ผมกำลังเดินเท้าผ่านด่านพรมแดนโสเนาว์ลีปราการด่านสุดท้ายในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย ก่อนเข้าสู่เขตประเทศเนปาลพร้อมนักท่องเที่ยววัยแสวงหาอีกหลายสิบชีวิต พวกเขาล้วนมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่สาครมาทา “หน้าผากแห่งท้องฟ้า” หรือชื่อในภาษาท้องถิ่นของเอเวอเรสต์ ยอดเขาสูงที่สุดในโลก ทว่าเส้นทางของผมนั้นต่างออกไป เพราะการมาเยือนเนปาลครั้งนี้ คือการตามรอยจาริกของมหาบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งอุทิศชีวิตแสวงหาความจริงอันยิ่งใหญ่ทว่าธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง จนค้นพบสัจจธรรมที่เรียกว่า “ธรรมะ” อันนำไปสู่การพ้นทุกข์ มหาบุรุษผู้นั้นคือพระศาสดาพุทธโคดม หรืออดีตเจ้าชายสิทธัตถะ
จากพรมแดนเนปาล ผมโดยสารรถประจำทางท้องถิ่นไปยังตลาดเมืองเตาลิฮาวา เพื่อต่อรถไปยังเมืองติเลาราโกฏ [เมืองโบราณติเลาราโกฏ (Tilaurakot) ในปัจจุบัน อยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลประมาณ 300 กิโลเมตร] ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงแห่งแคว้นสักกะ แคว้นอิสระที่ปกครองตนเองโดยเหล่าตระกูลศากยวงศ์ สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะและประทับอยู่จนกระทั่งพระชนมายุ 29 พรรษา
ทุกวันนี้ กรุงกบิลพัสดุ์เหลือเพียงกองอิฐ ซากปรักหักพัง และเนินดินที่สูงไม่เกินสองเมตร บันทึกในคัมภีร์โบราณของพุทธศาสนาทั้งสองนิกายใหญ่ คือเถรวาทและมหายาน กล่าวถึงการก่อสร้างกรุงกบิลพัสดุ์ไว้ว่า ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มเชิงเขาหิมาลัย และเต็มไปด้วยต้นสักกะจำนวนมาก [ปัจจุบันไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่า ต้นสักกะคือพรรณไม้ชนิดใด แต่บริเวณรอบ ๆ ซากโบราณสถานมีต้นตะคร้อขนาดใหญ่และต้นทองกวาวขึ้นอยู่ทั่วไป]
ขณะที่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งเสนอว่า นครแห่งนี้เกิดจากเหล่าราชบุตรพลัดถิ่นของพระเจ้าโอกกากราชที่อาจหาญสร้างบ้านแปลงเมืองด้วยไพร่พลและกำลังคนของตนพระเจ้าโอกกากราชจึงพระราชทานคำชมว่า “ศากยะ” แปลว่าผู้มีความสามารถ จึงเป็นอีกหนึ่งที่มาของศากยวงศ์
แม้กรุงกบิลพัสดุ์จะเหลือเพียงกองซากอิฐ แต่ความพยายามฟื้นฟูสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ดำเนินการมายาวนานแล้ว ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2439 ดร.เอ. เอ. ฟือห์เรอร์ (Alois Anton Fûhrer) นักโบราณคดีชาวเยอรมัน และคัคก้า ซัมเชอร์ จุง บาฮาดูร์ ราณา นายทหารชาวเนปาล ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลอังกฤษให้เข้ามาฟื้นฟูอุทยานลุมพินี สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ อจิตมัน ตามัง สมาชิกและเลขานุการของกองทุนพัฒนาลุมพินี (Lumbini Development Trust) บอกว่า ”เจ้าชายประสูติที่นี่ครับ ผมคิดว่าถ้ารวมหลักฐานต่าง ๆ ที่ค้นพบมากมายที่นี่ รวมทั้งสถานที่ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ น่าจะมากและหนักแน่นพอที่จะยืนยันได้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ครับ”
