เด็กๆ ของฮูรา กับโลกที่ร้อนขึ้นทุกที

ในวันที่คนมัลดีฟส์ถือว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศ เด็กทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะเคารพและรู้จักคุณค่าของทรัพยากรที่ตนมีอยู่จำกัด

 

“เราสอนเด็กๆ ตั้งแต่อายุสามขวบแล้วว่า ความเปราะบางทางสิ่งแวดล้อมของเกาะเราเป็นอย่างไรค่ะ”

อมินาท ริชฟา หัวหน้าครูโรงเรียนประถมบนเกาะฮูรา เขตอะทอลล์คาฟูของมัลดีฟส์ เอ่ย  เธอสวมชุดดำสีเดียวกับฮิญาบคลุมใบหน้าทั้งหมด เหลือไว้เพียงช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้เราเห็นเธอแค่ดวงตากลมโตสุกใสคู่นั้น  น้ำเสียงของเธอกระตือรือร้นมีพลัง และยากจะเดาอายุ  อาจจะ 30 ต้นๆ หรือมากกว่านั้น

“แต่เพราะอายุเท่านั้นยังเป็นวัยเล่นอยู่  เราจึงให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการเล่นค่ะ” อาจารย์ริชฟาพูดราวกับรู้ทันเราคิด  เด็กๆ บนเกาะฮูราเรียนรู้เรื่องความเปราะบางของบ้านเกิดของตัวเองจากความจริงที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ในวันที่คนมัลดีฟส์ถือว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศ เด็กทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะเคารพและรู้จักคุณค่าของทรัพยากรที่ตนมีอยู่จำกัด

ฮูรา (Huraa, Hoora) เป็นเกาะที่กว้างเพียง 300 เมตร ยาว 850 เมตร มีชะตากรรมเหมือนเกาะอื่นๆ ของมัลดีฟส์ ประเทศที่ได้ชื่อว่าแบนราบที่สุดในโลก ซึ่งเสี่ยงจมอยู่ใต้ระดับทะเลที่สูงขึ้นทุกที อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าอย่างเร็วภายในปี 2085 น้ำจะท่วมทุกเกาะของมัลดีฟส์ อย่างช้าคือปี 2100

ในระดับประเทศ รัฐบาลมัลดีฟส์วางแผนแก้ปัญหาด้วยเทคนิคทางวิศวกรรม เช่น การสร้างกำแพงล้อมรอบเมืองหลวงมาเล่ ถมทะเลเพื่อยกระดับแผ่นดิน ป้องกันน้ำใต้ดินและเพิ่มการเก็บกักน้ำฝน รวมทั้งเตรียมอพยพประชาชนไปยังถิ่นอื่น

ในระดับเกาะอย่างที่ฮูรา ซึ่งอยู่ห่างจากมาเล่เพียงครึ่งชั่วโมง ครูในโรงเรียนประถมประจำเกาะกำลังสอนให้เด็กรับความจริงข้อนี้และหาหนทางรับมือกับอนาคตที่กำลังจะมาถึง ด้วยการสอดแทรกการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในทุกวิชา ทั้งด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์  เพราะเด็กชั้นประถมจำนวน 230 คนของที่นี่ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องรับมือกับวิกฤติสิ่งแวดล้อมของเกาะบ้านเกิดและของโลกในอนาคต เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆทั่วโลก

โรงเรียนประถมฮูราในระหว่างหยุดพักช่วงบ่ายให้นักเรียนกลับบ้านไปรับประทานอาหารกลางวันและละหมาด โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนประถมราว 200 คน มีการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้เด็กๆ ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย เข้าใจและจัดการตนเองได้ และปฏิบัติตนตามวิถีของอิสลาม

“ก่อนหน้านี้เราเคยแยกวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา (environmental studies) ออกจากวิชาอื่นๆ” อาจารย์ริชฟาเล่าถึงการทบทวนหลักสูตรเมื่อปี 2013  พอถึงปี 2015 โรงเรียนฮูราก็เริ่มใช้หลักสูตรใหม่ที่วิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาสอดแทรกอยู่ในวิชาอื่นๆอย่างลงลึกขึ้น  อาจารย์ริชฟาบอกว่าวิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาหลักที่เด็กๆจะได้เรียนรู้ถึงความเปราะบางที่เกิดขึ้นกับเกาะฮูรา เช่น การกัดเซาะของดิน วิธีป้องกัน และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  “พอถึงประถมสี่ ทุกวิชาจะประสานเข้าด้วยกัน เพื่อดูว่าเราจะก้าวข้ามปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรและจะป้องกันเกาะของเราได้อย่างไรค่ะ”

