ผู้หญิง : ศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง – บทบรรณาธิการ

ผู้หญิง : ศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง – บทบรรณาธิการ

ฉากแรกในประวัติศาสตร์ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ไม่มี ผู้หญิง อยู่เลยสักคน เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1888 เมื่อสุภาพบุรุษ 33 คนซึ่งมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ ตลอดจนผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆ มารวมตัวกันที่คอสมอสคลับในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเห็นพ้องต้องกันในการก่อตั้งสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก คลังภาพของเราไม่มีภาพถ่ายเหตุการณ์นั้น เพราะไม่มีการบันทึกภาพไว้ ซึ่งดูจะเป็นเรื่องย้อนแย้งสักหน่อย เพราะหากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก จะเป็นที่รู้จักจากอะไรสักอย่าง ก็คงไม่พ้นการสร้างและเก็บรักษาบันทึกที่มองเห็นได้ของชีวิตบนโลก

เมื่อเวลาผ่านไป คลังภาพของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ก็เติบโตขึ้น จนปัจจุบันมีภาพถ่ายทั้งที่จับต้องได้และอยู่ในรูปดิจิทัลมากกว่า 64 ล้านภาพ ขณะเดียวกัน บันทึกอีกอย่างก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้น นั่นคือ เรื่องราวของ ผู้หญิง จากทั่วทุกมุมโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภาพถ่ายเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่บันทึกไว้ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ไม่เพียงสะท้อนภาพแห่งยุคสมัย แต่ยังเผยให้เห็นว่า ผู้หญิง ถูกมองและได้รับการปฏิบัติอย่างไร พวกเธอมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน หรือไม่มีเลย

คุณจะได้ชมภาพบางส่วนเหล่านั้นจากคลังภาพของเราในฉบับพิเศษว่าด้วยผู้หญิง นับเป็นฉบับแรกที่นักเขียน ช่างภาพ และศิลปินที่เกี่ยวข้องทั้งหมดล้วนเป็นผู้หญิง เราขอใช้นิตยสารฉบับพิเศษนี้เพื่อประเดิมการสำรวจชีวิตของผู้หญิง และความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นกับเด็กหญิงและผู้หญิงทั่วโลก ตลอดทั้งปีที่กำลังจะมาถึงนี้บนสื่อทุกแพลตฟอร์มของเรา

คุณจะเห็นเค้าลางของการเปลี่ยนแปลงในภาพถ่ายเก่าๆ ภาพหนึ่งจากคลังภาพของเรา เป็นภาพฝูงชนที่มารวมตัวกันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเดินขบวนเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของสตรีซึ่งได้มาในที่สุดเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1920 การรายงานตลอดปี 2020 ของเราจะเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบหนึ่งร้อยปีแห่งชัยชนะครั้งนั้น แน่นอนว่า นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น

เมื่อผู้หญิงเดินตามความเชื่อของตนอย่างมุ่งมั่นแรงกล้า พวกเธอจะสามารถเอาชนะเกือบทุกสิ่งที่ขวางหน้า

ในนิตยสารฉบับเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คุณจะได้รู้จักและอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ พวกเธอมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสังคม นักเขียน นักการศึกษา ไปจนถึงแพทย์ผู้ผ่านสนามรบ และผู้สื่อข่าวสงคราม

เรายังถามคำถามหกข้อกับผู้หญิงเหล่านั้น และดีใจที่ได้นำบางส่วนของบทสนทนานั้นมาแบ่งปันกับผู้อ่านในฉบับนี้ แม้คำตอบของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดล้วนสะท้อนความเชื่ออย่างหนึ่งว่า เมื่อผู้หญิงเดินตามความเชื่อของตนอย่างมุ่งมั่นแรงกล้า พวกเธอจะสามารถเอาชนะเกือบทุกสิ่งที่ขวางหน้า “อย่ายอมรับคำว่า ‘ไม่’ เป็นคำตอบ” เป็นคำพูดจากปากของคริสเตียน อามันพูร์ ผู้สื่อข่าวมากประสบการณ์ของซีเอ็นเอ็น

ฝูงชนมารวมตัวกันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปี 1913 เพื่อเดินขบวนเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง

ฉันเป็นบรรณาธิการคนที่สิบของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้น และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ เป็นการแต่งตั้งที่หลายคนบอกว่า ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้

ย้อนหลังไปเมื่อปี 1992 ฉันเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ในปีนั้น พวกเราสื่อหลายสำนักประโคมให้เป็น “ปีแห่งผู้หญิง” เพราะเป็นปีที่เรามีผู้หญิงมากที่สุดที่ได้รับเลือกครั้งในครั้งเดียวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คือ 24 คนจาก 435 คน และมีวุฒิสมาชิกหญิงจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมี นั่นคือ หกคนจาก 100 คน วันนี้เรามาไกลกว่านั้นมากแล้ว แต่นั่นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

ทุกวันนี้ เวลาเราได้ยินคนพูดว่า สถานภาพของผู้หญิงกำลังดีวันดีคืน เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่จะมีคนคลางแคลงสงสัย แต่สำหรับฉัน เวลานี้กลับรู้สึกต่างออกไป แตกต่างไปจริงๆ ฉันเป็นบรรณาธิการคนที่สิบของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้น และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ เป็นการแต่งตั้งที่หลายคนบอกว่า ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้  ไม่ว่าคุณจะมองไปที่ไหน ผู้หญิงกำลังก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ในแวดวงธุรกิจ วิทยาศาสตร์ กฎหมาย และอื่นๆ อีกทั้งพวกเธอยังถูกมองเห็นและรับฟังจากจุดที่พวกเธอยืนอยู่ ในโลกยุคที่การสื่อสารฉับไวปานความไวแสง และสื่อสังคมออนไลน์ ช่วยให้พวกเธอสามารถหลบหลีกอุปสรรคนานัปการที่ระบบชายเป็นใหญ่เคยขวางกั้นไว้

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังเห็นได้ชัดเจนจากตัวเลขและสถิติต่างๆ เป็นต้นว่า จำนวนผู้หญิงที่ได้รับเลือกตั้งทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ตลอดปีที่จะถึงนี้ เราจะนำเสนอเรื่องราวอันน่าชื่นใจของผู้หญิงที่ได้รับสิทธิต่างๆ การปกป้องคุ้มครอง ตลอดจนโอกาสใหม่ๆ ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา แน่นอนว่า เราไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะถ่ายทอดเรื่องราวตรงกันข้าม เมื่อผู้หญิงถูกลิดรอนสิทธิ ไม่ได้รับโอกาส และถูกเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบต่างๆ

ตลอดกว่า 130 ปีของการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากทั่วโลก เราได้เป็นประจักษ์พยานเมื่อความไม่เท่าเทียมกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม จนเราแทบมองไม่เห็นหรือไม่ได้ยินเสียงผู้ถูกกดขี่ ในโอกาสพิเศษนี้ เรามุ่งมั่นจะนำเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงจำนวนมากขึ้นมาสู่แสงสว่าง และเสียงของเธอมาสู่บทสนทนา

ขอบคุณที่อ่าน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

โดย  ซูซาน โกลด์เบิร์ก

ภาพลักษณ์ของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาในหน้านิตยสารของเรา

ตุลาคม ปี 1959: ผู้หญิงคนแรกบนหน้าปกของเราคือ เอดา ซาห์ล ขณะกำลังเก็บหอยเม่น
กันยายน ปี 1964: โรดา บรุกส์ หญิงสาวอเมริกันผู้ทำงานต่างแดนในหน่วยพีซคอร์ปส์
นักไพรเมตวิทยาผู้บุกเบิก เจน กูดดอลล์ และเหล่าชิมแปนซีของเธอ ปรากฏบนปกฉบับบเดือนตุลาคม ปี 1965
มกราคม ปี 2017: เอเวอรี แจกสัน อายุเก้าขวบ เป็นหญิงข้ามเพศคนแรกบนกปกนิตยสารของเรา
มีนาคม ปี 2018: นักบินอวกาศ เพ็กกี วิตสัน เป็นเจ้าของสถิติใช้เวลายาวนานที่สุดในอวกาส (665 วัน) ของสหรัฐฯ

*อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2562


สารคดีแนะนำ

ความเท่าเทียมทางเพศ : คำถามที่สังคมไทยต้องขบคิด

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.