อุทยานลุมพินีเป็นหนึ่งในสังเวชนียสถานสี่ตำบลในพุทธศาสนา อยู่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปทางตะวันออกประมาณ 25 กิโลเมตร ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศเนปาล จารึกหลายฉบับทั้งของพระเจ้าอโศกมหาราช และหลวงจีนฟาเหียน นักบวชชาวจีนที่เดินทางรอนแรมมายังชมพูทวีปในช่วงพุทธศตวรรษที่สิบเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎก ต่างชี้ว่า ที่นี่คือสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ
หลักฐานสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือจารึกข้อความอักษรพราหมี (นักวิชาการบางคนแย้งว่าเป็นภาษามคธ) บนเสาอโศก เสาหินทรายขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สาม ถอดความได้ว่า ”…สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี (พระนามของพระเจ้าอโศกมหาราช) ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 20 ปี ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง ด้วยว่าพระพุทธศากยมุนีได้ประสูติ ณ ที่นี้ โปรดให้สร้างรูปสลักหิน (บางท่านแปลว่ารั้วหิน) และประดิษฐานหลักศิลาไว้เป็นที่หมาย โดยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประสูติ ณ สถานที่นี้ จึงโปรดให้ยกเว้นภาษีแก่หมู่บ้านลุมพินี และทรงให้เสียแต่เพียงหนึ่งในแปดของผลผลิต เป็นค่าภาษีที่ดิน…„ [ถอดเป็นภาษาไทยโดยเจ้าคุณพระราชธรรมมุนี]
ข้อความในจารึกและลักษณะทางภูมิศาสตร์สนับสนุนความเป็นไปได้ที่ว่า เจ้าชายสิทธัตถะน่าจะประสูติในสวนป่าลุมพินีแห่งนี้ เนื่องจากที่ตั้งของสวนป่าอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ บ้านเกิดของพระนางมายาเทวี พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ และพระมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อใกล้ถึงเวลามีพระประสูติกาล พระนางน่าจะมีพระประสงค์เสด็จกลับสู่กรุงเทวทหะ เพื่อให้กำเนิดราชบุตรตามธรรมเนียมพราหมณ์ แต่อาจมีเหตุสุดวิสัยบางประการที่ทำให้พระนางมีพระประสูติกาลในสวนป่าแห่งนี้
ภาพสลักแสดงการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งพบในประเทศปากีสถาน มีอายุอยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่หนึ่งชี้ว่า พระนางมายาเทวีมีพระประสูติกาลพระโอรสขณะทรงยืนโน้มต้นสาละ (เถรวาท) หรือต้นอโศก (มหายาน) ทุกวันนี้ การคลอดลูกในท่ายืนไม่เพียงได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์ แต่กำลังได้รับความนิยมในโลกตะวันตก
ในยุคสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น ศาสนาพราหมณ์แผ่อิทธิพลไปทั่วชมพูทวีป ระบบวรรณะใช้ปกครองสังคมของชาวอารยันมาช้านาน หลังประสูติได้ห้าวัน คณะพราหมณ์จำนวนหนึ่งได้ขอเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะเพื่อตรวจดวงชะตาและลักษณะของราชกุมาร คำพยากรณ์ต่างเห็นพ้องต้องกันในสองทางคือ ”หากเจ้าชายครองฆราวาสก็จักได้เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ แต่หากครองเพศบรรพชิตก็จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก” (น่าสนใจที่คำพยากรณ์เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับพระมหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน ซึ่งมีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน)
