ตัวตนชีวิตของ เบียร์ สิงห์น้อย ช่างภาพผู้สร้างปรากฏการณ์ให้อาคารยุคโมเดิร์นของไทย

ชายผู้บันทึกประวัติศาสตร์และเรื่องราวของสังคมในแต่ละยุคสมัย ผ่านการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม

วันนี้เรานัด เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย หรือ Beersingnoi ช่างภาพสถาปัตย์ คุยเรื่องการทำงานถ่ายภาพและชีวิตของเขา

เบียร์คือเจ้าของไอจีและเฟซบุ๊คเพจ Foto_momo รวมภาพถ่ายตึกและอาคารเก่ายุคโมเดิร์นที่เขาตั้งใจตระเวนถ่ายทั่วไทย

นอกจากความหลงใหลในการถ่ายภาพอาคารยุคโมเดิร์น เราค้นพบว่าเบียร์ก็ชอบเรื่องประวัติศาสตร์ไม่แพ้กัน เขาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เยอะมาก และรักในประวัติศาสตร์ไทยมาตั้งแต่สมัยเรียนด้วย

ทุกภาพถ่ายของเขาจึงมีเรื่องราวและเรื่องเล่าเบื้องหลัง เขาเคยบอกว่าตึกและอาคารคือหลักฐานของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย แสดงถึงค่านิยมทางสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้างในยุคนั้น ๆ ด้วย

และนี่คือบทสนทนากับ เบียร์ สิงห์น้อย ถึงตัวตนชีวิต ในฐานะช่างภาพสถาปัตยกรรมผู้สร้างปรากฏการณ์ให้อาคารยุคโมเดิร์นของเมืองไทย

คุณชอบถ่ายตึกยุคโมเดิร์นหรอ

ปัจจุบันก็เรียกว่าหลงใหลดีกว่า เมื่อก่อนก็ไม่ได้ชอบ ก็มองผ่านตลอด ไม่ได้มองตึกยุคนี้มาก แต่ว่าพอยิ่งหลงกับมันยิ่งมองไปทางไหนมันก็ยิ่งเจอ

ตึกที่ชอบที่สุดที่เคยไปเจอมาคือตึกไหน

ตึกฟักทอง เพราะว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นจริง ๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจงานประเภทนี้ ตอนนั้นมันรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมตึกมันเท่ขนาดนี้ ตึกมันเท่แต่ทำไมไม่มีใครพูดถึง

ตึกฟักทอง ภาพถ่ายปี พ.ศ. 2559 โดย วีระพล สิงห์น้อย

ซึ่งพบคำตอบว่า

เพราะคนส่วนมากยังไม่ได้สนใจ จริง ๆ วันนั้นที่เราไปถ่ายตึกฟักทอง ก็คือการไปทำงานนั่นแหละ ไปถ่ายรูปให้สมาคมสถาปนิกสยามซึ่งเค้าจะมอบรางวัลอาคารอนุรักษ์ ให้ทุกปี เราเองก็มีโอกาสได้ไปถ่ายตึกนี้ ตอนถ่ายตึกฟักทองก็รู้สึกว่าเราเรียนสถาปัตย์มาตั้งสี่ห้าปีทำไมไม่รู้จักตึกนี้เลย (หัวเราะ)

เราประทับใจตึกนี้มากก็เลยไปหาว่าคนออกแบบตึกนี้คือใคร แล้วเค้าทำงานที่ไหนสร้างตึกที่ไหนอีกบ้าง ก็เริ่มตะเวนถ่ายผลงานของคุณอมร ศรีวงศ์ (สถาปนิกอาวุโสแห่งวงการงานสถาปัตยกรรมในประเทศไทย) เค้าออกแบบอาคารที่กรุงเทพฯ ที่เชียงใหม่ เราก็อาศัยถามคนนั้นคนนี้ตามคอนเน็คชั่นไปเรื่อย ๆ

ได้ตามรอยและถ่ายรูปเก็บไว้มา 10 กว่าอาคาร เราก็เลยทำเป็นอัลบัมในเฟสบุ๊ค  พอมันเห็นความหลากหลายของอาคาร คนสนใจเยอะ เราก็เลยลองรวบรวมตึกยุคนี้ดีกว่า

คุณเคยบอกว่าตึกยุคโมเดิร์นมันเป็นหลักฐานช่วงเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย

ใช่ คิดว่านะ ถ้ามองทางประวัติศาสตร์มันก็คือการรับแนวความคิดและอิทธิพลการออกแบบจากสังคมทางตะวันตกมา นักเรียนไทยไปเรียนสถาปัตย์จากเมืองนอกแล้วกลับมา เค้าก็มาเริ่มต้นการเป็นสถาปนิกในประเทศไทย ซึ่งตึกโมเดิร์นเริ่มเด่นชัดจริงๆ ช่วง 2500 ต้น ๆ แต่จริง ๆ มันก็จะมีก่อนหน้านั้นแล้ว

เช่นในปี 2475 ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เริ่มมีเห็นได้ชัดตรงถนนราชดำเนิน แล้วพอเทคโนโลยีหรือการก่อสร้างมันเริ่มพัฒนาขึ้น สามารถสร้างรูปทรงได้หวือหวาขึ้น มันก็จะกลายมาเป็น Modern mutualism หรืออย่างตึกสกาล่านี่ถือเป็นยุคปลายแล้ว สกาล่าปี 1969

หอนาฬิกา วัดเซนต์แอนโทนี จังหวัดสมุทรสาคร สร้างระหว่างปี พ.ศ. 2526-2527 ภาพถ่ายโดย วีระพล สิงห์น้อย

ทำไมสมัยนี้ถึงไม่ค่อยเห็นการสร้างตึกแนวนี้แล้ว

มันเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแหละ ความนิยมแบบนั้นมันหมดไป ก็เลยกลายเป็นตึกสมัยใหม่ที่สร้างตึกสูงได้มากขึ้น ปัจจัยมีหลายอย่างทั้งวัสดุ เทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนไป ในยุคนั้นมันเป็นปูน ยุคนี้มันเป็นเหล็ก กระจก แนวความคิดมันก็เปลี่ยนไป อาจจะมีแนวความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมมามากขึ้น เอาจริง ๆ สร้างก็สร้างได้ แต่ก็อาจจะไม่คุ้มในการลงทุนสักเท่าไหร่ เพราะว่าพื้นที่มันก็ไม่ถูกใช้เต็มที่

ถ้าย้อนกลับไปในไทม์ไลน์ไล่มาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5-6 ตอนนั้นเป็นช่างจีน เราเห็นได้ตามเยาวราช เจริญกรุง หลังจากนั้นช่างอิตาลี ช่างทางตะวันตกเข้ามาในราชสำนักของสยาม เช่น พระที่นั่งอนันต์ เรียกว่าเป็นการเอาความทันสมัยแบบตะวันตกเข้ามาสังคมไทยแล้ว บางคนก็นับว่าพระที่นั่งอนันต์ฯ เป็นความทันสมัยได้ ยุคนั้นถือว่าทันสมัยมากนะ ความเป็นศิวิไลซ์

พอช่างอิตาลี ช่างเยอรมันเข้ามาทำงานมากขึ้น คนไทยก็ได้ความรู้มากขึ้น ยุคนั้นยังไม่มีโรงเรียนสถาปัตย์ ไม่มีการเรียกว่าสถาปนิก เพราะว่าสถาปนิกเพิ่งมีตอนสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มมีการจำกัดความคำว่าสถาปนิกให้มันแตกต่างจากคำว่าช่างแล้ว มันคือเอาความงามทางศิลปะเข้ามาบวกกับเทคโนโลยีทางวิศวะกรรม ยุคนั้นก็เลยจะก่อเกิดความสำคัญของสถาปนิกมากขึ้น

ชนชั้นสูงของไทยไปเรียนต่างประเทศ มีบางส่วนที่ไปเรียนด้านสถาปัตย์ พอกลับประเทศไทยมา ก็ตั้งโรงเรียน เริ่มจากเพาะช่าง จากนั้นก็เป็นคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ซึ่งถือว่าเป็นคณะสถาปัตย์คณะแรกของไทยโดยอาจารย์นารถ โพธิประสาท ที่ เรียกว่าก่อตั้งระบบการเรียนการสอนมันชัดเจน เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เป็นฐานรากของวงการสถาปนิกไทย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อสร้าง พ.ศ. 2482 สร้างเสร็จ พ.ศ. 2483 ภาพถ่ายโดย วีระพล สิงห์น้อย
อาคารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อสร้างปี พ.ศ. 2512 ภาพถ่ายโดย

