โยคะ : ค้นพบความสงบในโลกอันวุ่นวาย

 โยคะ : ค้นพบความสงบในโลกอันวุ่นวาย

โยคะ ในฐานะวิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณ ซึ่งถือกำเนิดในอินเดีย แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ และทั่วโลก โยคะ เป็นทั้งโปรแกรมการฝึกเพื่อสุขภาพแข็งแรง หนทางสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองหรือการรู้แจ้ง และการบำบัดสาเหตุของความป่วยไข้ต่างๆ ตั้งแต่การติดยาเสพติด อาการปวดศีรษะเรื้อรัง และการสูญเสียการได้ยิน ไปจนถึงภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญหรือพีทีเอสดี โรคหัวใจ และโรคโครห์น

การสำรวจครั้งหนึ่งของทางการสหรัฐฯ พบว่า ในปี 2017 ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันมากกว่าร้อยละ 14 ใช้โยคะด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.5 เมื่อห้าปีก่อน

การพิสูจน์คำกล่าวอ้างถึงประโยชน์ต่อสุขภาพของโยคะเป็นเรื่องยาก การศึกษาส่วนใหญ่ใช้กลุ่มตัวอย่างเล็กเกินกว่าจะให้ข้อสรุปอย่างชัดเจน  เหตุผลหลักคือ โยคะมักไม่ค่อยได้รับทุนอุดหนุนก้อนใหญ่จากทางการ หรือไม่มีอุตสาหกรรรมอย่างผู้ผลิตยา ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย

ในทัณฑสถานของรัฐใกล้เมืองแซนดีเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย พาทริก อากุญญา พักในท่าสวาสนะหรือท่าศพกับเจ้าซุส สุนัขที่เขากำลังฝึก ระหว่างเข้าคลาสโยคะที่องค์กรไม่แสวงกำไรชื่อ โยคะในเรือนจำ (Prison Yoga Project) ให้การสนับสนุน อากุญญาฝึกโยคะหลังลูกกรงมานานกว่า 20 ปี
มหกรรม “โยคะออนเดอะร็อกส์” ดึงดูดผู้นิยมชมชอบโยคะ 2,100 คนที่มารวมตัวกันจนเต็มพื้นที่ของเรดร็อกส์แอมฟิเทียเตอร์ นอกเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ในสหรัฐฯ โยคะกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะวิธีบำบัดความเครียดและส่งเสริมสุขภาพ

สัต บีร์ ซิงห์ กัลสา ครูโยคะ นักประสาทวิทยาศาสตร์จากฮาร์วาร์ด และผู้เชี่ยวชาญศาสตร์โยคะ ยอมรับว่า งานวิจัยด้านนี้ยังขาดอีกมาก “แต่ผมอยากบอกว่า ที่ผ่านมาเราแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งแล้ว” กัลสา ศึกษาการใช้โยคะเพื่อบำบัดอาการนอนไม่หลับ พีทีเอสดี ความวิตกกังวล และความเครียดเรื้อรัง จนเห็นหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ที่มีน้ำหนักเกี่ยวกับประโยชน์ของโยคะ

ความเครียดไม่เพียงมีบทบาทสำคัญในความป่วยไข้มากมายที่ฆ่าเรา แต่ยังผลักดันให้เกิดการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การนอนหลับที่แย่ การใช้แอลกอฮอล์หรือยาในทางที่ผิด และพฤติกรรมไม่ดีอื่นๆ “การแพทย์สมัยใหม่ไม่ได้เรื่องเลย เมื่อพูดถึงการป้องกันความเครียดเรื้อรัง” เขาบอก

กัลสาซึ่งเริ่มฝึกกุณฑาลินีโยคะเมื่อปี 1971 บอกฉันอย่างตื่นเต้นว่า อีพิเจเนติกส์หรือพันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรม (epigenetics) และเทคโนโลยีการสร้างภาพประสาท (neuroimaging) กำลังเผยให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับสมอง และไขความลี้ลับของพลังแห่งโยคะ พูดอีกนัยหนึ่งคือ ประโยชน์ของโยคะหาได้เป็นเพียงความเชื่อของผู้ฝึกหรือผู้ปฏิบัติเท่านั้น

