ่ อุจึงเป็นสุรากึ่งสำเร็จรูปคล้ายบะหมี่คือ เติมนํ้าแล้วดื่มได้ทันที

คนงานนำข้าวเหนียวและแกลบหุงสุกมาผึ่งลมและพรมนํ้าเพื่อลดอุณหภูมิ ก่อนนำไปคลุกเคล้ากับเชื้อแป้ง แล้วนำไปบรรจุในภาชนะหมักให้เป็นแอลกอฮอล์ เป็นขั้นตอนการผลิต “อุ” ซึ่งเป็นสุราพื้นบ้านของภาคอีสาน

หลักการพื้นฐานของการผลิตสุราแช่คือ “เลือก” และ “ควบคุม” การทำงานของราหรือยีสต์ เทคนิคการทำอุหรือสาโทอยู่ที่ลูกแป้งเชื้อที่มีส่วนผสมของสมุนไพรหลากชนิด ช่วยยับยั้งการคุกคามจากเชื้ออื่นและทำให้ปั้นเป็นก้อนได้ง่าย เช่นเดียวกับการทำเบียร์หรือไวน์ที่จำกัดออกซิเจนระหว่างการหมัก และคุมสภาพความเป็นกรด เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้ออื่นที่ไม่พึงประสงค์

ผมลงใต้ไปยังคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา เพื่อตามหา “หวาก” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่มีวิธีควบคุมการทำงานของยีสต์ต่างออกไป หวากเป็นสุราแช่ที่ทำจากนํ้าตาลสดจากต้นตาลโตนด (ทางเพชรบุรีเรียกว่ากะแช่) มีกลิ่นตุ ๆ รสหวานอมเปรี้ยวและฝาดเฝื่อนจากเปลือกต้นเคี่ยมที่ใส่ลงไปด้วย ต้นเคี่ยมเป็นไม้ยืนต้นพบทั่วไปในภาคใต้ ตำรับยาโบราณนำมาใช้ทำยาต้านเชื้อหลายชนิด เช่น ท้องร่วง และช่วยสมานแผล

สันนิษฐานว่ายีสต์ในหวากอาจมาจากธรรมชาติหรือในนํ้าตาลสด หรือไม่ก็อาศัยในกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้รองนํ้าตาลสด หวากควบคุมการบูดเสียจากเชื้ออื่นด้วยไม้เคี่ยม ซึ่งมีสารแทนนิน (tannin) กรดอ่อนที่มีรสฝาด มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์อื่นๆ (บางแห่งใช้ไม้ต้นมะม่วงหิมพานต์) และช่วยแต่งรสให้ดื่มง่ายขึ้น

อัศนะ แก้วดีเลิศ วัย 43 ปี คนปาดตาลที่บ้านคลองฉนวน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา บอกว่า “พอเราเก็บนํ้าตาลสดตอนเช้า เก็บไว้ในกระบอก ใส่ไม้เคี่ยมลงไป ทิ้งไว้เฉยๆ ตกเย็นก็เป็นหวากแล้วครับ”

อัศนะบอกว่าแม้หวากจะทำง่าย แต่ทุกวันนี้ ชาวบ้านไม่นิยมดื่มกันแล้ว “คือมันยังไงล่ะครับ มันร่อย (อร่อย) น่ะครับ ถ้ามัวแต่กินหวาก เป็นอันไม่ต้องทำงานทำการกันพอดี” เขาหัวเราะ

กลางแดดแผดจ้า รถตู้ของเราแล่นตามรถเอสยูวีที่ขับนำไปตามถนนสองเลนในอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ สองข้างทางเป็นไร่อ้อย บ้านเรือน และท้องนา พอมาถึงแถวนิคมสร้างตนเองปราสาท 2 รถก็เลี้ยวซ้ายตัดเข้าทางลูกรังของสวนปาล์มนํ้ามันแล่นโขยกเขยกไปตามทาง จนมาถึงโรงเรือนก่อปูนเนื้อที่ไม่กี่ร้อยตารางวาสองโรง และมีบ่อนํ้าอยู่ข้างๆ