แน่นอนว่าพระเจ้าสุทโธทนะย่อมทรงมุ่งหวังให้พระโอรสทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ จึงปรนเปรอความสุขให้เจ้าชายสิทธัตถะ และถ่ายทอดองค์ความรู้ชั้นสูงต่างๆ ผ่านสำนักพราหมณ์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ทั้งศิลปศาสตร์ 18 ประการ ตลอดจนความรู้จากคัมภีร์พระเวท คัมภีร์อุปนิษัท คัมภีร์เวทางคศาสตร์ เจ้าชายหนุ่มทรงเรียนรู้จนเป็นเลิศทั้งสติปัญญาและร่างกาย
สู่เพศปริพาชก
แม่นํ้าบันกากาเวลานี้แห้งเหือดจนเห็นโคลนตมทอดยาวเป็นเนินดินกลางท้องนํ้า แม่นํ้าสายนี้ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัยขนาบข้างกำแพงเมืองกบิลพัสดุ์ในระยะห่างไม่ถึง200 เมตร ทุ่งข้าวสาลีทอดยาวไกลไร้สิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ ชาวบ้านกำลังต้อนฝูงควายข้ามแม่นํ้ากลับไปยังชายคาที่พักอาศัย กลิ่นควันเผาศพมนุษย์โชยมาเป็นระยะๆ เสียงขับกล่อมบทเพลงพื้นบ้านแว่วมา
ที่นั่น หนูน้อยรากีซเพิ่งลืมตาดูโลกได้เพียง 24 วัน “แกหิวนมน่ะค่ะ” ลักษมี มารดาวัย 25 ปีของรากีซบอกผม ลักษมีเป็นชาวนาและรับจ้างทั่วไป แต่เธอต้องหยุดพักหลังให้กำเนิดบุตรี บ้านของเธอเป็นเพิงเล็กๆ ตั้งอยู่บนเนินดินติดกับกำแพงนครโบราณ ไม่มีทั้งไฟฟ้า และนํ้าประปา แมลงวันบินว่อนไปหมด มีเพียงแคร่ไม้เก่า ๆ และถุงเสื้อผ้าเป็นสมบัติในบ้าน นี่คงเป็นวิถีชีวิตที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยจากสมัยพุทธกาล
การค้นหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดเจ้าชายหนุ่มจึงตัดสินพระทัยละทิ้งราชสมบัติ แล้วเสด็จออกไปครองเพศปริพาชก เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เจ้าชายต้องเสด็จออกจากเมือง เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมชมพูทวีปในอดีตเราจะพบว่ายุคสมัยของเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคสำริดเข้าสู่ยุคเหล็ก (1,200 – 200 ปีก่อนคริสตกาล) ประชากรเพิ่มขึ้นมาก ความยากจนข้นแค้น ผู้คนเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีให้เห็นเป็นปกติ น่าจะมีความเหลื่อมลํ้าระหว่างชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด ทรัพยากรมีจำกัด ชีวิตของชาวบ้านอย่างลักษมีและลูกน้อยช่างแตกต่างจากชีวิตของชนชั้นกษัตริย์หรือเศรษฐี ตลอดจนความเบื่อหน่ายในการครองเรือนและเต็มอิ่มในโลกียะ
นอกจากนี้ในทางการเมือง ดร.อัมเพทการ์ (Dr. Babasahed Bhimrao Ramji Ambedkar) รัฐบุรุษ “จัณฑาล” ของชาวอินเดีย ได้วิเคราะห์สาเหตุการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะไว้ในหนังสือ The Buddha and His Dhamma หรือ .”พระพุทธเจ้าและธรรมะของพระองค์” ว่าน่าจะเกิดจากการที่เจ้าชายทรงแพ้การลงมติในสภากรุงกบิลพัสด์ ทางฝ่ายมหายานชี้ว่ามูลเหตุมาจากข้อพิพาทเรื่องการใช้นํ้าจากแม่นํ้าโรหิณี ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ แม่นํ้าสายนี้เกิดแล้งในบางฤดู จนนำไปสู่การแย่งชิงนํ้าระหว่างสองนครจนสภากรุงกบิลพัสดุ์ลงมติต้องการประกาศสงคราม ทว่าเจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นหนึ่งในผู้ออกเสียงไม่เห็นด้วย
