สะพานแขวน ข้ามกาลเวลาของชาวอินคา

ในเปรู สะพานแขวน ของชาวอินคาที่สร้างขึ้นใหม่ทุกปี เชื่อมโยงชุมชนต่างๆ และอดีตกับปัจจุบัน

บนสองฝั่งของโกรกธารแห่งหนึ่ง สูงขึ้นไปในเทือกเขาแอนดีสทางฝั่งเปรู สะพานแขวน เชือกเก่าแก่แขวนอยู่อย่างหมิ่นเหม่เหนือแม่น้ำอาปูรีมัก

ทุกปีเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ชุมชนต่างๆมารวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในพิธีกรรมสร้างใหม่ ชาวบ้านช่วยกันขึงเชือก เส้นมหึมาที่ยาวกว่า 30 เมตรและหนาพอๆกับต้นขายึดโยงไปตามสะพานเก่าแก่ โดยทำงานร่วมกันจากคนละฝั่งของแม่น้ำ ไม่ช้า โครงสร้างเก่าที่ผุพังจะถูกตัดและร่วงลงสู่โกรกธารเบื้องล่าง ตลอดสามวันของการทำงาน การสวดภาวนา และเฉลิมฉลอง สะพานแขวน ใหม่จะถูกถักทอขึ้นในตำแหน่งของสะพานเดิม

สะพานเกสวาชากาเป็นสะพานแขวนของชาวอินคาที่เหลืออยู่แห่งสุดท้าย สะพานนี้สร้างขึ้นและซ่อมสร้างใหม่อย่างต่อเนื่องยาวนานถึงห้าศตวรรษ

สะพานเกสวาชากาสร้างขึ้นและซ่อมสร้างใหม่อย่างต่อเนื่องยาวนานถึงห้าศตวรรษ

ตลอดหลายร้อยปี สะพานแห่งนี้เป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมหมู่บ้านบนสองฝั่งแม่น้ำในภูมิภาคนี้ของจังหวัดกานาส ประเทศเปรู และเป็นเพียงหนึ่งในสะพานแขวนทำจากเชือกแบบเดียวกันหลายแห่งที่สร้างขึ้นในสมัยจักรวรรดิอินคา เพื่อเชื่อมอาณาเขตอันไพศาลด้วยเส้นทางที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ถนนอินคาอันยิ่งใหญ่ (Great Inca Road) ถนนสายนี้ทอดยาวกว่า 40,000 กิโลเมตร และเชื่อมชุมชนที่เคยตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวเข้าด้วยกัน ทำให้ทหาร คนส่งสาร และชาวเมืองทั่วไป สามารถเดินทางไปทั่วจักรวรรดิได้

สมาชิกของชุมชนชาวเกชัวทำพิธีบวงสรวงในคืนก่อนเริ่มพิธีซ่อมสร้างสะพานประจำปี

เครือข่ายการคมนาคมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ชาวอินคามองว่าเป็นอาณัติให้พวกเขา “มุ่งหน้าไปทั่วโลกและจัดระเบียบโลกหลังช่วงเวลาแห่งความโกลาหล” โฆเซ บาร์เรย์โร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและกำกับดูแลด้านลาตินอเมริกา ที่พิพิธภัณฑ์ชนพื้นเมืองอเมริกันแห่งชาติของสถาบันสมิทโซเนียน กล่าว บาร์เรย์โรเป็นภัณฑารักษ์ร่วมของนิทรรศการว่าด้วยถนนของจักรวรรดิอินคา และเคยทำวิจัยเรื่องสะพานเกสวาชากา

“สะพานเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการแผ่ขยายจักรวรรดิจากเมืองกุสโกออกไปทั้งสี่ทิศ และตัดข้ามภูมิประเทศ อันโหดร้ายกันดารของเทือกเขาแอนดีส” เขาบอก

ช่างฝีมือพื้นบ้านช่วยกันถักทอพื้นและด้านข้างของสะพานเข้าด้วยกันอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการก่อสร้าง

นักล่าอาณานิคมชาวสเปนผู้โค่นจักรวรรดิอินคาในศตวรรษที่สิบหก ประทับใจความสามารถทางวิศวกรรมของสะพานแขวน ซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณที่แม่น้ำกว้างเกินกว่าจะเชื่อมถึงกันด้วยคานไม้

แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี สะพานหลายแห่งถูกทำลาย บางแห่งไม่มีการใช้งานและในที่สุดก็ผุพังหายไป

เหตุผลหลักที่ทำให้ประเพณีเกี่ยวข้องกับสะพานเกสวาชากายืนหยัดมาได้เป็นเพราะทำเลที่ตั้งอันโดดเดี่ยวห่างไกล และทุกวันนี้ยังคงทำหน้าที่เชื่อมโยงสี่ชุมชนที่พูดภาษาเกชัว ได้แก่ ฮูอินชีรี เชาปีบันดา ชอกไกอัว และโกยานา แม้จะมีสะพานโลหะแห่งใหม่ที่สร้างขึ้นใกล้ๆเพื่อให้รถยนต์ใช้ข้ามแม่น้ำ แต่ชาวบ้านในละแวกนั้นยังคงเดินข้ามสะพานเชือกเก่าไปค้าขายและไปมาหาสู่กัน

ผู้เข้าร่วมพิธีแบกเชือกยาวเส้นโตหนาหนักเดินลงไปตามหุบผาชัน เพื่อเริ่มการก่อสร้างสะพานใหม่ประจำปี

เมื่อปี 2013 สะพานเกสวาชากาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage of Humanity) ขององค์การยูเนสโก อันเป็นการยอมรับในความสำคัญของมันที่มีต่อผู้คนซึ่งยังอาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้น

“ทุกวันนี้ เราสามารถมองเห็นวัฒนธรรมที่มีชีวิตอยู่ตรงหน้า ซึ่งย้อนกลับไปได้ถึง 500 ปีก่อนครับ” บาร์เรย์โรบอกและเสริมว่า “ขณะที่จักรวรรดิทางการเมืองอย่างอินคาถูกทำลาย สิ่งที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังคือวัฒนธรรมของผู้คนในระดับหมู่บ้าน”

เขาบอกว่า องค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมดังกล่าว คือแนวคิดเรื่องการลงแรงช่วยกัน หลายชุมชนมาทำงานด้วยกันในโครงการร่วมโดยไม่หวังค่าแรง เพราะรู้ว่าหมู่บ้านหรือทั้งภูมิภาคจะได้ประโยชน์ในท้ายที่สุด

แม่น้ำอาปูรีมักรังสรรค์หุบผาชันอันน่าเกรงขาม ในสมัยจักรวรรดิอินคา สะพานแขวนหลายแห่งเชื่อมชุมชนต่างๆ ที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวและห่างไกล

เรื่อง แอ็บบี ซูว์เอลล์
ภาพถ่าย เจฟฟ์ ไฮม์แซท

สามารถติดตามสารคดี สะพานข้ามกาลเวลา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม ยลสะพานเชือกชาวอินคาที่ทำจากหญ้าล้วนๆ

ชนพื้นเมืองชายที่พูดภาษาเกชัวเดินข้ามสะพานเก่าเพื่อเริ่มต้นพิธีเฉลิมฉลอง
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.