เดือนกรกฎาคม ปี 2018 ทีมนักโบราณคดีขุดพบสถานประกอบพิธีศพและเตรียมศพทำ มัมมี่ ของอียิปต์โบราณ ลึกลงไปใต้ผืนทรายของเมืองซักการา นครป่าช้า (necropolis) หรือเมืองคนตาย ที่แผ่กว้างบนฝั่งแม่น้ำไนล์ ห่างจากกรุงไคโรไปทางใต้ราว 20 กิโลเมตร การค้นพบครั้งนี้กลายเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก
ในช่วงสองปีหลังจากนั้น การวิเคราะห์สิ่งที่ค้นพบและการค้นพบใหม่ๆ ในปล่องใกล้เคียงอีกแห่งที่ทอดลง สู่คูหาฝังศพจำนวนมาก เผยขุมทรัพย์ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจจัดพิธีศพในอียิปต์โบราณ เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว ที่วงการโบราณคดีในดินแดนแห่งฟาโรห์มุ่งเน้นไปที่การค้นพบจารึกและศิลปวัตถุจากสุสานหลวงมากกว่า มองหารายละเอียดชีวิตประจำวันทั่วไป สถานประกอบพิธีศพและเตรียมศพทำมัมมี่น่าจะมีอยู่ในนครป่าช้าต่างๆ ทั่วอียิปต์ แต่หลายแห่งถูกมองข้ามโดยนักขุดค้นหลายชั่วรุ่นที่ต่างเร่งขุดให้ถึงคูหาฝังศพเบื้องล่าง
ปัจจุบัน การค้นพบที่ซักการาทำให้เป้าหมายของนักขุดค้นเปลี่ยนไป เมื่อหลักฐานทางโบราณคดีที่บอกเล่าถึงอุตสาหกรรมจัดพิธีศพอย่างเป็นล่ำเป็นสันได้รับการเปิดเผยและบันทึกไว้อย่างละเอียดเป็นครั้งแรก
“หลักฐานที่เราค้นพบเผยว่า ผู้ประกอบพิธีศพมีหัวคิดหลักแหลมทางธุรกิจมากครับ” รามาดาน ฮุสเซน นักไอยคุปต์วิทยาที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงินในเยอรมนี กล่าวและเสริมว่า “พวกเขาฉลาดมากในเรื่องเสนอทางเลือก”
ถ้าหน้ากากฝังศพหรูหราทำจากทองคำและโลหะเงินฟังดูแพงไป คุณอาจได้รับข้อเสนอให้เลือกแบบ “ปูนพลาสเตอร์สีขาวปิดทอง” แทน ฮุสเซนกล่าว
มีเงินไม่พอจะเก็บรักษาเครื่องในของคุณในโถหินอะลาบาสเตอร์แวววาวใช่ไหม ไม่เป็นปัญหา เรามีโถดินเผาลงสีงามๆ ให้เลือก
“ที่ผ่านมาเราได้แต่อ่านเรื่องนี้จากบันทึก [โบราณ]” ฮุสเซนกล่าว “แต่ตอนนี้ เรามีบริบทจริงๆ ของธุรกิจจัดงานศพในยุคนั้นแล้วครับ”
ฮุสเซนเริ่มงานที่ซักการาเมื่อปี 2016 โดยค้นหากลุ่มคูหาฝังศพที่ซ่อนลึกอยู่ใต้ดินและมีอายุย้อนหลังไปราว 600 ปีก่อนคริสตกาล ปล่องส่วนใหญ่ถูกมองข้ามโดยนักไอยคุปต์วิทยารุ่นก่อนๆ ที่มักมุ่งเน้นขุดค้นหลุมฝังศพจากยุคเก่าแก่กว่าในประวัติศาสตร์อียิปต์ ระหว่างตรวจสอบพื้นที่แห่งหนึ่งที่ได้รับการสำรวจครั้งสุดท้ายในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า ฮุสเซนกับทีมงานค้นพบปล่องแห่งหนึ่งที่สกัดเข้าไปในชั้นหินดานและถูกถมเต็มด้วยทรายและซากปรัก
หลังจากขุดทรายออกไป 38 ตัน ทีมนักโบราณคดีก็ลงไปถึงก้นปล่องลึก 12 เมตรดังกล่าว พวกเขาพบคูหาเพดานสูงขนาดกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งอัดแน่นไปด้วยทรายและหินก้อนใหญ่ๆ ที่ต้องขุดออกเช่นกัน ท่ามกลางซากปรัก มีเศษเครื่องปั้นดินเผาแตกหักหลายพันชิ้นรวมอยู่ด้วย แต่ละชิ้นได้รับบันทึกรายละเอียดและเก็บรักษาอย่างระมัดระวัง การขุดค้นนี้ใช้เวลานานหลายเดือน
