ปลายแหลมเล็กเรียว คมกริบ ของแท่งแสตนเลสท่อนนั้น ถูกชุบด้วยของเหลวสีดำสนิทข้นคลั่ก มันค่อยๆ ถูกจ่อจรดลงเหนือผิวเนื้อของแผ่นหลังอาบเหงื่อเม็ดโป้งของเด็กหนุ่มคนนั้น เพื่อสร้าง รอยสักไทย เด็กหนุ่มคนนั้นอยู่ในอาการนิ่งสงบ แน่วแน่ แทบทุกอณูเนื้อของเด็กหนุ่ม เต้นระริก กระตุกตื่น
เรื่องและภาพถ่าย : เจนจบ ยิ่งสุมล
ชายฉกรรจ์สามคนที่รายล้อมอยู่รอบข้าง ต่างช่วยกันจับตรึงเขาไว้อย่างแน่นหนา ทั้งแขน-ขา- ซ้าย-ขวา และลำตัว เสียงบริกรรมท่องบ่นมนต์คาถาดังแว่วมาให้ได้ยลยินเป็นระยะ ขุมขนทั่วสารพางค์กายลุกชันกรูเกรียว ในเสี้ยววินาทีเดียวกันนั้นเอง เขาก็สะดุ้งเฮือกขึ้นสุดตัวด้วยความ… ปวดแปลบ ที่ทิ่มแทรกเข้ามาตรงกลางไหปลาร้า มันเป็นความเจ็บปวดรวดร้าว ซึ่งเขาเรียกร้องต้องการ และแสวงหาด้วยตัวเอง โดยมิอาจปฏิเสธ
จากแรงแรก… แห่งความเจ็บปวด จนถึงหลายๆ เข็มที่แทงทิ่มต่อๆ มา มันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายของเขาแข็งขืนเกร็งขึ้นสุดตัว หากไม่มีคนที่จับรั้งเขาไว้ แน่นอน เขาคงกระโดดหนีออกจากที่นั่นไปตั้งแต่เข็มแรกที่ปกปักลงไปแล้ว
โลหิตสีแดงสดซึมปริทะลักออกมาจากผิวเนื้อที่ปูดบวม เพราะพลานุภาพของรอยเข็ม มันไหลผสมกับหมึกสีดำ แล้วมลายกลายเป็นสีเดียวกันโดยฉับพลัน บางจุดของอณูเนื้อเริ่มเปิดปรากฏเป็นริ้วรอยดำสนิท ปูดบวม ทั้งลายเส้น และอักขระโบราณปะปน ด้วยความปลาบปลื้มของผู้สร้างสรรค์
เกือบชั่วโมงหลังจากนั้นร่างของเด็กหนุ่มที่ถูกจับตรึงไว้ก็ถูกคลายพันธนาการลง ลมเย็นยะเยือก คล้ายไอน้ำแข็ง อีกวูบหนึ่งลอยมากระทบอณูเนื้ออันระบมของเขาอีกครั้ง เสร็จแล้วสำหรับพิธีกรรมแห่งความเจ็บปวด รวดร้าว ทรมานแสบแสนสาหัส ความชากับความเจ็บปวดที่ค่อยๆ ลุเลาลงทีละน้อย แผ่นหลังของเขาดำสนิทเขียวคล้ำ แดงด้วยคราบเลือดไปในบางส่วน ความภาคภูมิใจค่อยๆ ทวีขึ้นในความรู้สึก ครั้งหนึ่งในชีวิตแห่งความเป็นลูกผู้ชาย เขาได้มาแล้วอย่างไม่อายใคร เพราะมันคือ “รอยสัก” สัญลักษณ์แห่งลูกผู้ชายอันทรนง
…………………………………………
ลายสักไทยเป็นเรื่องราวแห่งตำนาน ที่น่าค้นหา และน่าศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่สนใจในศาสตร์ และศิลปะแขนงนี้โดยตรงหลักฐานทางประวัติศาสตร์บางชิ้นเท่าที่พอมีให้สืบค้นได้นั้น บ่งบอกไว้ว่า คนไทยเราเป็นชนชาติที่นิยมการสักมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ อาจจะก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้วก็เป็นได้
ส่วนใหญ่แล้วผู้ชายไทยทุกคนเมื่อเริ่มโตเป็นหนุ่ม นมเริ่มแตกพานจะนิยมสักกันแทบทุกคน ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ เจ้าผู้ครองเมือง เรื่อยลงมา จนถึงแม่ทัพ เจ้าเมือง นายกอง ขุนนาง ทหารกล้าเลยไปจนถึงไพร่ และทาส ทุกคนล้วนต้องมีรอยสักติดตัวทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ปัจจัยแวดล้อม และความเชื่อของแต่ละคนเป็นสำคัญ ไม่ต่างอะไรจากผู้ชายสมัยนี้ที่ต้องผูกเน็คไท ใส่สูท ผู้ชายสมัยก่อนก็ย่อมต้องมีรอยสักเพื่อแสดงความเป็นชายชาตรีให้สังคมร่วมกันรับรู้ด้วยเช่นกัน