ตัวคุณเองก็เรียนด้านสถาปัตย์ ตอนนี้มาเป็นช่างภาพอนุรักษ์ถ่ายตึกเก่า มันมีที่มายังไง ช่วยเล่าหน่อย

สมัยเด็กๆ เราเป็นเด็กมัธยมที่ชอบวาดรูป เรียกว่าพอมีฝีมือวาดรูปนิดนึง แล้วก็เก่งวิทยาศาสตร์กับ คณิตศาสตร์บ้างนิดนึง เลยเลือกเรียนคณะสถาปัตย์ศิลปากร เอกสถาปัตย์ไทย เพราะเราชอบวาดรูปลายไทย สนใจเรื่องความเป็นไทย ชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะไทย ก็เลือกถาปัตย์ไทย จริงๆ ก็จะสนุกกับประวัติศาสตร์มากกว่า สนใจเรื่องราวในอดีตมาก

ที่คณะมีวิชานึงถ่ายภาพเบื้องต้น ถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เป็นวิชาเลือกที่เราสนใจไปลงทะเบียนเรียนดู ซึ่งก่อนหน้านั้นเราสนใจเรื่องกล้องถ่ายรูปอยู่แล้วเลยเลือกลงเรียน พอเรียนวิชานี้ก็เจออาจารย์พิเศษคือพี่สมคิด เปี่ยมปิยชาติ พี่สมคิดก็จบสถาปัตย์มา เรียกว่ามาเปิดโลกให้เรารู้ว่าการถ่ายภาพมันมีแขนงต่างๆ ย่อยออกมา แล้วก็ประกอบอาชีพได้ด้วย เราก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจดี

นอกจากพี่สมคิด เราก็เจออาจารย์ที่จบจากอังกฤษมา เขาก็มาเปิดโลกให้เราเห็นว่าการถ่ายภาพมันควรมีแนวคิดเบื้องหลังด้วยแบบ conceptual art เขาก็แนะนำให้เปิดหนังสือของศิลปินดัง ๆ ที่ทำงานด้านภาพถ่าย เราก็จะรู้ว่าจริง ๆ ศิลปะภาพถ่าย conceptual art มันไม่จำเป็นต้องเน้นถ่ายสวยอย่างเดียว มันมีถ่ายซากศพ ถ่ายดอกไม้เหี่ยวมันก็สวยได้

ทุกวันนี้ก่อนออกไปถ่ายภาพ เราก็จะศึกษาบริบทและศิลปะ มีเบื้องหลังการทำงาน เราอยู่ในวงการสถาปัตย์อยู่แล้ว เราก็จะได้เปรียบที่ว่าเราเข้าใจมันได้เร็วกว่าคนอื่น เราเข้าใจตึกได้ง่าย เข้าใจเทคโนโลยีการก่อสร้าง เข้าใจมุมมองมากขึ้น

เหมือนเวลาเรารู้จักผู้หญิงคนนึง แล้วก็รู้ว่าผู้หญิงคนนี้เค้าจะสวยตรงไหน เค้าจะต้องสวยตอนอารมณ์เศร้าหรือเค้าจะต้องสวยตอนอารมณ์ร่าเริง อะไรอย่างนี้ เราจะชอบเปรียบเทียบการมองอาคารเหมือนคน

ฟังดูแล้วคุณหลงใหลการถ่ายภาพมากเหมือนกันนะ

จริง ๆ ก็แอบสนใจมาตั้งแต่มัธยมละ แต่ว่าเราก็ไม่ได้มีตังค์ กล้องตอนนั้นก็แพง พอเข้ามหาลัยพี่สาวให้ยืมกล้องตัวนึงหลังเค้าเรียน เราเลยได้กล้องเก่าตัวนึงมาฝึกถ่าย แล้วก็ไปเรียนถ่ายรูปตามสารพัดช่าง เรียนแบบวิชาชีพ เค้าก็จะสอนแนวถ่ายสวยงาม ถ่ายประกวด ซึ่งเราก็รู้สึกว่าไม่ได้ยากอะไร ก็พอทำได้

เวทีมวยราชดำเนิน พ.ศ. 2488 ภาพถ่ายโดย วีระพล สิงห์น้อย

ตอนนั้นอยากทำงานเป็นช่างภาพเลยไหม

ตอนจบมาก็ทำงานด้านสถาปัตย์ก่อน เพราะสนใจด้านประวัติศาสตร์ แล้วก็ทำ วิทยานิพนธ์ด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งมันก็จะไปเชื่อมโยงกับการทำงานด้านการอนุรักษ์ตึกเก่า เราพยายามผลักดันให้ตัวเองไปอยู่ในวงการนั้น