ในวิชาพละ เด็กๆของฮูราต้องเรียนว่ายน้ำ และเมื่อโตพอ พวกเขาต้องเรียนสนอร์เกิลเพื่อสำรวจปะการังและเข้าใจความเปราะบางของมัน  ในวิชาสังคมศาสตร์ เด็กจะได้เรียนรู้ว่าทำไมพวกเขาจึงไม่ควรใช้พลาสติก มันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร  รู้จักการใช้ซ้ำและรีไซเคิล  และเพราะที่โรงเรียนห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง (single-use plastic) ในกิจกรรมทุกอย่างของโรงเรียน เด็กๆจึงต้องนำถุงผ้าหรือถุงกระดาษมาจากบ้านเอง

“เด็กทุกคนเป็นสมาชิกชมรมสิ่งแวดล้อม” อาจารย์ริชฟาบอก “ เราชวนเด็กๆ สำรวจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันค่ะ  บางครั้งเด็กๆเลือกพื้นที่และตกลงร่วมกันเองว่าจะสำรวจอะไรบ้าง เช่น สำรวจว่ามีขยะไหม ถ้ามี ก็จะทำความสะอาดด้วยกัน  ครูจะพาเด็กๆไปในที่ที่เขาอยากไป ค่อยๆสั่งสมความรู้และประสบการณ์ไปเรื่อยๆค่ะ”

ในวิชาพละ เด็กๆของฮูราต้องเรียนว่ายน้ำ และเมื่อโตพอ พวกเขาต้องเรียนสนอร์เกิลเพื่อสำรวจปะการังและเข้าใจความเปราะบางของมัน  ในวิชาสังคมศาสตร์ เด็กจะได้เรียนรู้ว่าทำไมพวกเขาจึงไม่ควรใช้พลาสติก มันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร  รู้จักการใช้ซ้ำและรีไซเคิล

ประสบการณ์ถือเป็นสิ่งสำคัญ  อาจารย์ริชฟาคิดว่าเด็กๆได้เห็นการกัดเซาะชายฝั่งของเกาะที่เกิดขึ้นใกล้ตัวทุกวัน แต่ยังไม่มีใครเคยรู้จักสึนามิอย่างที่ผู้ใหญ่เคยพบเจอเมื่อปี 2004  ครูจึงให้เด็กๆดูวิดีโอ  “เด็กๆก็ถามกันใหญ่ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นได้  มันเกิดขึ้นอย่างไร  พวกเขาเคยคิดว่าที่อื่นที่มีภูเขาไฟระเบิด มีแผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม จะไม่ส่งผลกระทบกับเรา  เราเลยได้อธิบายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆของโลก ก็ส่งผลต่อเราด้วย  ภาวะโลกร้อนก็มีผลกระทบกับเรา  ยิ่งเรามีสภาพเปราะบางเพราะเป็นเกาะที่อยู่ระดับต่ำ  เราก็จะจมน้ำด้วย” เธอเล่า

เธอเล่าต่อว่า “เด็กๆถามว่าเหลือเวลาอีกเท่าไรกว่าน้ำจะท่วมเกาะ  เราจะหนีไปที่ไหน  เรามีที่อื่นให้หนีไปหรือเปล่า  แล้วเด็กอีกคนก็ตอบว่า เรามีเกาะเกือบ 1,200 เกาะ จะต้องมีเกาะที่ปลอดภัยสำหรับพวกเรา”  อาจารย์ริชฟาเล่า “เราต้องอธิบายให้เด็กๆฟังว่า มันไม่ได้เกี่ยวกับการหาเกาะที่ปลอดภัยเท่านั้น แต่พวกเราจะหาทางป้องกันเกาะที่เราอยู่นี้ได้อย่างไร   เด็กๆเลยคิดได้ว่า ถ้าหากน้ำแข็งละลายช้า น้ำทะเลก็จะสูงขึ้นช้าด้วย และมันก็จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเรา”

“เด็กบางคนคิดจริงจังเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีความคิดใหม่ๆเกี่ยวกับวิธีป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น วิธีใช้ทรัพยากรทดแทน  เด็กๆฉลาดกันมากค่ะ ค้นข้อมูลกันมากมายและพบว่าแม้แต่ประเทศที่มีป่า (ป่าดิบเขตร้อน) ก็ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อม  การพัฒนาทำให้เกิดปัญหา มีสารเคมีในสิ่งแวดล้อม  แล้วพวกแกก็คิดว่าถ้าอย่างนั้น ที่นี่ก็ยังปลอดภัยดีนะ”

แม้ฮูราจะเป็นเกาะขนาดเล็กที่กว้างเพียง 300 เมตรและยาว 850 เมตร แต่เกาะแห่งนี้เป็นบ้านเกิดของบุคคลสำคัญ เช่น สุลต่านราชวงศ์ฮูรา ซึ่งเป็นกษัตริย์ราชวงศ์สุดท้ายของประเทศ ฮูราต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชาวฮูราและลูกหลานกำลังเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้น เช่นเดียวกับเกาะอื่นๆ ของมัลดีฟส์

อันที่จริงความกังวลของคนมัลดีฟส์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบันทึกไว้เป็นเรื่องเป็นราวอย่างน้อยก็ 20 ปีแล้ว

ในห้องหนังสือภาษาอังกฤษของหอสมุดแห่งชาติของมัลดีฟส์ที่ตั้งอยู่ติดกับสุลต่านพาร์ก มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Change in the Topography of the Maldives ที่ฮัสซัน อาห์เหม็ด มานิกู เป็นผู้เขียน และจัดพิมพ์โดยสภานักเขียนสิ่งแวดล้อมของมัลดีฟส์ (Forum of Writers on Environment (Maldives)) ซึ่งถ้าเราไม่สังเกตก็อาจจะเล็ดรอดสายตาไป ความที่เป็นหนังสือปกอ่อนเล่มเล็กที่บางมากๆ  ที่สำคัญคือถูกตีพิมพ์ออกมาในทศวรรษที่ 1990 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โลกตะวันตกพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะในหมู่นักสิ่งแวดล้อม และนิตยสารชั้นนำของสหราชอาณาจักรอย่าง The Ecologist เริ่มตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องนี้

ด้วยความหนาเพียง 91 หน้า  หนังสือเล่มนี้รวบรวมข้อมูลและภาพถ่ายการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศของมัลดีฟส์อย่างละเอียดจากหนังสือ 135 เล่มครอบคลุมช่วงเวลากว่า 100 ปี บันทึกรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ความเร็วลม ปริมาณน้ำฝน รายชื่อเกาะต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากพายุครั้งก่อนๆ เกาะที่ถูกกัดเซาะหรือรวมกับเกาะอื่นไปแล้ว เกาะที่เคยมีผู้อยู่อาศัยและถูกทิ้งร้าง เกาะที่ถูกน้ำท่วม การถมทะเล เหตุการณ์ไฟไหม้ ฟ้าผ่า แหล่งโบราณคดีต่างๆ รวมถึงโรคระบาด การถูกชาวต่างชาติรุกราน ข้อพิพาท กระทั่งเหตุการณ์ต่างๆที่มีการใช้เวทมนตร์คาถาช่วยแก้ไข

“จงค้นคว้าวิจัยข้อมูลต่างๆเท่าที่มี  จงรวบรวมเป็นคลังความรู้จากข้อเท็จจริงในประเด็นสำคัญนี้  และขอพวกเราจงอย่าแชเชือนหรือรอให้คนอื่นทำ จนผลที่ออกมาบิดเบือนไปสิ้น  ขอให้พวกเรามีความกล้าหาญที่จะใช้บทเรียนจากอดีตเพื่อกำหนดชะตากรรมของเราเอง”

มานิกูรวบรวมข้อมูลต่างๆอย่างละเอียดยิบเพราะเขาเห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อมัลดีฟส์อย่างใหญ่หลวง  เขารายงานถึงการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ Commonweath Expert Group ที่บอกตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าภายในปี 2030 โลกจะร้อนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 120,000 ปี  มานิกูเขียนในย่อหน้าแรกของหนังสือว่าประเทศต้องจมน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และคงมีน้อยคนนักที่ต้องเผชิญชะตากรรมที่เลวร้ายกว่าคนมัลดีฟส์  และในหน้าสุดท้าย เขาประกาศว่าจะไม่ยอมเป็นผู้ลี้ภัยทางสิ่งแวดล้อม