เจ้าชายหนุ่มวัย 29 พรรษาเสด็จออกจากประตูเมืองกบิลพัสดุ์ทางทิศตะวันออก พร้อมด้วยนายฉันนะ ผู้ดูแลม้าทรง และกัณฐกะซึ่งเป็นม้าทรง มุ่งหน้าเป็นระยะทางกว่า 120 กิโลเมตรมาจนถึงริมฝั่งแม่นํ้าอโนมา ปัจจุบันแม่นํ้าสายนี้อยู่ในประเทศอินเดีย ทางใต้ของเมืองโคราฆปูระ ในรัฐอุตตรประเทศ (ชาวบ้านเรียกว่า “แม่นํ้าอามี”) เจ้าชายสิทธัตถะทรงใช้พระขรรค์ปลงพระเกศาจนเหลือประมาณสององคุลี (ประมาณสองนิ้วตามมาตรวัดปัจจุบัน) และเปลี่ยนเครื่องทรงวรรณะกษัตริย์เป็นชุดสมณเพศสีเหลืองหม่น จากนั้นจึงออกจาริกเพียงลำพังมุ่งหน้าสู่แคว้นมคธต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากเมืองในเวลากลางวันหรือกลางคืน และทรงลอบหนีออกมาจริงหรือไม่ เพราะทั้งสองนิกายในพุทธศาสนาต่างเห็นไม่ตรงกัน กระนั้น หลักฐานจากภาพสลักพุทธประวัติบนหินชีสต์สีเทาศิลปะคันธาระจากปากีสถานซึ่งสร้างขึ้นในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่สองถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่สาม บอกเล่าเรื่องราวสองส่วนด้วยกันคือ หนึ่ง เจ้าชายสิทธัตถะทรงลาพระนางยโสธราในห้องบรรทม และสอง เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากเมืองบนหลังม้ากัณฐกะพร้อมกับนายฉันนะ ต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางปชาบดี พร้อมเหล่าศากยวงศ์ที่มาส่งเสด็จกันคับคั่ง
ศากยวงศ์ล่มสลาย
ผมกำลังยืนอยู่ริมสระนํ้า “ศากยฆาต” ในกรุงกบิลพัสดุ์ หนองนํ้ากว้างไกล มีกอบัวและวัชพืชขึ้นรกเรื้อ ว่ากันว่าบริเวณนี้เป็นสถานที่ปลิดชีพชาวศากยะนับแสนคนจากโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตระกูลศากยะโดยพระเจ้าวิฑูฑภะ การล่มสลายของศากยวงศ์ครั้งนี้มีชนวนเหตุมาจากความต้องการรักษาสายเลือดศากยะให้คงความบริสุทธิ์ ตามธรรมเนียมชาวศากยะจะไม่แต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ทว่าเมื่อครั้งพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งแคว้นโกศล ซึ่งทรงอำนาจเหนือแคว้นสักกะ (แคว้นของศากยะ) ทรงต้องการร่วมวงศ์พระญาติกับพระพุทธองค์ จึงส่งคณะทูตไปขอมเหสีจากแคว้นสักกะ แต่พระเจ้ามหานามะ กษัตริย์ผู้ครองแคว้นสักกะในเวลานั้น (ต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะ) ได้อุปโลกน์ให้นางทาสีซึ่งมีวรรณะตํ่ากว่ ถวายตัวแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล
ในเวลาต่อมา นางทาสีได้ให้กำเนิดวิฑูฑภะ และเมื่อวิฑูฑภะหวนคืนสู่แคว้นสักกะ ได้ค้นพบความจริงว่า ตนเองมีวรรณะจัณฑาล และถือกำเนิดจากนางทาสีของแคว้นสักกะ จึงกลับไปยังแคว้นโกศล ทำรัฐประหารพระบิดาของตนเอง แม้พระพุทธเจ้าจะทรงห้ามศึกครั้งนี้ถึงสามครั้ง แต่วิฑูฑภะก็ยกทัพหลวงมาทำลายล้างแคว้นสักกะจนราพนาสูร