ในตะวันตก โยคะมักมุ่งเน้นไปที่อาสนะหรือท่าฝึกต่างๆ ของ หฐะโยคะ (hatha yoga) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิ่งก้านสาขาของโยคะ ในอินเดียที่ซึ่งโยคะถือกำเนิดขึ้นเมื่อกว่า 4,000 ปีก่อน สาวกหรือผู้ศรัทธาในกฤษณะจะกระทำ ภักติโยคะ ด้วยการเคลื่อนย้ายก้อนหินทีก้อนจากทั้งหมด 108 ก้อนคราวละหนึ่งช่วงตัว ระหว่างนอนกราบกระทำประทักษิณรอบเขา โควรรธนะระยะทาง 21 กิโลเมตร
ศรีธรรมมิตตรานำลูกศิษย์ฝึกโยคะที่สตูดิโอของเขาในนิวยอร์กซิตี เขาเกิดในบราซิล รับราชการในกองทัพอากาศของ ที่นั่น และเปิดยิมเพาะกาย ก่อนจะมาศึกษาศาสตร์โยคะในสหรัฐฯ เมื่อกว่า 50 ปีก่อน ศรีธรรมมิตตราพัฒนาแนวทางโยคะของตนเองขึ้นมา

นักวิจัยในนอร์เวย์วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากอาสาสมัคร 10 คน ทั้งก่อนและหลังการฝึกโยคะแบบสอดคล้องไปกับจังหวะลมหายใจใช้เวลาสองชั่วโมง และพบว่ามีกิจกรรมของยีนมากขึ้นในเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส หรือยูซีแอลเอ ที่ศึกษาผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม ค้นพบว่า โยคะช่วยลดหรือกดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บซับซ้อนหลายอย่าง

การศึกษาเหล่านี้ช่วยสร้างการยอมรับทางวิทยาศาสตร์ให้โยคะก็จริง แต่หาใช่เหตุผลที่ทำให้ศาสตร์โบราณนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงในสังคมสมัยใหม่ที่รุมเร้าไปด้วยความเร่งรีบและความเครียดสารพัด กัลสาบอกว่า “โยคะไม่ต่างจากกลยุทธ์ที่ทำให้ผู้คนมีความสุขอยู่ลึกๆ และสามารถจัดการกับความท้าทายของชีวิตสมัยใหม่ได้”

สาวกของโยคีภชัน (Yogi Bhajan) ผู้นำทางจิตวิญญาณที่ล่วงลับ ซึ่งนำกุณฑาลินีโยคะจากอินเดียมาสู่ตะวันตก มารวมตัวกันเพื่อสวดสรรเสริญและเดินหลับตา ระหว่างการเฉลิมฉลองครีษมายันประจำปี ณ เทือกเขาเฮเมซใกล้เมืองเอสปัญโญลาในนิวเม็กซิโก

