ชีวิตจะเปลี่ยนไหม หากได้ลองอด

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในวันแรกของเดือนรอมฎอน เดือนที่ชาวมุสลิมจะพร้อมใจกันถือศีลอดประจำปี ตามปฏิทินของศาสนาอิสลาม เป็นวันเดียวกันกับที่ผมเพิ่งเดินทางถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย นี่เป็นครั้งที่สองแล้วที่ผมมาเยือนประเทศนี้ในรอบปีนี้ และมาเลเซียยังคงมีอะไรใหม่ๆ ให้นักเดินทางอย่างผมประทับใจอยู่เสมอ

ในช่วงเย็นผมกับเพื่อนออกไปเดินตลาดนัด ลัดเลาะไปตามถนนคนเดินเรื่อยๆ จนมาถึงย่านที่มีร้านอาหารคับคั่ง ภาพของชาวมาเลเซียนั่งรอรับประทานอาหารอยู่ที่โต๊ะเป็นความแปลกใหม่ที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ทุกร้านอาหารมีผู้คนแน่นขนัด ทุกคนมีอาหารอยู่ตรงหน้า แต่ยังไม่มีใครเริ่มต้นลงมือกิน พวกเขากำลังรอฟังเสียงประกาศที่จะบอกถึงเวลาละศีลอดจากมัสยิด

ถ้าเป็นคุณเองจะคิดอะไรอยู่ในขณะนั้น เมื่อคุณทนหิวมาทั้งวัน อาหารตั้งอยู่ตรงหน้าแค่เอื้อม แต่ไม่สามารถรับประทานได้?

ภาพถ่ายจากอินสตาแกรม @little.michima : ที่กัวลาลัมเปอร์ วันแรกของเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมซื้ออาหารเตรียมไว้รอรับประทานหลังละศีลอดในช่วงค่ำ

เราเลือกศูนย์อาหารเล็กๆ แห่งหนึ่งเป็นที่ฝากท้องในมื้อเย็นวันนั้น อาหารที่เราสั่งมาพร้อมกับเสียงประกาศจากมัสยิดพอดี แล้วเสียงพูดคุยจอแจก็เบาลง เมื่อทุกคนเริ่มตักอาหารเข้าปาก

“ก็ไม่มีใครกินมูมมามนะ” ผมบอกกับเพื่อนคนไทยชาวมุสลิมที่ไปทำงานที่นั่น เขาหัวเราะ ใช่ผมคิดเช่นนั้นจริงๆ กว่า 14 ชั่วโมงที่ไม่มีอาหาร และน้ำตกถึงท้องเลย ภาพจินตนาการของผมพวกเขาควรจะหิวกระหายกว่านี้

เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นตอนตีสี่กว่าๆ และไม่ใช่แค่ครั้งเดียว กว่าเพื่อนของผมจะขุดตัวเองขึ้นจากเตียงให้ลุกไปทำอาหารเช้าได้ ไข่คนปลากระป๋องกับข้าวสวยที่หุงจากไมโครเวฟ เมนูง่ายดายที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามประสาชีวิตคนเมือง เพื่อนชวนให้มากินข้าวด้วยกัน แต่ผมปฏิเสธ เพราะไม่ใช่เวลาที่จะมีอาหารตกถึงท้อง ผมนั่งดูเพื่อนกินข้าวไป เล่นโทรศัพท์ไป นับจากนี้ไปอีก 1 เดือน วงจรชีวิตของมันจะกลายเป็นแบบนี้ ตื่นกินข้าวกินน้ำก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและกินดื่มได้อีกทีหลังพระอาทิตย์ตก

หลังจบทริปท่องเที่ยวในมาเลเซีย ผมกลับมาเป็นมนุษย์ออฟฟิศเช่นเดิม แต่ความสงสัยในกระบวนการถือศีลอดยังคงติดค้างอยู่ในใจ ร่างกายมนุษย์ได้รับประโยชน์จากการอดอาหารและน้ำเป็นเวลานานติดต่อกันร่วมเดือนได้จริงหรือ? ผมค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต หลายเว็บไซต์และวิดีโอกล่าวถึงประโยชน์ที่ร่างกายจะได้รับ เมื่ออดอาหารไว้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิต ค่าไขมัน และระดับน้ำตาลที่จะลดลง นอกจากนั้นยังรวมถึงการชำระล้างสารพิษในร่างกายอีกด้วย ผมนึกถึงผลตรวจสุขภาพประจำปีก่อนหน้านี้ไม่นาน ร่างกายของผมแข็งแรงสุขภาพดี ผมอยากรู้ว่าถ้าผมถือศีลอดเช่นเดียวกับชาวมุสลิมบ้างจะเป็นอย่างไร? และแล้วกระบวนการอดอาหารครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตก็ได้เริ่มต้นขึ้น

