งานวิจัยเผยขัอมูลของแรงงานอาหารทะเลไทย

งานวิจัยเผย แรงงานอาหารทะเลไทย ค่าจ้างไม่พอชนเดือน และยังพบความไม่เท่าเทียมระหว่างชายหญิง ซ้ำยังเจอการระบาดใหญ่ใหญ่ซ้ำเติม

ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานและความยั่งยืนทางทะเล 14 องค์กร เปิดเผยผลวิจัยล่าสุดเรื่อง “ชีวิตไม่มั่นคงและโรคระบาด : บทสำรวจปัญหาค่าจ้างและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย” ซึ่งชี้ให้เห็นว่า แรงงานซึ่งมีความเปราะบางด้านรายได้และคุณภาพชีวิตอยู่แล้ว ยิ่งประสบปัญหามากขึ้นในวิกฤติการระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 แรงงานอาหารทะเลไทย

รายได้แรงงานน้อยกว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือน’

งานวิจัยชิ้นนี้สำรวจแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย 4 กลุ่ม ได้แก่ ประมง ประมงต่อเนื่อง โรงงานแปรรูปอาหารทะเล และฟาร์มกุ้ง ในพื้นที่ 8 จังหวัดของประเทศไทย โดยใช้ ‘ค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือน’ ซึ่งได้มาจากค่าแรงขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายไทยคูณด้วย 30 วัน เป็นเกณฑ์พื้นฐานของรายได้ขั้นต่ำที่สุดที่จะทำให้แรงงานสามารถดำรงชีวิตได้ตลอดทั้งเดือน

ค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือนในพื้นที่ที่งานวิจัยนี้ทำการศึกษาต่ำสุดอยู่ที่ 9,390 บาทต่อเดือนที่จังหวัดปัตตานี และสูงสุด 10,050 บาทต่อเดือนที่จังหวัดระยอง แต่ผลการสำรวจพบว่าแรงงานมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 58 มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มประมงต่อเนื่องและแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 7,839 และ 8,423 บาทต่อเดือน ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้น คือแรงงานราว 1 ใน 5 มีรายได้ไม่ถึงร้อยละ 70 ของเกณฑ์ดังกล่าว หมายความว่า แรงงานกลุ่มนี้อาจไม่มีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประมาณ 9 วันจาก 30 วัน

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้จัดการด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม เปิดเผยว่า “ประเด็นสำคัญคือการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำแบบเพียงรายวันเท่านั้น ไม่ได้ประกันรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน ส่งผลให้เกิดช่องว่าง ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงต่อตัวแรงงาน เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำเพียงพอสำหรับการดำรงชีพตนเองในหนึ่งวันเท่านั้น เมื่อเดือนหนึ่งค่าจ้างที่ได้กลับเพียงพอที่จะมีชีวิตแค่ยี่สิบกว่าวัน ความเสี่ยงต่างๆ ทั้งต่อตัวแรงงานและสังคมรอบข้างจึงตามมา ทั้งการลดทอนทางสุขภาพ การอยู่อย่างแอออัด ฯลฯ เมื่อเกิดการระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 สถานการณ์จึงวิกฤติและยากที่จะควบคุม” จักรชัย โฉมทองดี ผู้จัดการด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม กล่าวและเสริมว่า “ทั้งนี้ แรงงานไม่ว่าสัญชาติใดก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น แต่ในทางปฏิบัติ โดยทั่วไปแล้วแรงงานข้ามชาติจะสามารถมีในจ้างได้คนเดียว เมื่อรายได้ไม่พอจึงไม่สามารถไปหางานเสริมจากนายจ้างอื่น อย่างแรงงานไทยได้ จึงถือเป็นความรับผิดชอบสำคัญของทั้งนายจ้างและภาครัฐที่จะประกันรายได้ขั้นต่ำเป็นรายเดือนให้กับแรงงาน”