มานิกูเขียนเอาไว้ว่าเขาไม่อยากให้มัลดีฟส์จมน้ำ ไม่อยากให้ประเทศถูกกัดเซาะ และไม่อยากให้เศรษฐกิจล่มจม  เขาเร่งเร้าให้คนมัลดีฟส์ “จงค้นคว้าวิจัยข้อมูลต่างๆเท่าที่มี  จงรวบรวมเป็นคลังความรู้จากข้อเท็จจริงในประเด็นสำคัญนี้  และขอพวกเราจงอย่าแชเชือนหรือรอให้คนอื่นทำ จนผลที่ออกมาบิดเบือนไปสิ้น  ขอให้พวกเรามีความกล้าหาญที่จะใช้บทเรียนจากอดีตเพื่อกำหนดชะตากรรมของเราเอง”

ภายในสองทศวรรษที่ผ่านมา มัลดีฟส์ โดยเฉพาะในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด นาชีด พยายามส่งเสียงให้ประชาคมโลกหันมาใส่ใจแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ด้วยการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีใต้สมุทรในชุดประดาน้ำในปี 2009 ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก จะจัดขึ้นเพียงไม่กี่วัน  นับเป็นหนแรกที่โลกมองมัลดีฟส์ด้วยสายตาใหม่

ในประเทศที่ประกอบด้วย 1,190 เกาะอย่างมัลดีฟส์ มีเพียงไม่กี่เกาะที่มีป่าโกงกาง ป่าขนาด 56 ไร่เศษแห่งนี้เป็นบ้านของต้นไม้ราว 10 ชนิด มีโกงกางสี่ชนิด หนึ่งในนั้นเป็นชนิดพื้นถิ่น

“เกาะเราไม่ได้มีทรัพยากรมาก แต่เราโชคดีมากที่มีป่าโกงกางอยู่ค่ะ  ในหลักสูตรใหม่ เราสอนเรื่องความสำคัญของป่าโกงกาง เราจะปกป้องป่าโกงกางได้อย่างไร” อาจารย์ริชฟากล่าว

พวกเราใช้เวลาเพียงห้านาทีเดินจากโรงเรียนถึงป่าโกงกางขนาด 56 ไร่เศษ เป็นหนึ่งในป่าโกงกางที่มีอยู่บนเกาะเพียง 150 เกาะ จากเกาะทั้งหมด 1,190 เกาะทั่วประเทศ  การวิจัยเกี่ยวกับระบบป่าโกงกางในมัลดีฟส์ยังมีอยู่น้อยมาก  สำหรับคนท้องถิ่น ป่าโกงกางเป็นทั้งแหล่งอาหาร เชื้อเพลิง ไม้สร้างบ้าน ต่อเรือ และทำเป็นยา  ยิ่งไปกว่านั้น ป่าโกงกางยังเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพของปะการัง เป็นกันชนคลื่น และช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งของเกาะ

ป่าโกงกางของมัลดีฟส์ไม่ได้เป็นป่าโกงกางปากแม่น้ำอย่างของไทย แต่ถูกแบ่งเป็นระบบป่าเปิดสู่ทะเลและป่าปิด  ฮุสเซน ฟาร์ฮาน หรือ “ฟาเรย์” อาจารย์สอนวิชาพละผู้รอบรู้เกี่ยวกับป่าโกงกางแห่งนี้อธิบายว่า ป่าโกงกางแห่งนี้เป็นป่าคูลิ (kulhi) หรือป่าเปิด/กึ่งเปิดสู่ทะเลและมีบึง ซึ่งน้ำขึ้นลงตามเวลา อยู่ตรงกลาง  ป่าแห่งนี้เป็นบ้านของโกงกางสี่ชนิดและต้นไม้ชนิดอื่นอีกเกือบ 10 ชนิด  วันที่เราไป เจอนกกระสานวล กาเหว่า ปูก้ามดาบนับไม่ถ้วน และลูกฉลามหูดำ  เมื่อห้าหกปีก่อน นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติของมัลดีฟส์ เคยมาสำรวจสิ่งมีชีวิตที่นี่ และทำระเบียนชื่อพืชและสัตว์ที่พบเอาไว้

นกกระสานวลเป็นสัตว์ที่พบเจอในป่าโกงกางแห่งนี้ นอกเหนือจากนกกาเหว่า ปูก้ามดาบ ปูแสม ปลากระเบน และฉลามหูดำ