 

เริ่มต้นฝึกความอดทน

“ไม่ยากอย่างที่คิด” คือนิยามของความรู้สึกโดยรวมในวันแรกของการถือศีลอด สิ่งที่ผมกังวลไม่ใช่อาหาร แต่เป็นน้ำต่างหาก เนื่องจากปกติแล้วผมเป็นคนที่ดื่มน้ำมาก อาจเป็นเพราะผมนั่งอยู่ในออฟฟิศที่มีเครื่องปรับอากาศทั้งวัน เลยทำให้ร่างกายไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดน้ำ และผมพยายามเลือกทานอาหารมื้อเช้าที่ไม่เค็ม หรือมันมากนัก เพราะกลัวว่าร่างกายจะกระหายน้ำมากขึ้น ผมนั่งสมาธิแทนการละหมาดอย่างที่ชาวมุสลิมทำ เมื่อตะวันลาลับขอบฟ้าไป วันแรกจบลงด้วย(สัญญาณที่)ดี แต่นี่เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งสำคัญคือวินัยที่นับจากนี้ต้องทำให้ครบเดือน

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตจากตัวเองในช่วงสัปดาห์แรก ร่างกายของผมอ่อนเพลียกว่าที่เคย ผมรู้สึกได้เลยว่าตัวเองต้องการนอนมากกว่าเดิม นั่นอาจเป็นเพราะพลังงานจากอาหารไม่เพียงพอ ผมคิดว่าร่างกายจึงพยายามบอกให้ผมพักผ่อนให้มากขึ้นแทน

 

อรุณ เด่นยิ่งโยชน์ ผู้อำนวยการสถาบันต้อนรับผมด้วยสีหน้าแจ่มใส เมื่อผมแวะไปเยือนยังสถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม ออฟฟิศเล็กๆของเขาตั้งอยู่ในอพาร์ตเม้นท์แห่งหนึ่ง การเดินทางที่ยาวนานประกอบกับช่วงเช้าที่ออกไปทำงานภาคสนามมา ผมสารภาพแบบเขินๆ กับเขาว่าได้แอบดื่มน้ำไปแล้วหนึ่งขวดเมื่อช่วงเที่ยง (คุณ)อรุณหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะเชิญให้ผมไปนั่งคุยกันที่โต๊ะ

“ชั่วชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าเขาเกิดมาโดยไม่เคยได้ลิ้มรสความรู้สึกอดอยากเลย เขาคนนั้นจะไม่เข้าใจว่าเพื่อนมนุษย์คนอื่นที่ไม่มีจะกินเป็นอย่างไร ส่วนในทางจิตวิญญาณถ้ามนุษย์เรามีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์มากเกินไป จะเริ่มห่างไกลจากศีลธรรมจรรณยาขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดอาจกลายเป็นคนที่กดขี่ข่มเหง เอาเปรียบผู้อื่น ความหิวทำให้มนุษย์เราขาดบางสิ่งบางอย่างในร่างกาย” คุณอรุณกล่าวถึงหัวใจหลักของการถือศีลอดให้ผมฟัง พร้อมเดินไปหยิบอัลกุรอ่าน เปิดซูเราะห์ดังกล่าวให้ดู “ศีลอดเป็นหนึ่งในบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ที่ชาวมุสลิมต้องปฏิบัติตาม” เขากล่าว ผมดึงอัลกุรอ่านฉบับภาษาไทยกับฉบับภาษาอาหรับมาดูเปรียบเทียบกัน ในภาษาอาหรับมีข้อความที่ระบุถึงการถือศีลอดไว้เพียงไม่กี่บรรทัด แต่เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วค่อนข้างยาว เนื่องจากมีการแปลคำศัพท์เฉพาะไว้ด้วย

ที่มัสยิดกมาลุลอิสลาม ชายคนหนึ่งอ่านอัลกุรอ่านระหว่างรอละศีลอดประจำวัน เดือนรอมฎอนหรือเดือนบวชเป็นเดือนพิเศษที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานอัลกุรอ่านลงมาแก่มนุษย์ ดังนั้นชาวมุสลิมจึงนิยมอ่านอัลกุรอ่านให้จบภายในเดือนนี้