ช่องว่างรายได้ระหว่างชายและหญิง

นอกจากนี้ยังพบว่า การจ้างงานแรงงานอาหารทะเลกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประมง มีการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการอยู่มาก เช่น การใช้สัญญาปากเปล่า ไม่มีสัญญาจ้างงานเป็นลายลักษณ์อักษร การให้ทำงานไม่เป็นเวลา ไปจนถึง ‘การจ้างทำของ’ ซึ่งนายจ้างจ่ายตามน้ำหนักหรือปริมาณที่แรงงานผลิตหรือแปรรูป

หนึ่งในข้อค้นพบสำคัญของวิจัยชิ้นนี้คือ ช่องว่างทางรายได้ระหว่างแรงงานผู้ชายกับแรงงานผู้หญิง โดยจากผลสำรวจพบว่า แรงงานผู้หญิงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย มีรายได้น้อยกว่าผู้ชายประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน หรือราวร้อยละ 30 และเมื่อแยกตามกลุ่มแรงงาน (ยกเว้นกลุ่มประมงที่เป็นผู้ชายทั้งหมด) พบว่ากลุ่มประมงต่อเนื่อง ซึ่งมีการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการมากที่สุด แรงงานผู้หญิงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายถึงร้อยละ 41 ส่วนช่องว่างรายได้ของแรงงานโรงงานแปรรูปอาหารทะเลอยู่ที่ร้อยละ 13 รายงานวิจัยฉบับนี้ยังพบว่าแรงงานผู้หญิงจำนวนมากเข้าถึงไม่ถึงสิทธิลาคลอด และสวัสดิการการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลลูกด้วย

ถูกโควิด-19 ซ้ำเติม เข้าไม่ถึงการเยียวยา

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานอาหารทะเล โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า แรงงานจำนวนมากติดเชื้อหลายครั้ง เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เอื้ออำนวยให้เว้นระยะห่างระหว่างกันได้ เช่น ในสายพานการผลิตในโรงงานไม่สามารถทิ้งระยะห่างได้ บางคนรักษาตัวกลับมาทำงานแล้วก็ติดเชื้ออีก

“เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จะถือว่าเป็นคนป่วย แรงงานก็ต้องลาป่วย แต่กฎหมายกำหนดให้วันลาป่วยแบบได้ค่าจ้าง 30 วัน การกักตัวหรือรักษารอบหนึ่งก็จะใช้เวลาประมาณ 14 วัน หมายความว่าใครที่ติดเชื้อมากกว่า 2 รอบก็อาจจะไม่มีวันลาป่วยแบบได้ค่าจ้างเหลือพอแล้ว ต้องลาแบบไม่ได้ค่าจ้างแล้วไปขอชดเชย 50% จากประกันสังคมแทน ซึ่งก็เป็นจำนวนเงินที่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัวอีก” สุธาสินีกล่าวเสริม

สถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้กระทบแค่ตัวแรงงาน แต่ยังรวมถึงครอบครัวของแรงงานด้วย เช่น แรงงานที่เป็นลูกเรือบนเรือประมง นางสาวสุธาสินีเล่าว่า นายจ้างจำนวนมากจะไม่นำเรือเข้าฝั่ง หรือถ้าเข้าฝั่งก็จะห้ามไม่ให้แรงงานเข้าออกพื้นที่ที่กำหนดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ด้านปภพ เสียมหาญ ผู้อำนวยการโครงการจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ชี้ให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติในกระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยระบุว่ากฎหมายไทยคุ้มครองสิทธิแรงงานทุกคน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ แต่มาตรการเยียวยาต่างๆ กลับกำหนดเงื่อนไขให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะได้รับการเยียวยา แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดหลายอย่างอยู่แล้ว จึงเข้าไม่ถึงการเยียวยาเหล่านี้

“การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวบทกฎหมาย แต่เกิดจากคนกำหนดนโยบายและบังคับใช้กฎหมายที่สร้างเงื่อนไขขึ้นมาเองจนทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ ที่เห็นได้ชัดคือระบบประกันสังคม แรงงานและนายจ้างสมทบเงินเข้าระบบทุกเดือน แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยาตามที่ควรจะเป็น หลายคนจึงหันหลังให้ระบบ มีแรงงานเพียง 1.1 ล้านคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม จากแรงงานข้ามชาติ 2.6 ล้านคนในประเทศ ทำให้เกิดช่องว่างในการคุ้มครองแรงงานมากขึ้นไปอีก” ปภพกล่าว

ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนต้องเร่งปรับปรุงเกณฑ์ค่าแรง

จากข้อมูลทั้งหมด ภาคีเครือข่ายได้เสนอแนะแนวทางต่อทั้งภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย โดยข้อเรียกร้องสำคัญคือภาครัฐควรเปลี่ยนค่าแรงขั้นต่ำจากรายวันเป็นรายเดือน เพื่อเป็นขั้นแรกของการสร้างหลักประกันเบื้องต้นให้แรงงานทุกคน ไม่ใช่แค่แรงงานอาหารทะเล สามารถรองรับความเสี่ยงในภาวะวิกฤติได้มากขึ้น ก่อนจะพัฒนาไปสู่การพิจารณา ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ (living wage) ให้แรงงานมีรายได้ในการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริงในอนาคต

สำหรับภาคเอกชนที่เป็นนายจ้าง ทางภาคีเครือข่ายมองว่าภาคเอกชนมีศักยภาพที่จะเร่งปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับค่าจ้างอย่างน้อยที่สุดไม่น้อยไปกว่าค่าแรงขั้นต่ำคิดเป็นรายเดือน มีสัญญาจ้างงานที่แจ้งเงื่อนไขของการทำงานเป็นลายลักษณ์อักษร ตลอดจนให้สิทธิคลอดบุตรและการช่วยเหลือต่างๆ ที่เหมาะสมแก่แรงงานผู้หญิง

นอกจากนี้ ในระยะเร่งด่วน ภาคีเครือข่ายเรียกร้องให้ทั้งภาครัฐและเอกชนควรเร่งอำนวยความสะดวกให้แรงงานเข้าถึงบริการสุขภาพช่วงโควิด-19 อย่างเหมาะสม เช่น การกักตัว การตรวจโรค การรักษา การได้รับวัคซีน ไปจนถึงการชดเชยรายได้

“การคุ้มครองแรงงานไม่ควรมองแค่ตัวกฎหมาย เราอยากให้มองถึงคุณธรรม จริยธรรม และมนุษยธรรมต่อพวกเขาด้วย” สุธาสินีกล่าว

แรงงานทุกคนจะได้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่แรงงานข้ามชาติ

ทางภาคีเครือข่ายระบุว่านอกเหนือจากเหตุผลด้านมนุษยธรรมแล้ว ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนที่สำคัญ หากแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ถูกเอารัดเอาเปรียบ จนต้องหันหลังให้กับประเทศไทย ผลเสียก็จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคและผู้นำเข้าอาหารทะเลในต่างประเทศก็ให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานในประเทศต้นทางมากขึ้นเรื่อยๆ หลายเจ้ามีการประกาศนโยบายสนับสนุนค่าแรงเพื่อชีวิต ซึ่งหากอุตสาหกรรมไทยไม่สามารถทำตามมาตรฐานเหล่านี้ได้ ข้อจำกัดทางการค้าก็จะมีมากขึ้นในอนาคต

สุดท้าย ภาคีเครือข่ายเน้นย้ำว่าการพยายามเสนอให้เห็นปัญหาของแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยตลอดจนข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงค่าแรงขั้นต่ำและเงื่อนการจ้างงานให้เป็นธรรมมากขึ้นนั้น หากภาครัฐและเอกชนทำได้จริง ก็จะเป็นประโยชน์แต่แรงงานคนไทยทั่วประเทศด้วย

ภาพถ่าย Patipat Janthong

ผู้ที่สนใจ ดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ http://hrdfoundation.org/?p=2609


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ชีวิตแรงงานข้ามชาติในดูไบ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.