หลังตอลิบานหวนคืน ชีวิตของ ชาวอัฟกานิสถาน ที่ถูกแบ่งแยกจะเป็นเช่นไร

ชาวอัฟกานิสถาน ต้องเดิมพันด้วยอะไร และเสี่ยงจะสูญเสียอะไร เมื่อกลุ่มตอลิบานหวนคืนสู่อำนาจ หลังสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกไป

15 สิงหาคม 2021 กลุ่มตอลิบานที่ฟื้นคืนชีพอีกครั้งยาตราเข้าสู่กรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสาน ขณะที่มีรายงานว่า ประธานาธิบดีอัชราฟ ฆานี หนีออกจากประเทศแล้ว  การระดมยิงและความแตกตื่นเริ่มปรากฏตามท้องถนนแทบจะในทันที  ก่อนหน้านี้หลายวัน กองกำลังอิสลามสายสุดโต่งเข้ายึดกันดะฮาร์ เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ รวมทั้งเมืองหลวงของแคว้นต่างๆ อีกหลายแห่ง ระหว่างนั้น กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และเพนตากอนเร่งอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูตและ ชาวอัฟกานิสถาน บางส่วนที่เคยทำงานให้กับรัฐบาลอเมริกัน

ยี่สิบปีผ่านไปนับตั้งแต่สหรัฐฯบุกอัฟกานิสถานเพื่อกำจัดกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 และโค่นล้มการปกครองของตอลิบานในอัฟกานิสถานซึ่งให้ที่พักพิงแก่กลุ่มดังกล่าว ส่งผลให้มีการเสริมกำลังทหารและอัดฉีดเงินทุนเพื่อการพัฒนาให้รัฐบาลยุคหลังตอลิบาน โดยมียอดรวมเป็นกองกำลังนานาชาติกว่า 150,000 นาย  กับเงินช่วยเหลือรายปีสูงเกือบเจ็ดพันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงตึงเครียดที่สุดของปี 2011 แต่การทุ่มหนนี้กลับถอนรากถอนโคนตอลิบานไม่สำเร็จ ท้ายที่สุด สหรัฐฯก็ตัดสินใจยุติสงครามยุคใหม่ที่ยาวนานที่สุดของประเทศลง  ในสัปดาห์กลางเดือนสิงหาคม กองกำลังตอลิบานยึดเมืองใหญ่เกือบทั้งหมดคืนสำเร็จ และเข้ากุมอำนาจเขตต่างๆใน 34 แคว้นของอัฟกานิสถานได้เกือบทั้งหมด

ตลาดโคเตซังกีทางตะวันตกของกรุงคาบูลวุ่นวายด้วยกิจกรรมยามเช้าตรู่ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนเราะมะฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ชาวอัฟกานิสถานส่วนใหญ่จาก 39 ล้านคนเป็นมุสลิมซุนนี ชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมชีอะห์มักตกเป็นเป้าของกองกำลังติดอาวุธนิกายซุนนี

ปัจจุบัน พลเมืองอัฟกานิสถานกว่าสามในสี่อายุไม่ถึง 25 ปี ยังเยาว์เกินกว่าจะจดจำการปกครองด้วยความหวาดกลัวของกลุ่มตอลิบานได้  และเคยชินกับเสรีภาพเกินกว่าจะสละเสรีภาพเหล่านั้นไป โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ  ขณะที่ผู้คนในชนบทบางส่วนมองว่าการกลับมาของกลุ่มรากฐานนิยมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงและพึงประสงค์ แต่คนอีกมากที่เติบโตมากับความเป็นจริงหลังปี 2001 กลับแข็งขืน ไม่เต็มใจหวนสู่อดีตแบบอนุรักษนิยมและถูกกดขี่  ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทของอัฟกานิสถานยิ่งถ่างกว้างขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และชนชั้นปกครองก็เพิกเฉยต่อสิ่งที่จะเป็นภัยคุกคามพวกเขาในตอนนี้  นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้า