“สัก” คืออะไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความไว้ว่า “สัก” … คือการเอาเหล็กแหลมทิ่มแทงลงบนผิวหนัง ด้วยวิธีการ หรือเพื่อประโยชน์ต่างๆ กันโดยใช้เหล็กแหลมนั้นจุ้มหมึก หรือจุ้มน้ำมันงาผสมว่าน 108 ชนิด เป็นต้น
การแทงที่ผิวหนังเพื่อให้เกิดเป็นอักขระ หรือเครื่องหมายหรือลวดลาย ถ้าใช้หมึกเรียกว่า”สักหมึก” ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่า”สักน้ำมัน สักเพื่อแสดงเป็นหลักฐาน เช่น สักที่ข้อมือแสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์… หรือมีสังกัดกรมกองแล้ว สักที่ใบหน้าแสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องโทษ หรือต้องปราชิก เป็นต้น
แท้จริงแล้วเรื่องราวของ… “การสัก” หรือ “รอยสัก” เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของคนทั้งโลก ที่ดำรงตนสืบทอดเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลามากไม่น้อยกว่า 4,000 ปีแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจ และน่ารู้ก่อนอื่นใดก็คือ อาจจะมีผู้สงสัยว่าชนชาติใดกันแน่ ที่เป็นชนชาติแรกๆ ที่คิดค้นการสักให้กำเนิดเกิดขึ้นมาสำหรับมวลมนุษย์ ในเรื่องเหล่านี้ยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้ หากพิจารณาดูแล้ว จะเห็นได้ว่า รอยสักไทยดูจะเป็นรอยลักษณ์ประเทศเดียวในโลก ที่มีเรื่องราวและตำนานความเชื่อถือมากมายหลายหลากอยู่ในรอยสักนั้นๆ อัศจรรย์แห่งเรื่องราวของศิลปะและศาสตร์ที่ว่านี้ เป็นสิ่งที่คุณหลายคนอาจคิดไม่ถึง และไม่แน่ใจว่าเพียงแค่รอยสักเล็กๆ เพียงรอยเดียว จะมีประวัติความเป็นมา หรือเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายมหาศาลซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่
“ลายสัก” เล็กๆ บนผิวเนื้อเพียงลายเดียวเท่านั้น รวมทั้งวิธีปฏิบัติตนหลังจากร่างกายของคนๆนั้นได้รับรอยสักมาแล้ว จากวินาทีนั้นไปจนตลอดชีวิต กระทั่งกลายเป็นซากศพที่หมดไปพร้อมกับไฟที่เผาไหม้ร่างกายเป็นเรื่องที่มีคุณค่ามหาศาล สำหรับเสี้ยวหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ความเป็นชาติไทยไปแล้วโดยปริยาย
…………………………………………
รอยสักคือความเชื่อ และคือความศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง ไม่ต่างอะไร กับพระเครื่อง ตะกรุด ผ้ายันต์ หรือความเชื่อถือต่อสิ่งอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมที่สามรถจับต้องได้ของคนไทยโดยทั่วไป
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันกันว่า รอยสักไทยมีมาตั้งแต่ครั้งก่อนที่กรุงสุโขทัยจะเป็นราชธานีเสียอีก อิทธิพลการนิยมการสัก สันนิฐานกันว่าน่าจะได้มาจากพวก”ขอม” ที่เรืองอำนาจอยู่ในแคว้นสุวรรณภูมิ เมื่อประมาณ 1,600 ปีที่แล้ว เพราะอักขระและลวดลายที่ใช้สักกันนั้น เป็นแบบอักษรขอม และภาษาบาลีเสียเป็นส่วนใหญ่ บางตำนานของการสักกล่าวว่า การสักเป็นจุดเริ่มต้นขอการแบ่งส่วนราชการของไทย
