นวัตกรรมไทยเป็นอย่างไร – ไปถึงไหน ในมุมมอง ผอ. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

นวัตกรรมของประเทศจะมีความสามารถมากพอในการแข่งขันกับเวทีโลกได้หรือไม่ แล้วสิ่งใดคืออุปสรรคในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ – พูดคุยกับ ผอ. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

นวัตกรรม (น.) การกระทำหรือสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น

เหตุที่เราต้องยกนิยามจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ขึ้นมา เนื่องจากว่าแต่ละคนอาจมีความคิดต่อคำว่า นวัตกรรม ที่แตกต่างกันออกไป แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อาจเห็นตรงกันว่ามันคือสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ หลายคนอาจจะอ่านบทความนี้ผ่านโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมประเภทหนึ่งที่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ไปในแบบที่ไม่มีวันหวนกลับ

หลายภาคส่วนในสังคมเห็นตรงกันว่า หนึ่งในวิธีที่จะให้ประเทศไทยหลุดจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ซึ่งหมายถึงประเทศพัฒนาเศรษฐกิจจากรายได้น้อยมาสู่ระดับที่มีรายได้มากขึ้น แต่ว่ายังไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูง (เช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี) ได้ คือต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาในประเทศ อย่างที่เราได้เห็นกันในประเทศกลุ่มที่มีรายได้สูง ซึ่งใช้พลังแห่งนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศจนกลายเป็นมหาอำนาจของโลก

หลายคนคงวาดฝันให้ประเทศไทยเป็นเหมือนเกาหลีใต้ จีน หรือไต้หวัน ที่เริ่มต้นจากการเป็นประเทศยากจนมาก่อน แต่ได้ใช้ความรู้ด้านนวัตกรรม (และเทคโนโลยี) พัฒนาประเทศจนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกยุคใหม่ แต่ก็มองไม่เห็นภาพว่าในวงการการพัฒนานวัตกรรมในประเทศของเรานั้นเป็นอย่างไร

เพื่อให้เข้าใจภาพของวงการนวัตกรรมในไทย เราเริ่มต้นไปที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency – NIA) หรือ สนช. องค์การมหาชนที่มีพันธกิจตามที่ระบุไว้ในเอกสารแจกเพื่อแนะนำองค์กรว่า ‘ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งสร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรม อันจะก่อให้เกิดวัฒนธรรมและนวัตกรรม ทั้งในระดับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม ระดับองค์กร และระดับประชาชน’ เพื่อพูดคุยกับ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ คุณคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อพูดคุยถึงการทำงานขององค์กรที่มีหน้าที่ผลักดันให้ประเทศไทยเกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมา

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Q: ภารกิจเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศของ NIA คืออะไร

A: NIA เป็นองค์การมหาชนที่มีการบริหารจัดการเหมือนเอกชน อยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยเราเป็นหน่วยงานในกระทรวงที่ทำงานกับเอกชนมากที่สุด แต่ต่อมาก็ทำงานกับภาคประชาสังคมที่อยากจะส่งเสริมให้ทำนวัตกรรมสังคมมากขึ้น

เราสนับสนุนให้คนทำนวัตกรรม แต่ไม่ใช่หน่วยงานที่ทำนวัตกรรมเอง ดังนั้น สิ่งที่เราพยายามทำคือรู้และเข้าใจพัฒนาการระบบนวัตกรรมของโลกในอนาคตว่าจะเปลี่ยนไปยังไง และมีหน้าที่ในการทำให้ประเทศไปอยู่ในระดับแนวหน้าของการทำนวัตกรรมระดับโลก