ย้อนกลับไปเมื่อตอนพี่เรียนจบมาในปี 2546 วงการอนุรักษ์บ้านเรามันยังไม่ได้บูมมาก แทบจะไม่มีการพูดถึง แต่เราก็โชคดีได้เข้าไปทำงานอนุรักษ์อาคารไทยพาณิชย์ตรงถนนเพชรบุรี อันนั้นก็เป็นโปรเจคแรกแรกที่ใช้วิชาชีพเข้าไป

พอทำจริง ๆ เรารู้สึกว่าไม่ได้ชอบมากขนาดนั้น ไม่ได้เป็นตัวเราเท่าไหร่ เริ่มมาถ่ายภาพจริงจังตอนหันไปทำงานหนังสือแล้ว ช่วงนั้นบริษัทสถาปนิก 49 เค้ากำลังจะจัดตั้งเป็นสำนักพิมพ์ขึ้นมา เรามีโอกาสได้ไปคุยกับพี่เต้ย-นิธิ สถาปิตานนท์ เป็นศิลปินแห่งชาติ เข้าไปร่วมงานกับเค้า ชื่อสำนักพิมพ์ลายเส้น ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้เริ่มเป็นช่างภาพหรอก แต่เราก็แสดงตัวว่าเราอยากเป็นช่างภาพนะ อยากถ่ายรูป ชอบถ่ายรูป ขอถ้ามีงานถ่ายรูป ผมขอบ้าง (หัวเราะ)

เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานช่างภาพอย่างเป็นจริงจังหรือเปล่า

ตอนนั้นเริ่มได้ไปถ่ายรูปโมเดลอาคาร ยังไม่ได้ถ่ายรูปอาคารใหญ่ ก็เริ่มต้นจากถ่ายโมเดลจำลองพวกนั้นเอามาลงหนังสือ ถ่ายไปถ่ายมาจนขยับขยายโอกาสไปเรื่อย ๆ จนได้ถ่ายอาคารจริงบ้าง เริ่มจากอาคารเล็ก ๆ จนเราก็พอจะถ่ายรูปเป็นแล้ว ก็มีงานถ่ายรูปตึกที่มาจากคอนเน็คชั่นส์เข้ามาเรื่อย ๆ จนจะพอเลี้ยงตัวได้ ก็เลยออกมาเป็นช่างภาพอิสระจนถึงทุกวันนี้

อาคารไปรษณีย์กลางในปัจจุบัน ก่อสร้าง 1 มีนาคม พ.ศ. 2478 แล้วเสร็จ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2482 ภาพถ่ายโดย วีระพล สิงห์น้อย
อาคารศรีเฟื่องฟุ้ง ออกแบบโดย สถาปนิกอินทาเรน พ.ศ. 2517 ภาพถ่ายโดย วีระพล สิงห์น้อย

คุณสามารถถ่ายรูปแล้วดึงคาแรกเตอร์ตึกออกมาได้ดี คิดว่าอะไรในตัวคุณที่ทำให้ภาพถ่ายตึกมันดูมีชีวิตออกมาขนาดนั้น

เอาจริง ๆ เป็นคนกัดไม่ปล่อยคนนึงแหละ ถ้าเกิดว่ามันยังไม่สำเร็จก็จะทำไปเรื่อย ๆ เราก็ไม่ได้ถ่ายสวยในครั้งเดียว มีหลายครั้งที่มันไม่สวยเราก็ต้องกลับไปถ่ายซ้ำ ใช้สกิลในการเป็นช่างภาพสถาปัตย์มาถ่ายงาน

ความเป็นช่างภาพ ความเป็นสถาปนิก และความชอบประวัติศาสตร์ มันดูหลอมเป็นแบบตัวตนคุณมากเลย

คงตกตะกอนละมั้ง มันก็เป็นสิ่งที่เราชอบทั้ง 3 อย่าง เราเอามาเบลนด์ให้มันอยู่ในตัวเรา เราสนใจด้านอนุรักษ์อาคาร เรายังมีความชอบในการอนุรักษ์อาคารอยู่ ยังเห็นว่าคุณค่าทางประวัติศาสตร์มันสำคัญนะ เป็นจังหวะที่โชคดีที่เอาเรื่องถ่ายรูปมาบวกกับตรงนี้ได้

ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนราชวงศ์ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2516 ภาพถ่ายโดย วีระพล สิงห์น้อย

เคยคิดมั้ยว่าวันนึงจะกลายมาเป็นช่างภาพถ่ายตึกเก่า ซึ่งพอทุกคนพูดถึงเบียร์สิงน้อย ก็มีภาพจำถึงนักถ่ายภาพตึกยุคโมเดิร์น

ตอนแรกไม่คิดหรอก ทำไปทำมาจนมันเป็นตัวของตัวเอง ตอนแรก ๆ ที่เราเริ่มทำ เราก็จะไปติดตามดูผลงานพวกช่างภาพฝรั่ง คนที่ถ่ายประเภทแบบเราเนี่ยในเมืองไทยมันอาจจะยังไม่มีแต่ว่าฝรั่งทำกันมาพอสมควรแล้ว เราก็ติดตามผลงานพวกเขาจนวันนึงได้สร้างผลงานของตัวเอง ในแบบของตัวเอง

ถ้าสมมติมีคนที่อายุน้อยกว่าอยากทำแบบคุณบ้าง อยากจะบอกอะไรพวกเขา

ต้องเริ่มทำเลย เราเองก็เคยลังเลที่จะทำมาหลายปี รู้สึกว่าทำช้าไปด้วยซ้ำ บางตึกมันถูกทุบไปแล้ว ไม่ทันแล้ว อยากบอกว่าพวกภาพถ่ายมันมีคุณค่านะ จริง ๆ แล้วมันมีคนที่เค้าก็เห็นความหมายของมันอยู่ เราอยากสนับสนุนทุกคนอย่างเต็มที่ ไม่งั้นเดี๋ยวทุกอย่างมันจะสายเกินไป

ตึกช้าง พ.ศ. 2540 ภาพถ่ายโดย วีระพล สิงห์น้อย
โรงแรมแกรนด์โฮเต็ล สร้าง พ.ศ. 2513 เปิดให้บริการ พ.ศ. 2517 ภาพถ่ายโดย วีระพล สิงห์น้อย

คุณคิดว่าหัวใจสำคัญของการแบบทำสิ่งนี้คืออะไร

อย่างแรกคือความอดทน มันไม่ใช่งานที่จะจบภายในวันสองวัน หรือภายใน 1-2 เดือน มันเป็นโปรเจ็กต์ระยะยาวที่เราต้องต้องลงลึกกับมันจริง ๆ ถ้าเราไม่ชอบมันจริง เราจะทนไม่ได้นานขนาดนี้ ถ้าเกิดเราคิดว่าจะทำเพื่อเรียกยอด Follow หรือว่าเรียกยอด Like เฉยๆ ทำไม่นานก็คงเบื่อ เพราะมันต้องทุ่มเททั้งการเดินทาง ทั้งงบประมาณ แผนการทำงานต่าง ๆ

ต่อมาคือการอ่าน มีหนังสือที่จะต้องอ่านมากมาย หลาย ๆ คนชอบถามเราว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหน ง่าย ๆเลยคืออ่านหนังสือ ค้นคว้าให้หมด มันจะต้องเริ่มต้นจากอ่าน อ่านอะไรใกล้ตัวก่อน แล้วต่อยอดต่อไปเรื่อย ๆ มันทำให้เรารู้กว้างขึ้น

ความหมายของการถ่ายภาพตึกเก่าสำหรับคุณคืออะไร

ตอนนี้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว มันมีคุณค่า มันเหมือนเวลาเราไปดูพวกภาพเก่าตามหอจดหมายเหตุ เรารู้สึกว่าเราเห็นอะไรบางอย่างจากตรงนั้นแล้วเรามาทำต่อได้เยอะ เรารู้สึกว่าอยากให้ภาพถ่ายเรามันอยู่ในประวัติศาสตร์อย่างนั้นล่ะ

อาคาร Nightingale Olympic สร้าง พ.ศ. 2509 ภาพถ่ายโดย วีระพล สิงห์น้อย

เรื่อง นิภัทรา นาคสิงห์

ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : วัชรบูล ลี้สุวรรณ การเดินทางถ่ายรูปสัตว์ป่าหายาก จนต่อยอดถึงงานอนุรักษ์ป่าตะวันตกของไทย

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.