การทำเครื่องหมายลงบนร่างกายนี้มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1991 หลายๆ คนเชื่อว่าการสักจะทำให้มีโชคดี แคล้วคลาดจากอันตราบ และอยู่ยงคงกระพันพ้นอันตราย รูปแบบของการสักแต่ละชนิดจะมีความขลังที่แตกต่างกัน ลวดลายที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในบรรดาผู้ที่นิยมการสักคือ ลวดลายสักที่ให้ผลทางไสยศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็น เพื่อผลทางเมตตามหานิยม และเพื่อผลทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีให้แคล้วคลาดจากอันตราย
อิสตรีส่วนใหญ่ มักจะสักเพียงเพื่อต้องการจะดึงดูดเพศตรงข้าม หรือต้องการจะมีเสน่ห์ในการพูดจาเพื่อค้าขายได้คล่อง เป็นวัตถุประสงค์สำคัญ การสัก นะหน้าทอง และสาริกาลิ้นทอง จึงเป็นการสักที่ นิยมในเพศหญิง มาแต่โบร่ำโบราณ จนถึงทุกวันนี้
ทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่มักจะมองว่า… คนที่มีรอยสักเป็นผู้ที่มีการศึกษาน้อย เป็นผู้มีอาชีพใช้แรงงาน เป็นนักเลงหัวไม้ หรือเป็นพวกขี้คุกขี้ตาราง อีกอย่างหนึ่งการมีรอยสักเป็นอุปสรรคในการรับราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน นอกจากนั้นแล้วการสักมีข้อห้าม ข้อพึงปฏิบัติต่างๆ อีกมากมาย ความเสื่อมอีกประการหนึ่ง ผู้ได้รับการสักปฏิบัติตนไม่เหมาะสม ใช้ผลของการสักทางไสยศาสตร์ หรือการอยู่ยงคงกระพันชาตรี ไปในทางที่ผิด เช่น โอ้อวด ท้าทาย ประลองต่อสู้กับผู้อื่น ทำตนเป็นมิจฉาชีพ ก่ออาชญากรรม ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ค่านิยมของคนที่มีต่อลายสักเป็นไปในทางลบ
…………………………………………
ในสมัยโบราณอาจารย์สักส่วนใหญ่ที่ผู้คนเคารพนับถือ และให้ความศรัทธา ส่วนใหญ่จะเป็นพระภิกษุ ซึ่งเชี่ยวชาญชำนาญในเรื่องภาษาบาลี และยันต์ต่างๆ รวมทั้งมนต์คาถาด้วยมีบ้างเหมือนกัน ที่อาจารย์สักเป็นฆราวาส แต่ส่วนมากมักจะเคยบวชเรียน และมีความชำนาญในเรื่องการสักมาก่อน ใครที่ศรัทธากับอาจารย์สักองค์ใด คนไหน หรือปู่ ตา พ่อ พี่ น้า อา เคยขึ้นสักกับอาจารย์องค์ไหน ลูกๆ หลานๆ ก็จะขึ้นไปสักกับอาจารย์นั้นๆ ด้วยเช่นกัน
อาจารย์สักแต่ละองค์จะมีกรรมพิธีของตัวเองแตกต่างกันไป เช่น การกำหนดของไหว้ครู ค่ายกครู ข้อปฏิบัติ ข้อห้าม และข้อควรปฏิบัติ ทั้งก่อนและหลังการสัก เป็นต้น เริ่มแรกนั้นผู้ที่ต้องการจะสักจะต้องมาถวายตัวเป็นศิษย์ก่อน จะต้องถือศีลแปด หรือศีลสิบ นั่งสมาธิก่อน เพื่อทำจิตใจให้บริสุทธิ์ รวมทั้งท่องมนต์คาถา ที่จำเป็นสำหรับรอยสักของอาจารย์องค์นั้นๆ ด้วย
ลายสัก หรือรอยสักของแต่ละอาจารย์ แต่ละวัด หรือแต่ละสำนักนั้น… ย่อมต้องแตกต่างกันเป็นธรรมดา บางอาจารย์ จะกำหนดขั้นตอนการสักไว้เลยว่าจะต้องสักลายแรกเช่นไร ตรงไหน ตามด้วยลายอะไร เป็นต้น จะข้ามขั้นตอน หรือแล้วแต่ความปรารถนาของผู้ที่ต้องการจะสักไม่ได้เป็นอันขาด
…………………………………………
ขั้นตอนและกรรมวิธีในการสักของคนไทยนั้น เท่าที่สังเกตดูจากหลายๆ วัด หลายๆ สำนักนั้น ส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กันหัวใจสำคัญอันดับแรกคือ “การบูชาครู” ผู้ที่จะเข้ารับการสักทุกคน จะต้องเตรียมพานดอกไม้ธูปเทียน เงินค่ายกครู และปัจจุบันอาจจะมีบุหรี่ หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ถวายตัวเป็นลูกศิษย์กับอาจารย์สักเสียก่อน