นอกจากนี้ยังมีการทำนโยบายนวัตกรรม เพื่อให้ข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล เรามีสภาพัฒน์ที่ทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกๆ 5 ปี แต่ยังไม่มีนโยบายนวัตกรรม ไม่มีแผนพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติ โดยตัวนวัตกรรมนั้นทำให้เกิดเองตรงๆไม่ได้ มันต้องไปสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม ต้องทำให้มีคนเก่งๆอยู่ในระบบนี้ ต้องทำให้มีบริษัทหรือองค์กรที่อยากจะทำนวัตกรรมหรือใช้นวัตกรรม ต้องไปสร้างตลาด สร้างแบรนด์ประเทศ อย่างเยอรมนีมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญเรื่อง Art & Craft และเทคโนโลยีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ หรืออย่างประเทศจีนซึ่งมีการผลิตระดับมวลชน (Mass Production) ที่มีความหลากหลายสูง นี่คือดีเอ็นเอของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ

ตอนนี้เราอยู่ในอันดับ 43 ของตาราง Global Innovation Index 2019 (ดัชนีชี้วัดนวัตกรรมโลก) เราโตมาสามปีแล้ว โตมาจากอันดับ 52 ขยับมา10 อันดับ สูงและเร็วมากที่สุดในโลก น้อยคนที่จะรู้ว่าประเทศไทยกระโดดอันดับต่อปีไวที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมไม่ใช่ฝีมือรัฐบาล เป็นฝีมือของเอกชน รัฐบาล และประชาชนทั่วไป

ตลาดนวัตกรรมของไทยเองก็ติด Top 30 หมายความว่าคนอยากจะมาทำตลาดและนวัตกรรมในเมืองไทย เพราะคนไทยค่อนข้างจุกจิก รายละเอียดเยอะ เวลาต่างชาติมาปล่อย (launch) สินค้า เขาเก็บข้อมูลไว้เพียบ สินค้าบริการ สินค้าที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการใช้งาน ตลาดมักจะประเมินเราสูง แสดงว่าฝั่งประชาชนเก่ง อย่างไรก็ตาม มีนโยบายของรัฐที่เอื้อต่อการเติบโตบ้าง โดยรัฐเองก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากอันดับของประเทศไทยที่ค่อยๆขยับขึ้นไปเพราะเป็นการทำงานร่วมกันของทุกๆภาคส่วน ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมาพัฒนาการด้านนวัตกรรมดีขึ้น แต่นโยบายที่เน้นถึงนวัตกรรมตรงๆยังไม่มี

คุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Q: ถ้าจะสรุปว่า NIA เป็นองค์การมหาชนตัวกลางที่ให้ทั้งเอกชน ประชาชน และภาครัฐมาร่วมกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาได้ไหม

A: เราเป็นหน่วยงานที่พยายามพัฒนาระบบนิเวศให้คนเข้ามามากกว่า ถ้าเราบอกเป็นตัวกลางมันเหมือนเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่ง ยกตัวอย่างนวัตกรรมสังคมที่เมื่อก่อนไม่มีเท่าไหร่ เราต้องไปคุยกับสมาคม มหาวิทยาลัยที่ทำเรื่องนวัตกรรมสังคมให้ทำงานกับเรามากขึ้น หรือบอกให้บริษัทเอกชนสร้างนวัตกรรมสังคม ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3ปี เพื่อให้คนรู้ว่านวัตกรรมสังคมเป็นสิ่งสำคัญของระบบนิเวศ และจะเกิดเป็นระบบนิเวศด้านนวัตกรรมขึ้น

นอกจากนี้เรื่องคนก็สำคัญ เราลงไปหาเยาวชนเยอะ เพราะเรายังมีคนที่ทำนวัตกรรมไม่พอ เราทำโครงการ STEAM 4 INNOVATORS คือเอาความรู้ด้านสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education) มาบวกกับ Art (ศิลปะ) โดยทำกับบริษัทขนาดใหญ่ โรงเรียน และมหาวิทยาลัย