หลังการล่มสลายของแคว้นสักกะ และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโกศล ชาวศากยะที่รอดจากการสังหารหมู่ได้หลบหนีไปยังเนปาล อินเดีย และปากีสถาน ศากยวงศ์กลายเป็นตระกูลเก่าแก่ที่เชื่อกันว่ายังรักษาธรรมเนียมสายเลือดบริสุทธิ์ และนับถือพุทธศาสนาตั้งแต่กำเนิด ทว่าทุกวันนี้คนที่ “ถือนามสกุล” ศากยะมีอยู่ทั่วไป แต่ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่เปลี่ยนจากศาสนาฮินดูมานับถือพุทธศาสนา (ส่วนมากเป็นจัณฑาลในอินเดีย) และคนที่แอบอ้างศากยะเพื่อทำการค้าเนื่องจากศากยวงศ์เป็นตระกูลที่น่าเชื่อถือ ดังนั้นการพบชาวศากยะ “สายเลือดบริสุทธิ์” จึงเป็นการยืนยันการมีตัวตนอยู่จริงขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และเค้าโครงลักษณะทางกายภาพของชาวศากยะ
“ตั้งแต่ผมอยู่เนปาล ผมก็ตามหาพวกเขาเหมือนคุณนี่แหละ แต่ไม่เคยเจอเลย ผมเลยไม่เชื่อว่ายังมีพวกศากยะเหลืออยู่จริง” อจิตมัน ตามัง เลขานุการกองทุนพัฒนาลุมพินี บอก เมื่อผมถามถึงชาวศากยะที่ยังหลงเหลืออยู่
ตามหาศากยวงศ์
พระสุพัทธ์ สุพัทโธ พระสงฆ์ไทยแห่งวัดราชวัง กรุงกบิลพัสดุ์ แนะนำผมให้เดินทางไปที่วัดศรีศากยะสิงหะวิหาร เมืองปาทาน ประเทศเนปาล ”พอถึงที่นั่นให้ลองถามหาแม่ชีชื่อ ‘เขมา’ อาจได้เบาะแสเพิ่มเติม” สอดคล้องกับพระไมตรี พระชาวเนปาลที่ผมพบที่ลุมพินี ก็บอกในทำนองเดียวกันว่า ชาวศากยะส่วนใหญ่อยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุโดยเฉพาะที่เมืองปาทาน
จากเมืองโบราณกบิลพัสดุ์ ผมใช้เวลาเดินทางมายังวัดศรีศากยะสิงหะวิหาร เมืองปาทาน หนึ่งวันเต็มๆ และพยายามโทร.หาแม่ชี “เขมา” แต่ก็คว้านํ้าเหลว กระนั้น การค้นหาชาวศากยะของผมกลับสำเร็จโดยบังเอิญ
ระหว่างออกถ่ายรูปสถานที่ต่าง ๆ ตามตรอกซอยของเมืองมรดกโลกแห่งนี้ ครั้งแรกผมได้พบกับอนันด ศากยะเด็กหนุ่มวัย 18 ปีที่เพิ่งกลับจากไหว้พระก่อนไปเรียนหนังสือในซอยแคบๆ แห่งหนึ่ง อนันดานับถือพุทธนิกายมหายาน และเป็นเหมือนเด็กหนุ่มทั่วไปที่แต่งตัวเก่งและชอบฟังเพลงฮิปฮอป หลังเลิกเรียน ผมพบเขาอีกครั้งแต่เขาปฏิเสธไม่ยอมให้ผมถ่ายภาพเขาในชุดแรปเปอร์หนุ่ม ”ปู่ของผมเล่าให้ฟังว่า ต้นตระกูลของเรา ‘หนี’ ออกมาจากทางตะวันตก” ซึ่งก็คือกรุงกบิลพัสดุ์นั่นเอง
“ผมจะหาชาวศากยะได้อีกที่ไหน” ผมถามอนันดา
“ก็แล้วแต่ดวงของคุณ” เขาตอบ
ทว่าการเดินเท้าในเมืองปาทานทำให้ผมพบชาวศากยะได้ง่ายกว่าที่คิด ความบังเอิญครั้งที่สองเกิดขึ้นที่วัดสุรัชดามหาวิหาร ผมพบกับธิตามุนี ศากยะ ชายเคร่งศาสนาวัย 58 ปี “ผมเป็นชาวเนปาลแต่กำเนิด และบวชเป็นเณรตั้งแต่ยังเด็กครับ” ธิตาเล่าว่า ในยุคหนึ่งมีความขัดแย้งทางการเมืองในเนปาล (ช่วงคอมมิวนิสต์และสงครามเย็น) ทำให้พระสงฆ์และเณรทั้งหมดต้องอพยพออกนอกประเทศ เขาเป็นหนึ่งในพระศากยะที่ลี้ภัยไปอยู่ในเมืองพิหาร รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย เมื่อมรสุมทางการเมืองสงบลงจึงสึกกลับมา
ทุกวันนี้ ธิตาทำอาชีพค้าขาย ”ผมยืนยันว่าผมเป็นชาวศากยะแท้ครับ เพราะตระกูลของผมสืบเชื้อสายมาจากชาวกบิลพัสดุ์”
ปัจจุบัน ประมาณการว่ามีชาวศากยะอยู่ประมาณ 2,000-3,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองปาทานและกรุงกาฐมาณฑุ ชาวศากยะที่ผมพบยังคงรักษาธรรมเนียมการแต่งงานในสายตระกูลเดียวกันอยู่ และนับถือพุทธศาสนาแต่กำเนิด ที่น่าสนใจคือเค้าโครงใบหน้าของพวกเขากลับไม่คล้ายชาวอารยันหรือชาวอินเดียที่นับถือฮินดูแม้แต่น้อย กลับคล้ายชาวมองโกลอยด์ที่มีผิวเหลืองมากกว่า นี่เป็นข้อสันนิษฐานที่ถกเถียงกันมาหลายศตวรรษแล้วว่ พระพุทธองค์ทรงมีเชื้อสายและเค้าโครงพระพักตร์แบบใดกันแน่ (เนื่องจากพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมีต้นแบบจากช่างฝีมือชาวกรีก ราว พ.ศ. 500 – 550 เมื่อครั้งพระเจ้ามีนานเดอร์ที่หนึ่งยกทัพมาครองแคว้นคันธาราฐ)
