ปราสาทชูริ: มรดกโลกแห่งญี่ปุ่นที่สูญไปในกองเพลิง

(ซ้าย) ปราสาทชูริ มรดกโลกโลกประจำจังหวัดโอกินาวะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อครั้งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ (ขวา) ภาพขณะที่ปราสาทชูริถูกเผาไหม้ไปกับกองเพลิง ขอบคุณภาพจาก Author 663 highland ใน https://commons.wikimedia.org/ และ twitter สำนักข่าว NHK https://twitter.com/nhk_news/status/1189650841931853825


ญี่ปุ่นต้องพบความสูญเสียทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่เมื่อปราสาทชูริ สัญลักษณ์แห่งโอกินาวะ มอดไหม้ไปกับกองเพลิง ปราสาทแห่งนี้ยังเป็นประจักษ์พยานความสัมพันธ์ของสยามกับอาณาจักรรีวกีว อาณาจักรโบราณแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกด้วย

ในค่ำคืนวันที่ 30 ตุลาคม (เช้าวันที่ 31) ปี 2019 ญี่ปุ่นได้สูญเสียปราสาทชูริ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ หนึ่งในมรดกโลกอันน่าภาคภูมิใจของพวกเขาไปกับกองเพลิง

รายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า “ปราสาทชูริ” สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดโอกินาวะ ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของญี่ปุ่น เกิดเพลิงไหม้ตั้งแต่ช่วงเวลา 02:40 น. โดยมีสัญญาณเตือนเพลิงไหม้จากบริเวณโถงของปราสาท เจ้าหน้าที่ดับเพลิงระดมกำลังนับร้อยคนเพื่อควบคุมเพลิง ก่อนที่ไฟจะสงบลงเมื่อราว 04:00 น. แต่ก็ดูจะสายเกินไป เพราะไฟได้ทำลายโครงสร้างปราสาทที่ทำจากไม้ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีไปทั้งหมด ในตอนเช้า ภาพข่าวปราสาทชูริที่ปรากฏในสื่อเป็นเพียงแค่ซากของปราสาทที่มอดไหม้กลายเป็นเถ้าถ่าน

ไฟไหม้ปราสาทชูริในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การสูญเสียของคนญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นการสูญเสียสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกของชาวโลกไปด้วยเช่นเดียวกัน

(ชมวิดีโอขณะที่ปราสาทชูริกำลังมอดไหม้จากสำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นได้ที่นี่)

สัญลักษณ์แห่งอาณาจักรรีวกีวในประวัติศาสตร์ สู่ความภาคภูมิใจของคนโอกินาวะ

เมื่อครั้งที่ปราสาทชูริยังคงตั้งตระหง่าน นี่คือสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดโอกินาวะ ผู้มาเยือนไม่ว่าจะเป็นครั้งแรกหรือว่าครั้งไหนๆ ก็มักได้รับคำแนะนำให้มาชื่นชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมของปราสาทที่ได้บรรจุประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจเมื่อครั้งที่โอกินาวะยังคงเป็นรัฐอิสระนามอาณาจักรรีวกีว หนึ่งอาณาจักรโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในช่วงศตวรรษที่ 15 – 19 คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1429 – 1879

ก่อนที่จะเป็นอาณาจักรรีวกีว หมู่เกาะโอกินาวะมีผู้คนอยู่อาศัยมานานตั้งแต่ยุคโบราณ จนช่วงศตวรรษที่ 14 มีกลุ่มอำนาจ 3 กลุ่ม ได้แก่ โฮกุซัน (北山) ชูซัน (中山) และนันซัน (南山) กระจายตัวกันปกครองตามพื้นที่ต่างๆของหมู่เกาะโอกินาวะ พอถึงราวปี 1429 กลุ่มชูซันได้รวมอำนาจ 3 กลุ่มให้เป็นหนึ่งเดียว เกิดเป็นอาณาจักรรีวกีว และมีการสร้างปราสาทชูริในปี ค.ศ. 1429

ปราสาทชูริ สัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมอาณาจักรรีวกีวในอดีต ปัจจุบันคือสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดโอกินาวะ ที่ขณะนี้มอดไหม้ไปกับกองเพลิง ขอบคุณภาพจาก © CEphoto, Uwe Aranas, https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Naha_Okinawa_Japan_Shuri-Castle-01.jpg

ปราสาทชูริทำหน้าที่เป็นที่ประทับของกษัตริย์ และเป็นศูนย์กลางทั้งทางการเมือง การทูต การต่างประเทศ ศาสนา และเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของวัฒนธรรมอาณาจักรรีวกีวที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากจีนและญี่ปุ่น สังเกตได้จากหอประชุมหลักของปราสาทที่ชื่อว่า เซอิเด็น ซึ่งมีสีแดงเข้ม มีลักษณะการผสมผสานเทคนิคการก่อสร้างแบบจีนและญี่ปุ่น และกลายเป็นอาคารไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเกาะโอกินาวะ

ปราสาทชูริแห่งนี้เป็นประจักษ์พยานสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรรีวกีวกับสยามซึ่งเฟื่องฟูมากในสมัยอยุธยา โดยปรากฏว่ามีการติดต่อกันมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 14 จนถึงปลายศตวรรษที่ 16 เป็นระยะเวลาราว 200 ปี เมื่อครั้งที่อาณาจักรรีวกีวยังรุ่งเรือง สยามเป็นอาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำการค้าด้วยมากที่สุด เห็นได้จากเคยมีการขุดพบไหสี่หูและชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาจากสยามเป็นจำนวนมากอยู่ในบริเวณปราสาทชูริ ซึ่งคาดว่าไหที่พบนี้เป็นภาชนะใส่เหล้าจากสยามที่พ่อค้าชาวรีวกีวนำเข้ามายังอาณาจักร เหล้าจากสยามนี้เป็นต้นแบบของสาเก (เหล้าแบบญี่ปุ่น) ท้องถิ่นชื่อดังของอาณาจักรรีวกีวที่ชื่อว่า อาวาโมริ ซึ่งต้องใช้ข้าวจากไทย (หรือสยาม) เป็นวัตถุดิบในการหมัก สาเกชนิดนี้มีการสืบทอดกันมาจนเป็นของขึ้นชื่อประจำจังหวัดโอกินาวะจนถึงปัจจุบัน

ภาพการฝึกคาราเต้ ศิลปะการต่อสู้ที่เชื่อว่ากำเนิดมาจากเกาะโอกินาวะ หน้าปราสาทชูริ ในปี 1938 ขอบคุณภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Okinawan_martial_arts

เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์อัคคีภัย ปราสาทชูริเคยถูกไฟไหม้ไปแล้ว 3 ครั้งในยุคอาณาจักรริวคิว ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 ได้มีการสร้างตัวอาคารหลักและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ขึ้นมาใหม่

หลังจากอาณาจักรแห่งนี้มีอายุได้ 450 ปี อาณาจักรรีวกีวเข้าสู่ยุคเสื่อมอำนาจ และถูกรัฐบาลยุคเมจิของญี่ปุ่นยึดครองในฤดูใบไม้ผลิปี 1879 กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรรีวกีวถูกขับไล่ออกจากปราสาท เปลี่ยนให้เป็นจังหวัดโอกินาวะ ในเวลาต่อมา มีการใช้งานปราสาทแห่งนี้ให้เป็นที่ทำการกองทัพญี่ปุ่น ที่ทำการของโรงเรียนหลายแห่ง รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ของเมือง

ในช่วงทศวรรษ 1930 มีการบูรณะปราสาทชูริครั้งใหญ่ไปหนึ่งครั้ง อย่างไรก็ตาม ในปี 1945 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างฐานบัญชาการขึ้นที่ชั้นใต้ดินของปราสาท เพื่อต่อต้านการบุกขึ้นฝั่งของกองทัพสหรัฐฯ คู่สงครามสำคัญในช่วงยุทธการที่โอกินาวะ ท้ายที่สุดปราสาทแห่งนี้ถูกทหารสหรัฐฯ ทำลายจนราบเป็นหน้ากลองในปีดังกล่าว เมื่อสงครามสิ้นสุดลง พื้นที่ของปราสาทแห่งนี้กลายเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยรีวกีวอยู่ระยะหนึ่ง

ส่วนรากฐานและปราการของปราสาทที่ไม่ได้ถูกทำลายไปในช่วงสงครามได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก ในปี 2000 ขอบคุณภาพจาก Author: 663highland ใน https://commons.wikimedia.org

ในปี 1992 มีการสร้างตัวอาคารไม้ของปราสาทขึ้นใหม่อีกครั้งในพื้นที่เดิม เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 20 ปีการส่งมอบเกาะโอกินาวะคืนจากการปกครองของสหรัฐฯ เมื่อปี 1972 และเปิดเป็นอุทยานแห่งชาติให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเยี่ยมเยือน ในปี 2000 พื้นที่ส่วนปราสาทดั้งเดิม ได้แก่ รากฐานและปราการของปราสาทที่ไม่ได้ถูกทำลายไปในช่วงสงคราม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าปราสาทที่เพลิงเผาไปนั้นเป็นส่วนที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ในระยะเวลาไม่ถึง 30 ปี แต่ก็แสดงถึงสถาปัตยกรรมอันมีเอกลักษณ์เฉพาะและสวยงามอย่างยิ่งในยุคอาณาจักรรีวกีวรุ่งเรืองได้เป็นอย่างดี

หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ เว็บไซต์หลักของปราสาทชูริได้ประกาศปิดทำการอาคารและสวนสาธารณะเป็นการชั่วคราวและยังไม่ระบุกำหนดเปิดทำการใหม่อีกครั้ง สิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้คือทางการญี่ปุ่นจะตัดสินใจ “ชุบชีวิต” ปราสาทแห่งนี้ขึ้นมาใหม่เหมือนที่เคยทำมาแล้วในปี 1992 หรือไม่ เพื่อไม่ให้สัญลักษณ์ทางอารยธรรมของอาณาจักรรีวกีวแห่งเกาะโอกินาวะสูญหายไปจากประวัติศาสตร์

แหล่งอ้างอิง

[ปกิณกะ] โอกินาวา

Fire at Shuri Castle, a world heritage site

เกิดเหตุเพลิงไหม้กลางดึกที่ปราสาทชูริ มรดกโลกแห่งโอกินาว่า

About Shurijo Castle

ซากปราสาทชูริ

พาณิชย์สัมพันธ์ สยาม-ริกิว ร่องรอยไหจากเตาเผาสุโขทัยที่ “ปราสาทชูริ” เกาะโอกินาวา


อ่านเพิ่มเติม ภูมิศาสตร์เมืองญี่ปุ่น

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.