“ในอัลกุรอ่านระบุว่า การถือศีลอดมีขึ้นเพื่อให้ผู้ศรัทธามีความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น ความยำเกรงหมายความว่าให้มนุษย์มีคุณธรรม มีศีลธรรม และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังนั้นในเดือนรอมฎอนนอกเหนือจากการงดเว้นกินดื่มในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว เดือนนี้ยังเป็นเดือนแห่งการบริจาค”

ผมขอให้เขาช่วยอธิบายความสัมพันธ์ของความรู้สึกหิวกับการทำบาปเพิ่มเติม เพื่อความกระจ่าง ในความรู้สึกของผม ความหิวดูจะเป็นพลังงานที่มาพร้อมกับความโกรธเกรี้ยว มากกว่าความสงบร่มเย็น

ในอิสลาม เราเชื่อว่ากายและจิตสัมพันธ์กัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อร่างกายอด จิตวิญญาณก็จะอดตามไปด้วย ตัวการที่สั่งให้มนุษย์ทำดีหรือทำชั่วนั้นมาจากข้างในคือจิตทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อตัวเราลดละ กิเลสตัณหาทั้งหลายก็จะลดตามไปด้วย” อรุณอธิบาย เมื่อสิ้นสุดเดือนรอมฎอน เราชาวมุสลิมจะนำสิ่งที่จิตใจได้เรียนรู้ไปใช้กับอีก 11 เดือนที่เหลือ เมื่อเวลาผ่านไปความตั้งมั่นในการทำดีเหล่านี้มันจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นปีหน้าเราก็จะมาถือศีลอดกันใหม่ เหมือนมาเข้าคอร์สกับพระผู้เป็นเจ้าทุกปี” เขาหัวเราะ

เมื่อถามถึงแนวโน้มของสังคม เป็นไปได้หรือไม่ว่าจำนวนชาวมุสลิมรุ่นใหม่จะถือศีลอดกันน้อยลง คุณอรุณให้ความเห็นว่าไม่มีมากขึ้นหรือน้อยลงทุกสิ่งเป็นปกติเช่นเดิม พร้อมยกตัวอย่างชาวมุสลิมที่ต้องทำงานก่อสร้าง หากเขาถือศีลอดไม่ไหวก็อาจจะถือแค่เสาร์อาทิตย์ก็ทำได้ เป็นการเลือกปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวัน แต่สุดท้ายแล้วคนที่ผ่านการทดสอบมามากกว่าคนอื่น ย่อมได้มากกว่าคนอื่นเช่นกัน”

“เพราะพระผู้เป็นเจ้าท่านรู้ว่าการถือศีลอดสามสิบวันนั้น ไม่ยากเกินความสามารถของมนุษย์”

 

ที่มัสยิดยามีอุลอิสลาม เด็กๆ เล่นสนุกสนานระหว่างรอละหมาดหลังละศีลอด การถือศีลอดเป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมปลูกฝังให้เริ่มทำกันตั้งแต่เด็ก นอกจากการสอนถึงความสำคัญและความหมายของเดือนรอมฎอนแล้ว เด็กๆ ยังได้ปรับร่างกายทีละนิดพร้อมรับการถือศีลอดเมื่อเติบโตขึ้น โดยเริ่มต้นจากการอดอาหารอดน้ำเป็นเวลาครึ่งวัน จากนั้นจึงค่อยขยายเวลาเมื่ออายุมากขึ้น

เข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ผมพบว่าการเริ่มต้นถือศีลอดเท่าที่ผ่านมา ผมตื่นมากินอาหารเช้า กลับไปนอนต่อ ก่อนจะลุกขึ้นไปทำงาน ทั้งๆ ที่ในบางคืนผมนอนมามากพอแล้ว นั่นเป็นนิสัยเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น พฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้อ้วน ก่อนหน้านี้ผมออกกำลังกายประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลองจับกล้ามเนื้อที่เริ่มนิ่มของตัวเอง เพราะขาดการออกกำลัง พลางสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะกลับมาออกกำลังในช่วงถือศีลอด ร่างกายจะสูญเสียน้ำมากไปหรือไม่? บางทีช่วงกลางคืน หลังกินอาหารเย็นแล้ว อาจเป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการออกกำลังก็ได้

จากเดิมที่ผมเป็นคนถ่ายทุกวัน และไม่เคยมีปัญหากับระบบขับถ่ายมาก่อน แต่ตอนนี้อาการท้องผูกเริ่มเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เมื่อร่างกายดื่มน้ำน้อยลง ในบางคืนผมนอนดึกและตื่นสายไม่ทันพระอาทิตย์ขึ้น เมื่อไม่ทันกินอาหารเช้าความหิวจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และส่งผลให้กินอาหารปริมาณมากขึ้นตอนเย็น ผมสงสัยว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป สุขภาพของผมจะเป็นอย่างไร?

