ชาวเปรูผู้แลกชีวิตใน เหมืองทอง ที่สูงสุดในโลก

ในแถบเทือกเขาแอนดีสของเปรู ความสิ้นหวังโหมเชื้อไฟให้การตามล่าโลหะล้ำค่าเป็นพิษสุดอันตรายใน เหมืองทอง ที่สูงสุดในโลก

ห้ากิโลเมตรเหนือพื้นดิน บนเทือกเขาแอนดีสของเปรู คือที่ตั้งของลารินกอนาดา ชุมชนสูงที่สุดในโลก ที่ซึ่งการดำรงอยู่อย่างแร้นแค้นกันดารฝากความหวังไว้กับราคาสูงลิ่วของทรัพยากรยอดปรารถนา นั่นคือ ทองคำ ใน เหมืองทอง ที่สูงที่สุด

ขณะที่ราคาของแร่ธาตุล้ำค่านี้พุ่งสูงกว่าห้าเท่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ชุมชนที่เคยเป็นเมืองเล็กๆ ในเงื้อมเงายอดห่มหิมะของเมาต์อานาเนอา แปรสภาพเป็นหมู่เพิงสังกะสีแออัดที่แผ่ขยายออกไปอย่างไร้ระเบียบรายรอบ ทางเข้าสู่ เหมืองทอง พื้นบ้านและทะเลสาบที่ท้นทะลักไปด้วยขยะปฏิกูล ความหนาวเหน็บและออกซิเจนเบาบางที่ความสูง 5,100 เมตรเหนือระดับทะเล ทำให้แม้กระทั่งคนท้องถิ่นยังต้องหอบหายใจ ส่วนกลิ่นนั้นเป็นสิ่งที่คาดหวังได้จาก ชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่ชั่วคราวราว 30,000 ถึง 50,000 คน และไร้ซึ่งระบบจัดเก็บขยะและกำจัดสิ่งปฏิกูล

คนงานเหมืองหรือ ลาเมโร เนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปด้วย ลามา หรือหางแร่เหลือทิ้งหลังผ่านกระบวนการแยกด้วยปรอท ก่อนจะนำไปแยกอีกครั้งด้วยไซยาไนด์เพื่อสกัดทองคำออกมาอีก การสัมผัสกับไอพิษต่างๆ ส่งผลทำลาย ปอด ไต และหัวใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตในที่สุด

อุบัติเหตุถึงตายท่ามกลางเขาวงกตของ เหมืองทอง ต่างๆ ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในเมาต์อานาเนอาเป็นเรื่องธรรมดา เช่นเดียวกับเหตุวิวาทถึงขั้นฆ่าแกงกัน คนขุดทองอาจถูกปล้นหรือกระทั่งถูกฆาตกรรมหลังจากขายทองคำของตนเอง ส่วนศพถูกทิ้งไว้ในปล่องเหมือง เหยื่อฆาตกรรมหลายรายเป็นผู้หญิงและเด็กสาวที่ถูกล่อลวงจากเมืองใหญ่ในเปรู และโบลิเวีย โดยนักค้ามนุษย์ที่ยึดเอกสารยืนยันตัวตนเอาไว้ แล้วส่งพวกเธอไปทำงานตามบาร์และซ่องโสเภณีใน ลารินกอนาดา

เหมืองส่วนใหญ่ที่ดำเนินการภายใต้สัญญาดังกล่าวเป็นแบบ “ไม่เป็นทางการ” หรือนอกระบบ หมายถึง เหมืองมีสภาพการทำงาน ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ได้รับอนุญาตโดยรัฐบาลให้ดำเนินการต่อไปได้ ตราบเท่าที่ลงทะเบียนกับโครงการซึ่งตั้งเป้าทำให้เหมืองเหล่านั้นมีมาตรฐานสูงขึ้น

สภาพการทำงานในลารินกอนาดาเป็นอันตรายต่อคนงานเหมืองและสร้างมลพิษแก่ภูมิทัศน์ของเทือกเขา แอนดีส แต่สิ่งเหล่านั้นไม่เคยยับยั้งผู้ซื้อและโรงงานผลิตทองคำในสหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ จากการซื้อทองคำของลารินกอนาดา เพื่อนำไปแปรรูปเป็นทองคำแท่งและเครื่องประดับ ความพยายามในระดับนานาชาติที่จะรับซื้อทองคำจากเหมืองที่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่สูงขึ้นในราคาที่ดีกว่า ยังมาไม่ถึงลารินกอนาดาเลย

หญิงคนหนึ่งยืนโยกตัวบนก้อนหิน คิมบาเลเต เพื่อบดสินแร่ที่มีทองคำเจือปนอยู่ซึ่งเธอเก็บมาได้ในวันนั้น หลายชั่วโมงผ่านไป เธอจะผสมทรายที่ได้เข้ากับปรอทซึ่งรวมตัวกับทองคำในรูปอะมัลกัม เมื่ออะมัลกัมได้รับความร้อน ปรอทจะระเหยเป็นไอ เหลือไว้แต่ทองคำ

