เยือนหลุมหลบภัยลับสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เยือนหลุมหลบภัยลับสมัย สงครามโลกครั้งที่สอง

อดีตอันลึกลับของสวิตเซอร์แลนด์ยังคงหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ โดยฝังตัวซ่อนเร้นอยู่ในเทือกเขาและเชิงเขาของภูมิทัศน์ที่ภายนอกดูงดงามไร้พิษภัย หลุมหลบภัยในอุโมงค์นับพันแห่งเป็นป้อมปราการทางกลยุทธ์ในการต่อต้านการรุกรานของฮิตเลอร์ ซึ่งรู้จักกันในนามกลยุทธ์ “เดฟองส์ดูเรดุย” (Defense du Réduit หรือภาษาอังกฤษคือ Swiss National Redoubt) หลุมหลบภัยเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่หลบภัยของผู้บังคับบัญชาของกองทัพและรัฐบาลในกรณีที่มีการรุกราน วอร์รูม (war room) หรือห้องประชุมในภาวะไม่ปกติเหล่านี้มีการใช้งานมาจนถึงปลายศตวรรษที่ยี่สิบ และเป็นความหวังสุดท้ายของสวิตเซอร์แลนด์ในการหาทางรอด

ทว่าสิ่งที่ทำให้เรโต สเตอร์คี ช่างภาพ ต้องการไปเก็บภาพสิ่งที่เขาเรียกว่า “ความลี้ลับแห่งขุนเขาสวิส” คือความลึกลับ หาใช่ประวัติศาสตร์ เขาเคยเล่นอยู่ตรงริมแม่น้ำตรงเชิงเขาเทือกเขาแอลป์ และเห็นซากของหลุมหลบภัยหลุมหนึ่งโผล่พ้นน้ำขึ้นมา

“มันดูเหมือนหินกลมมนใหญ่ก้อนหนึ่ง เพียงแต่สิ่งที่โผล่ขึ้นมากลับเป็นปืนกล” สเตอร์คีบอกเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก “ผมรู้สึกประมาณว่า นั่นมันอะไรกันน่ะ มีอะไรอยู่ข้างในกันนะ” แต่เขาถูกผู้ใหญ่ห้ามไม่ให้ไปยุ่มย่ามแถวนั้นอีก

หลายปีต่อมา โลกที่ซ่อนเร้นอยู่ก็เผยกายให้เขาเห็น ในตอนที่เขามีอายุได้ 20 ปีและเป็นทหาร ในช่วงการฝึก จ่าคนหนึ่งบอกพลทหารให้ไต่ลงไปตามบันไดที่อยู่เชิงเขา “เราลงไปสัก 300 ขั้นได้ และพบว่าตัวเองอยู่ข้างในภูเขาแล้ว” สเตอร์คีบอก เขาไม่ได้เห็นแสงเดือนแสงตะวันอยู่นานสามสัปดาห์ด้วยกัน “ผมจำได้ว่าหลงทางกับเพื่อนๆ ใช้เวลาสี่หรือห้าวันนี่แหละครับกว่าจะรู้ผังของอุโมงค์ คิดดูก็แล้วกันว่าใหญ่ขนาดไหน คุณไม่มีทางรู้เวลาได้เลย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญหรอกครับ”

ทางเข้า ป้อมฟอร์ตซัสโซดาปีญา
รูปถ่าย Reto Sterchi

เขาเริ่มลงมือสำรวจโลกใต้ดินของสวิตเซอร์แลนด์อย่างจริงจังในช่วงฤดูร้อนปี 2010 มีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับอุโมงค์เหล่านี้ในอินเทอร์เน็ต และไม่มีบันทึกภาพถ่ายใดๆในช่วงที่มีสงคราม “ผมรู้เลยว่า ไม่เคยมีใครถ่ายรูปอุโมงค์พวกนี้มาก่อน และผมจะต้องเป็นคนที่ลงมือทำงานนี้”

การเข้าถึงอุโมงค์ทำได้ยาก แม้ว่ารัฐบาลจะเปิดให้สาธารณะเข้าเยือนหลุมหลบภัยได้หลายแห่งในช่วงปลายทศวรรษ 1990 แต่กองทัพไม่ให้ความร่วมมือเท่าใดนัก เพราะต้องการเก็บหลุมหลบภัยเหล่านี้เป็นความลับทางการทหาร สเตอร์คีจึงต้องอาศัยเอกชนที่ซื้อหลุมหลบภัยไว้เป็นของตนเอง ทั้งนี้เพื่ออาจนำไปอนุรักษ์ หรืออาจจะเพื่อนำมาเปลี่ยนเป็นสวนสนุกส่วนตัว หลุมหลบภัยเอกชนหลุมแรกที่เขาได้ไปเยือนเป็นของชายที่มีรสนิยมแปลก ซึ่งชอบขับรถเฟอร์รารีไปตามโพรงคดเคี้ยวของอุโมงค์ และใช้ห้องๆหนึ่งเป็นห้องเก็บอาวุธลับสไตล์เจมส์ บอนด์ ของเขา “ผมถ่ายรูปที่นั่นไม่ได้หรอกนะครับ แต่นั่นแหละตัวอย่างหนึ่งของการนำอุโมงค์ไปใช้ในทุกวันนี้”

สเตอร์คีตระหนักว่า เขารู้สึกสนใจหลุมหลบภัยที่ไม่มีใครเข้าไปแตะต้องตั้งแต่สมัยสงคราม และยังมีสภาพเหมือนในยุคสงครามทุกอย่างเลยมากกว่า ตั้งแต่โรงอาหารที่มีโต๊ะจัดวางอาหารเย็น ไปจนถึงห้องพยาบาลที่มีเครื่องมือแพทย์ครบครัน ขาดแต่แพทย์และคนไข้เท่านั้น เป็นห้องหับที่ทำให้เห็นได้ชัดว่า กลยุทธ์เดฟองส์ดูเรดุยเป็นความลับสุดยอดเพียงใด

แม้ว่าหลุมหลบภัยจะมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไป แต่การตกแต่งภายในจะมีรูปแบบค่อยข้างตายตัว นั่นคือ ทาด้วยสีเหลืองเข้ม สีชมพูกลีบกุหลาบ และสีเขียวตองอ่อน แต่ห้องหับเหล่านี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสุนทรียะ สีสันต่างๆก็มีไว้เพื่อช่วยให้คนที่ต้องอาศัยอยู่ในนั้นนานหลายสัปดาห์หรืออาจนานหลายเดือนทนกับสภาพซึ่งต้องอยู่ในที่คับแคบได้เท่านั้น

การมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความงาม เป็นประเด็นหลักในการนำเสนอภาพชุดนี้ของสเตอร์คี “ทุกอย่างสร้างขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานจริง ไม่มีการคำนึงถึงสุนทรียะ แต่ก็ยังน่าดูชมมากรับ” เขาบอก “ผมคิดว่าความขัดแย้งนี่แหละที่น่าประทับใจ”

เรื่อง Alexandra Genova

ภาพถ่าย Reto Sterchi

 

อ่านเพิ่มเติม

เมื่อสงครามกลางเมืองจบ หมู่บ้านแห่งนี้เหลือเพียงผู้หญิงและเด็ก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.