ความพยายามในครั้งที่หนึ่ง สอง และสาม ของ Pascal Maitre ในการไปเยือนพระพุทธรูปขนาดยักษ์ที่แกะสลักบนไหล่เขาของหุบเขาบามียันในอัฟกานิสถานนั้นกลายเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ ในปี 1996 ช่างภาพชาวฝรั่งเศสคนนี้อยู่กรุงคาบูลเพื่อมาทำงานที่ได้รับมอบหมายกับนิตยสาร L’express แม้การเดินทางจากกรุงคาบูลไปเมือง บามียัน มีระยะทางเพียง 200 กิโลเมตร แต่ในทุกเช้า เขาได้รับการปฏิเสธจากคนขับรถทุกครั้ง แม้เขาจะเพิ่มค่าจ้างให้ก็ตาม
ในตลอดเส้นทาง จะมีกองกำลังติดอาวุธประจำจุดตรวจระหว่างทาง และรถขับเคลื่อนสี่ล้อนั้นเป็นที่หมายตามากเป็นพิเศษ และรถที่พยายามผ่านทางไปมักถูกยึด Pascal ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อน จนในที่สุด เขาสามารถเดินทางผ่านจุดตรวจโดยรถประจำทางของเมืองที่เขาเช่ามาซึ่งเต็มไปด้วยผู้โดยสาร และนั่งท่ามกลางพวกเขาในชุดเสื้อคลุมและกางเกงในแบบอัฟกานิสถาน ที่ชื่อว่า Perahan Tunban
แต่บามียันนั้นเป็นการเดินทางที่คุ้มค่าความเสี่ยง พระพุทธหินคู่นี้เริ่มสร้างขึ้นในศตววรษที่ 6 องค์หนึ่งมีความสูง 38 เมตร ส่วนอีกองค์หนึ่งมีความสูง 55 เมตร ตั้งตระหง่านท่ามกลางทิวทัศน์หุบเขา แม้จะผ่านทั้งยุคสมัย การถูกละเลย และช่วงสงคราม บามียันก็ยังคงดำรงอยู่อย่างโดดเด่นในพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดพักอันคึกคักในเส้นทางสายไหมและศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา พื้นที่มรดกโลกของยูเนสโกแห่งนี้ได้ดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและนักโบราณคดีจนกระทั่งถึงช่วงเวลาที่ประเทศนี้อยู่ภาวะที่สั่นคลอนเกินกว่าจะรักษาพระพุทธรูปเหล่านี้ไว้
แม้ก่อนหน้า Maitre ได้เดินทางไปอัฟกานิสถานอยู่หลายครั้ง แต่เขาไม่เคยไปยังบามียัน เมื่อมองจากภูเขา เขาได้ชื่นชมพระพุทธรูปและทุ่งข้าวสาลีที่อยู่ใต้เท้า รวมไปถึงภูเขา Hindu Kush ที่อยู่ด้านหลัง หุบเขาแห่งนี้เต็มไปด้วยกลุ่มคนติดอาวุธจากกลุ่มชาติพันธุ์ฮาซาราที่ได้ควบคุมพื้นที่มาอย่างยาวนาน พวกเขาเก็บอาวุธและเครื่องกระสุนในถ้ำรอบใต้เท้าขององค์พระพุทธรูปที่ใช้ในการต่อสู้กับกองกำลังตาลีบัน กองกำลังชาวอิสลามที่ต่อสู้เพื่อควบคุมประเทศ ผู้อพยพจากสงครามที่เดินทางกลับมาจากปากีสถานก็ได้สร้างบ้านที่นี่ และถ้ำบามียันที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโก และภาพวาดสีน้ำมันที่วาดขึ้นในศตวรรษที่ 7 ซึ่งตกแต่งเพดานก็เป็นหนึ่งในภาพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
เพียงไม่กี่เดือนหลังจาก Maitre เดินทางไปเยือน กองกำลังตาลีบันได้ยึดครองกรุงคาบูลและก่อตั้งจักรวรรดิอิสลามและอัฟกานิสถาน ในตอนแรก พวกเขาแสดงความเคารพพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงนี้ แต่หลังจากมีผู้บังคับบัญชาคนหนึ่งยิงพระพุทธรูป ก็ได้มีการออกคำสั่งเพื่อปกป้องมรดกโลกแห่งอัฟกานิสถานแห่งนี้ ทว่าในภายหลัง หลังจากที่พวกเขารู้สึกแค้นเคืองที่ไม่ได้การยอมรับในระดับนานาชาติและการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา ผู้นำตาลีบันก็เปลี่ยนใจ
ในเดือนมีนาคม 2001 กองกำลังตาลีบันวางระเบิดที่ฐานของพระพุทธรูปทำให้กลายเป็นเพียงซากปรักหักพัง พระพุทธรูปที่มีอายุมากกว่า 1,500 ปี นั้นพังถล่มลงมาในเวลาเพียง 2-3 อาทิตย์ และ 20 ปีให้หลัง Maitre เชื่อว่าภาพถ่ายของเขาบันทึกในช่วงเวลาสุดท้ายที่พระพุทธรูปยังคงตั้งตระหง่าน
“มันเป็นหายนะเลยล่ะครับ” เขากล่าวและเสริมว่า “มันเป็นมรดกโลกของยูเนสโกแห่งแรกที่ถูกทำลาย สิ่งที่สะเทือนใจผู้คนมากที่สุดคือการที่สถานที่หลายแห่งถูกทำลายเนื่องจากการปล้นสะดม และกับพระพุทธรูปนี้ ไม่มีใครปล้น แค่ถูกทำลาย จากจุดนี้ เหตุการณ์นี้ทำให้โลกเข้าใจถึงบางสิ่งที่เปลี่ยนไป นั่นคือไม่มีการเคารพพื้นที่มรดกโลกอีกต่อไป”
Maitre กลับไปในปี 2006 เมื่อพระพุทธรูปหายไปและเหลือเพียงช่องว่างอันใหญ่ในหุบเขา กลุ่มนักโบราณคดีชาวอัฟกันอยู่ที่นี่และค้นหาร่องรอยของพระพุทธรูปองค์ที่สามที่มีขนาดใหญ่กว่าพระพุทธรูปสององค์ที่แล้ว และแกะสลักในแนวนอน โดยเป็นครั้งแรกที่ Maitre ได้มาเห็นซากปรักหักพังด้วยตัวเอง และเขาพบว่าเป็นเรื่องยากจะเข้าใจที่ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอันล้ำค่านั้นถูกทำลายจนสิ้น
“คุณมีเพียงช่องว่างอันใหญ่ ที่ไม่เหลืออะไรเลย” เขาเล่าย้อนไป “ผมไม่อาจเข้าใจได้ ผมเคยเห็นพระพุทธรูป แล้วท่านก็หายไป”
ภาพถ่าย PASCAL MAITRE