เจ้าของรถเอสยูวีเป็นสองสามีภรรยา เจ้าของแบรนด์สุราขาวยี่ห้อละไม ทั้งคู่ลงทุนสร้างโรงเรือนแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ หลังย้ายโรงงานจากจังหวัดลำพูนมาอาศัยที่ดินของครอบครัวฝ่ายหญิงในจังหวัดสุรินทร์ ชายหนุ่มผู้เป็นสามีคือลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง เชื้อชาติอะไรนั้นไม่น่าสนใจเท่ากับเรื่องที่ว่า ไม่ว่าใครก็กลั่นเหล้าได้ ถ้าใช้กูเกิลเป็น

“ผมเริ่มจากไปซื้อชุดกลั่นนํ้ามันหอมระเหยมาจากศึกษาภัณฑ์แล้วลองทำมาเรื่อยๆ ตอนนี้สี่ปีแล้ว ก็อย่างที่เห็น” คอสตาฟ บัคชี่ นำผมชมโรงงาน มีถังพลาสติกและถังสเตนเลสสำหรับหมัก และเครื่องกลั่นใช้เชื้อเพลิงจากฟืน มีมาตรวัดอุณหภูมิซึ่งดูทันสมัย แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน เพราะยังรอใบอนุญาตจากทางการ

“ประเทศไทยมีวัตถุดิบดีๆเยอะมากครับ ทั้งอ้อย ทั้งมัน ผมอยากทำธุรกิจที่มีวัตถุดิบรองรับเยอะๆ” เขาบอก สุราของเขาทำจากนํ้าตาลอ้อย ซึ่งตามเทคนิคแล้วสุราที่ได้จะเรียกว่ารัม (rum) “แต่ไม่สามารถระบุว่ารัมได้ครับ เพราะกฎหมายไทยระบุว่า รัมต้องหมายถึงเหล้าสีเท่านั้นซึ่งใบอนุญาตของผมไม่สามารถทำได้ ผมเลยต้องระบุว่าเป็น white spirit” คอสตาฟบอก

การใช้งู ตะขาบ และแมงป่อง มาดองในสุรา เป็นตำรับยาเก่าแก่ของชาวเอเชียตะวันออกที่เชื่อกันว่า พิษจากสัตว์จะช่วยเสริมความร้อนแรงของแอลกอฮอล์ และช่วยกระตุ้นสรรพคุณด้านเลือดลมหมุนเวียนในผู้ดื่ม ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

กฎหมายสุราในไทยใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เป็นการรวมกฎหมายเกี่ยวกับการผลิตสุราและการเก็บภาษีในยุคโบราณไว้ด้วยกัน มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ภาพรวมของกฎหมายนี้ไม่เอื้อให้ “ผู้เล่น” หรือผู้ผลิตหน้าใหม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ได้ เพราะมีตั้งแต่กฎระเบียบซับซ้อน การกำหนดโทษรุนแรง ไปจนถึงการกำหนดมูลค่าหรือกำลังการผลิตไว้สูง แต่ก่อนโรงงานผลิตสุราเป็นทรัพย์สินของรัฐบาล และต่อมาขายให้กับเอกชน หรือเรียกกันว่ายุคสุราเสรี

แต่บนความเสรีนั้นสะท้อนให้เห็นผ่านท้องตลาดว่า มีสุราไม่กี่ชนิดและผู้ผลิตไม่กี่ราย ขณะที่การผลิตสุราโดยไม่มีใบอนุญาตหรือ “เหล้าเถื่อน” ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายร้ายแรง

“สาเหตุที่รัฐไม่อนุญาตให้ทำสุราเพราะรัฐต้องการเก็บภาษี ถ้าทุกคนทำเหล้าที่บ้านได้ ใครจะอยากไปซื้อสุราที่เสียภาษีครับ” ผศ.ดร. เจริญ บอก