ในส่วนของการมีส่วนร่วมกับสังคม เราทำกับผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. ผู้ว่าราชการจังหวัด เรามีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องของนวัตกรรมเชิงพื้นที่ เพราะโอกาสการสร้างนวัตกรรมส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯเกือบหมด เราต้องทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Innovation Opportunity คือโอกาสทางนวัตกรรมนอกพื้นที่ กทม. ต้องมีทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ไปจนถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่เรามีสาขาอยู่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราสามารถดึงน้องๆที่เคยออกนอกพื้นที่ให้ไปทำ Start Up ไปทำธุรกิจ ชุมชนมุสลิมทำนวัตกรรมได้แล้ว อย่างภาคเหนือเรามีสำนักงานสาขาตั้งแต่เชียงรายลงมาจนถึงพะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ภาคอีสานก็อยู่ในจังหวัดยากจน ทั้งอุบลราชธานี บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ภาคกลางไม่ต้องพูดถึงเพราะมีโอกาสอยู่แล้ว โอกาสอยู่ที่นี่ ต้องไปหยิบยื่นโอกาสให้ที่อื่น

ที่สำคัญอีกอย่างคือการสร้างแบรนด์นวัตกรรม ประเทศไทยเราผูกแบรนด์เรื่องของการท่องเที่ยวและอาหารมาตลอด ทั้งที่นวัตกรรมของเรามีอีกเยอะ เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานที่ทำนวัตกรรมแบบเรา ทำให้เขารู้จักเราในอีกรูปแบบหนึ่ง ในอดีตที่ผ่านมาเขาอาจมองว่าไทยไม่มีองค์กรที่ดูแลด้านนวัตกรรมเท่าไหร่ แต่ตอนนี้เขาก็รู้จักเรา เราช่วยจากระดับในประเทศ ไประดับโลก โดยทำการทูตนวัตกรรม เพื่อช่วยให้บริษัทของไทยออกไปข้างนอก และบริษัทต่างชาติเข้ามาในประเทศ อย่างที่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เราไปดึงเอาบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นมาทำโรงน้ำตาล ลงทุนด้านน้ำตาลพันกว่าล้าน เป็นเงินญี่ปุ่น ใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่น แต่มาร่วมทุนกับบริษัทไทย จ้างเด็กที่จบด้านเทคโนโลยีอาหารในภูมิภาคมาทำงาน

Q: DNA หรือการสร้างอัตลักษณ์ด้านนวัตกรรมของประเทศไทยคืออะไร

A: เรื่องนี้ถามกันมาหลายปี คนส่วนใหญ่พอคิดอะไรไม่ออกก็คิดเรื่องข้าว แต่ถ้ามองดีๆ DNA ของเราเริ่มจาก hospitality (การบริการ) ร้อยละ 53-57 ของจีดีพีไทยมาจากภาคบริการ อีกร้อยละ 20 อยู่ที่ด้านการท่องเที่ยว ถ้ารวมเกษตร อาหารไปด้วยก็ราวๆร้อยละ 23 มันเป็นห่วงโซ่อุปทานที่ต่อเข้ามาเรื่อยๆ ในเรื่องของวิถีชีวิต คนไทยใส่ใจเรื่องวิถีชีวิต เมื่อก่อนเราเคยอยู่ในจุดที่ใครๆก็อยากขายสินค้าให้กับเรา เพราะความละเอียดอ่อนในการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นเรื่องการใช้ชีวิต hospitality ทั้งหลาย เรามีจุดแข็ง