 

“ถ้าปฏิบัติตามกฏกติกาที่วางเอาไว้ การถือศีลอดไม่ก่อให้เกิดโทษใดๆครับ” นายแพทย์อัสนี โยธาสมุทร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป จากโรงพยาบาลวิภาราม ปากเกร็ด อธิบายถึงประโยชน์ของร่างกายที่จะได้รับจากการถือศีลอดประกอบด้วย 1.ควบคุมน้ำหนัก 2.ควบคุมระดับความดันโลหิต และ3.ควบคุมระดับไขมันในร่างกาย

เมื่อร่างกายอดอาหาร ระบบเผาผลาญจะดึงเอาพลังงานเก่าที่สะสมอยู่มาใช้ ซึ่งก็คือพลังงานที่กักเก็บไว้ในรูปของไขมัน และหากไม่เพียงพอต่อพลังงานในวันนั้นๆ ร่างกายก็จะดึงเอากลูโคสที่เก็บสะสมไว้ในตับมาใช้อีก นั่นจะทำให้ค่าไขมันโดยรวมทั้งคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ลดลง

“อีกหนึ่งสิ่งก็คือการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย สารพิษเหล่านี้จะสะสมอยู่ในชั้นไขมัน เมื่อไขมันถูกละลายนำไปใช้ สารพิษก็จะถูกขับออกไปด้วย การอดอาหารจึงเป็นวิธีหนึ่งในการทำความสะอาดร่างกาย” คุณหมออัสนีกล่าว

 

(ระหว่างทาง)พบความหดหู่ที่พระเจ้าไม่อาจช่วย

ผมรู้สึกแย่ ไม่รู้ว่ามีชาวมุสลิมคนไหนนับถอยหลังรอให้หมดเดือนรอมฎอนอย่างผมกันไหม หรือเพราะเป็นการอดอาหารจริงจังครั้งแรกผมจึงเกิดความรู้สึกเช่นนี้ ที่ผมไม่ชอบที่สุดก็คือกระบวนการนี้กำลังบั่นทอนพลังการใช้ชีวิตของผม ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ยิ่งหกโมงเย็นใกล้เวลาละศีลอด สมาธิผมจะกระเจิดกระเจิง หลังเลิกงานผมเหนื่อยจนหลับบนรถเมล์ราวกับใช้แรงงานหนักมาทั้งวัน ทั้งที่ความเป็นจริงคือการนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ในออฟฟิศ

สัปดาห์ที่ 3 นี้ผมเครียดจากงานจนลืมไปเสียสนิทเลยว่าตั้งใจจะนั่งสมาธิทุกวัน นับตั้งแต่เริ่มต้นการอดอาหารนี่เป็นสัปดาห์ที่ยากที่สุด ไม่ใช่เพราะความหิวโหยแต่เป็นความรู้สึกภายใน ผมนึกย้อนไปถึงคำพูดของคุณอรุณ รับรู้ถึงความรู้สึกของเพื่อนมนุษย์ที่ไม่มีจะกินมันเป็นเช่นไร ผมคิดว่าในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้เป็นเขาคงจะภาวนาถึงอัลเลาะห์ให้ท่านช่วยเขาผ่านมันไปให้ได้ แต่ผมไม่มีอัลเลาะห์ในใจเช่นเขา สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ผมมีเพียงอย่างเดียวคืองานชิ้นนี้ เมื่อผมเปิดโปรเจคแล้ว มันจะล่มกลางคันไม่ได้

 

เวลาประมาณห้าโมงครึ่ง ที่มัสยิดบ้านสมเด็จ ใกล้กับมหาวิทยาลัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บรรยากาศไม่คึกครื้นอย่างที่ผมคาด คงเป็นเพราะฝนที่ตกโครมลงมาก่อนหน้า ผู้คนในวันนี้จึงบางตาลง ผมบอกกับอิหม่ามว่าจะขอมาละศีลอดที่นี่ด้วย เพราะกำลังทำสารคดีอยู่ อิหม่ามยิ้มอย่างยินดีปรีดาพร้อมพาผมทัวร์รอบมัสยิด และเล่าถึงความหมายของศีลอดซ้ำอีกครั้ง ผมปล่อยให้ท่านเล่าต่อไป ที่มัสยิดไหนๆ ก็เป็นเช่นนี้ จากประสบการณ์ชาวมุสลิมที่ผมพบเจอล้วนอยากเล่า อยากอธิบายวัฒนธรรมความเชื่อของพวกเขาให้เราฟังเสมอ หากแสดงท่าทีสนใจ