นี่อาจเป็นช่วงเวลาเหมาะที่ฉันขอสารภาพว่า โยคะทำให้ฉันเครียดหนักกว่าเดิม ฉันได้รับคำแนะนำให้ลองฝึกโยคะจากนักกายภาพบำบัดที่เคยรักษาอาการบาดเจ็บที่หัวไหล่ หลังรักษามาแล้วกับหลายคน แต่ไม่ได้ผล เมื่อเขาพูด ฉันจึงรับฟังโดยดี ในย่านชานเมืองนิวยอร์กที่ฉันอาศัยอยู่ โยคะมีให้เลือกฝึกมากมายตามสตูดิโอริมถนน ศูนย์สุขภาพชุมชน โปรแกรมการศึกษาต่อเนื่อง และเชนฟิตเนสต่างๆ ฉันเริ่มจากที่นั่นโดยมีสามีติดสอยห้อยตามไปด้วย คลาสคนแน่นเอี้ยดจนต้องจับจองเสื่อกันเหมือนที่นั่งในรถไฟใต้ดิน สมาชิกในชุดผ้ายืดสแปนเด็กซ์ก้มพับ บิดลำตัว ชนิดที่ฉันได้แต่มองตาปริบๆ รู้สึกเหมือนตัวเองล้มเหลวเวลาเข้าทดสอบความสามารถอะไรสักอย่าง ฉันจึงเลือกสิงสถิตอยู่ในคลาสโยคะฟื้นฟู (restorative yoga) ที่ตัวเองดูเหมือนมีความสามารถทัดเทียมกับเพื่อนร่วมคลาสในการนอนแผ่หราบนหมอนหนุนช่วยฝึก และพยายามบังคับตัวเองไม่ให้หลับจนกรนออกมา ขณะที่สามีฉันไปไกลกว่า เพราะเขาเริ่มฝึกเฮดสแตนด์หรือท่ายืนด้วยศีรษะแล้ว

บ๊อบ เกรกอรี ซึ่งมีอาการของโรคสมองพิการ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อในคลาสโยคะโดยมีปารีส เคย์ คอยช่วยเหลือ เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมโยคะฟื้นฟูสำหรับผู้พิการที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพแห่งหนึ่งในมินนิโซตา
หญิงสาวคนหนึ่งนอนพักในท่าศพที่สตูดิโอโยคะชั้นนำแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง โยคะออกตัวช้าในจีน เพราะเคยเป็นที่หวาดระแวงในเรื่องแง่มุมทางศาสนาและจิตวิญญาณ แต่ทุกวันนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

ฉันไม่ใช่คนเดียวที่สับสนกับความย้อนแย้งระหว่างโยคะที่เห็นทั่วไปกับโยคะในฐานะวิถีปฏิบัติเพื่อการเยียวยาร่างกายและจิตใจแบบองค์รวม “ฉันมักได้ยินคำพูดประมาณว่า เพลงที่เปิดในคลาสไม่คูลพอ” ครูโยคะ โอลิเวีย มี้ด  บอกและเสริมว่า “ฉันคิดว่าตัวเองรับอะไรแบบนี้ไม่ไหวแล้ว ฉันมาเป็นครูโยคะไม่ใช่เพื่อจะมานุ่งอะไรสั้นๆ ดูน่ารัก  ฉันอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางทีดีขึ้นต่างหาก”

มีดก่อตั้งโยคะฟอร์เฟิสต์เรสปอนเดอร์ส (Yoga for First Responders) หรือโยคะเพื่อบุคลากรด่านหน้า องค์กรไม่แสวงกำไรนี้นำโยคะไปสู่กรมตำรวจ สถานีดับเพลิง และสถาบันฝึกอบรมต่างๆ โดยคลาสได้รับการออกแบบให้รวมองค์ประกอบดั้งเดิมของโยคะ ได้แก่ อาสนะหรือท่าการฝึกต่างๆ ปราณยามหรือการฝึกควบคุมลมหายใจ โยคะนิทราหรือการผ่อนคลายระดับลึก และสมาธิ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้สามารถเผชิญหรืออดทนต่อความท้าทายต่างๆ ในการเอาชีวิตตนเองไปเสี่ยงเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น

“เป้าหมายทั้งหมดของเราอยู่ที่การใช้ประโยชน์จากจิตใจ [ที่สงบ]” เธอบอก “ไม่ใช่การก้มแตะนิ้วเท้าให้ถึง”

เรื่อง  ฟราน สมิท

ภาพถ่าย   แอนดี ริกเตอร์

*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมกราคม 2563

 


สารคดีแนะนำ

วิเคราะห์เจาะลึก โควิด-19 กับนักไวรัสวิทยาชาวไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.