หลังโทรศัพท์ติดต่อแม่ชีเขมาสำเร็จ ท่านแนะนำให้ผมไปที่วัดธรรมกีรติวิหาร ห่างจากเมืองปาทานไปราว 30 กิโลเมตร ที่นั่นเป็นสถานที่จำวัดของแม่ชีธมาวาตี ศากยะ วัย 81 ปี แม่ชีชาวศากยะผู้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ท่านอนุญาตให้เราสัมภาษณ์และถ่ายภาพ ผมมองเข้าไปในอารามที่ท่านจำวัดอยู่ ในห้องนั้นมีรูปถ่ายคู่กับบุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงมากมายแขวนอยู่
ตลอดหลายชั่วโมงที่วัดแห่งนั้น ผมยังพบกับแม่ชีธรรมา ดินนา ศากยะ วัย 76 ปี และแม่ชีไบเรนดา ไรนา ศากยะ วัย 50 ปี ทั้งคู่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับต้นตระกูลคล้าย ๆ กับที่ผมได้ฟังมาจากอนันดาและธิตา นั่นคือบรรพบุรุษของพวกเขาถือกำเนิดและ “หนี” ออกมาจากทางตะวันตกหรือกรุงกบิลพัสดุ์ ธรรมเนียมของตระกูลคือยังคงรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ โดยแต่งงานกับคนตระกูลเดียวกัน และนับถือพุทธศาสนาตั้งแต่กำเนิด
ผมรีบเดินทางออกจากเนปาลหลังพบชาวศากยะได้ไม่นาน ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศปิดประเทศอย่างเร่งด่วนเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ไม่ถึงหนึ่งเดือนต่อมาก็เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในเนปาล และชาวศากยะส่วนใหญ่ที่ผมพบในคราวนั้นยังไม่สามารถติดต่อได้
ตรัสรู้และเผยแผ่หลักธรรม
แม้สายนํ้าจะแห้งเหือดเหลือเพียงหาดทราย แต่ขอบตลิ่งเนินทรายเป็นแนวชี้ว่า บริเวณนี้เคยเป็นสายนํ้าใหญ่ ชาวบ้านท้องถิ่นยังอาศัยตานํ้าที่เหลืออยู่เป็นแหล่งนํ้าสำหรับอุปโภคบริโภค ผมตามรอยสมณสิทธัตถะมาจนถึงฝั่งแม่นํ้าเนรัญชราที่เมืองคยา รัฐพิหาร ท่ามกลางหมู่ชาวพุทธจำนวนมากที่เดินทางมาแสวงบุญ
ตลอดหกปีนับตั้งแต่เจ้าชายหนุ่มเสด็จออกจากประตูพระราชวัง พระองค์ทรงตระเวนแสวงหาความรู้ตามสำนักลัทธิต่าง ๆ มากมาย ทรงกระทำอัตตกิลมถานุโยคหรือทุกรกิริยา ซึ่งถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานร่างกายตนเองอย่างรุนแรงทว่ากลับไม่มีประโยชน์อันใด นักบวชหนุ่มกลับมารับบิณฑบาตข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาเพื่อฟื้นฟูร่างกาย แล้วใช้เวลาทบทวนความรู้โดยใช้สมาธิบนพื้นฐานสติปัญญาและร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงอีกครั้ง จนกระทั่งบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด
หลังตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงออกเดินทางเพื่อเผยแผ่หลักธรรม ผมและผู้ช่วยออกเดินทางจากพระมหาโพธิเจดีย์ในพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธองค์ มุ่งหน้าสู่เมืองสารนาถหรือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แคว้นกาสี หรือเมืองพาราณสีในปัจจุบัน ไปตามถนนหลวงระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร ตามรอยเส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าที่เคยร่วมศึกษาแสวงหาความหลุดพ้นมาด้วยกัน