แต่เรายังใช้ประโยชน์ตรงนี้ไม่มากพอ เราไปใช้ในการค้าขายทั่วไป การท่องเที่ยว หรืองานอีเวนต์เสียเยอะ เช่น เราเคยอยากเป็น sport hub บ้าง ศูนย์กลางด้านแฟชั่นบ้าง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเวลาเราจะทำเรื่อง hospitality ไม่ใช่แค่นั้น เราเก่งในเรื่องการทำในสิ่งที่สามารถเสนอด้านความรู้สึก แต่เราไม่เคยออกไปนอกประเทศ ต่างชาติต้องบินมาที่เมืองไทยเนื่องจากเป็นปลายทางของอุตสาหกรรมด้านนี้ เช่น เครือข่ายโรงแรม หรือเครือข่ายห้างสรรพสินค้าของคนไทย เช่น เซ็นทารา หรือไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีกิจการด้านนี้ ตั้งแต่อิตาลี สเปน โปรตุเกส ยันสแกนดิเนเวีย ซื้อแบรนด์ยุโรปเก่าที่ดังๆกลับมาเป็นของไทยหมดเลย สิ่งเหล่านี้ถูกซ่อนอยู่ แต่เราไม่เคยดึงให้เห็นว่าคนไทยไปถึงจุดไหนแล้ว

เพียงแต่ไม่ใช่อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ อุตสาหกรรมนี้เป็นศักยภาพจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ญี่ปุ่นให้เทคโนโลยีมาทำโรงงาน พนักงานที่เข้าไปก็เป็นแรงงาน แต่ hospitality คืออะไร มันคือความแข็งแกร่ง คือความเป็นไทย อย่างอาหารก็เป็นส่วนหนึ่ง Craft and living คือดีเอ็นเอของไทย ไม่ใช่ manufacturing (ภาคการผลิต) หรือของไฮเทคที่ต้องใช้โรงงาน แม้แต่ high value service (การบริการที่มีมูลค่าสูง) ก็ใช่ เพราะสิ่งนี้ก็ต้องใช้เทคโนโลยีเหมือนกัน ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยไม่มีโอกาสทำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี เพียงแต่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีนี้ต้องเสริมตัว Soft Innovation แบบนี้ ซึ่งจีนยังทำไม่ได้ขนาดเรา

ภายในอาคารสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

Q: ดูเหมือนว่านวัตกรรมของเราต้องมีรากฐานจาก hospitality แล้วนวัตกรรมจากไทยจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้โลกอย่างเช่น Google หรือ Samsung ได้ไหม

A: นั่นก็เป็นวิธีคิดแบบหนึ่ง Google เป็นโมเดลธุรกิจที่ไม่ต่างจากร็อกกี้เฟลเลอร์ หรือ 5 ตระกูลใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในสมัยก่อน ที่ผูกขาดรางรถไฟ เหล็ก ธนาคาร Google เองก็เกือบจะเป็นองค์กรผูกขาดด้านระบบปฏิบัติการ ฉะนั้น คุณต้องสร้าง platform เหมือนรางรถไฟ สายไฟฟ้า กลายเป็น platform ระบบปฏิบัติการ ให้มันผูกขาดตลาดได้ ซึ่งสหรัฐฯก็สามารถใช้เครือข่ายประเทศเสรีของเขาเอาไปใช้ทำห่วงโซ่อุปทานต่อได้

ถ้าจะทำแบบนี้ให้ได้คุณต้องทำ platform แบบนี้ให้เกิด แล้วต้องออกไปในระดับโลก ซึ่งจะต่างจาก Samsung ที่เป็นการสร้างแบรนด์ให้คนซื้อได้ในราคาถูก เหมือน Daewoo หรือ Hyundai แต่ตอนหลังได้ขยายประเภทอุตสาหกรรมเต็มไปหมด รูปแบบต่างกัน Samsung เป็นอุตสาหกรรมการผลิต ส่วน Google เป็น platform ประเทศไทยจะใช้ลักษณะโมเดลสองตัวผสมกันก็ได้ พอเป็นจุดนี้คนไทยทำได้หมด ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเราก็มีฐาน แต่ไม่ใช่ของเรา ดังนั้นเราต้องคิดดีๆ เพราะเป็นฐานของต่างชาติที่มาลงทุนหมด แต่อุตสาหกรรมการบริการเป็นของเราเอง