เจ้าของสัญญาทำเหมืองนอกระบบมักอาศัยอยู่นอกลารินกอนาดา ปล่อยกิจการที่ดำเนินไปวันต่อวัน ไว้กับผู้ดูแลที่เชื่อถือได้ บุคคลผู้นี้ทำหน้าที่จัดการแรงงานที่ขุดสายแร่ด้วยอุปกรณ์ที่ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าระเบิดไดนาไมต์และสว่านอัดอากาศ โรงถลุงแร่ขนาดเล็กจะบดสินแร่ แล้วเติมปรอทหรือไซยาไนด์เพื่อสกัดเอาทองคำ จากนั้น เครือข่ายนายหน้าจะซื้อขายทองคำเหล่านี้ และในบางกรณีก็ส่งออกด้วย

ข้อตกลงสำหรับแรงงานมักกระทำด้วยวาจา หัวหน้าคนงานจ้างคนงานตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ถึงหลายเดือน ขึ้นอยู่กับสายแร่ที่พบในขณะนั้น พวกคนงานอาจได้รับอาหารและที่พัก โดยไม่มีผลประโยชน์หรือค่าจ้างตอบแทน แต่ในหนึ่งเดือนจะมีสักวันหรือสองวันที่พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้ทำงานในเหมืองและเก็บสิ่งที่พบได้ เป็นระบบที่เรียกว่า คาโชเรโอ ถ้าไม่พบอะไรเลย ก็เท่ากับว่าพวกเขาทำงานให้เหมืองฟรีๆ

คนทำเหมืองโอดครวญกับระบบนี้ แต่ไม่มีใครอยากจะเปลี่ยนแปลงจริงจัง สำหรับเจ้าของสัญญาเช่าแล้ว มันจ่ายถูกกว่า และก็ง่ายกว่าสำหรับคนงาน ถ้าจะทิ้งงานไป หากชั่งใจว่าได้มากพอแล้ว แต่ส่วนใหญ่เลือกจะ อยู่ต่อ เพราะหวังจะเจอโชคครั้งใหญ่

พวกผู้หญิง หรือ ปายา-เกราส มองดูรถบรรทุกทิ้งเศษหินจากเหมือง ซึ่งพวกเธอจะคุ้ยหาเศษเล็กเศษน้อยที่อาจ มีทองคำหลงเหลืออยู่ พวกเธอต้องทนกับอากาศหนาวเหน็บ เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และบางครั้งต้องเผชิญหน้ากับการล่วงละเมิดทางเพศจากหัวหน้าคนงานเหมืองซึ่งอนุญาตให้พวกเธอทำงาน

สินแร่ปริมาณมหาศาลมักถูกนำมาผ่านกระบวนการด้วยไซยาไนด์เพื่อสกัดเอาทองคำ แต่แร่ปริมาณน้อยนิด ที่คนงานกับคนขุดทองรวบรวมมาได้ในวันคาโชเรโอมักถูกบดให้ละเอียดพร้อมปรอท ซึ่งจะจับตัวกับทองคำเป็นก้อนอะมัลกัม กระบวนการนี้อาจทำในถังบดหรือใช้หินขนาดใหญ่ในเครื่องมือที่เรียกว่า คิมบาเลเต

จากนั้น ก้อนอะมัลกัมที่ได้จะถูกขายต่อให้พ่อค้าซึ่งจะระเบิดมันออกด้วยเครื่องพ่นไฟเพื่อทำให้ปรอทระเหยไป เหลือไว้แต่ทองคำ ร้านทองบางแห่งใช้เครื่องมือดักจับปรอทไว้ แต่ทั้งเจ้าของร้านและคนขุดทองยังสัมผัสกับไอปรอทเป็นพิษซึ่งลอยไปถึงธารน้ำแข็งที่อยู่เหนือลารินกอนาดาขึ้นไป ควบแน่นเหนือน้ำแข็งเหล่านั้น และทำให้แหล่งน้ำดื่มปนเปื้อน กระบวนการสกัดทองคำลักษณะนี้เป็นแหล่งกำเนิดอันดับต้นๆ ของปรอทที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ในชั้นบรรยากาศของโลก

พอถึงตอนที่ทองคำจากเหมืองนอกระะบบในลารินกอนาดาหรือส่วนอื่นๆของเปรูมาลงเอยในแหวนแต่งงาน หรือนาฬิกาทั้งหลาย มันย่อมไม่เหลือร่องรอยของสภาพการณ์อันเลวร้ายที่มันถูกผลิตออกมาอีกแล้ว

คนงานเหมืองสองคนรอดูว่า ผู้รับซื้อทองคำท้องถิ่นจะจ่ายค่าตอบแทนความเหนื่อยยากให้พวกเขาเท่าใด แทนที่จะได้รับค่าแรงประจำ คนงานเหมืองจะได้รับอนุญาตให้ทำงานพิเศษราวหนึ่งหรือสองวันต่อเดือน และขายสิ่งที่พวกเขา หามาได้ในระบบที่เรียกว่า คาโชเรโอ