หลังการประท้วงและเรียกร้องอย่างยาวนานในปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลก็ลดแรงเสียดทานด้วยการอนุญาตให้โรงเหล้าชุมชนสามารถขอใบอนุญาตได้ กฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยมุ่งแปรรูปและเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบทางการเกษตร กระนั้นยังจำกัดแรงม้าเครื่องจักรให้ไม่เกินห้าแรงม้า เพื่อไม่ให้กำลังการผลิตแข่งกับสุรารายใหญ่ นอกจากนี้ ยังจำกัดชื่อเรียกและลักษณะสุรา

“สุราชุมชนไม่สามารถทำเหล้าสีได้นะครับ สุราชุมชนทำอะไรออกมาจึงเรียกได้แต่เหล้าขาว” คอสตาฟบอก เหล้าขาวเป็นสุราเก่าแก่ที่ยังมีภาพลักษณ์เป็นสุราตลาดล่าง ทำให้ยากต่อการขยายตลาด

(อ่านต่อหน้า 3)

ตัวจริงของอาทิตย์ ศิวะหรรษากุล ไม่เหมือนกับตัวหนังสือที่เขาเขียนบนเพจแม้แต่น้อย หนุ่มเนิร์ดร่างท้วม หัวเราะเสียงแหบ ไว้เคราหรอมแหรมและใส่แว่น เพิ่งพกพาอาการปวดหลังจากออฟฟิศซินโดรมมาพบผม

เขาเป็นแอดมินเจ้าของเพจ “แดกเบียร์ให้เพลียแคม” แฟนเพจสุดเกรียนที่เป็นเหมือนบันทึกความทรงจำถึงเบียร์กว่า 1,600 ยี่ห้อที่เขาได้ชิม มียอดไลก์กว่าสามหมื่น เป็นหนึ่งในแฟนเพจเกี่ยวกับเบียร์ที่มีคนติดตามมากที่สุด

อาทิตย์เริ่มต้นความคลั่งไคล้ด้วยเบียร์ข้าวสาลียอดนิยมจากเบลเยียม ที่มีผู้นำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อสองสามปีก่อน จากนั้นเขาจึงเริ่มเสาะหาเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศหลากชนิด

“ช่วงแรกๆผมกินไอพีเอ (เบียร์ที่รสขมนำและเน้นกลิ่นจากดอกฮอปส์) ไม่ได้เลยครับ คายทิ้ง เบียร์อะไรไม่รู้ขมมาก ก็สงสัยว่าทำไมคนอื่นกินได้ ทำไมเราไม่เข้าใจ เลยเริ่มค้นข้อมูล” เขาศึกษาที่มาที่ไปทีละน้อยจากข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จนค้นพบว่า โลกของเบียร์นั้นเป็นมากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม

ขณะที่สุราซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เมามายและทำลายตับ สมุนไพรไทยหลายชนิดก็มีคุณสมบัติบำรุงตับ และบางชนิดยังช่วยถอนพิษเหล้า เช่น ว่านรางจืด กาสะลอง (ต้นปีบ) ต้นพญารากเดียวหรือปลาไหลเผือก ต้นโลดทะนงแดง และต้นพญาไฟ

เบียร์หรือเอลเป็นเครื่องดื่มที่มีผู้ดื่มมากเป็นอันดับสามของโลก รองจากนํ้าเปล่าและชา เป็นสุราหมักชนิดแรกของโลกที่กำเนิดพร้อมสังคมเกษตรกรรม และขับเคลื่อนอารยธรรมโบราณมาตั้งแต่ยุคอียิปต์ เมโสโปเตเมีย และจีน เบียร์ประกอบด้วยวัตถุดิบพื้นฐาน 4 ชนิด ได้แก่ นํ้า มอลต์ (ข้าวที่นำไปเพาะจนงอกเป็นต้นอ่อน แล้วนำไปอบแห้ง) ดอกฮอปส์ และยีสต์