ที่มุมหนึ่งผู้หญิงหลายคนช่วยกันจัดถาดอาหาร เตรียมเครื่องดื่ม ส่วนผู้ชายยืนเรียงเป็นแถวรับถาดอาหารไปวางเตรียมไว้ที่โต๊ะ ซึ่งจัดเรียงด้านนอกของมัสยิด ผมเดินสำรวจเข้าไปในกุโบร์ ต้นไม้ครึ้มให้บรรยากาศเงียบสงบ กลิ่นดินชื้นๆหลังฝนตกลอยขึ้นมาในอากาศ สุสานในเมืองที่มีพื้นที่จำกัดเช่นนี้ ทำให้มีหลุมฝังศพค่อนข้างแน่น แต่ละหลุมระยะห่างกันไม่มากนัก

เดินออกมาจากกุโบร์ ผมเพิ่งสังเกตเห็นว่าถาดอาหารถูกจัดข้างในห้องๆ หนึ่งเป็นพิเศษ ภายในมีโต๊ะตัวยาวตั้งเรียงประมาณ 6 ตัว “ห้องนี้ไว้สำหรับผู้หญิง” ใครคนหนึ่งบอก เมื่อใกล้เวลาละศีลอด ผู้คนก็เริ่มมากขึ้น แต่ละคนนั่งจับจองที่ของตน

หญิงสาวคนหนึ่งในวัยไล่เลี่ยกันกับผม สวมชุดฮิญาบสีดำคลุมทั้งตัว เธอกำลังนั่งคุยอยู่กับเพื่อนอีกคนระหว่างรอละศีลอด ผมเข้าไปทักทาย ได้ความว่าเธอมาจากปัตตานี ส่วนอีกคนมาจากนราธิวาส

“เหนื่อยค่ะ บางวันก็แอบงีบบ้าง ช่วงที่เด็กไปพักเที่ยง อย่างช่วงเช้าเราจะมาสอนแบบเต็ม 100% พอตอนบ่ายก็จะเริ่มไม่ไหวแล้ว ก็จะสอนสักสิบสิบห้านาที แล้วสั่งงานให้เด็กทำแทน” ซูไลดา สะดี ครูสอนภาษาอังกฤษแบ่งปันวิถีชีวิตช่วงถือศีลอดของเธอให้ฟัง เมื่อผมเล่าว่าช่วงที่ผ่านมา ผมรู้สึกหมดแรงไปกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน “เด็กบางคนก็จะไม่เข้าใจค่ะ หาว่าครูขี้เกียจ” สาวาดี นามุง ครูฝึกสอนวิชาคอมพิวเตอร์จากนราธิวาสกล่าวเสริม

การมีวินัยและดูแลร่างกายของตนเองคือสิ่งสำคัญในช่วงเดือนรอมฎอน คุณครูทั้งสองกล่าวว่าการปรับเวลากินเป็นเรื่องสำคัญ และส่งผลให้เวลาในชีวิตประจำวันอื่นๆของพวกเธอต้องปรับตามไปด้วย “อย่างเวลาเลิกงานช่วงนี้ก็ต้องรีบกลับบ้านค่ะ จะมาโอ้เอ้ลอยชาย เดี๋ยวจะไปหาอะไรกินไม่ทัน”

ช่วงเย็น ที่มัสยิดยามีอุลอิสลามเนืองแน่นไปด้วยชาวมุสลิมที่เดินทางมาละศีลอดและละหมาดร่วมกัน ในเดือนพิเศษเช่นนี้ แต่ละมัสยิดจะทำอาหารจำนวนมากทั้งของคาวและของหวานเพื่อรองรับผู้คน

เมื่อผมถามพวกเธอว่ามีวิธีจัดการกับความเหนื่อยล้า และความหิวกระหายอย่างไรในแต่ละวัน เคล็ดลับกลับเป็นเรื่องง่ายดายที่สุด นั่นคือหัวใจสำคัญของการถือศีลอด “นึกถึงคนอื่นที่เขาไม่มีกินกว่าเราค่ะ อย่างชาวซีเรียที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสงคราม จิตใจของพวกเขาต้องแข็งแกร่งกว่าเรามากขนาดไหน หมดวันเรายังรู้ว่าเราจะได้กินข้าวเมื่อไหร่ ยังมีคนอีกมากที่ถึงเวลาออกบวชแล้ว แต่ไม่มีจะกิน มีคนลำบากกว่าเราเยอะค่ะ” ซูไลดาอธิบาย