Q: Innovative index ของเราอยู่อันดับที่ 43 ของโลก มีโอกาสไหมที่เราจะขึ้นไปอันดับที่ 20 หรือ 10 อันดับแรก ต้องมีปัจจัยใด

A: อันดับแรกต้องไปเคลียร์ฐานข้อมูลของเราที่มีอยู่ให้ได้ เราพยายามพูดคุยกับหน่วยงานราชการที่ดูแลฐานข้อมูล หลายข้อมูลไม่ส่ง หลายข้อมูลไม่อัพเดต ขั้นแรก เราคุยกันให้รู้เรื่องก่อนแล้วทำข้อมูลให้ดี ผมว่าอันดับก็คงขึ้นไปถึง 30 กว่าๆได้ไม่ยาก แต่หลังจากนั้น นั่นคือข้อมูลชุดแรก แต่ข้อมูลชุดที่สองนั้นอยู่ในระดับที่ดีแล้ว แต่มันยังดีไม่สุด ซึ่งจะทำให้ดีนั้นยาก ต้องใช้เวลา เช่น เรื่องทุน ตลาดหลักทรัพย์ คือข้อมูลความเสี่ยงในการทำตลาดทุน ซึ่งสูง แต่ไม่สูงมาก แต่พอมาดูข้อมูลด้าน Major Capital เราไม่มี ได้ศูนย์คะแนน ซึ่งก็แล้วแต่ข้อมูลที่ส่ง ถ้าปีไหนดี ได้คะแนนดีก็ดีไป แต่ปีไหนไม่ดีเราก็ต้องยอมรับ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เราต้องเอามาปรับระบบนิเวศ เราจะรู้เลยว่าต้องแชร์ข้อมูลแบบไหนถึงจะเกิดอะไรขึ้นมา ต้องไปจัดการกับประเด็นปัญหาอะไร ซึ่งจะต้องเอาไปทำนโยบาย แต่ข้อมูลชุดที่สามเป็นข้อมูลที่ไปไกลกว่านั้นไม่ได้แล้ว คือเป็นข้อมูลเชิงสถิติที่ไม่สามารถขึ้นไปได้มากกว่านี้แล้ว ในเชิงโครงสร้างแบบนี้มันดีแล้ว

ดังนั้น ถ้าเราอยากไปอันดับสิบหรือยี่สิบ ต้องรู้ว่าสิ่งที่เราต้องเข้าใจคืออะไร 77 ตัวชี้วัดมีอะไรบ้าง แต่อันดับที่ดีขึ้นไม่ได้แปลว่าสุขภาวะทางระบบนิเวศของเราเข้มแข็งขึ้นจริง ตัวอย่างเช่น ประเทศสวีเดนเมื่อ 20 กว่าปีก่อนลงทุนด้าน R&D (วิจัยและพัฒนา) เยอะมาก จนมีกรณีที่เรียกว่า Swedish Paradox (ภาวะขัดกันของสวีเดน) คือการลงทุนใน R&D เยอะมาก แต่ค้าขายไม่ประสบความสำเร็จ Volvo ก็ไม่โต Scania ก็ไม่โต

ในทางกลับกัน เพื่อนบ้านอย่างประเทศนอร์เวย์ก็มี Norwegian Paradox คือลงทุนใน R&D ไม่เยอะ แต่ได้ผลในเชิงนวัตกรรมสูงมาก เขาทำอะไร เขาขายปลาแซลมอน ขายธัญพืช และขายน้ำมัน เป็นบริษัทใหญ่ๆไม่กี่บริษัท เป็นประเทศที่ใช้ medium to low technology (เทคโนโลยีจากขั้นกลางไปจนถึงต่ำ) คือไม่ได้ใช้อุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีซับซ้อน แต่เขาขายได้ เพราะด้านเทคโนโลยีก็นำมาจากที่อื่นได้ จะต่างจากสวีเดน ซึ่งมุ่งวิจัย แต่ไม่สามารถเอางานวิจัยมาเปลี่ยนแปลงเป็นนวัตกรรมได้มากเพียงพอ