เบียร์โบราณแตกต่างจากเบียร์ในปัจจุบันลิบลับ เพราะมีส่วนประกอบพื้นฐานเพียงธัญพืชและนํ้า อาจมีสมุนไพรเพิ่มเติมลงไป และปล่อยให้ยีสต์ในธรรมชาติหมักเอง ในเวลาต่อมา มีการนำดอกฮอปส์ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้ทำยารักษาโรคในยุโรปยุคกลางมาใส่ในเบียร์ เพื่อใช้กรดนํ้ามันที่มีในดอกควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ ในยุคที่วิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มต้น เบียร์ได้ชื่อว่าเป็น “ของขวัญจากพระเจ้า” เพราะมนุษย์ยังไม่สามารถไขปริศนาที่มาของแอลกอฮอล์ได้ กระทั่งชีววิทยาค้นพบยีสต์ ของขวัญจากพระเจ้าจึงกลายมาเป็นวิทยาศาสตร์

ทุกวันนี้ กรรมวิธีผลิตเบียร์แตกแขนงไร้ขีดจำกัด มีการทดลองทำเบียร์ใหม่ๆมากมาย และเบียร์ที่มีอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เช่น เบียร์เปรี้ยวที่ใช้จุลินทรีย์แลกโตบาซิลลัส เบียร์ที่เติมฮอปส์ลงไปจำนวนมากหรือไอพีเอ เบียร์ที่ผลิตโดยนักบวชในอารามและนำรายได้มาจุนเจือศาสนา เบียร์ที่กลั่นผ่านจุดเยือกแข็งหรือไอบ็อก (Eibock) เบียร์ที่บ่มยาวนานและนำมาผสมกับเบียร์อื่นๆ

ประเทศไทยเริ่มผลิตเบียร์ครั้งแรกราวสมัยรัชกาลที่เจ็ดโดยมีพื้นฐานจากประเทศเยอรมนี ทุกวันนี้มีเบียร์ตลาด (commercial beer) ที่ผลิตโดยโรงงานในประเทศไทยและวางจำหน่ายแบบขวดหรือกระป๋องราว 10 ยี่ห้อ มาจากโรงงาน 6 โรง  แต่มีเจ้าของแค่ 2-3 ราย และเป็นเบียร์ประเภทเดียวกันหมดคือลาเกอร์เบียร์ ขณะที่โรงผลิตเบียร์ขนาดเล็กถูกกำหนดให้ขายเฉพาะสถานที่ผลิตเท่านั้น และต้องมีกำลังการผลิตขั้นตํ่า 100,000 ลิตร  แต่ไม่เกินหนึ่งล้านลิตรต่อปี

ทุกวันนี้ กระแสคราฟต์เบียร์ (craft beer) หรือเบียร์ที่ผลิตในปริมาณไม่มาก และให้รสชาติแตกต่างจากเบียร์ที่ผลิตในโรงงานใหญ่เติบโตเร็วจนน่าสนใจ เบียร์เหล่านี้นำเข้ามาจากต่างประเทศ และกำลังเป็นกระแสที่มาแรง “คงเพราะผู้บริโภคเบื่อไงครับ เพราะมันไม่มีตัวเลือก” อาทิตย์กล่าว

การหลั่งไหลเข้ามาของเบียร์จากต่างประเทศ และข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ยังเบิกทางให้คนไทยไม่น้อยได้เรียนรู้ว่า การหมักเบียร์เพื่อดื่มเองที่บ้านหรือโฮมบริว (homebrew)ไม่ใช่เรื่องยากและลงทุนไม่มาก การท้าทายกฎหมายนี้เกิดขึ้นอย่างผลิบานและรวดเร็ว เสมือนการปะทุของภูเขาไฟที่อัดอั้นมานาน มีเบียร์ “ใต้ดิน” เกิดขึ้นมา มีแหล่งวัตถุดิบจำหน่าย และความพยายามเรียกร้องให้ผลิตเบียร์ได้เสรีแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับสุรา

“ตลาดที่มีแค่ลาเกอร์สีเหมือนกัน รสชาติแทบไม่ต่างกันอยู่ 3-4 ประเภท มันสนุกตรงไหน กินอย่างนี้มาทั้งชีวิต ผมเชื่อว่าชีวิตที่มีทางเลือกถึงจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ ผมมองเบียร์ว่าเป็นสุนทรียะของชีวิต ไม่ได้มองเป็นของมึนเมา คือถ้าเป็นสุนทรียะของชีวิต ก็ควรมีทางเลือกให้ผู้บริโภคหรือเปล่าครับ”  เขากล่าว

Brewmaster แสดงคอมพิวเตอร์ควบคุมระบบที่ตั้งอยู่หน้าถัง Mash และหม้อต้มเบียร์ โรงเบียร์ขนาดเล็กแห่งนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น เป็นทั้งสถานที่ผลิตและจำหน่ายเบียร์ในรูปแบบผับ ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

ตลอดการเก็บข้อมูลสารคดีเรื่องนี้ ผมได้พบเห็นพลวัตแห่งวัฒนธรรมนํ้าเมาที่น่าสนใจหลายอย่าง ผมได้ข่าวคนไทยกลุ่มหนึ่งที่เริ่มต้นด้วยการทำเบียร์ใต้ดิน และต้องการจำหน่ายเบียร์ทางเลือก “เสียภาษี” ด้วยการรอนแรมไปผลิตยังต่างประเทศ และหวังส่งกลับเข้ามาเมืองไทยโดยตีตราเป็นเบียร์ต่างประเทศ พวกเขาก่อตั้งแฟนเพจ “ขบวนการเสรีเบียร์” ขึ้นมา เพื่อบอกเล่าความพยายามทำในสิ่งที่รักอย่างยากลำบาก

ท่ามกลางการถกเถียงและเสียงค่อนขอดระหว่างฝั่ง “ขวาจัด” และ “ซ้ายจัด” ในเรื่องสุราคงไม่มีวันจบสิ้น ความเข้มข้นของมาตรการเมาแล้วขับเป็นเรื่องที่พัฒนาขึ้นในสังคมที่มีนักดื่มระดับต้นๆของโลก แต่การแห่กักตุนสุราก่อนวันสำคัญทางศาสนาจะมาถึง เป็นความหน้าไหว้หลังหลอกทางสังคม พอๆกับการที่ใครๆก็รู้ว่าจะหาซื้อสุราได้อย่างไรในช่วงเวลาที่กฎหมายห้ามจำหน่าย

กระนั้น วัฒนธรรมสุราก็หยั่งรากลึกและเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนความเป็นไปและสะท้อนลักษณะเฉพาะของสังคมเสมอ เช้าวันต่อมาที่โรงงานผลิตอุของฤทธิ์ดา และวัฒนา คลาคลํ่าไปด้วยข้าราชการท้องถิ่นที่มาดูงานทั้งสองกำลังอวดผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นคือ “อุพร้อมดื่ม” บรรจุในขวดเซรามิกทรงนํ้าเต้า อุดปากขวดด้วยจุกคอร์กในหีบห่อกล่องกระดาษ คล้ายสุราของเกาหลีหรือญี่ปุ่น

“เราอยากให้เป็นเครื่องดื่มประจำชาติค่ะ” วัฒนาบอก

ทุกวันนี้ อุของเรณูนครเดินทางไปไกลถึงต่างประเทศแล้วเงียบๆ “อย่ามองเป็นของมึนเมาสิคะ เพราะเราไม่ได้ขายแค่สุรา แต่เราขายวัฒนธรรมค่ะ” วัฒนาทิ้งท้าย


อ่านเพิ่มเติม สุรา นารี และปัญญา: การสังสรรค์ของชาวกรีกโบราณ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.