และแล้วก็ได้เวลาละศีลอด ผมนั่งทานอาหารร่วมโต๊ะกับชาวมุสลิมหลากหลายเชื้อชาติทั้งคนไทย, บังกลาเทศ และปากีสถาน รู้สึกเขินอายกับการเป็นคนนอกศาสนาคนเดียวในสถานที่แห่งนี้ ความที่ผมเป็นคนแปลกหน้า เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ทุกสายตาจะจับจ้องมาแต่ระหว่างที่ผมรู้สึกถึงความเป็นคนอื่น กลับมีความอบอุ่นในฐานะแขกของพวกเขา ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าการละศีลอดร่วมกันที่มัสยิดมันดีกว่าการละศีลอดคนเดียวยังไง บรรยากาศของการพบปะเพื่อนฝูง และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในชุมชน ช่วยให้มื้ออาหารมื้อนี้มีความหมายและน่าจดจำ

 

ภาพถ่ายจากอินสตาแกรม @little.michima : เพื่อนร่วมดินเนอร์วันนี้ จากไทยแลนด์ บังกลาเทศ และปากีสถาน

หลังเสร็จสิ้นการละหมาด ผมมีโอกาสได้คุยกับ นุรดีน เจะและ นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาสาธารณสุขศาสตร์ ผู้ทำให้ผมประหลาดใจเนื่องจากเขาเป็นคนแรกที่บอกว่าการถือศีลอดนั้นไม่ได้ดีไปเสียหมด

“ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ผมเรียนมา และจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพครับ” นุรดีนอธิบายว่าจำต้องแยกคนสุขภาพดี กับคนมีโรคประจำตัวออกจากกัน สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือความดันการอดน้ำตาลต่อย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย “สำหรับคนปกติเมื่อร่างกายขาดน้ำและอาหาร ระบบต่างๆ เช่นระบบประสาทสั่งการจะทำงานช้าลงครับ และในวันๆหนึ่ง เราจำเป็นต้องได้รับพลังงานมาใช้ทำกิจกรรมในแต่ละวัน พอร่างกายขาดพลังงานไปเลยทำให้อ่อนเพลีย” เขากล่าว

ถ้าเช่นนั้นนุรดีนทำอย่างไร ทั้งๆที่รู้ว่าการถือศีลอดไม่ดีต่อสุขภาพเขา? “ต้องดูแลสุขภาพตัวเองครับ ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สงบ คิดแต่สิ่งดีๆเช่นการได้บุญ การทำกุศลจากเดือนนี้ หรืออย่างน้อยก็คิดซะว่าเป็นการเบิร์นไขมันในตัวครับ” เขาหัวเราะ ในช่วงเดือนบวชหากวันไหนที่นุรดีนไม่มีเรียน เขาจะนอนอยู่ที่หอพักทั้งวันเพื่อเก็บพลังงานให้แก่ร่างกาย….ผมคิดว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจไม่น้อย

 

ในที่สุดแล้ว อาหารไม่ใช่แค่อาหารอีกต่อไป

โค้งสุดท้ายของการถือศีลอด ผมกลับมานิ่งสงบแบบสัปดาห์แรกอีกครั้ง รู้สึกว่าร่างกายสามารถปรับตัวได้แล้ว เมื่อเหนื่อยก็พัก แต่ยังคงมีบางครั้งที่ผมพ่ายแพ้ต่อความเกียจคร้านยามเช้า เลยจำต้องทนหิวไปตลอดวันเพราะไม่ได้กินอาหารมื้อแรก ผมตั้งตารอนับถอยหลัง ดีใจที่มันจะจบลงเสียที เพิ่งจะเข้าใจก็ตอนนี้ว่าอาหารสำคัญกับร่างกายมากแค่ไหน ไม่ใช่แค่ให้พลังงาน แต่อาหารกับน้ำคือทุกอย่างที่ส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของระบบภายในร่างกายและอารมณ์ ในบางวันผมถึงขั้นหดหู่ อารมณ์แปรปรวน ซึ่งทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้นเมื่อมีอะไรตกถึงท้องอีกครั้ง มองย้อนกลับไป ไม่น่าเชื่อว่าผม (คนที่กินข้าวครบ 3 มื้อทุกวัน) จะสามารถอดอาหารมาถึงจุดนี้ได้ (ต้องขอสารภาพว่า)การตั้งเป้าหมายอาหารที่อยากกิน เป็นพลังในการต่อสู้กับความหิวโหยในบางวันของผม ซึ่งจริงๆแล้วสำหรับชาวมุสลิมการคิดทำนองนี้เป็นเรื่องไม่สมควรในเดือนรอมฎอน