ในที่สุด เมื่อทรายและเศษซากต่างๆ ถูกขนออกไปจากคูหาดังกล่าวจนหมด ทีมงานก็ต้องแปลกใจเมื่อพบว่า คูหานี้ไม่ใช่หลุมฝังศพ ห้องดังกล่าวมีพื้นที่ยกสูงเหมือนโต๊ะอยู่จุดหนึ่งกับรางตื้นๆ ที่สกัดเข้าไปในชั้นหินตลอดฐานกำแพงด้านหนึ่ง ตรงมุมหนึ่งของคูหามีอ่างขนาดใหญ่เท่าถังเบียร์ ภายในมีถ่าน เถ้า และทรายสีดำบรรจุอยู่ อุโมงค์อีกแห่งที่มีอายุเก่าแก่กว่า และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางเดินคล้ายรวงผึ้งที่เจาะทะลุชั้นหินใต้เมืองซักการา ทำหน้าที่ถ่ายเทอากาศเย็นเข้าสู่คูหาดังกล่าว
เบาะแสข้างต้นบ่งชี้ให้ฮุสเซนรู้ว่า คูหานี้เป็นสถานประกอบพิธีศพและเตรียมศพทำมัมมี่ที่ครบครันด้วยองค์ประกอบระดับอุตสาหกรรมใหญ่ ตั้งแต่เตาเผาเครื่องหอม รางสำหรับระบายของเหลวจากร่างกาย ไปจนถึงระบบระบายอากาศ
“ถ้าคุณต้องผ่าเอาอวัยวะภายในออกภายในห้องใต้ดินแบบนั้น คุณต้องมีอากาศระบายเข้าไปเพื่อกำจัด แมลงครับ” ฮุสเซนอธิบายและเสริมว่า “คุณต้องการอากาศที่มีการระบายตลอดเวลาเมื่อทำงานกับศพ”
ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ชำนาญการด้านเครื่องปั้นดินเผาสามารถต่อปะติดปะต่อเศษเซรามิกเข้าด้วยกัน เพื่อประกอบเป็นโถและชามขนาดเล็กขึ้นมาใหม่ได้นับร้อยใบ แต่ละใบมีฉลากสลักกำกับไว้ด้วย
“ถ้วยหรือชามทุกใบมีชื่อของสารที่บรรจุอยู่กำกับไว้” รวมทั้งระบุให้ใช้ในขั้นตอนใดในกระบวนการดองศพ ฮุสเซนบอก “วิธีการใช้ถูกเขียนไว้บนวัตถุเหล่านี้โดยตรงเลยครับ”
การค้นพบนี้มีประโยชน์มหาศาลสำหรับนักวิชาการที่ศึกษาประเพณีการฝังศพของชาวอียิปต์โบราณ และเปิดโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนให้ได้เห็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งความจริงอันยากลำบากของกระบวนการทำมัมมี่
แม้จะมีบันทึกเกี่ยวกับกระบวนการอันซับซ้อนดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมากในเอกสารโบราณต่างๆ รวมถึง ใน รูปของงานศิลปะบนกำแพงคูหาฝังศพของอียิปต์ แต่หลักฐานทางโบราณคดีแทบไม่มีให้เห็นเลย
“ที่ผ่านมามีสถานประกอบพิธีศพที่อุทิศให้กับกระบวนการนี้น้อยแห่งมากได้รับการขุดค้นอย่างเหมาะสม” ดีทริช ราอู ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์อียิปต์ที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิกในเยอรมนี กล่าวและเสริมว่า “เรื่องนี้ทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ในองค์ความรู้ของเรา”
การค้นพบที่ซักการาช่วยถมช่องว่างที่ว่านั้น ฮุสเซนกล่าว “เป็นครั้งแรกที่เราสามารถพูดถึงโบราณคดีว่าด้วย การเตรียมศพทำมัมมี่ได้ครับ”
เรื่อง แอนดรูว์ เคอร์รี
สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2563
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2