ฉะนั้น ในมุมนี้ค่อนข้างพูดยาก เวลาเราพูดถึงการวิจัยและนวัตกรรม ไม่ได้พูดว่าประเทศชาติจะประสบความสำเร็จเสมอไป แต่ได้คะแนนขึ้นแน่ๆ สมมุติถ้าคุณลงเงิน 500 ล้านทำ R&D แต่กลายเป็นว่าคุณไม่สามารถเอาสิ่งที่อยากจะทำเป็นนวัตกรรมมาขายได้ คนก็ไม่ซื้อ ผลิตภัณฑ์ที่ล้มเหลวในการเป็นนวัตกรรม เวลาออกสู่ตลาด มีหลายปัจจัย การลงทุนใน R&D ไม่ได้สะท้อนถึงนวัตกรรมว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป มีหลายปัจจัยเหมือนกันที่ทำให้โครงการล้มเหลว

มีหลายคนบอกว่ากำลังทำวิจัยแล้วก็เข้าใจไปว่ากำลังสร้างนวัตกรรม ซึ่งจริงๆมันแค่จุดเริ่มต้น การทำวิจัยไม่ใช่การสร้างนวัตกรรม คนที่จะบอกว่ามันเป็นนวัตกรรมคือคนที่ซื้อสินค้าของคุณ ยิ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายตลาด ตลาดโต สิ่งนี้แหละคือนวัตกรรม คนใช้แล้วชีวิตดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น แต่ไม่ใช่ผลงานวิจัย เพียงแต่เป็นโอกาสไปสู่การเป็นนวัตกรรม ดังนั้น ถ้าเราทุ่มไปที่งานวิจัยอย่างเดียว แต่ไม่ให้ความสำคัญกับคนที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมก็ไม่ได้ อเมริกาที่ประสบความสำเร็จเพราะว่าให้ความสำคัญกับทั้งสองอย่าง อย่างเช่น โทมัส อัลวา เอดิสัน ที่มีความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยีและความเป็นผู้ประกอบการ ถ้าเราไม่มีคนแบบนี้ก็ไม่สามารถสร้างสะพานเชื่อมจากความฝันไปสู่ความเป็นจริงได้

Q: ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าอุปสรรคที่สำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรมไทย คือระบบนิเวศในการสร้างนวัตกรรมใช่หรือไม่

A: ส่วนหนึ่งใช่เลยครับ เป็นระบบที่มีนักวิจัยและนักประดิษฐ์อยู่ในระบบนี้มานาน NIA เราไม่ค่อยทำงานกับกลุ่มคนสองกลุ่มนี้เท่าไหร่ เราทำงานกับเจ้าของกิจการ คนที่จะเอา know-how ไปใช้ ดังนั้น มันเป็นคนละสมการกัน แต่ตอนนี้เรามองว่าระบบนิเวศที่รวมเอาคนทุกคนมามันเกิดขึ้นแล้ว คนคุยกันเยอะขึ้น คนเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด วิธีมอง นั่นเพราะว่าระบบนิเวศมันสำคัญมาก การพูดคุยกัน การสร้างเครือข่าย การยอมรับซึ่งกันและกันสำคัญมาก เมื่อก่อนแทบจะเป็นไปไม่ได้ จะทำยังไงให้นักวิจัยทำงานกับเอกชนได้ก็ยากแล้ว หรือแม้กระทั่งการเจรจาให้ชาวบ้านนำนวัตกรรมไปใช้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจารย์มหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ๆที่ลงพื้นที่แล้วเปลี่ยนตัวเองจากการทำงานวิจัยเพื่องานวิจัย กลายมาเป็นพาร์ตเนอร์ของชุมชน บริษัท ก็มีเยอะขึ้น องค์ความรู้ในห้องปฏิบัติการก็คือองค์ความรู้ที่จะต้องนำไปประยุกต์ใช้กับประเด็นเหล่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จในการกลายมาเป็นนวัตกรรม อัตราการปฏิเสธก็มีสูงมากเหมือนกัน