ย่านรามคำแหง หญิงชาวมุสลิมเลือกซื้อหาอาหารเตรียมไว้สำหรับการละศีลอดในช่วงเย็น วิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ ชาวมุสลิมจำนวนมากไม่ได้ละศีลอดด้วยการกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว แม้รูปแบบจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ศรัทธายังคงเหมือนเดิม

“ปกติหนูละหมาดปีละ 2 ครั้งเองค่ะ ถ้าให้ชดใช้ทั้งเดือนคงไม่ได้ทำอะไรนอกจากละหมาด” ผมอดหัวเราะไม่ได้เมื่อคิดภาพตามว่าชีวิตของ ปนัดดา ชุ่มชื่น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยศิลปากรจะเป็นอย่างไร หากเธอต้องละหมาดชดใช้จริงๆ

ปนัดดาเป็นมุสลิมที่ไม่เคร่ง เธอบอกกับผมแบบนั้น ยืนยันได้จากการที่เธอเป็นคนเดียวในละแวกบ้านที่สามารถใส่กางเกงขาสั้นออกจากบ้านได้ “ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยมาก็ไม่ได้ถือศีลอดอีกเลยค่ะ เพราะว่าต้องไปอยู่หอต่างจังหวัดด้วย งานเยอะด้วย พอถือแล้วร่างกายเราทำงาน คิดงานไม่ได้เต็มที่ เลยคิดว่าไม่ถือดีกว่า” เธอกล่าว

เมื่อถามถึงผลกระทบจากสังคมรอบๆ ในฐานะชาวมุสลิมแต่กลับไม่ได้ถือศีลอด เธอเล่าว่ามีบ้างที่ถูกมองว่าเป็นคนไม่มีศาสนา หรือถูกตำหนิว่าไม่ได้รับการอบรมจากทางบ้านให้ดีพอ “เราไม่ได้ถือศีลเหมือนคนอื่นเขา ดังนั้นพอเดือนบวชเราเลยจะพยายามไม่ทำบาปแทนค่ะ อย่างเหล้าเบียร์ก็จะงดไม่ดื่ม” เธอกล่าว

อะไรทำให้ปนัดดาแตกต่างจากชาวมุสลิมคนอื่น? เธอคิดว่าเป็นเพราะการเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่เคร่งศาสนาคือคำตอบ “มันขึ้นอยู่กับว่าคนๆนั้นได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวมายังไง อย่างเพื่อนหนูบางคนที่อยู่หอ เขาก็สามารถตื่นมาทานอาหารเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นได้ ตัวหนูเลือกที่จะไม่ทำเอง เพราะอยากมีชีวิตเหมือนคนปกติค่ะ” ใครอยากจะถือบวชก็ถือไป ไม่อยากถือก็ไม่ต้องฝืน เธอสรุป

ไม่อาจทราบได้ว่าชีวิตแบบซูไลดาหรือปนัดดา ชีวิตแบบใดมีความสุขมากกว่ากัน แต่ผมเชื่อว่าในฐานะชาวมุสลิมแล้ว พวกเธอมีความสุขกันคนละแบบตามวิถีชีวิตที่แต่ละคนเลือก

ชาวมุสลิมละหมาดร่วมกันหลังละศีลอด ปกติแล้วในแต่ละวันชาวมุสลิมจะละหมาดต่อพระเจ้าวันละ 5 เวลา แต่ในเดือนรอมฎอน จะมีอยู่คืนหนึ่งซึ่งเป็นคืนพิเศษเรียกว่า “คืนลัยลาตุลก็อดร์” คืนที่พระผู้เป็นเจ้าประทานอัลกุรอ่านลงมายังโลกมนุษย์ ในคืนนี้เชื่อกันว่าหากทำความดีจะได้รับผลบุญทบทวีคูณ ตามมัสยิดต่างๆจึงมีการจัดกิจกรรมทางศาสนาตลอดคืน

สิ้นสุดการถือศีลอดผมเข้ารับการตรวจสุขภาพอีกครั้ง นึกสงสัยที่หลายๆ คนกล่าวกันว่า เมื่อจบเดือนบวชแต่ละครั้งน้ำหนักพวกเขาลงไปราว 4 – 5 กิโลกรัมนั้น พวกเขาทำได้อย่างไร? เพราะประโยคแรกที่คุณหมอทักผมมาก็คือ “ลดน้ำหนักลงอีกสัก 2 กิโลกรัมนะคะ” สรุปแล้วน้ำหนักตัวผมลดไปเพียง 7 ขีดเท่านั้น และโดยรวมค่า BMI ยังคงถือว่าเกินมาตรฐาน