“ตอนที่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาสำรวจป่าโกงกาง เด็กๆจากโรงเรียนของเราก็ไปร่วมสำรวจและติดป้ายชื่อต้นไม้ด้วยค่ะ  เด็กๆช่วยกันดูว่ามีสัตว์และพืชกี่ชนิด ได้เรียนรู้ว่าระบบนิเวศนี้สำคัญและสัมพันธ์ถึงกันหมดอย่างไร” อาจารย์ริชฟาเล่า  สำหรับเด็กฮูรา “ระบบนิเวศ” ของพวกเขาคือป่าโกงกาง  “เด็กๆจะมีประสบการณ์ ได้รู้สึก และได้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองบ้าง  ในเหตุการณ์สึนามิปี 2004 เกาะส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบหนัก แต่โชคดีที่เรามีป่าโกงกางคอยป้องกันเอาไว้และเราก็อธิบายเรื่องนี้ให้เด็กๆฟังค่ะ”  ข้อมูลที่มาจากประสบการณ์ตรงทั้งความรู้และความรู้สึกย่อมมีความหมายในฐานะที่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตในใจเด็กต่อไปในอนาคต

ความที่ป่าแห่งนี้ไม่ไกลจากเมืองหลวงอย่างมาเล่ จึงมีนักเรียนจากมาเล่และเกาะใกล้ๆ นั่งเรือมาทัศนศึกษา  แน่นอนว่าเด็กนักเรียนจากโรงเรียนประถมฮูรา สามารถพาเด็กจากโรงเรียนอื่นดูป่าของพวกเขาและอธิบายถึงต้นโกงกางเฉพาะถิ่นที่ขึ้นเฉพาะที่นี่ได้อย่างภาคภูมิใจ

“เด็กๆจะมีประสบการณ์ ได้รู้สึก และได้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองบ้าง  ในเหตุการณ์สึนามิปี 2004 เกาะส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบหนัก แต่โชคดีที่เรามีป่าโกงกางคอยป้องกันเอาไว้และเราก็อธิบายเรื่องนี้ให้เด็กๆฟังค่ะ”

อาจารย์ริชฟาเองก็เกิดและเติบโตบนเกาะฮูรา  เธอมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเกาะฮูราหลายประการ  เธอบอกว่าตอนเป็นเด็ก ได้ออกไปเล่นนอกบ้าน มีต้นไม้หนาแน่นกว่านี้ อากาศเย็นสบายกว่า  ผู้คนบนเกาะเคยอาศัยป่าโกงกางเป็นป่าชุมชน  เมื่อตัดไม้ไปใช้แล้ว ก็จะกลับมาปลูกใช้คืนมากกว่าที่ตัดไปมาก  “แต่ตอนนี้ป่ากลายเป็นของรัฐตามกฎหมายสงวนและปกป้องสิ่งแวดล้อม จึงห้ามเข้าค่ะ ทำให้ไม่มีคนเข้าไปปลูกป่าเพิ่มอีกเลย”  ยังไม่นับว่าที่ชายป่าห่างไปแค่ไม่กี่เมตร มีโรงงานปลาแช่แข็งของคนจากเกาะอื่นมาตั้งอยู่ด้วย

“เด็กๆที่โรงเรียนก็รู้เรื่องนี้และคุยกันในโรงเรียนว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง  ทุกๆปี เด็กๆจึงจัดกิจกรรมปลูกป่าด้วยความรู้สึกที่ว่าป่าแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินของเราค่ะ” อาจารย์ริชฟาเล่า

แต่ความสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมของเด็กๆ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่บนเกาะเล็กๆ ของตนเท่านั้น  เด็กประถมของฮูรารู้จักเกรียตา ทุนเบิร์ก สาวน้อยนักสิ่งแวดล้อมวัย 16 ปีชาวสวีเดนด้วย

“เราสนับสนุนให้เด็กๆเป็นเหมือนเกรียตาค่ะ ให้พวกเขาส่งเสียงเพื่อประเทศของเรา” อาจารย์ริชฟาเล่า  การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทำให้เด็กๆของฮูรารู้จักสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลก  “เด็กๆคุยกันถึงไฟไหม้ที่บราซิลด้วยค่ะ บอกว่าถึงเราที่มัลดีฟส์จะไม่มีป่าเขตร้อน แต่เราก็จำเป็นต้องปกป้องป่าเขตร้อนด้วย”  เด็กๆ ถกกันว่าจะป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างไร   “เด็กบางคนที่มองในแง่ดีก็บอกว่าถ้าหากไฟดับแล้ว ก็ยังปลูกต้นไม้ได้ แล้วชวนกันปลูกต้นไม้เพิ่มคนละห้าต้นเพื่อป่าดิบที่ถูกไฟไหม้ในแอมะซอน”

นักเรียนประถมฮูราใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน และยังสนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในที่อื่นๆ ของโลกด้วย

คนมัลดีฟส์มักอยู่แต่ในเกาะบ้านเกิดอย่างที่เคยเป็นมานานนับศตวรรษก็จริง แต่วันนี้ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป

ทอม มาสเตอร์ส นักเดินทางและนักเขียนคู่มือนำเที่ยวมัลดีฟส์ของสำนักพิมพ์โลนลีแพลเน็ต เคยเขียนเอาไว้อย่างนั้น  เขาบอกว่าประเด็นสำคัญในการทำความเข้าใจคนมัลดีฟส์คือการเป็นมุสลิมผู้ศรัทธา มีวิถีชีวิตตามประเพณี และการทำงานหนัก  ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานของอัตลักษณ์พลเมืองมัลดีฟส์ในทุกระดับชั้น  “ความยากลำบากในการเอาชีวิตให้รอดบนเกาะที่ห่างไกลและแห้งแล้งนั้น สร้าง ‘ชาติที่ทำงานหนัก’ และคุณค่าของการทำงานหนักให้แผ่ขยายไปทั่วประเทศ จนมีคำกล่าวที่ว่า ‘คนมัลดีฟส์ที่ขี้เกียจคือคนมัลดีฟส์ที่ไม่กินอาหาร’”

มาสเตอร์สได้คำตอบข้างต้น จากคำถามที่เขาเคยพิศวงว่าคนมัลดีฟส์คือใครกันแน่  “เอเชียก็ไม่ใช่ แอฟริกาก็ไม่เชิง และก็ไม่ได้เป็นอาหรับ ทั้งที่วัฒนธรรมคล้ายๆกัน”  และมัลดีฟส์ในยุคนี้ก็กำลังเคลื่อนเข้าสู่ชุมชนนานาชาติมากกว่าที่เคยเป็นมา  เขาตั้งข้อสังเกตว่าแต่เดิมคนมัลดีฟส์ภักดีต่อเกาะของตัวเองมากที่สุด เช่นเดียวกับที่บางคนบอกว่าเกาะถือเป็นครอบครัวขยายของคนมัลดีฟส์ ส่วนอะทอลล์และประเทศมีความสำคัญในลำดับถัดมา

ประเด็นสำคัญในการทำความเข้าใจคนมัลดีฟส์คือการเป็นมุสลิมผู้ศรัทธา มีวิถีชีวิตตามประเพณี และการทำงานหนัก

ถึงแม้อัตราการอ่านออกเขียนได้ของคนทั้งประเทศจะสูงถึงร้อยละ 98  คนมัลดีฟส์เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ประถมหนึ่ง และคนที่เรียนจบมัธยมปลายล้วนพูดภาษาอังกฤษได้ดี แต่การเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยแห่งชาติในเมืองแออัดอย่างมาเล่ยังมีน้อย ความที่มีการแข่งขันสูงและมีที่นั่งจำกัด  คนรุ่นใหม่ของมัลดีฟส์มีแนวโน้มจะออกไปเรียนต่อต่างประเทศ เช่น ศรีลังกา อินเดีย สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย หรือฟิจิ  ไม่ว่าจะตั้งใจหรือจำเป็น คนรุ่นใหม่ของมัลดีฟส์กำลังเดินทางจากเกาะบ้านเกิดที่อยู่ต่อเนื่องกันมาร้อยๆปี ไปสู่ถิ่นอื่นตามวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก

เด็กประถมที่ฮูราก็เช่นกัน หากอยากรียนต่อชั้นมัธยม พวกเขาก็ต้องเดินทางไปเกาะที่ใหญ่กว่าหรือเกาะที่เป็นเมืองหลวงของอะทอลล์  ถึงอย่างนั้น หัวจิตหัวใจที่จะปกปักรักษาธรรมชาติรอบตัวก็จะติดตัวเขาไปด้วย เมื่อเมล็ดพันธุ์ที่อาจารย์ริชฟาและอาจารย์คนอื่นๆในโรงเรียนช่วยกันหว่านเอาไว้ในใจเด็กๆหยั่งรากแข็งแรง  และพวกเขาเป็นผู้กำหนดนโยบายของประเทศ อย่างที่สุลต่านราชวงศ์สุดท้ายของมัลดีฟส์ นายกรัฐมนตรี และบุคคลอื่นๆในคณะรัฐบาลผู้มาจากเกาะเล็กๆแห่งนี้เคยได้ทำมาก่อน

เด็กๆ ทุกคนต้องว่ายน้ำเป็นและเรียนดำน้ำตื้นเมื่อโตขึ้น ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ว่าน้ำจืดไม่ได้มาจากก๊อกน้ำเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรน้ำ รูปมือที่แทนใบไม้แต่ละใบคือมือของเด็กๆ ที่จะช่วยกันปกป้องสิ่งแวดล้อมของเกาะฮูราต่อไป

“เราพยายามทำให้ชีวิตที่บ้านของเด็กๆ เป็นแบบเดียวกับที่โรงเรียนค่ะ” อาจารย์ริชฟาตั้งใจอย่างนั้น

แต่ละเทอม โรงเรียนประถมฮูราให้เด็กๆทำเช็คลิสต์วิถีชีวิตประจำวันว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด  เด็กๆจะต้องตอบคำถามว่าตนใช้น้ำไปเท่าไร ใช้อย่างไร ปิดไฟ ปิดพัดลม รีไซเคิลไหม ฯลฯ ด้วยความตั้งใจจะให้เด็กๆ ฝึกฝนเรื่องเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน  “แต่ก็ยังมีเด็กที่ไม่ใส่ใจค่ะ” อาจารย์ริชฟากล่าวและตั้งข้อสังเกตว่า “เด็กที่อายุน้อยกว่าตระหนักถึงปัญหามากกว่าเด็กที่อายุมากกว่าค่ะ”

ความท้าทายของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าคนรุ่นก่อนๆ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบเดิมอยู่ ทั้งในบ้านและชุมชน  “เด็กหลายๆคนจึงคิดว่า ถ้าคนอื่นไม่ทำกัน ทำไมเขาต้องทำด้วย  แต่หลายคนก็บ่นว่าพ่อแม่ไม่ยอมปิดไฟ ทั้งที่เป็นตอนกลางวัน หรือแม้แต่ในพื้นที่สาธารณะอย่างถนนหรือสนามเด็กเล่น ก็ยังเปิดไฟทิ้งเอาไว้

 “ความเปลี่ยนแปลงย่อมใช้เวลา และในที่สุดมันก็จะเปลี่ยนได้ค่ะ”

อาจารย์ริชฟาไม่ได้ท้อใจ “สำหรับเราที่เป็นครูคิดว่า ถ้าเราทำแบบนี้อย่างสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงได้ค่ะ”  แววตาของเธอยังสุกใสเหมือนตอนแรกที่เริ่มสนทนา  “ความเปลี่ยนแปลงย่อมใช้เวลา และในที่สุดมันก็จะเปลี่ยนได้ค่ะ”

เธอมองไปยังภาพเขียนวัฏจักรน้ำบนผนังตึกที่มีรูปต้นไม้ใหญ่แผ่ครอบคลุมวัฏจักรน้ำเอาไว้  ต้นไม้นั้นมีใบไม้เป็นรูปมือและชื่อของเด็กๆทุกคนกำกับอยู่  “มือของเด็กๆคือใบไม้  ถ้าหากเราช่วยกัน เราก็จะป้องกันสิ่งแวดล้อมได้  เราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมค่ะ”

เด็กประถมที่ล้างมือจากก๊อกทั้งสี่ที่ติดตั้งอยู่ใต้ภาพวัฏจักรน้ำที่ว่านี้ก็ย่อมมองเห็นและรู้ดีว่า น้ำที่เขากำลังใช้อยู่นั้น เดินทางมายาวไกลกว่าที่เขาเห็นแค่ว่ามันไหลออกมาจากก๊อกน้ำเพียงใด

อย่างน้อยบางคนก็เริ่มตั้งข้อสังเกตได้เองแล้วว่า ทำไมพอถึงฤดูฝนแล้ว ฝนยังไม่ตกสักที

………………………………………………………………….

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.