พระพุทธองค์ทรงค้นพบหลักธรรมอันลึกซึ้งว่าด้วยธรรมชาติของชีวิต ทว่าการอธิบายให้ผู้คนในยุคสมัยที่มีความเชื่อหลากหลายเข้าใจได้นั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย นักประวัติศาสตร์บางคนวิเคราะห์ว่า การเผยแผ่หลักธรรมใหม่โดยนักบวชวัยเพียง 35 ปี นับว่าเสี่ยงมากที่จะล้มเหลว เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าซึ่งเพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ เมื่อได้รับฟังและมีดวงตาเห็นธรรมในเวลาไม่นานจึงเป็นพุทธสาวกกลุ่มสำคัญที่ช่วยกระจายหลักธรรมของพระพุทธองค์จนเป็นที่ยอมรับของเหล่ากษัตริย์พราหมณ์ ตลอดจนเจ้าลัทธิต่างๆ
เมื่อมีพุทธสาวกจำนวนหนึ่งแล้วพระพุทธองค์ทรงจาริกสู่กรุงราชคฤห์เมืองหลวงของแคว้นมคธ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของพุทธคยา บนเส้นทางนี้เอง สันนิษฐานว่าพระพุทธองค์น่าจะทรงได้พบปะสนทนาธรรมกับกลุ่มชฎิลสามพี่น้องลัทธิบูชาไฟ และเหล่าสาวกจำนวนมาก ภายหลังพวกลัทธิบูชาไฟเหล่านี้เกิดเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาและประกาศรับหลักคำสอนของพระพุทธองค์ นี่อาจเป็นที่มาของเหตุการณ์ในวันมาฆบูชาซึ่งเหล่าชฎิลพากันมาขออุปสมบทกับพระพุทธองค์พร้อมกับสาวกของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรจำนวนมากที่เวฬุวันมหาวิหาร
กรุงราชคฤห์ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาทั้งห้าเรียกว่าเบญจคีรีนคร พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองกรุงราชคฤห์ในสมัยพุทธกาล พระราชทานพื้นที่แต่ละเนินเขาให้เจ้าลัทธิต่างๆ สร้างสำนักเพื่อแสวงหาหนทางแห่งการหลุดพ้น (ผมอยากให้นิยามส่วนตัวว่าที่นี่เป็นเหมือน “ศูนย์วิจัยทางการหลุดพ้น”) ที่นี่จึงเป็นที่ตั้งของสำนักความเชื่อหลากหลาย ทั้งพราหมณ์ เชน และพุทธ บริเวณที่ราบแห่งหนึ่งเป็นที่ตั้งของเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพุทธศาสนา
เช้าวันหนึ่งผมเดินขึ้นไปยังเนินเขาคิชฌกูฏ ในกรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นเขาหินปูนสูงชันเต็มไปด้วยหลืบโพรงถํ้ากระจายไปทั่ว เหมาะแก่การปลีกวิเวกบำเพ็ญภาวนา บนยอดเขาแห่งนี้คือสถานที่พำนักของพระพุทธองค์และศิษยานุศิษย์สมัยเมื่อครั้งเดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาแก่พระเจ้าพิมพิสารและพสกนิกรในกรุงราชคฤห์
ตลอด 45 พรรษาหลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงจาริกเพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในแคว้นต่าง ๆ ได้แก่ โกศล มัลละ วัชชี วังสะ มคธ สักกะ พระองค์ทรงอธิบายหลักธรรมที่เที่ยงตรง และเป็นความจริงของธรรมชาติแก่ผู้คนในหลายลัทธิความเชื่อ โดยมุ่งหมายให้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิตอันเท่าเทียมและไม่ได้ถูกกำหนดโดยชนชั้นวรรณะ
ดับขันธปรินิพพาน