ยอมรับว่าตัวผมเองคาดหวังน้ำหนักที่ลดลงมากกว่านี้ สำหรับด้านสุขภาพอื่นๆไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เว้นแต่ระดับไขมันในเลือด เดิมคอเลสเตอรอลของผมก่อนเริ่มต้นการอดอาหารอยู่ที่ 152 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หลังเสร็จสิ้นค่าคอเลสเตอรอลของผมลดลงมาเหลือ 138 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลงจาก 92 เหลือ 86 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ผมอ่านแฟ้มสรุปผลตรวจร่างกายทั้งสองเล่มเปรียบเทียบกัน จินตนาการถึงไขมันในตัวที่ถูกสลายไปตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาตามที่คุณหมออัสนีบอก และพร้อมแล้วที่จะรับไขมันรอบใหม่เข้ามา

 

หนึ่งสัปดาห์หลังสิ้นสุดกระบวนการ ความรู้สึกที่ได้ทานอาหารขณะยังคงมีแสงอาทิตย์อยู่นั้น เป็นความรื่นรมย์ที่ผมเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ความสุขกลับคืนมาอีกครั้งเมื่อได้ตามใจปาก น้ำหนักที่ลดลงไป 7 ขีดคืนกลับมาอย่างรวดเร็วขณะกำลังเขียนบทส่งท้ายของสารคดีเรื่องนี้ ราวกับว่าแทบจะไม่เหลือหลักฐานใดยืนยันไว้เลยว่าผมได้ผ่านการถือศีลอดมาแล้ว

นึกย้อนถึงคำพูดจากคุณอรุณ “คนๆหนึ่งจะไม่เข้าใจว่าความอดอยากเป็นอย่างไร หากตัวเขาไม่เคยอดอยาก” ตัดประเด็นด้านศาสนาความเชื่อ และผลบุญทั้งหมดออกไป สำหรับผมนี่คือหัวใจสำคัญที่ได้รับตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา มันคือเดือนพิเศษ เพราะนอกจากจะทำให้ผมรู้ซึ้งถึงคุณค่าของอาหารมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้นอีกด้วย

มองย้อนกลับไป ทุกวันเมื่อพระอาทิตย์ตกดินผมจะรู้สึกถึงชัยชนะเล็กๆ เสมอ “เราทำได้” ผมบอกกับตัวเอง มื้อค่ำของผมในทุกวันแตกต่างกันออกไป แต่บอกได้เลยว่าไม่มีมื้อไหนที่ไม่อร่อย แม้อาหารจะเย็นชืดเนื่องจากถูกซื้อทิ้งไว้ตั้งแต่บ่ายก็ตาม คุณจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งใด ก็เมื่อสูญเสียมันไป คุณค่าของอาหารเองก็เช่นกัน

ขณะที่ชีวิตของผมกลับมาเป็นปกติแล้ว แต่ผู้คนจำนวนหลายล้านคนทั่วโลกยังคงต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร ในช่วงเวลาที่อาหารจำนวนมากกลายเป็นขยะเหลือทิ้งในหลายประเทศ ไม่ควรมีใครที่ยังคงต้องอดอยาก ความรู้สึกถึงคุณค่านี้ยังคงตราตรึงอยู่ในใจ แต่สุดท้ายแล้วมันจะค่อยๆ จางลงๆ ดังที่คุณอรุณบอก เมื่อเวลาผันผ่านไปจนครบปี เมื่อนั้นผมอาจจะเข้าคอร์สกับพระผู้เป็นเจ้าใหม่อีกครั้งก็เป็นได้ แต่กว่าจะถึงเวลานั้นระหว่างทางผมขอดื่มด่ำกับอาหารให้เต็มที่ก่อน ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ตั้งแต่จบกระบวนการนี้อาหารทุกอย่างก็มีรสชาติอร่อยขึ้น!

เรื่อง ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก

ภาพถ่าย พิสิษฐ์ สีเมฆ และ พันวิทย์ ภู่กฤษณา

 

ขอขอบคุณ : ครอบครัววันหวัง, สมัชชา สนธินรากุล, อรุณ เด่นยิ่งโยชน์, นายแพทย์อัสนี โยธาสมุทร, ซูไลดา สะดี, สาวาดี นามุง, นุรดีน เจะและ, ปนัดดา ชุ่มชื่น, สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม, มัสยิดบ้านสมเด็จ, มัสยิดกมาลุลอิสลาม และมัสยิดยามีอุลอิสลาม

 

อ่านเพิ่มเติม : มหานครกัมปนาท : ภัยดังที่ฟังแต่ไม่ได้ยินวาด ต้นไม้ จากความทรงจำในสายตาคนต่างแดน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.