เงินค่าบูชาครูอาจแตกต่างกันบ้าง ในสมัยก่อนจะนิยมด้วยจำนวนลงท้ายที่เลข 6 เช่นเป็นเงิน 6 สลึง 6 บาท 12 บาท 24 บาท 36 บาท แต่ในปัจจุบันนั้นค่านิยมในเรื่องนี้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อาจขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ และลวดลายใหญ่เล็ก ตลอดจนความยากง่ายของรอยสักแต่ละลาย ดังนั้น เงินค่ายกครูที่ใช้บูชาครูในวันนี้ จึงเริ่มต้นที่ 100 บาท 200 บาท และ 300 บาท เป็นต้น แต่สำหรับอาจารย์สักที่มีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบันของเมืองไทย ค่าสักแต่ละลายอาจเริ่มต้นที่ลายละกว่า 3,000 บาท ไปแล้วโดยปริยาย
ผู้สักจะต้องทำการไหว้ครู ด้วยการถวายพานดอกไม้ ธูปเทียน บุหรี่ และเงินค่ายกครูแก่อาจารย์สัก ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ ปวารณาตัวเป็นคนดีเมื่อได้รับรอยสักไปแล้ว จากนั้นจึงเริ่มพิธีสัก เช่น สักยันต์แปดทิศของหลวงพ่อเปิ่น จะใช้เวลาในการสักประมาณหนึ่งชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นลายสักเล็ก -ใหญ่ -ง่าย-ยาก ใช้เวลาน้อย หรือใช้เวลานานมากขนาดไหนก็ตาม ตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวินาทีสุดท้าย ที่อาจารย์สักปักเข็มปลายเหล็กแหลมขนาดใหญ่ลงไปบนอณูเนื้อ มันคือความเจ็บปวดรวดร้าวอย่างแสนสาหัส ทุกครั้งทุกเข็มที่ทิ่มแทงลงไป บางสำนักเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลากับทั้งสองฝ่าย อาจเริ่มต้นด้วยการเขียนลายลงไปบนหนังในบริเวณที่ต้องการสัก
คนที่สักเสร็จใหม่ๆ นั้น คงไม่ต้องกล่าวถึงผลพวงแห่งความเจ็บปวด ที่ได้รับควบคู่กันมาว่ามากมายเพียงใด เพราะตลอดระยะเวลา สามวันแรกนั้น บางคนที่แพ้มากถึงกับมีอาการพิษไข้กำเริบขึ้น นอนแทบไม่ได้ ใครสักที่บริเวณแผ่นหลังต้องนอนคว่ำหรือนอนตะแคงอย่างเดียว นอนหงายไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะจะเกิดอาการกดทับแผลที่รอยสักจะทำให้อาการระบมหายได้ช้า ยิ่งถ้าถูกกดทับนานๆ อาจติดเชื้อเป็นหนอง เมื่อสักมาแล้ว ห้ามโดนน้ำ หรือฟอกสบู่ ตลอดจนห้ามโดนสารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น ในบริเวณที่สักดังกล่าวอย่างน้อย 7 วัน เพราะเชื่อว่าหมึกสักอาจจางลงไปได้ และแผลบริเวณนั้นอาจเกิดอักเสบเป็นหนองขึ้นมา บางคนที่เรียกว่าแพ้มาก อาจต้องนอนซมด้วยพิษไข้หลายวันกว่า อาการจะกลับเป็นปรกติดังเดิม
บางคนอาจจะต้องกินยาระงับปวดหลายเม็ดก่อนเริ่มการสัก หรือเครื่องดื่มบำรุงกำลังทั้งหลายเพื่อระงับความเจ็บปวดที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่วนผลพวงที่ได้รับระหว่างการสัก และหลังการสักจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความเชื่อ และความรู้สึกของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป
…………………………………………
ชมสารคดีสั้นเกี่ยวกับการสักยันต์ โดยเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ที่นี่