ทองคำบางส่วนถูกขายผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย แต่คนทำเหมืองบางรายขายทองคำในตลาดมืด เพื่อหลีกเลี่ยงงานเอกสารและภาษีต่างๆ

ทองคำจากตลาดมืดอาจถูกฟอกด้วยงานเอกสารเพื่อทำให้ดูถูกกฎหมาย ตราบใดที่เอกสารดูถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ส่งออกอาจไม่ตรวจสอบเหมืองเพื่อดูว่าทำตามกฎข้อบังคับต่างๆหรือไม่

ในที่สุด ทองคำส่วนใหญ่จากเปรูจะถูกส่งออกไปยังโรงผลิตทองคำในต่างประเทศ ในจำนวนนี้ หนึ่งในสามถูกส่งไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผลิตทองคำมากถึงร้อยละ 70 ของโลก

ราคาทองคำที่สูงลิ่วช่วยให้นายหน้าชาวเปรูที่เคยมีฐานะธรรมดาๆ กลายเป็นผู้ส่งออกอันดับต้นๆได้อย่างรวดเร็ว แต่แรงกดดันจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนกับคดีความที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนหลายคดี นำไปสู่ความพยายามในการทำให้ห่วงโซ่อุปทานนี้สะอาดขึ้น

ไอปรอทจากกระบวนการสกัดทองคำในลารินกอนาดาปนเปื้อนธารน้ำแข็งใกล้เคียงที่ชื่อ เจ้าหญิงนิทรา อันเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของชาวเมือง คนงานบนธารน้ำแข็งเดินสายส่งน้ำที่เกิดจากน้ำแข็งละลายไปยังชุมชนทำเหมือง

การชำระสะสางห่วงโซ่อุปทานที่ว่า หมายถึงการบังคับให้ผู้ทำเหมืองปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ และ ทำให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบทองคำย้อนกลับไปถึงต้นทาง และติดตามสภาพการณ์ต่างๆ ของเหมืองแห่งนั้นได้

ภารกิจดังกล่าวกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก เมื่อจำนวนเหมืองผิดกฎหมายพุ่งสูงขึ้นในเปรู หลังจากราคาทองคำทะยานจากกรัมละไม่ถึง10 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อสองทศวรรษก่อน เป็นกรัมละกว่า 55 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อฤดูใบไม้ผลินี้ เมื่อไม่สามารถดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับบริษัททำเหมืองขนาดใหญ่ บรรดาผู้ประกอบการเหมืองขนาดเล็กจึงมักไม่จ่ายภาษีใดๆ และได้รับการดูแลจากทางการเพียงน้อยนิด

คนส่วนใหญ่ในลารินกอนาดาอาศัยอยู่ในกระท่อมสังกะสี โดยไม่มีน้ำประปาหรืออุปกรณ์ให้ความอบอุ่น เพื่อบรรเทาความหนาวเหน็บ ชุมชนนี้เติบโตอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น แต่ก็ยังขาดแคลนบริการขั้นพื้นฐาน

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลเปรูใช้ความพยายามหลายประการในการทำให้คนทำเหมืองเหล่านั้น ยอมปฏิบัติตามกฎหมายด้านการบริหารจัดการ ด้านแรงงาน และสิ่งแวดล้อม แต่กระบวนการที่เรียกว่า การนำเข้า สู่ระบบหรือทำให้เป็นทางการนั้น ต้องใช้เวลา

จากจำนวนผู้ประกอบการทำเหมืองนอกระบบกว่า 60,000 รายที่ลงทะเบียนกับรัฐบาล มีเพียง 1,600 ราย ที่ผ่านกระบวนการนี้จนแล้วเสร็จ ซึ่งทำให้พวกเขามีหน้าที่ต้องจ่ายภาษี ขอใบอนุญาตต่างๆ ที่จำเป็น และจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ส่วนผู้ทำเหมืองอีกนับหมื่นรายอาจขายทองคำอย่างถูกกฎหมาย ตราบเท่าที่พวกเขาให้คำมั่นว่า กำลังดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับ อย่างไรก็ตาม เส้นตายของการเข้าระบบถูกเลื่อนไปหลายครั้งหลายหน เอื้อให้การขายทองคำที่ผลิตขึ้นภายใต้สภาพการณ์อันทารุณและอันตรายอย่างในลารินกอนาดา ยังดำเนินต่อไป

เรื่อง บาร์บารา เฟรเซอร์ และ ฮิลเดการ์ด วิลเลอร์
ภาพถ่าย เซดริก เครเบเฮย์

สามารถติดตามสารคดี แลกชีวิตเพื่อทองคำเสียดฟ้า ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม การสรรค์สร้างงานอนุรักษ์ธรรมชาติที่ยั่งยืนในเคนยา

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.