“เรามีวัฏจักรของการที่ชนชั้นนำในชนบทบุกยึดอำนาจในคาบูล กลายเป็นผู้ปกครอง และท้ายที่สุดก็หันหลังให้คนที่สนับสนุนตนเองมาอย่างน้อย12 รอบแล้ว” ทามีม อาซาอี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้ก่อตั้งสถาบันสงครามและสันติภาพศึกษา ซึ่งเป็นคลังสมองแห่งหนึ่งในคาบูล บอก  มันคือ “สงครามระหว่างโลกทัศน์และระบบคุณค่าสองแบบ ฝั่งหนึ่งคือคนในเมืองใหญ่ๆที่่เปิดกว้างกว่า เป็นพวกสายกลาง และมีการศึกษา แต่นับวันยิ่งห่างเหินกับผู้คนในชนบท อีกฝั่งหนึ่งคือผู้คนในชนบทหัวอนุรักษนิยมที่รู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลรวมศูนย์ที่บริหารโดยชนชั้นนำครับ”

หลังประจำการในแนวหน้าอันห่างไกลในแคว้นบาดาคชานนานสี่สัปดาห์ ทหารอัฟกานิสถานที่ได้พัก ก็เดินเท้าห้าชั่วโมงไปยังไฟซาบาด เมืองหลวงของแคว้น ตอลิบานยึดพื้นที่ดังกล่าวได้เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม

ตลอด 50 ปี อัฟกานิสถานถูกเหวี่ยงไปมาระหว่างรัฐประหารกับความขัดแย้ง เมื่อปี 1973 นายพลคนหนึ่งขับไล่กษัตริย์และตั้งตนเป็นประธานาธิบดี  ห้าปีต่อมา เขาถูกกลุ่มคอมมิวนิสต์อัฟกานิสถานลอบสังหารและยึดอำนาจหนึ่งปีต่อจากนั้น สหภาพโซเวียตก็บุกเข้ามาเพื่อค้ำจุนระบอบคอมมิวนิสต์ที่เสื่อมความนิยม จุดชนวนสงครามกองโจรยืดเยื้อนานสิบปี  สหรัฐอเมริกาผันเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านปากีสถานมาให้กลุ่มนักรบมุญาฮิดีนจากทั่วโลกมุสลิมที่ทำสงครามต่อต้านโซเวียต รวมถึงอุซามะห์ บิน ลาดิน นักรบญิฮาดจากซาอุดีอาระเบีย แล้วพวกเขาก็ขับไล่พวกโซเวียตออกไปในที่สุด  การเจรจาแบ่งสรรอำนาจล้มเหลว กองกำลังต่างๆ แตกเป็นหลายฝ่ายและหันมาจับอาวุธสู้รบกันเอง กลุ่มตอลิบานผงาดขึ้นมาท่ามกลางความวุ่นวายเหล่านั้นและยึดอำนาจได้ในปี 1996

ในไม่ช้า ตอลิบานก็กลายเป็นข่าวพาดหัวจากการบังคับใช้กฎหมายชะรีอะห์แบบตาต่อตาฟันต่อฟันที่ไร้เมตตา กดขี่ข่มเหงสตรีและชนกลุ่มน้อยอย่างโหดเหี้ยม ทำลายสมบัติทางวัฒนธรรมต่างๆ และให้ที่พักพิงแก่กลุ่มอัลกออิดะห์  หลังเหตุก่อการร้าย 9/11 สหรัฐฯ ส่งกองกำลังทหารเข้ามาหมายกำจัดกลุ่มก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรมครั้งนั้น แต่ภารกิจคลุมเครืออีกอย่างก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นด้วย นั่นคือสหรัฐฯ และผู้นำองค์การนาโต้หวังว่า โอกาสทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยจะสร้างภูมิคุ้มกันให้อัฟกานิสถานไม่กลับไปเป็นแหล่งพักพิงของผู้ก่อการร้ายอีก

