เช็คกันหน่อยดูรูปภาพนี้แล้วรู้สึกขยะแขยงหรือไม่? ถ้าใช่คุณอาจเป็น “โรคกลัวรู”

เช็คกันหน่อยดูรูปภาพนี้แล้วรู้สึกขยะแขยงหรือไม่? ถ้าใช่คุณอาจเป็น “โรคกลัวรู”

โรคกลัวรู หรือ Trypophobia เป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ คุณผู้อ่านอาจไม่เคยได้ยินชื่อของโรคนี้แบบเต็มๆ คำว่า Trypo มาจากภาษากรีกแปลว่า “อาการเบื่อรู” ส่วน Phobia มีความหมายว่า “ความกลัว” เมื่อรวมกันจึงได้ความหมายว่า อาการกลัวรูเล็กๆ จำนวนมาก

คำศัพท์นี้กลายมาเป็นที่พูดถึงในช่วงปี 2009 จากนักศึกษา มหาวิทยาลัยอัลบานี่-ซันนี่ รายหนึ่งที่สร้างเฟซบุ๊กเพจขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการกลัวรู พร้อมการวินิจฉัย นับแต่นั้นโรคกลัวรูก็ถูกพูดถึงเรื่อยมา

เรดดิท, อินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก แพลทฟอร์มออนไลน์เหล่านี้กลายเป็นศูนย์รวมของภาพรูต่างๆ ที่ใช้ในการทดสอบ และแน่นอนพวกมันถูกแชร์กระจายไปทั่ว

(ประสบการณ์ตรงจากกิบเบนส์เอง เมื่อเธอแชร์ภาพเมล็ดบัวภาพนี้บนทวิตเตอร์ เพื่อนๆหลายคนบนโลกออนไลน์ไม่เข้าใจว่าเหตุใดผู้คนจึงหวาดกลัวรูปนี้ ในขณะที่อีกจำนวนหนึ่งขอร้องให้เธอลบภาพนี้ทิ้งเสีย)

อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวไม่ได้ถูกรับรองโดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกันว่าเป็นอาการของโรคความกลัวที่แท้จริง พฤติกรรมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้นถูกระบุว่าเป็นความรู้สึกแปลก เมื่อพบเจอกับสิ่งที่ผิดปกติ และรูปภาพเหล่านี้ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจมากกว่า

ในปี 2013 มีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อว่า “ความกลัวรู” จัดทำโดยสองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอสเซกซ์ พวกเขาพบว่า 16% ของผู้ใหญ่จำนวน 286 คนที่เข้าร่วมการทดสอบมีความรู้สึกเกลียดชังรูปแบบที่เป็นแพทเทิร์น พวกเขาตั้งทฤษฎีว่าความรู้สึกเกลียดกลัวเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการ เช่น การเกลียดกลัวงู หรือแมงป่อง

รายงานการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเคนต์ ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Cognition and Emotion ระบุถึงสาเหตุที่ว่าทำไมคนเราถึงมีความรู้สึกเกลียดและกลัวกับรูมากนัก

“เป็นที่รู้กันว่าความรู้สึกรังเกียจช่วยให้เราหลีกเลี่ยงอาการติดเชื้อ ที่เกิดจากเชื้อโรค” ทอม คุปเฟอร์ นักศึกษาผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้กล่าว “ดังนั้นการตอบสนองต่อภาพรูเหล่านี้ จึงเป็นการตอบสนองเพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อโรค”

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ผู้คนที่หวาดกลัวรูเล็กๆเหล่านี้ พวกเขากำลังรู้สึกวิตกกังวลถึงเชื้อโรค หรือปรสิตที่อาจติดจากคนสู่คนได้ นักวิจัยผู้ตีพิมพ์รายงานฉบับนี้อธิบายทฤษฎีของพวกเขาว่า กระจุกของหลุมเล็กๆเหล่านี้ ในความรู้สึกอาจเต็มไปด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ นั่นจึงเป็นที่มาของปฏิกิริยาความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เมื่อเรามองไปยังสิ่งของรอบตัวที่มีรูจำนวนมาก

 

ทดสอบทฤษฎี

ในการทดสอบสมมุติฐาน ทีมนักวิจัยใช้ผู้คนจำนวน 300 คนจากโลกออนไลน์ที่ระบุว่าพวกเขามีอาการของโรคกลัวรูและนักศึกษาอีก 300 คน ที่ไม่มีรายงานว่ามีอาการดังกล่าว ทั้งสองกลุ่มถูกกำหนดให้มองดูภาพ 16 ภาพ ในจำนวนนี้มี 8 ภาพที่เป็นภาพของรูตามส่วนต่างๆของร่างกาย และอีก 8 ภาพเป็นรูตามธรรมชาติเช่น เมล็ดบัว และหลุมของก้อนอิฐ เป็นต้น

ทั้งสองกลุ่มระบุว่าพวกเขารู้สึกขยะแขยงภาพรูตามส่วนต่างๆของร่างกาย แต่มีเพียงกลุ่มที่ระบุว่าเป็นโรคกลัวรูเท่านั้นที่รู้สึกขยะแขยงกับภาพของรูที่ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ พวกเขาระบุว่าภาพเหล่านั้นให้ความรู้สึกน่ารังเกียจมากกว่าความหวาดกลัว ทางทีมนักวิจัยจึงตั้งทฤษฎีว่า อาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นลักษณะของความรู้สึกรังเกียจมากกว่าความกลัว ซึ่งแตกต่างจากความรู้สึกหวาดกลัวสัตว์มีพิษ

คาโรล แมทธิว ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรควิตกกังวล อธิบายถึงสาเหตุของความหวาดกลัวที่วิวัฒนาการมาพร้อมกับมนุษย์ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการป้องกันตัว เมื่อร่างกายเผชิญกับสถานการณ์อันตราย

“ข้อโต้แย้งทั้งหมดก็คือความกลัวเป็นส่วนหนึ่งในวิวัฒนาการของเรา” แมทธิวกล่าว “โรคกลัวรูก็เป็นส่วนหนึ่งของระดับความกลัว และไม่ใช่โรคที่คุณต้องไปคลีนิกเพื่อรักษามัน”

 

กายวิภาคของความกลัว

เมื่อความกลัวถูกพัฒนาขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันบางอย่าง ฉะนั้นแล้วผู้คนก็สามารถสร้างความกลัวขึ้นจากอะไรก็ได้บนโลกออนไลน์มีความกลัวหลากหลายประเภท ตั้งแต่กลัวเสียงโทรศัพท์ ไปจนถึงกลัวเมฆ

หนึ่งในข้อโต้แย้งเกี่ยวกับโรคกลัวรู ว่ามันไม่ใช่อาการหวาดกลัวที่แท้จริงนั้น ข้อใหญ่มาจากอุปทานหมู่ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ เมื่อผู้คนหลายคนรู้สึกว่ารูปภาพนั้นๆน่ารังเกียจ

“จริงๆอาการเหล่านี้อาจมีอยู่แล้ว มาเป็นเวลานาน แต่ก็เพราะอินเตอร์เน็ตที่ช่วยให้มันแพร่หลายมากยิ่งขึ้น” แมทธิวกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความกลัวพื้นฐานจากปรสิตหรือไม่ก็ตาม เธอเสริมว่าควรทำการวิจัยเกี่ยวกับโรคกลัวรูมากยิ่งขึ้น เพื่อข้อมูลที่สมบูรณ์

เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบนส์

 

อ่านเพิ่มเติม

ไฉนต้องพูดปด

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.