“เจ้าชายทรงข้ามแม่นํ้าตรงนี้ครับ” อจิต กุมาร เด็กหนุ่มผู้เป็นตัวแทนชาวบ้านในหมู่บ้านอันธยะ ดูกระตือรือร้นเป็นพิเศษเมื่อได้พบกับผม “ประมาณสิบกว่าปีที่แล้วเคยมีคนของทางการเข้ามาที่นี่ครับ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเข้ามาอีกเลย แม้ผมและคนในหมู่บ้านจะนับถือศาสนาฮินดู แต่ปู่ย่าตายายของเราเคยเล่าเรื่องการข้ามแม่นํ้าผามูหรือแม่นํ้ากกุธานที ก่อนที่เจ้าชายจะสิ้นพระชนม์ ณ ป่าสาลวันใกล้กรุงกุสินารา เราก็เลยพอทราบเรื่องราวอยู่บ้าง” อจิตบอก
ภารกิจตามรอยจาริกของพระพุทธองค์ของผมใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เมื่อผมมาถึงริมฝั่งแม่นํ้ากกุธานทีสีเขียวใส มองเห็นท้องนํ้าและฝูงปลาแหวกว่าย ผมเดินลัดเลาะไปตามสายนํ้าเล็กๆ บางช่วงตื้นเขินจนเด็กเล็กๆ สามารถเดินลุยข้ามได้ ที่นี่อยู่ใกล้กับบ้านของนายจุนทะผู้ศรัทธาถวายภัตตาหาร “สูกรมัททวะ” แด่พระพุทธองค์เป็นมื้อสุดท้าย ก่อนจะทรงอาพาธหนักและเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ปัจจุบัน หมู่บ้านของนายจุนทะเป็นชุมชนมุสลิมเรียกว่า ปาวานคร อยู่ห่างจากกรุงกุสินาราราว 18 กิโลเมตร ลักษณะคล้ายซากสถูปขนาดใหญ่ และยังไม่มีการขุดค้น อย่างไรก็ตาม ทางการอินเดียกำลังมีแผนบูรณะฟื้นฟูที่นี่อีกครั้งในฐานะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ”คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนครับกว่าที่นี่จะเสร็จสมบูรณ์ เราทำงานควบคู่กับนักโบราณคดีที่ทางการส่งมา พวกเราจะทำให้ดีที่สุด เพราะผมรู้ว่าสิ่งนี้มีความหมายสำหรับพวกคุณ” นิสรูดิน หัวหน้าฝ่ายบูรณะบอกกับผม
กระทั่งปัจจุบัน นักวิชาการด้านพุทธศาสนายังถกเถียงและไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัดว่า “สูกรมัททวะ” ภัตตาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธองค์ คืออาหารชนิดใดกันแน่และเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การอาพาธหนักของพระองค์ก่อนดับขันธปรินิพพานจริงหรือ บ้างตีความว่าอาหารชนิดนั้นคือเนื้อหมูอ่อน (สูกร = สุกร หรือหมู, มัททวะ = อ่อน) บ้างว่าเป็นเห็ดพื้นเมือง บ้างว่าเป็นข้าวที่หุงด้วยนํ้านมวัว
ทว่าหากพิจารณาตามธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนผู้หนึ่งแล้ว สังขารของพระพุทธองค์ในพระชนมายุย่าง 80 พรรษา ย่อมไม่แข็งแรงเช่นเดิม การบำเพ็ญทุกรกิริยาในวัยหนุ่ม และการตรากตรำจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ ในยุคที่การสาธารณสุขและการคมนาคมยังไม่พัฒนา ย่อมส่งผลให้สังขารของพระองค์ทรุดโทรมลงเป็นธรรมดา
ที่หมู่บ้าน “เจ้าชายสิ้นชีพ” ตามคำนิยามของชาวบ้านท้องถิ่น ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในตำบลกาเซียจังหวัดกุศินาคาร์ รัฐอุตตรประเทศ แม้เรื่องราวจะผ่านมากว่า 2,500 ปี ทว่าภายในสวนป่าสาลวันแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันแปรสภาพเป็นหมู่บ้านและพุทธสถานนานาชาติกลับยังคงอบอวลไปด้วยบรรยาเศร้าหมอง นี่คือสถานที่สุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปัจฉิมโอวาทแก่เหล่าพุทธสาวก เป็นสัจธรรมที่ยังคงดังก้องดั่งคำเตือนของพุทธบิดาที่ประทานแก่พุทธบุตรและพุทธิดาทั้งปวงว่า
“สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
เรื่องและภาพถ่าย ทรงวุฒิ อินทร์เอม
เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เดือนสิงหาคม 2558