ชาวฮาซาราหลายพันคน ซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์กลุ่มน้อยรวมตัวในแคว้นเดย์คุนดีเพื่อฉลองวันเนารูซ หรือวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ แต่กลุ่มหัวรุนแรงสุดขั้วนิกายซุนนีถือว่าวันหยุดของเปอร์เซียโบราณนี้ไม่เป็นอิสลาม ระบอบ การปกครองของตอลิบานห้ามการฉลองวันสำคัญนี้

การศึกษา การมีส่วนร่วมทางการเมือง และสถานภาพของผู้หญิงได้รับการพัฒนาขึ้น แต่เม็ดเงินจากต่างประเทศที่ไหลบ่าเข้ามากลับทำให้รอยแยกระหว่างเมืองกับชนบทยิ่งร้าวลึก  เงินช่วยเหลือและธุรกรรมสัญญากับกองทัพทำให้เกิดฟองสบู่ทางเศรษฐกิจในเมืองต่างๆ  แต่ชาวอัฟกานิสถานส่วนใหญ่ยังประทังชีวิตด้วยการทำเกษตรแบบยังชีพ ทั้งที่สหรัฐฯ ทุ่มเงินกว่า 144,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการฟื้นฟูบูรณะประเทศมาตั้งแต่ปี 2001

สัญญาโครงการก่อสร้างและการรักษาความปลอดภัยตกอยู่ในมือผู้นำทางทหารและชนชั้นนำซึ่งโยกเงินไปให้เครือข่ายอุปถัมภ์ในชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ และสายตระกูลของตนเอง จากข้อมูลของอินเทกริตีวอตช์อัฟกานิสถาน (Integrity Watch Afghanistan) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่ทำงานต่อต้านการทุจริต สัญญาจ้างหลักๆเกือบทั้งหมดตกเป็นของผู้มีเส้นสายใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ “ถึงตอนนี้เราควรมีสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆจัดการเรื่องเหล่านี้ได้แล้ว” เราะห์มาตุลเลาะฮ์ อามิรี นักวิเคราะห์ความมั่นคงจากกันดะฮาร์ บอก “แต่เรากลับมีแต่ตัวบุคคลเท่านั้นที่ทำงานพวกนี้”

รายงานเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2020 ของผู้ตรวจราชการด้านการบูรณะฟื้นฟูอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ พบว่า จากงบประมาณด้านการบูรณะ 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ตรวจสอบ เกือบหนึ่ง ในสามหรือประมาณ 19,000 ล้านดอลลาร์ “หมดไปกับเรื่องไร้ประโยชน์ การต้มตุ๋น และการใช้ในทางมิชอบ”

อับดุล ฆาฟูร์ เจ้าหน้าที่ ตำรวจวัย 22 ปียืนยามในเขตปันจ์วาอิ จุดยุทธศาสตร์บนถนนเข้าสู่กันดะฮาร์ เมืองใหญ่อันดับสองของอัฟกานิสถาน ฆาฟูร์อยากเรียนแพทย์ แต่กลับต้องมาเป็นตำรวจเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายแลกเงินเดือน 165 ดอลลาร์สหรัฐที่เขาบอกว่าไม่ได้รับมาหกเดือน ปัจจุบันเขตที่เขาอยู่ถูกตอลิบานยึดแล้ว