Q: แล้วผลการดำเนินงานของ NIA ที่ทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของประเทศถือว่าประสบความสำเร็จไหม

A: เราพอใจในสามมิติ มิติแรก คือเราเปลี่ยนแนวความคิดของคนทั้งในและนอกระบบนวัตกรรมหลายเรื่อง ที่ประสบความสำเร็จก็คือนวัตกรรมเมือง นวัตกรรมสังคม เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอนาคตศาสตร์ สตาร์ทอัพ นี่คือสิ่งใหม่ในระบบที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในประเทศและนานาชาติ ทำให้คนมองว่าประเทศไทยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไป แล้วที่บอกว่าประสบความสำเร็จคือไม่ใช่แค่หน่วยงานรัฐ แต่ชุมชน เอกชน ทั้งในระดับ SME START UP องค์กรใหญ่ๆ รู้จัก NIA เยอะขึ้นว่าเราทำอะไร แสดงว่าระบบนิเวศเริ่มมีความเข้มแข็ง สะพานเชื่อมมันไปถึงด้วยการที่เราเริ่มแนะนำของใหม่ๆ

มิติที่สอง คือการยอมรับในระดับนานาชาติมีเยอะขึ้น เช่น ในอังกฤษ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนวัตกรรมซึ่งเน้นไปที่รัฐบาลและหน่วยงานราชการ จัดเราเป็น 1 ใน 100 ของ The Most Important World Innovation Lab พร้อมกับสิงคโปร์ ตอนหลังก็มีมาเลเซียเข้ามา ในเอเชียมีเพียง 9 ประเทศ องค์การต่างประเทศก็ให้การยอมรับ ซึ่งถ้าเราไม่มีผลงาน เราก็จะไม่ได้รับการยอมรับเลย

มิติที่สาม คือการที่ให้ User (ผู้ใช้งาน) กลายมาเป็น Innovation Partner (ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม) อันนี้สำคัญ เพราะนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องทำจากงานวิจัยอย่างเดียว เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านนี้ ซึ่งสำคัญมาก เมื่อก่อนถ้าเราบอกว่านวัตกรรมไม่จำเป็นต้องทำจากงานวิจัยก็ได้ เราโดนรุมยำจากหน่วยงานวิจัยระดับบนแน่ๆ โดยเฉพาะการที่บอกว่างานวิจัยไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเกิดนวัตกรรม ตอนนี้เราพยายามปรับกระบวนทัศน์ตรงนั้น แล้วทุกคนเริ่มเข้าใจ และเริ่มไปอยู่ในแผนกลยุทธ์ของกระทรวง หน่วยงานวิจัยก็เริ่มเข้าใจถึงบทบาทมากขึ้น เริ่มพูดถึงเรื่องจุดที่เราต้องการแก้ปัญหา การเอาองค์ความรู้มาใช้ ตรงนี้งานวิจัยก็จะกลายเป็นกิจกรรมหนึ่งในกระบวนการ เมื่อก่อนพูดแบบนี้ไม่ได้ ต้องเป็นการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเราเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้ได้ ถือว่าประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่เราต้องทำอีกเยอะ คือนโยบายนวัตกรรมระดับชาติ เรื่องกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่เราต้องฟันฝ่าอีกมาก ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้ทำงานในระดับนโยบายมาก เราทำงานในระดับระบบ อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าต้องออกแรงอีกมาก

เว็บไซต์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ: https://www.nia.or.th/ 

Facebook: NIA : National Innovation Agency, Thailand

เรื่อง/สัมภาษณ์ เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ
ภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา


อ่านเพิ่มเติม เอเวอเรสต์มาราธอน รายการวิ่งบนเส้นทางที่สูงที่สุดในโลก 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.