ความรุนแรงต่อสตรี : สิทธิในชีวิตที่ปลอดภัย

ความรุนแรงต่อสตรี : สิทธิในชีวิตที่ปลอดภัย

นับตั้งแต่เกิดเหตุรุมโทรมอันน่าพรั่นพรึงที่ทำให้อินเดียช็อกไปทั้งประเทศ ผู้หญิงแดนภารตะพากันลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิและเริ่มได้รับการปกป้องจากการคุกคาม และ ความรุนแรงต่อสตรี ในที่สาธารณะมากขึ้นแล้ว

————————————————

หญิงสาวทั้งหกคนเข้าแถวเป็นรูปครึ่งวงกลมไม่เป็นระเบียบ พลางดึงชายเสื้อคลุมยาวและจัดผ้าคลุมศีรษะ พวกเธอเลือกใส่กางเกงยีนแทนที่จะเป็นกางเกง ศัลวาร์ ตัวหลวมโพรกตามประเพณีนิยมในอินเดีย นับเป็นการแสดงออกซึ่งการต่อต้านอย่างพองาม ในฐานะนักข่าว ฉันติดตามความคืบหน้าของโครงการที่มุ่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสวัสดิภาพและ ความรุนแรงต่อสตรี ในเขตเมืองของอินเดีย และตอนนี้ซึ่งเป็นช่วงต้นปี 2019 ฉันพาอาคันตุกะต่างชาติมาที่นี่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมโครงการเมืองปลอดภัยสำหรับผู้หญิง

ฉันเดินทางมาแล้วทั่วอินเดียเป็นเวลาเกือบ 20 ปี โดยมากตามลำพัง เรื่องราวที่ผู้หญิงเหล่านี้บอกฉัน และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเกี่ยวกับชีวิตฉันเอง เป็นเรื่องราวของสังคมซึ่งพื้นที่สาธารณะถูกตีตราว่าเป็นดินแดนของบุรุษเพศเท่านั้น

สำหรับผู้หญิงในอินเดียแล้ว สถิติด้านความปลอดภัยในชีวิตนั้นถือว่าต่ำนัก เมื่อปี 2011 สำนักงานสถิติอาชญากรรมแห่งชาติของอินเดียรายงานว่า มีเหตุความรุนแรงต่อสตรี ในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นถึง 228,650 ครั้ง ซึ่งมีทั้งฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา การลักพาตัว และการล่วงละเมิดทางเพศ  ในปีนั้น การสำรวจระดับนานาชาติครั้งหนึ่งจัดอันดับให้อินเดียเป็นประเทศที่อันตรายสำหรับผู้หญิงเป็นอันดับสี่ของโลก รองจากอัฟกานิสถาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และปากีสถาน การปฏิบัติต่อผู้หญิงในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่คนหลายชั่วรุ่นไม่พอใจกันมานานแล้ว แต่คดีของชโยติ ซิงห์ หรือหญิงสาวที่รู้จักกันในชื่อ นิรภยา กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายของแนวคิดหนึ่งที่ยึดถือกันมานานในอินเดีย นั่นคือ ความรุนแรงต่อสตรี ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

นับตั้งแต่ปี 2010 รถไฟใต้ดินแต่ละขบวนในกรุงนิวเดลีจะมีตู้หนึ่งจัดไว้สำหรับสตรีโดยเฉพาะ ระบบขนส่งมวลชนยังมีสายด่วนสำหรับผู้หญิงและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้หญิงประจำอยู่ที่หลายสถานีด้วย เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางการเดลีประกาศว่าจะเริ่มให้ผู้หญิงโดยสารฟรี เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีทุกชนชั้นเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนสาธารณะได้
ผู้หญิงเดินข้ามถนนในกรุงนิวเดลี ใกล้จุดเกิดเหตุรุมโทรมบนรถประจำทางเมื่อปี 2012 ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประท้วงลุกลามไปทั่วประเทศ รัฐบาลกลางตอบสนองด้วยการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาคดีในศาลของผู้ต้องหา และตั้งกองทุนสำหรับโครงการริเริ่มต่างๆ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยให้สตรี

สิ่งที่น่าทึ่งคือปฏิกิริยาของสังคมอินเดียต่อการทำร้ายร่างกายผู้หญิงที่รู้จักกันในชื่อ นิรภยา เพราะวันแล้ววันเล่าที่ผู้หญิงออกมาประท้วงบนท้องถนนโดยตะโกนคำว่า “เสรีภาพที่ปราศจากความกลัว!” ซึ่งอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในที่สุด

นิรภยาเป็นภาษาฮินดี แปลว่า “ปราศจากความกลัว” เธอเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในปี 2012 เมื่อนักศึกษาแพทย์สาวคนนี้ถูกรุมโทรมบนรถประจำทาง โดยผู้ก่อเหตุเป็นชายเมาสุราหกคนซึ่งใช้แท่งเหล็กแทงเข้าไปในอวัยวะเพศของเธอหลังกระทำชำเรา จากนั้นจับเธอโยนลงจากรถ เธอเสียชีวิตในเวลาต่อมา ฆาตกรที่บรรลุนิติภาวะแล้วถูกจับกุม ดำเนินคดี และได้รับโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นผลลัพธ์อันผิดแผกไปจากปกติวิสัยในประเทศที่คดีข่มขืนเพียงหนึ่งในสี่คดีลงเอยด้วยการพิพากษาลงโทษ สิ่งที่น่าทึ่งกว่าคือปฏิกิริยาของสังคมอินเดียที่มีต่อการทำร้ายร่างกายนิรภยา เพราะวันแล้ววันเล่าที่ผู้หญิงออกมาประท้วงบนท้องถนนโดยตะโกนคำขวัญว่า “เสรีภาพที่ปราศจากความกลัว!” ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในที่สุด