ไรฮานา อาซาด นั่งอยู่ในเลาจน์ของโรงแรมห้าดาวในกรุงคาบูล หญิงวัย 38 ปีผู้เป็นสมาชิกรัฐสภามาตั้งแต่ปี 2010 เธอมีเชื้อสายฮาซารา เกิดในพื้นที่กันดารยากจนของแคว้นเดย์คุนดี มีลูกสองคนจากการแต่งงานคลุมถุงชนตอนอายุ 13  เรื่องของเธอควรจบตรงนั้นเหมือนกับผู้หญิงอัฟกานิสถานอีกนับไม่ถ้วน แต่อาซาดไม่ยอมหยุดเรียนเธอได้งานในโครงการส่งเสริมการศึกษาสำหรับเด็กหญิงขององค์การสหประชาชาติ และมาถึงคาบูลจนได้ เรียนจบปริญญาด้านกฎหมาย และใช้การศึกษาของตนเองทลายข้อห้ามต่างๆ  การฟ้องหย่าทำให้เธอถูกขับออกจากครอบครัวของตนเอง  เธอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา และได้รับเลือกติดต่อกันหลายสมัย ทั้งๆที่ไม่เคยปิดบังเรื่องหย่าและการไม่เชื่อในพระเจ้า

การใช้ชีวิตท้าทายขนบของอาซาดนั้นสร้างศัตรู  เธอรอดชีวิตจากระเบิดฆ่าตัวตายและความพยายามลอบสังหารระหว่างเดินทางออกนอกเมืองหลังเลือกตั้ง  คำขู่ฆ่าทำให้เธอต้องส่งลูกๆไปต่างประเทศ เปลี่ยนที่อยู่บ่อยครั้ง และเดินทางด้วยรถกันกระสุน  “ฉันไม่กลัวอีกแล้วค่ะ” เธอบอก “ฉันลุกขึ้นสู้เพื่อที่คนรุ่นต่อไปจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานเหมือนพวกเรา”

สมาชิกครอบครัวไว้อาลัยให้เหยื่อราว 90 รายที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดในกรุงคาบูลเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม การโจมตีย่านชาวฮาซาราและย่านอื่นๆ มุ่งไปที่โรงเรียนกวดวิชาสำหรับเยาวชนฮาซาราที่จะเข้ามหาวิทยาลัย กลุ่มผู้ก่อการร้ายซุนนีอ้างความรับผิดชอบในการโจมตีดังกล่าว

ไม่ว่าตอลิบานจะพยายามเจรจาเพื่อแบ่งสรรอำนาจกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน หรือจะใช้กำลังยึดประเทศพวกเขา “ไม่อาจปกครองอัฟกานิสถานยุคใหม่ด้วยกระบอกปืนได้” อาซาอี อดีตเจ้าหน้าที่กลาโหม ยืนยันอย่างมั่นใจ  “คนรุ่นใหม่ที่แสวงหาเสรีภาพ หัวก้าวหน้า และมีขันติธรรม จะเป็นผู้ถือคบไฟเบิกทางให้อัฟกานิสถานยุคใหม่หลังสหรัฐฯ ถอนออกไปครับ และพวกเขาจะไม่ทนเห็นแม่และพี่สาวน้องสาวถูกทุบตีต่อหน้าต่อตา หรือยอมให้มีคนถูกแขวนคอตามท้องถนน”

ไรฮานา อาซาด ไม่มั่นใจขนาดนั้น  เธอผิดหวังอย่างยิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมตกลงกับตอลิบานโดยไม่ปกป้องสตรีและชนกลุ่มน้อย  ตอนพบกันครั้งแรก เธอบอกว่าชาวอัฟกานิสถานจะยืนหยัดต่อต้านพวกตอลิบาน  เธอเริ่มมองโลกแง่ร้ายตั้งแต่สหรัฐฯ ประกาศถอนทหารทั้งหมด  แม้จะยังเหลือเวลาดำรงตำแหน่งอีกสองปี เธอเองก็คิดเรื่องการไปจากประเทศนี้เช่นกัน

เรื่อง   เจสัน มอตลาก

ภาพถ่าย   เคียนา ฮาเยรี

สามารถติดตามสารคดี อัฟกานิสถาน ร้าวลึกอันตราย ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม บามียัน พระพุทธรูปโบราณองค์ใหญ่ในอัฟกานิสถาน-ที่ถูกทำลายไปจนสิ้น

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.