หน่วยงานท้องถิ่นและระดับชาติทุ่มเม็ดเงินให้โครงการริเริ่มใหม่ๆเกี่ยวกับความปลอดภัยของสตรี เมื่อปี 2013 รัฐบาลอินเดียในขณะนั้นกันเงิน 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อดำเนินมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยของผู้หญิง รัฐบาลปัจจุบันให้คำมั่นว่าจะจัดสรรเงินเกือบสามเท่าของทุนประเดิมนั้น เพื่อเปลี่ยนเมืองหลักๆแปดเมือง รวมถึงเดลี ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น มีแสงสว่างมากขึ้น และเป็นสถานที่ที่เป็นมิตรต่อสตรีมากขึ้น

อุษา วิศวกรรม แสดงเทคนิคป้องกันตัวให้นักเรียนในรามครห์ ชนบทในรัฐราชสถาน วิศวกรรมริเริ่มโครงการเรดบริเกด (Red Brigade) หลังเธอถูกทำร้ายร่างกาย และตำรวจท้องถิ่นไม่สืบสวนตามคำแจ้งความของเธอ ปัจจุบัน กลุ่มเรดบริเกดจัดการเดินขบวน ดำเนินโครงการรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ และจัดฝึกอบรมการป้องกันตัว
เจ้าหน้าที่จากหน่วยตำรวจลาดตระเวนสีชมพูในรัฐเกรละตอบสนองต่อการแจ้งเหตุผู้ชายบุกรุกเข้าไปในย่านที่อยู่อาศัยสำหรับหญิงล้วนในถิรุวนันถปุรัม ซึ่งเปิดตัวในเมืองเมื่อปี 2016 และมีตำรวจสีชมพู 32 นายคอยตอบรับการแจ้งเหตุเกี่ยวกับสตรีและเด็ก รวมทั้งเชี่ยวชาญคดีที่ต้องใช้ทนายและอนุญาโตตุลาการ

งานขั้นแรกๆ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ กล่าวคือ ทุกวันนี้ในเดลีตำรวจจัดโครงการอบรมป้องกันตัวฟรี 10 วันให้แก่ผู้หญิง จากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมทั้งเมือง โดยจัด “ฝึกอบรมถึงประตูบ้าน” ให้คนกลุ่มใหญ่ขึ้น  ในรัฐเกรละทางตอนใต้ หน่วยตำรวจหญิงล้วนที่เรียกว่า ตำรวจสีชมพู (Pink Police) จัดกองกำลังลาดตระเวนไปตามท้องถนนและตอบรับการโทรศัพท์แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายจากผู้หญิง

ชมพูเป็นสีที่กำหนดไว้สำหรับบริการขนส่งมวลชนสาธารณะส่วนใหญ่ในเขตเมืองที่จัดให้แก่สตรีโดยเฉพาะ สามล้อเครื่องสีชมพูมีไว้สำหรับผู้โดยสารหญิง ตอนนี้ รถไฟใต้ดินมีตู้โดยสารของผู้หญิงแยกต่างหาก และที่จุดตรวจความปลอดภัยของสถานีชุมทางต่างๆ ผู้หญิงจะยืนในแถวของตัวเอง และได้รับความคุ้มครองจากผู้ชายที่พยายามกระแซะเข้ามาใกล้

ผู้หญิงเข้าร่วมการเดินยามเที่ยงคืน (Women Walk at Midnight) ซึ่งจัดขึ้นทุกเดือนในเดลี โครงการนี้เริ่มขึ้นในปี 2013 เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งเดินไปตามย่านต่างๆ ของเมืองเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ปัจจุบัน โครงการนี้มุ่งทวงคืนพื้นที่สาธารณะให้กับผู้หญิงหลังพลบค่ำ และเอื้อให้ผู้หญิงท่องไปในเมืองของตัวเองได้โดยไม่ต้องหวาดกลัว การเดินดังกล่าวจัดขึ้นผ่านเฟซบุ๊ก และแต่ละเดือนมีผู้เข้าร่วมอย่างน้อยสี่คนไปจนถึงมากกว่าสิบคน

ฉันยอมรับว่าไม่เชื่อมั่นกับโครงการเหล่านี้มากนัก การแบ่งแยกทางเพศโดยรัฐบาลอย่างนั้นหรือ นี่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ผู้หญิงรู้สึกปลอดภัยและสบายใจในพื้นที่สาธารณะพอๆ กับผู้ชายอย่างนั้นหรือ แต่แล้วฉันก็เห็นแคมเปญติดแฮชแท็กของผู้หญิงอินเดียและรู้สึกใจชื้นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น #TakeBackTheNight อันเป็นความพยายามระดับโลกที่รวมเหล่าหญิงกล้าหาญในอินเดียมาเดินด้วยกันนอกบ้านหลังอาทิตย์ตกดิน หรือ #MeetToSleep เมื่อปีกลายที่จัดให้ผู้หญิง 600 คนทั่วประเทศมานอนกลางแจ้งด้วยกันในตอนกลางคืนอย่างปลอดภัย เช่นเดียวกับที่ผู้ชายชาวอินเดียชอบทำ

เรื่อง นิลัญชนา โภว์มิก

ภาพถ่าย สมญา ขันเทลวัล

*อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2562


สารคดีแนะนำ

ความเท่าเทียมทางเพศ : คำถามที่สังคมไทยต้องขบคิด

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.